xs
xsm
sm
md
lg

เปิดผลสอบปล้นพระคลังข้างที่ 87 ปีที่แล้ว (ตอนที่ 4): ผลสอบประเด็นประธานผู้สำเร็จราชการคนใหม่ขายที่ดินของตัวเองให้พระคลังข้างที่แพงกว่าตลาด / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์


นอกจากข้อสงสัยในปริศนาสาเหตุ “ที่แท้จริง” ของการสิ้นพระชนม์ของนายพันเอก พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตนจาตุรนต์ ประธานผู้สำเร็จราชการแล้ว ยังมีประเด็นที่ยังมีข้อสงสัยบางประการเกี่ยวกับ “จดหมายที่ไม่ได้เขียนถวายสมเด็จพระพันวัสสา“

โดยหม่อมเจ้าลุอิสาณ์ ดิศกุล พระธิดาคนเล็กของกรมหมื่นอนุวัตนจาตุรนต์ ได้เล่าให้หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2478 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่มีการลงพระนามในการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อบังคับใช้ พระราชกฤษฎีกา จัดวางระเบียบราชการสำนักและกรมในกระทรวงวัง แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2478 ความตอนหนึ่งว่า

”ลูกกรมอนุวัตรฯ ทั้ง 4 คน ไปหาพ่อพร้อมกันโดยมิได้นัดแนะ ไปถึงเห็นพ่อบรรทมอยู่บนเก้าอี้ยาว ท่าทางไม่ค่อยทรงสบาย ก็นึกว่าเป็นเช่นนั้นตามเคย

เห็นแปลกอยู่แต่ก่อนเวลาจะกลับ กรมอนุวัตน์ฯ เรียกลูกเข้าไปจูบทุกคน และเรียกหม่อมเจ้าดิศศานุวัติ ดิศกุล ลูกเขยเข้าไปว่าจะวานให้เขียนจดหมายถวายสมเด็จพระพันวัสสาฉบับหนึ่ง แต่แล้วบอกว่า “ไม่เขียนละ เพราะไม่ต้องก็ได้”

แล้วหม่อมเจ้าลุอิสาณ์ ดิศกุล ก็กลับ พอรุ่งเช้าก็มาตามว่า กรมอนุวัตน์ฯ สิ้นพระชนม์เสียแล้ว“[1],[5]

หากจะวิเคราะห์ว่าเป็นกรณีการกระทบต่อสมเด็จพระปกเกล้าฯ ซึ่งได้สละราชสมบัติไปแล้ว จดหมายก็ควรจะต้องถวายสมเด็จพระปกเกล้าฯโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องต่างๆที่มีการบันทึกเอาไว้โดยหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่รัฐบาลเจรจากดดันกรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์จะ “ริบทรัพย์” ของสมเด็จพระปกเกล้าฯและพระราชินี หรือประเด็นการเรียกตราจักรีคืนจากสมเด็จพระปกเกล้าฯแต่กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ไม่ยอมทำตาม[1],[5]

แต่ประเด็นถ้าจะมีการเขียนจดหมายจากกรมหมื่นอนุวัตนจาตุรนต์ถวายสมเด็จพระพันวัสสานั้น ก็น่าจะเกี่ยวกับ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล” รัชกาลที่ 8 โดยตรงมากกว่า เนื่องด้วยเพราะสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีสถานภาพเป็นอัยยิกา(ย่า)ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ซึ่งทรงประทับอยู่ต่างประเทศ

และสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 นั้น ก็ไม่ได้มีการเขียนจดหมายถวายสมเด็จพระพันวัสสาฯ เพราะในท้ายที่สุดพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตนจาตุรนต์ก็ได้สิ้นพระชนม์ด้วยพระแสงปืนไปเสียก่อน

โดยในวันที่ 12 สิงหาคม 2478 พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตนจาตุรนต์ ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สิ้นพระชนม์นั้น นับเป็นเวลาได้เพียง 1 วัน ภายหลังจากพระราชกฤษฎีกา จัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงวัง แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2479 ประกาศบังคับใช้ จึงเป็น ”กฎหมายฉบับสุดท้าย“ ที่มีการลงพระนามโดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตนจาตุรนต์[1]


โดยสรุปเนื้อหาในกฎหมายดังกล่าวส่งผลทำให้ ”การดูแลทรัพย์สินและผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี“

จดหมายที่ไม่ได้ถวายสมเด็จพระพันวัสสาก็อาจจะเป็นจดหมายเตือนอันตรายในสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นจากกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ หรืออาจจะมากไปกว่านั้นคือการแจ้งว่าจะเกิดการแย่งชิงที่ดินพระคลังข้างที่อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

หรืออาจจะเป็นการล่วงรู้แผนการที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา คือการเข้าไปซื้อที่ดินของพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆ ของบรรดานักการเมืองและข้าราชการจำนวนมาก

แต่การที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตนจาตุรนต์กล่าวว่าไม่ต้องเขียนจดหมายแล้วโดยกล่าวว่า “ไม่เขียนละ เพราะไม่ต้องก็ได้” ซึ่งมีบางคนอาจวิเคราะห์ว่าเป็นคำพูดก่อนอำลา เพราะพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ได้ทรงพระแสงปืนยิงปลงพระองค์เอง ด้วยเพราะแรงกดดันก้ได้หลังจากลงพระนามไปแล้วในพระราชกฤษฎีกา จัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงวัง แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2479

หรือคำว่า “ไม่ต้องก็ได้” อาจจะมีความหมายไปในอีกทางหนึ่งด้วยว่า ตราบใดพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตจาตุรนต์ ยังคงเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อไป เสียงข้างมากในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะไม่มีทางทำให้เกิดการซื้อขายที่ดินพระคลังข้างที่ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับนักการเมืองและข้าราชการของพวกพ้องได้ แม้จะมีกฎหมายฉบับใหม่แล้วก็ตาม

ถ้ามีความหมายนี้พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตนจาตุรนต์ ก็ไม่น่าที่จะทรงพระแสงปืนปลงพระชนม์พระองค์เองได้เลย จริงหรือไม่?

เพราะเหตุการณ์การเข้าซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ได้เกิดขึ้นโดยสะดวกภายหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตนจาตุรนต์ ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

โดยเฉพาะการขายที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆ และได้รับโอนที่ดินไปก่อน และผ่อนจ่ายในภายหลัง เกิดขึ้นในสมัยของประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คนใหม่ คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา

วันที่ 21 สิงหาคม 2480 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชุดใหม่ได้เพิ่มพลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) ให้มาเป็นหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์


โดยพลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) เป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับอดีตคณะราษฎร เพราะได้ร่วมงานบุญกันบ่อยๆ และได้รับความนับถือจากคณะราษฎร[1],[6]

โดย เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ยังคงเป็น 2 เสียงเดิมในคณะผู้สำเร็จราชการ โดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เป็นประธานผู้สำเร็จราชการ[2],[4]

โดยข้อเท็จจริงในเวลาต่อมา สำหรับการขายที่ดินพระคลังข้างที่จำนวนมากให้กับนักการเมืองและข้าราชการในราคาถูกๆนั้น คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่ได้ลงนาม 2 คนคือ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และพลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน)

ส่วนเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) คือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ “ไม่ได้ลงนาม” ในการขายที่ดินพระคลังข้างที่ด้วย

หากวิเคราะห์ต่อไปว่า สมมุติว่านายพันเอก พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตนจาตุรนต์ไม่สิ้นพระชนม์แล้ว การขายที่ดินพระคลังข้างที่อาจไม่สำเร็จในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชุดเดิมก็ได้

เพราะลำพังเพียงพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เพียงเสียงเดียวก็ไม่สามารถซื้อขายที่ดินพระคลังข้างที่ได้ หากพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตนจาตุรนต์ยังไม่สิ้นพระชนม์โดยเจ้าพระยามราช (ปั้น สุขุม) ก็ไม่ลงนามซื้อขายที่ดินด้วย

สิ่งนี้ยิ่งทำให้การสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตนจาตุรนต์ ยิ่งมีความน่าเคลือบแคลงสงสัย เพราะมีความขัดแย้งเปลี่ยนเหตุผลไปมา จากเดิมรัฐบาลต้องการให้สิ้นพระชนม์ด้วยโรคหัวใจพิการ

ต่อมาบันทึกของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ระบุการได้ข้อมูลจากบุตรีของกรมหมื่นอนุวัตนจาตุรนต์ ว่า เจ้าพนักงานไต่สวนระบุว่าการปลงพระชนม์ครั้งนี้ปืนยิงเข้าไปในโอษฐ์โดย“ลูกปืนยังติดอยู่ในท้ายทอย”

ในขณะที่บันทึกของนายปรีดี พนมยงค์ ระบุรายงานของพันเอกหลวงอดุลเดชจรัส กลับระบุว่า “กระสุนเจาะเพดาน”!?

ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าการที่คณะนักการเมืองและข้าราชการสามารถซื้อที่ดินพระคลังข้างที่จำนวนมากนั้น ย่อมต้องได้รับความยินยอมให้เป็นพระมหากรุณาของคณะผู้สำเร็จราชการ “ชุดใหม่”นั้น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ได้มีแรงจูงใจในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนที่เอื้อประโยชน์ให้กับตัวเองในกิจการเกี่ยวกับสำนักพระคลังข้างที่ในขณะนั้นด้วยหรือไม่ จึงได้ปล่อยให้นักการเมืองและข้าราชการอื่นๆสามารถเข้าซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆด้วยเช่นกัน

โดยความจริงได้มาปรากฏ ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2480 นายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งกระทู้ถามพาดพิงไปถึงพฤติการณ์การขายที่ดินส่วนพระองค์ของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการ ว่าขายที่ดินซึ่งเป็นโรงเรียนการเรือนให้กับสำนักพระคลังข้างที่ในราคาแพงกว่าที่ดินใกล้เคียง ความตอนหนึ่งว่า

“ผู้มีอำนาจนั้นให้พระคลังข้างที่ซื้อที่ดินของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา 9 หมื่นบาท คิดเฉลี่ยตารางวาละ 35 บาท ขณะเดียวกัน ที่ดินข้างเคียงราคาตารางวาละ 15 บาท นี่หมายความว่าอย่างไรกัน แล้วจะไม่ให้ผู้เยาว์ยื่นมือเข้าเกี่ยวข้องหรือ นี่หรือเป็นวิธีรักษาพระมหากษัตริย์ของพวกเรา ขายที่ดินราคา 9 หมื่นบาท ราคาตารางวาละ 35 บาท คือ โรงเรียนการเรือน”[3],[7]

สอดคล้องกับคำอภิปรายของนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้อภิปรายความตอนหนึ่งถึงการขายที่ดินโรงเรียนการเรือนให้กับพระคลังข้างที่ในราคาแพงว่าเป็นที่ดินของผู้สำเร็จราชการ ความตอนหนึ่งว่า

“ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้นมีอยู่ 3 ท่าน ใน 3 ท่านนั้นได้รับประโยชน์บ้าง และท่านไม่ได้รับประโยชน์ดังที่สมาชิกได้กล่าวมาแล้วว่า โรงเรียนการเรือนนั้นได้โอนขายให้แก่พระคลังข้างที่เป็นเงิน 9 หมื่นบาท ถ้าคิดเฉลี่ยเป็นตารางวาละ 35 บาท ซึ่งในขณะเดียวกันนั้นเอง พระคลังข้างที่กลับโอนที่ของตนอย่างกะเรี่ยกะราด ไปให้แก่บุคคลหลายคนดังที่ปรากฏตามที่ได้โอนมาแล้ว ดังรายตามที่สมาชิกได้อ่าน”[3],[7]

ต่อมาในวันที่ 28 กรกฎาคม 2480 พระยามานวราชเสวี ประธานผู้แทนราษฎร (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา) ได้แจ้งต่อที่ประชุมให้ทราบ 2 เรื่อง เรื่องที่ 1 คือ ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขอลาออกจากตำแหน่ง และเรื่องที่ 2 คือ นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะขอลาออกจากตำแหน่ง

โดยเนื้อความหนังสือขอลาออกของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานผู้สำเร็จราชการมีเนื้อความว่า

“วันที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2480

เรียน พระยามานนวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร

เนื่องจากได้มีการอภิปรายกันในที่ประชุมผู้แทนราษฎร อันเกี่ยวถึงเรื่องการซื้อขายที่ดินของพระคลังข้างที่เมื่อวานนี้ มีท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางท่านได้อภิปรายพาดพิงมาถึงประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คือตัวข้าพเจ้าอันมีถ้อยคำรุนแรง เป็นเหตุให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเป็นการเสื่อมเสียเกียรติยศและตำแหน่งในหน้าที่ราชการ

ทั้งนี้ข้าพเจ้ามั่นอยู่ในระบอบประชาธิปไตยโดยแท้ ยึดถือเสียงของประชาชนคือสภาผู้แทนราษฎรเป็นใหญ่ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่าข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ได้กระทำการซึ่งเป็นที่ข้องใจของประชาชนเช่นนี้แล้ว ข้าพเจ้าใคร่ขอลาออกเสียจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง

(ลงพระนาม) อาทิตย์ทิพอาภา”
[3],[8]

ต่อมาในวันที่ 29 กรกฎาคม 2480 พระยามานวราชเสวี ประธานผู้แทนราษฎร ได้ชี้แจงลายพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่งของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ความตอนหนึ่งว่า

“หนังสือนั้นเป็นหนังสือที่มาถึงข้าพเจ้า บอกว่าลับไม่ใช่เปิดเผย ในวันนั้นเราประชุมโดยเปิดเผย แต่วันนี้เราประชุทกันเป็นการภายใน ข้าพเจ้าพูดได้ ท่านชี้แจงว่าเหตุที่ท่านขายวังของท่านคือวังกรมหลวงชุมพรนั้น เพราะเหตุว่าต้องมีการใช้จ่ายรับรองอะไรต่างๆมาก เพราะฉะนั้นก็ใคร่จะขายเสีย”[3],[9]

ซึ่งในเวลาต่อมาในระหว่างวันที่ 1-4 สิงหาคม 2480 สภาผู้แทนราษฎรก็ได้ลงมติเสียงข้างมาก ทำให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชุดเดิมกลับมาดำรงตำแหน่งเหมือนเดิมทุกประการ กล่าวคือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมีเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) และพลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) ร่วมเป็นหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

วันที่ 11 สิงหาคม 2480 สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติ ไว้วางใจให้พระยาพหลพลพยุหเสนากลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีเหมือนเดิมเช่นกัน เพียงแต่ว่าพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ยืนยันว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องการซื้อขายที่ดินพระคลังข้างที่ขึ้นมาที่ไม่ใช่คนของรัฐบาล

ในขณะที่วันที่ 12 สิงหาคม 2480 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาซื้อขายที่ดินบางรายของพระคลังข้างที่ขึ้นมา ซึ่งเป็นวันครบรอบ 2 ปีพอดีของการสิ้นพระชนม์ของนายพันเอก พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตนจาตุรนต์ ประธานผู้สำเร็จราชการ[3]

หลังใช้เวลาในการสอบสวนประมาณ 2 เดือนเศษ คณะกรรมการสอบสวนการซื้อขายที่ดินพระคลังข้างที่จึงได้จัดทำรายงานการสอบสวนเสร็จตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2480 โดยในรายงานฉบับนี้ได้อธิบายในส่วนของ กรณีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เอาไว้ในรายงานผลการสอบสวนหน้าที่ 33-35 สรุปความว่า

“เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2480 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ได้ขายที่ดินของพระองค์ให้พระคลังข้างที่ โฉนดเลขที่ 1304 ริมถนนพิษณุโลก เชื่อมถนนพระราม 5 ตำบลดุสิต อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร เนื้อที่ 2,714 ตารางวา ที่ดินดังกล่าวมีสิ่งปลูกสร้าง คือ ตึกวังใหญ่

ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ได้โอนกรรมสิทธิ์ให้พระคลังข้างที่ไปแล้วในราคา 90,000 บาท และได้รับชำระเงินครบไปแล้ว

เรื่องนี้ไม่ปรากฏว่าก่อนลงมติให้ซื้อ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ถามความเห็นนายกรัฐมนตรี เรื่องเป็นมาดั่งนี้ คือ

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา มีหนังสือถึง “ผู้อำนวยการสำนักพระคลังข้างที่” เสนอขอขายที่ดินพระคลังข้างที่ โดยกล่าวว่าที่นี้เป็นทำเลค้าขายได้ดี และทรงทราบอยู่ว่าพระคลังข้างที่กำลังดำริจะขยายการปลูกสร้างห้องเช่า

ส่วนกำหนดราคานั้นสุดแต่ “พระคลังข้างที่” จะพิจารณาเห็นสมควรแก่ที่และสิ่งปลูกสร้างซึ่งมีอยู่ เมื่อผู้อำนวยการสำนักงานพระคลังข้างที่ได้รับหนังสือแล้ว ก็สั่งให้เจ้าหน้าที่ตีราคาที่ดินและตึก

ขุนลิขิตสุรการรายงานว่า ที่รายนี้ได้เคยมีชาวต่างประเทศขอซื้อโดยราคาตารางวาละ 22 บาท จึงตีราคาสำหรับที่ดิน 60,148 บาท รวมกับราคาตึกวังที่นายบุ้นจือ อังสุวัฒนะ ตีราคา 40,000 บาท เป็นราคาทั้งสิ้น 100,141 บาท

ขุนลิขิตสุรการแสดงความเห็นในรายงานว่าควรรับซื้อไว้ เพราะมื่อใดคิดจัดทำผลประโยชน์แล้วจะมีรายได้จากแปลงนี้มาก

พระทำนุนิธิผล เสนอความเห็นเพิ่มเติมว่าราคาที่ดินรายนี้ คิดถัวตารางวาละ 20 ถึง 25 บาท แต่เมื่อขุนลิขิตสุรการตีราคาตามที่มีผู้ขอซื้อ 22 บาท เห็นสมควร ประมาณราคาตามนี้ ควรจะปัดเศษราคาทั้งหมดเป็น 100,000 บาทถ้วน และกล่าวว่าถ้าท่านมีพระประสงค์จะขายตามราคานี้แล้ว ก็เห็นพอจะซื้อไว้ได้

ผู้อำนวยการสำนักพระคลังข้างที่จึงร่างหนังสือถึงราชเลขานุการในพระองค์แจ้งว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์อาทิตย์ทิพอาภา ได้เสนอขายที่วังและเจ้าหน้าที่ได้ตีราคามาดั่งนั้น แต่เห็นควรลดเสียอีก 10 เปอร์เซ็นต์ คงเป็นราคาควรซื้อ 90,000 บาท

ร่างหนังสือนี้ผ่านขึ้นไปถึงพระดุลยธารณ์ปรีชาไวท์ ผู้สั่งราชการแทนนายกรัฐมนตรี พระดุลยธารณ์ปรีชาไวท์ มีคำสั่งขอทราบว่า เวลานี้ท่านเจ้าของได้ผลประโยชน์อยู่เท่าไหร่ และเจ้าหน้าที่ว่า

“หวังเป็นที่แน่นอนทีเดียวว่า เมื่อได้คิดจัดทำผลประโยชน์แล้ว จะได้รับผลรายได้ในที่ดินแปลงนี้มาก”นั้น ได้คิดเห็นจะจัดทำอย่างไร จะต้องลงทุนประมาณสักเท่าใด

ผู้อำนวยการสำนักพระคลังข้างที่จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ชี้แจง ขุนลิขิตสุรการชี้แจงว่า จะให้เช่าตึกหลังใหญ่ (ที่เคยเปนโรงเรียนการเรือน) ประมาณเดือนละ 500 บาท และควรปลูกบ้านเช่าหลังเล็กๆ ริมถนน 17 หลัง โดยค่าปลูกสร้างหลังละ 1,000 บาท จะได้ค่าเช่าหลังละ 20 บาท รวม 17 หลัง จะได้ค่าเช่าประมาณเดือนละ 340 บาท

รวมทุนที่จะลงไปค่าซื้อตึกเรือนโรง 90,000 บาท และค่าปลูกสร้างบ้าน 17,000 บาท รวม 107,000 บาท จะได้ผลประโยชน์เดือนละ 740 บาท เป็นอัตราร้อยละ 9 เศษต่อปี ดีกว่าดอกเบี้ยธนาคาร จึงเห็นควรรับซื้อที่รายนี้ไว้จัดหาผลประโยชน์ต่อไป

พระทำนุนิธิผลทำความเห็นเพิ่มเติมลดอัตราประมาณค่าเช่าเสียบ้าง แต่แล้วก็ลงความเห็นว่าจะได้ประโยชน์ดีกว่าเงินฝากธนาคาร

คำชี้แจงนี้ได้ผ่านขึ้นไปยังผู้สั่งราชการแทนนายกรัฐมนตรีฯ เขียนว่า “ทราบ ”

ต่อจากนี้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้รับซื้อไว้ในราคา 90,000 บาท โดยมีคำกล่าวในพระบรมราชโองการว่า “ทั้งนี้ผู้สั่งราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้พิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย”

เมื่อพระบรมราชโองการฉะบับนี้ตกมาถึงผู้สั่งราชการแทนนายกรัฐมนตรีๆ ได้บันทึกไว้ว่า ให้ซ้อมความเข้าใจกันเสีย เพราะได้บันทึกไว้เพียงว่า “ทราบ”เท่านั้น ไม่ได้บันทึกว่า “ได้พิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย”

ต่อมาเลขาธิการพระราชวังได้บันทึกในเรื่องว่าได้ไปทำการเข้าใจกับพระพิจิตต์ราชสาสน์สำนักราชเลขานุการในพระองค์ตามนี้แล้ว“[10]

นอกจากนั้นในรายงานผลการสอบสวนในหน้าที่ 64 ยังระบุกรณีการขายที่ดินของประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ว่า

“แต่ฉะเพาะในกรณี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงเป็นผู้ขายนั้น พระองค์ท่านได้ทรงขอขายต่อผู้อำนวยการสำนักงานพระคลังข้างที่ตามทางการธรรมดา มิใช่เป็นเรื่องขอพระมหากรุณาให้ซื้อ แต่โดยที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ กรรมการจึ่งไม่อยู่ในฐานะที่จะแสดงความเห็นทางใดได้”[11]

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการแม้จะไม่แสดงความเห็นเฉพาะในทางศีลธรรมกรณีของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา แต่ว่าคณะกรรมการสอบสวนให้ความเห็นในทางกฎหมายเอาไว้ในหน้าที่ 69 เกี่ยวกับผู้ที่“ขายที่ดินของตัวเอง” ให้กับพระคลังข้างที่ ซึ่งมี 2 ราย คือ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และ นายจิตตะเสน ปัญจะ อดีตผู้ก่อการคณะราษฎรสายพลเรือน ความว่า

“ในทางกฎหมายตามพฤติการณ์ที่ปรากฏถือได้ว่า พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และนายจิตตะเสน ปัญจะ ได้เงินตราอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์โดยสุจริตตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่กล่าวแล้ว

จึงเห็นว่า พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และนายจิตตะเสน ปัญจะ ไม่ต้องคืนเงินตราที่ได้มานั้น

ส่วนที่ดินที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และนายจิตตะเสน ปัญจะได้โอนขายให้แก่พระคลังข้างที่นั้น โดยที่ผู้โอนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรายที่โอนนั้น หาใช่เปนกรณีที่ผู้โอนไม่มีอำนาจโอนเหมือนเช่นในกรณีที่พระคลังข้างที่เปนผู้ขายดั่งได้วินิจฉัยมาแต่ต้นนั้นไม่ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และนายจิตตะเสน ปัญจะ จึงย่อมไม่มีสิทธิ์ที่จะเรียกที่ดินได้โอนไปแล้วกลับคืนมา“[12]

ต่อมาเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2480 สำนักนายกรัฐมนตรีก็ได้จัดทำแถลงการณ์เรื่องผลการสอบสวนของคณะกรรมการเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินบางรายของพระคลังข้างที่ กลับสรุปในผลที่แตกต่างจากผลการสอบสวนความว่า

“คณะรัฐมนตรีได้ดำเนินการตามคำแนะนำของคณะกรรมการฯไปทุกประการแล้ว คือในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการซึ่งต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน ก็ได้สั่งให้ตำหนิโทษเป็นลายลักษณ์อักษร และให้ออกจากราชการไปแล้ว ส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์นั้น ผู้ที่ซื้อไปก็ได้ ”ขอคืนทุกราย“ แล้ว นอกจากนี้ “ผู้ที่ขายที่ดิน”ให้แก่พระคลังข้างที่ก็ได้ขอรับกลับคืนด้วย”[14]

ซึ่งคำแถลงการณ์นั้นไม่ได้สอดคล้องกับผลการสอบสวนของคณะกรรมการเลย เพราะในผลการสอบสวนนั้นมีการไม่ถวายคืนที่ดินพระคลังข้างที่ ส่วนที่ขายที่ดินให้พระคลังข้างที่ผลการสอบก็ไม่ได้ระบุว่ามีการคืนกลับแต่อย่างใด
และอาจจะด้วยเหตุผลนี้หรือไม่ จึงมีการปกปิดรายงานผลการสอบสวนฉบับนี้มาโดยตลอด

ต่อมาในวันที่ 8 มีนาคม 2481 นายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี ได้ตั้งกระทู้เพื่อติดตามผลการสอบสวนของคณะกรรมการพิจารณาซื้อขายที่ดินบางรายของพระคลังข้างที่ โดยในข้อ 3 ได้กล่าวถึงการกระทำของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ความว่า

“3. ทราบว่าบางส่วนคณะกรรมการไม่กล้าวินิจฉัย เช่น ในเรื่องการกระทำของส่วนของท่านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ บางอย่างคณะกรรมการอ้างว่าเกรงจะเป็นการหมิ่นประมาท สำนวนเช่นนี้ทำให้เห็นโน้มเอียงไปว่าพระองค์ท่านมัวหมองอยู่ในตัว ซึ่งหน้าที่รัฐบาลจะหาทางให้วินิจฉัยให้กระจ่างได้โดยวิธีหนึ่งจึ่งจะควร เพื่อรักษาพระเกียรติของพระองค์ท่าน ขอทราบว่ารัฐบาลดำริหรือไม่ประการใด”[3]

โดยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีได้อธิบายตอบสั้นๆเพียงว่า

”คณะกรรมการก็ได้พิจารณาเสร็จแล้วเรื่องก็เป็นอันเสร็จสิ้นไป การที่คณะกรรมการไม่ได้วินิจฉัยถึงการกระทำของประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามเหตุผลของคณะกรรมการให้ไว้ในรายงาน ซึ่งรัฐบาลได้โฆษณาแล้วนั้น ไม่ได้แปลว่าพระองค์ท่านมีความมัวหมองแต่อย่างใด“[3]

แต่หากพิจารณาในเรื่องตัวละครที่ปรากฏที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมการซื้อและขายที่ดินนั้น ต่างมี ”ผลประโยชน์ทับซ้อน“ที่ผลัดกันเอื้อประโยชน์กันไปมาหรือไม่ ดังนี้

พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นผู้ลงนามซื้อและขายที่ดินพระคลังข้างที่ทุกราย แต่พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาก็ได้ขายที่ดินของพระองค์เองให้กับพระคลังข้างที่ในวันที่ 18 มิถุนายน 2480 โดยผลการสอบสวนไม่ได้พิจารณาข้อเท็จจริงในตัวเลขที่แตกต่างจากการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรว่าที่ดินข้างเคียงราคาตารางวาละ 15 บาท แต่เมื่อพิจารณาผลการสอบสวนแล้วเหตุใดพระคลังข้างที่จึงซื้อที่ดินของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภามาในราคาตารางวาละ 22 บาท

ข้อสำคัญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาก็ลงพระนามทั้งในฐานะผู้ขายที่ดินของตัวเอง และในฐานะผู้ซื้อที่เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วย


นายเรือเอกวัน รุยาพร ร.น. อดีตสมาชิกคณะราษฎรสายทหารเรือ ย้ายจากข้าราชกระทรวงกลาโหมมาทำหน้าที่ “เลขานุการสำนักพระราชวัง” และเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักพระคลังข้างที่ ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทในการตีราคาการซื้อที่ดินของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ก็ “ได้ประโยชน์ไปแล้ว” ก่อนหน้านั้น โดยการลงพระนามของ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการ

โดยเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2480 นายเรือเอกวัน รุยาพร ร.น. ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ โฉนดเลขที่ 603 ริมถนนเพ็ชรบุรี ตำบลประแจจีน (พญาไท) อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร เนื้อที่ 164 ตารางวาง ซื้อในราคา 4,400 บาท โดยโอนที่ดินมาในชื่อตัวเองก่อน โดยอ้างว่าจะผ่อนใช้ไม่น้อยกว่าปีละ 800 บาท แต่ก็ไม่ได้ผ่อนตามสัญญา[15]

“ร้อยเอก ขุนนิรันดรชัย” ซึ่งย้ายจากเลขานุการนายกรัฐมนตรี มาดำรงตำแหน่งเป็น “ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์” ซึ่งรับเรื่องการขายที่ดินของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ต่อมาจากพระคลังข้างที่ ซึ่งมีนายเรือเอกวัน รุยาพร ร.น. เป็นผู้ช่วยพระคลังข้างที่คอยเดินเรื่องให้อยู่ด้วยในเวลาเดียวกัน ผลปรากฏว่าราชเลขานุการในพระองค์เสนอให้ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในราคา 90,000 บาท

ซึ่ง “ร้อยเอก ขุนนิรันดรชัย” ก็ได้รับประโยชน์ไปก่อนหน้านั้นแล้วเช่นกัน โดยได้มีการซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ 2 แปลงตั้งแต่ปี 2478 และ 2479 โดยการลงพระนามของ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการ[15]

พระดุลยธารณ์ปรีชาไวท์ ผู้สั่งราชการแทนนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำเรื่องการให้พระคลังข้างที่ซื้อที่ดินจากพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาโดยลงนามว่า “ทราบ” และไม่ได้มีการขัดขวางนั้น ก็เพราะพระดุลยธารณ์ปรีชาไวท์ ก็ได้ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ไปแล้วก่อนหน้านั้นครั้งแรก คือวันที่ 14 เมษายน 2480[15]

และภายหลังได้ทำเรื่องให้พระคลังข้างที่ซื้อที่ดินจากพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาสำเร็จไปแล้ว ก็ยังสามารถได้ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่หลังจากนั้นเป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2480 อีกด้วย โดยการลงพระนามพระมหากรุณาของ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการ[15]

ขุนลิขิตสุรการ (ตั้ง ทรรพวสุ) ซึ่งเป็นกรรมการกำหนดราคาที่ดิน สำนักพระราชวัง ในการซื้อและขายที่ดินพระคลังข้างที่ โดยภายหลังได้กำหนดตีราคาให้พระคลังข้างที่ซื้อที่ดินจากพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาไปแล้ว ก็กลับมีผลประโยชน์ทับซ้อนหลังจากนั้นอีกประมาณ 1 เดือน

กล่าวคือผลการสอบสวนในหน้า 17-19 พบว่าขุนลิขิตสุรการ ก็ได้ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2480 โฉนดเลขที่ 20 ริมถนนจักรพงษ์ ตอนริมวัดชนะสงคราม ตำบลชนะสงคราม อำเภอพระนคร เนื้อที่ 100 ตารางวา มีสิ่งปลูกสร้าง โดยที่ดินพระคลังข้างที่ตีราคาไว้ 8,900 บาท แต่ขุนลิขิตสุรการสามารถซื้อได้ในราคาเพียง 5,935 บาทเท่านั้น โดยให้มีการผ่อนชำระราคาปีละไม่น้อยกว่า 500 บาท ซึ่งได้พระมหากรุณาโดยการลงพระนามของ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการอีกเช่นเคย[13]

คำถามมีอยู่ว่า กรณีดังที่กล่าวมาข้างต้นจะให้เชื่อถือเรื่องการใช้ดุลพินิจการตีราคา หรือความเหมาะสมในการซื้อขายที่ดินพระคลังข้างที่ได้อย่างไร ถ้าคนที่เกี่ยวข้องในการทำธุรกรรมเกี่ยวกับที่ดินพระคลังข้างที่ต่างมีผลประโยชน์ทับซ้อนที่มีลักษณะผลัดกันเอื้อประโยชน์กันไปมาเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง ที่ได้จากทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ ในวันที่พระมหากษัตริย์มิได้ประทับอยู่ในประเทศ

บันทึกโดย
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
18 เมษายน 2567

อ้างอิง
[1] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, ศึกชิงพระคลังข้างที่ 2445, สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ พิมพ์ครั้งที่ 3 :บุ๊ค ด็อท คอม, 2565, 576 หน้า ISBN 978-616-536-211-5 หน้า 217-223

[2] เรื่องเดียวกัน (เพิ่งอ้าง), หน้า 230

[3] เรื่องเดียวกัน (เพิ่งอ้าง), หน้า 156-174

[4] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งซ่อมคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และแต่งตั้งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ใหม่, เล่มที่ 42 หน้า 1260-1262, วันที่ 21 สิงหาคม 2478

[5] หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล, สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น (รวมเล่ม), พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพฯ: มติชน, 2559, ISBN 978-974-02-1263-8, หน้า 188-189

[6] ไสว สุทธิพิทกษ์, ดร.ปรีดี พนมยงค์, บริษัท บพิธการพิมพ์ จำกัด, จำหน่าย โดยบริษัท เคล็ดไทย จำกัด, พิมพ์ครั้งที่สอง, เมษายน พ.ศ. 2526 หน้า 550-551

[7] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง) กระทู้ถามเรื่องที่ดินของพระมหากษัตริย์ของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี ถามนายกรัฐมนตรี และญัตติด่วนเรื่องขออภิปรายทั่วไปในนโยบายของรัฐบาลว่าด้วยการจัดทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ โดยนายไต๋ ปาณิกบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพระนคร, วันที่ 27 กรกฎาคม 2480, หน้า 316,319

[8] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 13 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง), ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และนายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะขอลาออกจากตำแหน่ง วันที่ 28 กรกฎาคม 2480 หน้า 349

[9] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 14 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง), ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และนายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะขอลาออกจากตำแหน่ง วันที่ 29 กรกฎาคม 2480 หน้า 361

[10] รายงานกรรมการพิจารณาการจัดซื้อขายที่ดินบางรายของพระคลังข้างที่, 26 ตุลาคม 2480, หน้า 33-35

[11] เรื่องเดียวกัน (เพิ่งอ้าง), หน้า 64

[12] เรื่องเดียวกัน (เพิ่งอ้าง), หน้า 69

[13] เรื่องเดียวกัน (เพิ่งอ้าง), หน้า 17-18

[14] สำนักนายกรัฐมนตรี, คำแถลงการณ์​ เรื่องผลการสอบสวนของคณะกรรมการเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินบางรายของพระคลังข้างที่, 4 ธันวาคม 2480

[15] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, เปิดผลสอบปล้นพระคลังข้างที่ 87 ปีที่แล้ว (ตอนที่ 1): 12 คน “ยังไม่ถวายที่ดินพระคลังข้างที่คืน” แฟนเพจ เฟซบุ๊ก ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, 27 มีนาคม 2567
https://www.facebook.com/100044511276276/posts/949107159916318


กำลังโหลดความคิดเห็น