นับตั้งแต่เปลี่ยนการปกครองในปี 2475 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยได้ผ่านการปกครองทั้งในรูปแบบเผด็จการ และประชาธิปไตยสลับสับเปลี่ยนกันไปหลายครั้งหลายหน และในการเลือกตั้ง สส.ในแต่ละครั้งได้มีพรรคการเมืองเกิดขึ้นใหม่หลายพรรค แต่พรรคเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ได้ไม่นานก็ล้มเลิกไป จะมีเพียงพรรคประชาธิปัตย์เพียงพรรคเดียวยืนหยัดอยู่ได้ตลอดมานับตั้งแต่วันก่อตั้งจนบัดนี้ และบทบาททางการเมืองที่โดดเด่นของพรรคนี้ก็คือ การเป็นฝ่ายค้านต่อสู้กับระบบเผด็จการที่แปลงร่างเข้ามาในระบอบประชาธิปไตย
แต่ครั้นได้เป็นรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ก็ทำหน้าที่บริหารไม่โดดเด่นเท่าที่ควรจะเป็น เมื่อเทียบกับการเป็นฝ่ายค้าน และที่เป็นเช่นนี้อนุมานได้ว่าเกิดจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. บุคลากรของพรรคประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมาย เฉพาะแกนนำพรรค จึงมีความถนัดในการตรวจสอบและจับประเด็นมาคัดค้านได้อย่างชัดเจน ยากที่ฝ่ายถูกตรวจสอบจะโต้แย้งได้ จึงทำให้การค้านของพรรคประชาธิปัตย์มีน้ำหนัก และเรียกคะแนนนิยมจากประชาชนได้
2. ในการบริหารประเทศ จำต้องมีบุคลากรหลากหลายสาขาอาชีพ เพื่อรองรับงานบริหารในแต่ละด้าน โดยเฉพาะงานในด้านการผลิต การขาย และงานบริหารทั่วไป แต่เมื่อบุคลากรของพรรคประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมาย จึงมีข้อจำกัดในงานด้านอื่นๆนอกสายงานด้านสนับสนุน ซึ่งนักกฎหมายทำได้ดี จึงทำให้การเป็นรัฐบาลที่ผ่านมาไม่โดดเด่นเท่าที่ควรจะเป็น
ดังนั้น เมื่อพรรคการเมืองที่มีบุคลากรหลากหลายสาขาอาชีพ และมีผู้นำที่เป็นนักธุรกิจเฉกเช่นพรรคไทยรักไทย ภายใต้การนำของทักษิณ ชินวัตร ได้เข้ามาเป็นคู่แข่งในการเลือกตั้งในปี 2544 และได้นำกลยุทธ์ทางด้านการตลาดในรูปแบบของการลด แลก แจก แถมมาใช้ในการปราศรัยหาเสียง จึงได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นสิ่งแปลกใหม่ โดยเฉพาะนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค จึงได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นเหนือคู่แข่งเช่นพรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น อย่างท่วมท้น
แต่ต่อมาพรรคไทยรักไทยและพรรคที่สืบทอดจากพรรคไทยรักไทยภายใต้การนำของทายาทสายเลือดในเครือทักษิณ ได้สะดุดขาตัวเองล้มจากการตกเป็นจำเลยสังคมในข้อหาทุจริต คอร์รัปชัน และประชาชนได้ออกมาขับไล่สุดท้ายจบลงด้วยการทำรัฐประหาร ผู้นำรัฐบาลถูกฟ้องร้องดำเนินคดีถูกศาลตัดสินจำคุก และได้หนีออกนอกประเทศ
จากจุดด้อยรอยด่างทางการเมืองของพรรคการเมืองในระบอบทักษิณ และจากการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษนิยม ซึ่งสืบทอดอำนาจมาจากระบอบเผด็จการซึ่งประชาชนส่วนหนึ่งโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่เบื่อหน่ายจึงกลายเป็นช่องว่างให้
พรรคการเมืองในรูปแบบของอุดมการณ์นิยม เฉกเช่นพรรคอนาคตใหม่ภายใต้การนำของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้เกิดขึ้นและกลายเป็นคู่แข่งทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งในปี 2562
แต่พรรคอนาคตใหม่ถึงแม้จะได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่ แต่ก็มีกระแสต้านจากคนรุ่นเก่าหรือแม้กระทั่งจากคนรุ่นใหม่ที่ยังแนบแน่นอยู่กับแนวคิดในเชิงอนุรักษนิยม เนื่องจากพรรคอนาคตใหม่มีทัศนคติเชิงลบต่อสถาบันเบื้องสูง และกองทัพ รวมไปถึงขนบธรรมเนียม ประเพณีโบราณบางประการ ประกอบกับการแสดงออกทางการเมืองค่อนข้างสุดโต่ง และสุดท้ายพรรคอนาคตใหม่ก็ถูกยุบเนื่องจากความผิดพลาดของผู้นำพรรค
แต่การยุบพรรคอนาคตใหม่กลายเป็นผลดีทางการเมืองสำหรับพรรคก้าวไกล ซึ่งสืบทอดมาจากพรรคอนาคตใหม่ ทำให้ประชาชนรู้สึกเห็นใจ และส่งผลให้พรรคก้าวไกลได้รับชัยชนะการเลือกตั้งมาเป็นอันดับหนึ่ง 251 ที่นั่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา
แต่ดูเหมือนว่าวิบากกรรมทางการเมืองของพรรคก้าวไกลทายาททางการเมืองของพรรคอนาคตใหม่ ยังไม่หมดเมื่อพรรคก้าวไกลได้ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีนโยบายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีแนวโน้มว่าจะถูกยุบอีกครั้ง
ดังนั้น ถ้ามองการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีพรรคก้าวไกล (หรือชื่อใหม่ถ้าถูกยุบ) เป็นคู่แข่งชิงความเป็นอันดับหนึ่ง พรรคก้าวไกลหรือพรรคใหม่ที่สืบทอดจากพรรคก้าวไกลค่อนข้างจะได้เปรียบพรรคเพื่อไทย และจะเบียดพรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะ ทั้งนี้อนุมานจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. พรรคเพื่อไทยและพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นพรรคต้นกำเนิดของพรรคเพื่อไทย เคยเป็นรัฐบาลมาแล้ว และถูกประชาชนชุมนุมขับไล่ในข้อหาทุจริต คอร์รัปชัน และจบลงด้วยการทำรัฐประหาร ผู้นำถูกฟ้องร้องดำเนินคดีและถูกศาลพิพากษาจำคุกหนีออกนอกประเทศ
ส่วนพรรคก้าวไกล และพรรคอนาคตใหม่ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของพรรคก้าวไกล ยังไม่เคยเป็นรัฐบาล จึงไม่มีแผลทางการเมืองใดๆ
2. ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลต่างมีนโยบายประชานิยม แต่พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลมีโอกาสได้ทำตามนโยบายแล้ว แต่ไม่ได้ทำหรือทำไม่ได้ตามที่ประกาศไว้ ดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้
ส่วนพรรคก้าวไกลยังไม่มีโอกาสทำ จึงบอกไม่ได้ว่าทำได้หรือทำไม่ได้ ดังนั้น ประชาชนจึงให้โอกาสโดยการเลือกพรรคก้าวไกลมากกว่าพรรคเพื่อไทย
3. การกลับมาของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะนักโทษ แต่ไม่ยอมติดคุกแม้แต่วันเดียว โดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมายและการให้ความช่วยเหลือจากข้าราชการบางคน บางกลุ่มทำให้ประชาชนที่รักความเป็นธรรม หันไปเลือกพรรคก้าวไกลเป็นทางเลือกใหม่
ถึงแม้ว่าพรรคก้าวไกลหรือพรรคใหม่ซึ่งสืบทอดจากพรรคก้าวไกล จะได้รับชัยชนะเป็นอันดับหนึ่ง แต่ถ้าได้รับเลือกเข้ามาไม่เกินครึ่ง โอกาสที่จะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปได้ยาก ถ้ายังมีนโยบายสุดโต่งเฉกเช่นในอดีต