xs
xsm
sm
md
lg

การเทียบ พ.ศ. ค.ศ. ฮ.ศ. ม.ศ. จ.ศ. และ ร.ศ. ในเอกสารประวัติศาสตร์ไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์



ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาสถิติศาสตร์
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


พุทธศักราช เริ่มนับ พ.ศ.1 หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ครบ 1 ปี ในประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้ใช้ พุทธศักราช

คริสตศักราช เริ่มนับ ค.ศ.1 ในปีที่พระเยซูประสูติ เทียบ พ.ศ.มา เป็นค.ศ. ให้ลบ พ.ศ. ด้วย 543 ตัวย่อของ ค.ศ. ในภาษาอังกฤษคือ A.D. หรือย่อมาจาก Anno Domini อันเป็นภาษาละติน Anno แปลว่าปี รากศัพท์เดียวกันกับคำว่า Annual ส่วน Domini คือ Lord ดังนั้น Anno Domino จึงแปลว่า In the year of the Lord อันหมายถึงพระเยซูคริสตเจ้า เหตุการณ์ใดในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นก่อนพระเยซูคริสตเจ้าประสูติ จะเรียกว่า ก่อนคริสตกาล หรือ B.C. อันย่อมาจาก Before Christ

ในเอกสารของชาติตะวันตกที่เขียนเกี่ยวกับประเทศไทยนิยมใช้ ค.ศ. ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก อันได้แก่ จดหมายเหตุสมัยอยุธยา เช่น จดหมายเหตุลาลูแบร์ เป็นต้น

ฮิจเราะห์ศักราช เริ่มนับ ฮ.ศ. 1 ในวันที่ท่านนบีมูฮัมหมัด อพยพออกจากเมืองเมกกะไปยังเมืองเมดินา เมื่อ พ.ศ. 1165 แต่การเทียบ พ.ศ. เป็นฮ.ศ. นั้นทำได้ยาก เพราะ ฮ.ศ. ยึดปฏิทินระบบจันทรคติอย่างเคร่งครัดมาก ทำให้ราวๆ ทุก 32 ปีครึ่ง จะเกิดปีศก เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งปี การเทียบโดยประมาณให้เอา พ.ศ. ลบด้วย 1122 แต่ก็จะยังไม่แน่นอนแต่อย่างใด

มหาศักราช นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่าเริ่มต้นนับ ม.ศ. 1 ในปีที่พระเจ้ากนิษกะมหาราช กษัตริย์ของอินเดียทรงขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อ พ.ศ. 622 การเทียบพุทธศักราชมาเป็นมหาศักราชให้เอา พ.ศ. ลบออกด้วย 621

ไทยเองใช้มหาศักราชมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนกระทั่งสมัยอยุธยา โดยได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียและทางพม่าอีกทอดหนึ่ง มหาศักราชนั้นเคยเป็นที่นิยมใช้แพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จุลศักราช การเริ่มต้นนับ จุลศักราช นั้นมีหลายแนวคิดที่ถกเถียงกันในหมู่นักวิชาการประวัติศาสตร์ แนวคิดหนึ่งเชื่อว่าจุลศักราชเริ่มต้นนับเมื่อพระเจ้าสูริยวิกรม กษัตริย์พม่าสมัยอาณาจักรพุกามขึ้นครองราชสมบัติ โดยใช้ จ.ศ. 1 เมื่อ พ.ศ. 1182 อันเป็นแนวคิดที่ ดร. วินัย พงษ์ศรีเพียร ได้นำเสนอไว้

จุลศักราช นิยมใช้แพร่หลายในเอกสารทางประวัติศาสตร์ของพม่า ล้านนา และไทย

สำหรับไทยนั้นใช้จุลศักราชมาแพร่หลายจนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ และเปลี่ยนมาใช้รัตนโกสินทร์ศกแทนใน พ.ศ. 2432 ตามที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ

การเทียบ พ.ศ. เป็น จ.ศ. ให้ลบออกด้วย 1181

รัตนโกสินทร์ศก เริ่มต้นนับ ร.ศ.1 นับแต่วันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระมหาบรมราชจักรีวงศ์และสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวง ใน พ.ศ.2325

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้ใช้ ร.ศ. ในรัชสมัยของพระองค์ ดังนั้นเอกสารสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทย จึงใช้ ร.ศ. แทบทั้งสิ้น ในพระราชหัตถเลขานิยมเขียนรัตนโกสินทร์ศก เป็นตัวห้อย (subscript) เช่น รัตนโกสินทร์ศก 124 และเขียนจำนวนปีที่ทรงขึ้นครองราชย์แล้วเป็นตัวยก (superscript) เช่น ปีที่ 38 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังตัวอย่างในพระราชหัตถเลขาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทูลถวายสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เรื่องการขยายโอกาสทางการศึกษาด้วยการสร้างโรงเรียน


เหตุการณ์สำคัญสุดในประวัติศาสตร์ไทยที่คนไทยทั่วไปจดจำกันได้คือวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 เมื่อฝรั่งเศสนำเรือรบมาปิดปากอ่าวไทย เกิดสงครามระหว่างไทยกับฝรั่งเศสและทำให้ไทยต้องสูญเสียดินแดนครั้งใหญ่

ประเทศไทยเปลี่ยนมาใช้พุทธศักราชแทนรัตนโกสินทร์ศกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

อนึ่งการนับปี พ.ศ. ของไทยนั้น มีรายละเอียดที่ต้องระวังคือการเริ่มต้นนับศกใหม่ของไทยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ประกาศให้ใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ แทนวันที่ 1 เมษายน ในวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2483 ทำให้การนับปี พ.ศ. ในช่วงเวลานั้นจะต้องระมัดระวังมากขึ้นว่านับแบบเก่าหรือนับแบบใหม่

สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องนี้ให้อ่านเพิ่มเติมได้จาก วินัย พงศ์ศรีเพียร. วันวาร กาลเวลา แลนานาศักราช. กรุงเทพฯ : ศักดิโสภาการพิมพ์, ๒๕๕๒. อันเป็นหนังสืออ่านสำหรับค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมของนักเรียนของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ และสามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://online.pubhtml5.com/dcse/bnqj/

ดังนั้นใน พ.ศ. 2567 เทียบเป็น ค.ศ.2024 ฮ.ศ.1445 ม.ศ.1946 จ.ศ.1386 และ ร.ศ. 243


กำลังโหลดความคิดเห็น