xs
xsm
sm
md
lg

“ป.ป.ส.” รุกปราบยาเสพติด เน้นภารกิจ “บำบัดผู้เสพ-ตัดวงจรผู้ค้า”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ
“พล.ต.ท.ภาณุรัตน์” เลขาธิการ ป.ป.ส. ชูโมเดล CBTx ใช้ชุมชน-ครอบครัวร่วมบำบัด “ผู้เสพ” รับสถานการณ์ในเมียนมาทำยาเสพติดทะลักชายแดน เร่งประสานพันธมิตรสกัดตั้งแต่ “ต้นน้ำ” ปิดกั้นสารตั้งต้นไปถึงแหล่งผลิต

ต้องยอมรับว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดในประเทศทวีความรุนแรง และขยายวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะในรอบปีที่ผ่านมา ที่สถานการณ์สู้รบในประเทศเพื่อนบ้านเป็นปัจจัยเร่งทำให้มีความพยายามลักลอบขนยาเสพติดเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นทุกขณะ

สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ภายใต้การนำของ “บิ๊กหลวง” พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. ถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักที่ต้องร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่มีความท้าทายมากขึ้นตามลำดับนี้

หลัง พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ป.ป.ส. เมื่อช่วงต้นปี 2567 ก็ได้วางแนวการทำงานตามนโยบาย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ใน 4 ข้อหลัก คือ 1.เปลี่ยนผู้เสพให้เป็นผู้ป่วย, 2.ปลุกให้ชุมชนลุกขึ้นมาต่อสู้กับยาเสพติด, 3.ปราบปรามยึดทรัพย์พ่อค้ายาเสพติด และ 4.จัดการกับข้าราชการชั่วที่มีส่วนเข้าไปพัวพันเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติด


เมื่อช่วงปลายเดือน มี.ค.67 ที่ผ่านมา พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ ได้นำคณะ ลงพื้นที่ จ.เชียงราย ซึ่งถือเป็นพื้นที่สีแดงของปัญหายาเสพติด เนื่องจากเป็นพื้นที่เส้นทางลักลอบขนยาเสพติดเข้ามาในประเทศไทยด้วย และยังเป็นแหล่งพักยาเสพติดอีกด้วย

โดย เลขาธิการ ป.ป.ส.ได้ไปติดตามภารกิจสำคัญของ ป.ป.ส. ใน 2 ส่วนคือ การบำบัดผู้เสพ ให้กลับคืนสังคมสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข และการตัดวงจรผู้ค้ายาเสพติด

จุดแรกได้ไปตรวจเยี่ยมบ้านสันเจริญ ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย ซึ่งเป็นชุมชนตัวอย่างที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก ป.ป.ส. ภายใต้โครงการบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติดโดยชุมชนเป็นฐาน (Community Based Treatment : CBTx) เพื่อส่งเสริมการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด

โดยศูนย์ CBTx “บ้านสันเจริญ” ดูแลครอบคลุม 20 หมู่บ้าน และกลุ่มบ้านบริวารอีก 40 กลุ่มบ้าน ซึ่งประชากรทั้งหมดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวอาข่า เข้ามาตั้งรกรากในบริเวณดังกล่าว ตั้งแต่ราวปี 2540 และที่ผ่านมาก็เผชิญกับปัญหายาเสพติด ทั้งผู้เสพ และผู้จำหน่าย ตลอดจนเป็นพื้นที่พักยาเสพติดที่ลักลอบขนเข้ามาในประเทศไทยด้วย

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ ให้ข้อมูลว่า เนื่องจากเป็นพื้นที่เส้นทางผ่านของกลุ่มขบวนการค้ายาเสพติด จึงมีการเข้ามาฝังตัวสร้างอิทธิพลในหมู่บ้านชาวไทยภูเขาบนดอยสูง และทำให้เกิดการแพร่ระบาดของยาเสพติดในวงกว้าง กระทั่งคนในชุมชนรู้ถึงปัญหาและพยายามช่วยกันแก้ไข ช่วยกันผลักดันให้เกิดการบำบัดฟื้นฟู โดย ป.ป.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทั้ง หน่วยงานสังกัดกระทรวงมหาดไทย สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย จัดโครงการป้องกันและการบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติดโดยชุมชนเป็นฐาน (CBTx) เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 ทำให้ที่นี่เป็น 1 ในแบบอย่างชุมชนเข้มแข็ง

“การแก้ปัญหายาเสพติด ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย เริ่มที่ครอบครัว ชุมชน ผู้นำชุมชน ระบบสาธารณสุขที่ดูแลการบำบัดฟื้นฟู การจัดหางาน สร้างอาชีพ เปิดโอกาสให้พวกเขาได้สร้างอนาคต” พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าว

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ เล่าต่อว่า ในการแก้ไขปัญหา จะมีการจัดเวทีประชาคมในชุมชน โดยผู้นำชุมชนและคณะกรรมการหมู่บ้าน เริ่มจากการวางมาตรการไม่ให้มีการขาย หรือการเสพในหมู่บ้าน อย่างเด็ดขาด เพื่อลดจำนวนผู้เสพ และสำรวจความต้องการของคนที่รับการบำบัด ก่อนจัดทำข้อตกลงร่วม โดยกฎชุมชนที่ทุกคนถือปฏิบัติ ผู้ที่ใช้สารเสพติดต้องไปบำบัดรักษา เป็นการให้โอกาสผู้ใช้สารเสพติดกลับตัวเป็นสมาชิกที่ดีของชุมชน ขณะที่ผู้ค้า หรือผู้ที่ร่วมขบวนการ ก็จะตักเตือนก่อน หากยังมีพฤติกรรมเช่นเดิม ก็จะแจ้งเจ้าหน้าที่ และขอให้ย้ายออกหมู่บ้าน


เลขาธิการ ป.ป.ส. ชี้แจงถึงแนวทางการดำเนินการในส่วนของการบำบัดผู้เสพยาเสพติดว่า จะมีการจัดทำทะเบียนข้อมูล โดยเทศบาลตำบลแม่ยาว และกลุ่ม ฅ ฅน เพื่อการเปลี่ยนแปลง ดำเนินการคัดการค้นหา คัดกรอง บำบัดรักษา ช่วยเหลือฟื้นฟู ติดตาม แยกกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง ในกลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มผู้ใช้สารเสพติด เพื่อเพิ่มโอกาสในการช่วยเหลือ

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวด้ยยว่า การปรับเปลี่ยน สร้างภาวะแวดล้อมเชิงบวก ทั้งการกีฬา การออกกำลังในเด็กและเยาวชน ณ ลานสนามกีฬาหมู่บ้าน จัดอบรมความรู้ สร้างแกนนำ พัฒนาศักยภาพ อบรมความรู้เรื่องพิษภัยยาเสพติด ในเครือญาติ ครอบครัวและเยาวชนเพื่อสร้างเกราะป้องกัน เพื่อให้มีความเข้าใจสภาพร่างกายและจิตใจของผู้บำบัด ยอมรับไม่รังเกียจหรือตีตรา ให้กำลังใจแก่ผู้บำบัดอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม

“กระบวนการทั้งหมดนี้ แม้จะต้องใช้เวลาและต้องดำเนินการอย่างสม่ำเสมอจากทุกฝ่าย แต่สุดท้ายแล้ว ถ้าทำได้ ก็จะสามารถแก้ปัญหายาเสพติดได้อย่างยั่งยืน” พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าว


นพ.พรชัย พรสวรรค์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ให้ข้อมูลเสริมว่า จากการสำรวจพบว่าในพื้นที่ จ.เชียงราย มีผู้เสพยาเสพติดที่สมัครใจเข้ารับการบำบัดแล้วกว่า 5,000 ราย จากผู้ที่มีพฤติกรรมเสะยาเสพติดทั้งหมดประมาณ 1.3 หมื่นราย โดยมีศูนย์ฟื้นฟู ศูนย์คัดกรอง และมีมินิธัญรักษ์ เพื่อรองรับผู้เข้ารับการบำบัดที่ไม่สามารถกลับเข้าสู่ชุมชนได้ เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน และคืนคนกลับเข้าสู่ชุมชนได้

นายอภิรักษ์ อินต๊ะวัง นายเทศมนตรี ต.แม่ยาว ระบุถึงนโยบายการดูแลผู้ที่สมัครใจเข้ารับการบำบัดว่า ต้องมีชุมชนให้ร่วมติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง ไม่ซ้ำเติม ต้องให้กำลังใจ รวมทั้งสนับสนุนการฝึกอาชีพ เช่น วิชาช่าง หรือคัดแยกขยะเพื่อเป็นรายได้เสริม พร้อมประสานงานไปยังผู้นำชุมชนให้สร้างความปลอดภัยในชุมชน ทั้งไฟฟ้า แสงสว่าง และกล้องวงจรปิดในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความรู้กับโรงเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้ทราบถึงพิษภัยของยาเสพติดตั้งแต่ยังเป็นเด็ก

ผู้นำชุมชนบ้านสันเจริญ เล่าว่า ในอดีตคนในหมู่บ้านจำนวนมากมีพฤติกรรมเสพยาเสพติด จนส่งผลให้ครอบครัว และชุมชนได้รับความเดือดร้อน จึงได้ระดมแนวคิดจากคนในชุมชนเพื่อช่วยกันแก้ปัญหา ในช่วงแรกใช้ไม้แข็ง ขู่ผู้เสพ ผู้ค้า หรือผู้ที่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดว่า หากไม่เลิกยุ่งเกี่ยวกับยาเเสพติดห้ามเข้าหมู่บ้าน ส่วนผู้เสพก็ให้คนในครอบครัวช่วยเกลี้ยกล่อม เพื่อเข้าบำบัดฟื้นฟู ใช้เวลาอยู่พอสมควรกว่าจะได้รับความร่วมมือ

“เราต้องทำความเข้าใจกับครอบครัวไม่ให้ตำหนิซ้ำเติมคนที่ก้าวพลาด ทำความเข้าใจคนในชุมชนให้ช่วยกัน เปิดโอกาสให้ลูกหลาน โอบกอดพวกเขา ไม่นานคนในชุมชนเห็นผลของการบำบัด ผู้เสพเห็นความเปลี่ยนแปลงของผู้ที่หันหลังให้ยาเสพติด ทำให้มีผู้สมัครใจเข้าร่วมการบำบัดมากขึ้น” ผู้นำชุมชนบ้านสันเจริญ กล่าว


ผู้นำชุมชนบ้านสันเจริญ เล่าด้วยว่า ในระหว่างการบำบัดช่วงแรก 7 วัน จะมีผู้นำศาสนา และญาติผู้บำบัด จะเข้าเยี่ยมเพื่อส่งกำลังใจให้กับผู้บำบัดให้อดทนต่อความอ่อนล้า เจ็บป่วย และความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้กับผู้บำบัดที่อยู่ระหว่างการถอนพิษยาเสพติด เมื่อผู้บำบัดมีความพร้อมแล้ว รพ.สต.และชุมชน ร่วมกันจัดการต้อนรับกลับบ้านอย่างอบอุ่น โดยจัดให้มีการอบรมให้ความรู้ และเข้าใจตัวผู้บำบัดและเรื่องพิษภัยของยาเสพติด ให้แก่ครอบครัวและคนในชุมชนด้วย

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวเสริมในช่วงท้ายว่า การแก้ไขปัญหายาเสพติด มีปัจจัยสำคัญจากความอบอุ่นในครอบครัว มีชุมชนเป็นกำลังสำคัญในการดูแลติดตามเอาใจใส่อย่างต่อเนื่อง และความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐที่เข้มแข็ง จะทำให้สามารถบำบัดยาเสพติดได้ประสบความสำเร็จและยั่งยืน ไม่ใช่เพียงแค่การผลักให้ผู้เสพยาต้องรับโทษตามกฎหมายอย่างเดียว แต่เป็นการนำผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดอย่างถูกต้อง ชุมชนเข้มแข็งและให้โอกาส เพื่อให้พวกเขาสามารถกลับมามีที่ยืนในสังคมได้ และไม่หวนกลับไปเสพยาเสพติดอีก


นอกจากนี้คณะของ ป.ป.ส.ยังได้ติดตามภารกิจการป้องกันและปราบปรามตัดวงจรผู้ค้ายาเสพติด ที่ฐานปฏิบัติการดอยช้างมูบ ต.โป่งงาม อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งเป็นที่ตั้งของ หน่วยกองกำลังป้องกันแนวชายแดน กองร้อยทหารม้าที่ 2 หน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก กองกำลังผาเมือง ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อประชิดกับแนวเขตชายแดนประเทศไทย-เมียนมา ซึ่งเป็นเส้นทางการลำเลียงยาเสพติดที่แบ่งกระจายตามแนวสันเขา

พล.ท.นฤทธิ์ ถาวรวงษ์ แม่ทัพน้อยที่ 3 ในฐานะผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคเหนือ หรือ นบ.ยส.35 กล่าวว่า ปัญหาการลักลอบนําเข้ายาเสพติดมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การสู้รบในเมียนมา ซึ่งในปัจจุบันพบว่ามีวิธีลําเลียงในรูปแบบใหม่อยู่ตลอดเพื่อตบตาเจ้าหน้าที่

“ยอมรับว่าเราคงไม่สามารถสกัดกั้นได้ทั้งหมด เนื่องจากสภาพภูมิประเทศ และ Demand Supply ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาล แต่ก็เชื่อว่า ปัจจุบันเราสามารถสกัดกั้นได้ไม่น้อยกว่า 60% ส่วนที่เล็ดลอดเข้ามา ก็จะมีการข่าวเพื่อประสานไปยังตำรวจให้สืบสวนติดตามจับกุมต่อไป” พล.ท.นฤทธิ์ ระบุ


พล.ท.นฤทธิ์ เปิดเผยอีกว่า จากสถานการณ์การสู้รบในประเทศเมียนมา และข้อมูลด้านการข่าว คาดว่าจะทำให้การนำเรียงยาเสพติดข้ามประเทศทวีความรุนแรงขึ้น โดยจะมีการเตรียมการนำยาเสพติด ประเภทยาบ้า เข้ามาในประเทศไทยระลอกใหม่ อีกประมาณ 70-80 ล้านเม็ด โดยในปีนี้ทางรัฐบาลได้จัดตั้งหน่วยบัญชาการสกัดกั้นยาเสพติดขึ้นมาเน้นพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย แต่ก็ได้มีการแจ้งไปยังหน่วยพื้นที่รับผิดชอบ จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.พะเยา ในการสกัดกั้นเพิ่มเติมกรณีขบวนการลักลอบเปลี่ยนเส้นทาง

ทั้งนี้การดำเนินมาตรกรรต่างๆ ในประเทศนั้น ไม่อาจเป็นการแก้ไขปัญหาแบบครบวงจร เพราะยังมีวนส่วนของการสกัดกั้นสารตั้งต้นของยาเสพติด ที่มีการส่งเข้าไปในยังแหล่งผลิตยาเสพติดในประเทศเพื่อนบ้าน โดยที่ผ่านมา เลขาธิการ ป.ป.ส. และหน่วยที่เกี่ยวข้อง ได้ประสานความร่วมมือกับประเทศต่างๆ

(ขวา) พล.ต.ท.ภานุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. ให้การต้อนรับ (ซ้าย) พลตรีโต ยี รองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและคณะกรรมการกลางเพื่อการควบคุมยาเสพติดแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (Central Committee for Drug Abuse Control: CCDAC)
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด (Commission on Narcotic Drugs : CND) เมื่อปลายปี 2566 ประเทศจีนยินดีให้ความร่วมมือในการสกัดกั้นสารตั้งต้นผลิตยาเสพในเขตรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ทั้งตอนบนและตอนล่าง ซึ่งจะส่งผลดีกับประเทศไทยเพราะยาบ้า เมื่อไม่มีสารตั้งต้นก็ผลิตได้น้อยลง รวมทั้งยังได้มีการประสานไปทางประเทศอินเดียในความร่วมมือเดียวกันด้วย

ขณะเดียวกัน เมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย.67 ที่ผ่านมา เลขาธิการ ป.ป.ส. ก็ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย และประธานการประชุมทวิภาคีไทย-เมียนมา เรื่อง ความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ครั้งที่ 25 โดยมี พลตรีโต ยี รองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและคณะกรรมการกลางเพื่อการควบคุมยาเสพติดแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (Central Committee for Drug Abuse Control: CCDAC) และพลตำรวจจัตวา วิน หน่าย ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และเลขาธิการร่วม CCDAC เป็นประธานร่วมฯ ด้วย

ตามพันธกิจของ ป.ป.ส. ภายใต้การนำของ “พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ” ในการ “บำบัดผู้เสพ” ให้กลับคืนสังคมสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข และ “ตัดวงจรผู้ค้า” เพื่อแก้ปัญหายาเสพติดได้อย่างยั่งยืน.

การประชุมทวิภาคีไทย-เมียนมา เรื่อง ความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ครั้งที่ 25 ที่โรงแรมโนราบุรีฯ เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 2 เม.ย.67
กำลังโหลดความคิดเห็น