วลีที่ว่า สายกลางเป็นคำสอนของพระพุทธศาสนา อันมีที่มาในธัมมจักกัปปวัตนสูตร ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ หลังจากที่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
ด้วยเหตุนี้ธัมมจักกัปปวัตนสูตรจึงเป็นปฐมเทศนา โดยมีเนื้อหาเริ่มด้วยแนวทางที่ภิกษุไม่พึงเสียคือ ไม่พึงปฏิบัติตาม 2 แนวทางคือ
1. กามสุขัลลิกานุโยค อันได้แก่การทำตนให้หมักหมมอยู่ในกามหมายถึงการแสวงหาความสุขจากการใช้สอยวัตถุที่ปุถุชนคนมีกิเลสต้องการ หรือที่เรียกว่า วัตถุกาม เฉกเช่นที่ลัทธิจารวากที่สอนให้แสวงหาความสุขจากเนื้อหนังมังสา และถือว่าความสุขจากการเสพกามเป็นนิพพาน เป็นต้น
2. อัตตกิลมถานุโยค อันได้แก่การทำตนเองให้ลำบากต้องทนทุกข์ทรมาน โดยเชื่อว่าการทำเช่นนั้นจะทำให้บรรลุโมกขธรรมคือ ความหลุดพ้นจากกิเลส เฉกเช่นลัทธินิครนถ์นาฏบุตร ที่สอนว่าการทรมานตนด้วยแบบต่างๆ เป็นการบำเพ็ญตนคือ การเผาผลาญกิเลส การเปลือยกาม และคลานกินอาหารกับพื้นเยี่ยงสุนัข เป็นต้น
พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิเสธสองแนวทางข้างต้น เนื่องจากว่าพระองค์ได้ทดลองปฏิบัติแล้วไม่ทำให้บรรลุพระนิพพานคือ ความหลุดพ้นจากกิเลสได้ และได้ทรงสอนแนวทางที่ทำให้ผู้ปฏิบัติพ้นทุกข์ได้คือ มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง อันได้แก่มรรค มีองค์ประกอบ 8 ประการคือ
1. สัมมาทิฏฐิคือ ความเห็นชอบหรือความเห็นถูกต้อง
2. สัมมาสังกัปปะคือ ดำริชอบหรือดำริถูกต้อง
3. สัมมาวาจาคือ เจรจาชอบหรือพูดถูกต้อง
4. สัมมากัมมันตะคือ การงานชอบ หรือทำในสิ่งถูกต้อง
5. สัมมาอาชีวะคือ เลี้ยงชีพชอบ หรือเลี้ยงชีพในวิถีทางถูกต้อง
6. สัมมาวายามะคือ เพียรชอบ หรือพยายามในสิ่งถูกต้อง
7. สัมมาสติคือ ระลึกชอบ หรือระลึกในสิ่งถูกต้อง
8. สัมมาสมาธิคือ ทำจิตให้สงบตามวิธีที่ถูกต้อง
องค์ประกอบ 8 ประการของทางสายกลางดังกล่าวข้างต้น โดยสรุปก็คือ ศีล สมาธิ และปัญญา หรือไตรสิกขานั่นเอง กล่าวคือ ส่วนใดเกี่ยวกับการควบคุมกายและวาจาก็เป็นศีล ส่วนใดเกี่ยวกับการทำใจให้สงบก็เป็นสมาธิ และส่วนใดเกี่ยวกับการเรียนเพื่อให้เข้าถึงความจริงก็เป็นปัญญา
ทางสายกลางข้างต้น พระพุทธเจ้าสอนให้นักบวชถือปฏิบัติเพื่อให้หลุดพ้นจากกิเลส จึงเป็นคำสอนขั้นนปรมัตถสัจจะ อันเป็นความจริงขั้นสูงสุด หรืออันติมสัจจะ ซึ่งเป็นอภิปรัชญาของพุทธ
แต่ทางสายกลางสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับคฤหัสถ์เพื่อให้เข้าถึงสมมติสัจจะ เพื่อให้ปุถุชนคนมีกิเลสปฏิบัติตาม และประสบความสุขในขั้นโลกียะได้โดยการลดระดับความเข้มข้นของแต่ละองค์ประกอบลงเช่น ในส่วนของศีลก็ลดจาก 227 ข้อของภิกษุ 311 ข้อ ของภิกษุณีลงเหลือศีล 5 สำหรับสาธุชนคือ คนที่ในระดับที่คนปกติทั่วไปปฏิบัติ ส่วนของสมาธิก็เหลือแค่ทำจิตให้อยู่กับงานที่กำลังทำไม่ฟุ้งซ่าน และในส่วนที่เกี่ยวกับปัญญาก็เหลือแค่การใช้ความรู้ที่ถูกต้องทันสมัยมาแก้ปัญหา แทนการใช้ความเคยชินและประสบการณ์เดิมๆ
ดังนั้น ทางสายกลางตามคำสอนของพุทธสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ โดยนักการเมืองทุกคนหรือส่วนใหญ่พร้อมใจกันละแนวทาง การเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 2 แนวทางคือ
1. ประโยชน์นิยมได้แก่ การดำเนินกิจกรรมของการเมืองเพื่อแสวงหาอำนาจรัฐ และนำอำนาจที่ได้มาเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเอง และพวกพ้อง เป็นด้านหลักและทำประโยชน์แก่ประเทศและประชาชนเป็นด้านรอง
2. อุดมการณ์นิยมได้แก่ การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเพื่อแสวงหาอำนาจรัฐ และนำอำนาจที่ได้มาเป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงสังคมโดยรวมให้เป็นไปในทิศทางที่ตนเองต้องการให้เป็น
ทั้งสองแนวทางนี้เรียกได้ว่าสุดโต่ง และถูกปฏิเสธจากประชาชนส่วนใหญ่ จึงอนุมานได้ว่า คนจะถึงทางตันในอนาคตอันใกล้นี้
ดังนั้น ถ้าจะให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ของประเทศ และสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองไปได้ในอนาคต โดยไม่ล้มลุกคลุกคลานเฉกเช่นในอดีต นักการเมือง และพรรคการเมืองจะต้องปรับตัวให้เข้ากับประชาชนเหมือนปลากับน้ำ โดยการปรับแนวทางการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองให้เป็นสายกลาง ด้วยการปฏิรูปและเปิดกว้างยอมรับความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ และยึดหลักการดังต่อไปนี้
1. ปฏิรูปประเทศในทุกด้านที่จำเป็นต้องทำเพื่อการพัฒนา โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการปกครอง โดยการทิ้งของเก่าที่ไร้ประโยชน์และเก็บรักษาของเก่าที่ยังมีประโยชน์นำมาต่อยอดพัฒนาให้ทันสมัย โดยคำนึงประโยชน์ของประเทศ และประชาชนโดยรวม เป็นหลัก
2. เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นจากคนในประเทศ และนำความรู้รวมถึงแนวคิดต่างๆ จากต่างประเทศเข้ามาประยุกต์ให้เข้ากับความมี ความเป็นของประเทศไทย และคนไทย โดยยึดหลักแนวคิดของผู้นำจีนที่ว่า ตัดเสื้อให้เข้ากับตัว และตัดรองเท้าให้เข้ากับตัว มิใช่ตัดตัวให้เข้ากับเสื้อ และตัดตีนให้เข้ากับรองเท้า
3. รีบแก้ปัญหาเรื้อรังที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทุจริต คอร์รัปชันในภาครัฐ โดยยึดหลักอริยสัจ 4 คือ แก้ที่ต้นเหตุ และในการปราบปรามจะต้องจับให้ได้ทั้งเสือ แมลงวัน
4. ในการกำหนดนโยบายบริหารประเทศในแต่ละด้าน จะต้องคำนึงถึงศักยภาพของประเทศ และความพร้อมของประชาชน
ทั้ง 4 ประการข้างต้น เป็นเพียงตัวอย่างให้นำไปคิดและทดลองทำเป็นในเบื้องต้นเท่านั้น ถ้าลงมือทำจริงคงจะมีอะไรเพิ่มเติมมากกว่านี้ก็ได้