xs
xsm
sm
md
lg

อุ๊งอิ๊งคือทายาททางการเมืองของทักษิณ จากทฤษฎีเศรษฐศาสตร์และจิตวิทยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล
สาขาวิชาสถิติศาสตร์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เคยเขียนไว้ในหนังสือเศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ เอาไว้ว่า หากวิเคราะห์จากหลักเศรษฐศาสตร์ตามที่เป็นอยู่ (Descriptive approach) เราจะเข้าใจได้ว่าการที่นักการเมืองเลือกใช้ทายาทหรือญาติพี่น้องมาลงเล่นการเมืองนั้นเป็นการประหยัดต้นทุนในทางเศรษฐศาสตร์ไปได้มากมายมหาศาล เพราะจะเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว ขายได้ โดยไม่ต้องปั้นหรือประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักมาก ประชาชนก็รู้จักอยู่แล้ว ดังนั้นการปั้นทายาทหรือสืบทอดทายาททางการเมืองจึงเป็นการประหยัดต้นทุนทางการเมือง ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า จึงเป็นวิธีการที่นิยมเป็นอย่างยิ่ง

ศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ และผลงานคลาสสิก เศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ
ผมเชื่อในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญของศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ุ มากกว่าครับ เพราะใช้อธิบายเรื่องทางการเมืองได้ดีกว่า

นายทักษิณ ชินวัตร กำลังใช้ทฤษฎีทางพันธุกรรม (Genetics) หรือทฤษฎีทางจิตวิทยาที่นักจิตวิทยาบางคนเชื่อว่าพันธุกรรม (nature) มีผลต่อเชาวน์ปัญญามากกว่าการเลี้ยงดูหรือสภาพแวดล้อม (Nurture)

นักจิตวิทยาที่พยายามพิสูจน์ว่าเชาวน์ปัญญาเป็นผลมาจากพันธุกรรมมากๆ คนหนึ่งคือ Sir Cyril Burt นักจิตวิทยาชาวอังกฤษ ซึ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างแฝดไข่เดี่ยว แฝดไข่คู่ แฝดไข่คู่เลี้ยงดูร่วมกัน แฝดไข่คู่เลี้ยงดูแยกกัน พี่น้องท้องเดียวกันเลี้ยงดูร่วมกัน พี่น้องท้องเดียวกันเลี้ยงดูแยกกัน ที่เรียกว่าการศึกษาฝาแฝด (Twin studies) Burt นั้นยืนยันว่าเชาวน์ปัญญาเป็นผลมาจากพันธุกรรมมากกว่าการเลี้ยงดู ภายหลังมีการค้นพบหลังมรณกรรมของ Burt ว่า Burt นั้นปั้นแต่งข้อมูล (Data fabrication) ขึ้นมา ก็คงไม่ได้ต่างจากณัฐพล ใจจริงในกรณีวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของที่จุฬาฯ นี่แหละครับ ทำให้ตำราจิตวิทยาทั่วไปต้องรื้อแก้ไขกันอุตลุต

Sir Cyril Burt นักจิตวิทยาชาวอังกฤษ ผู้สนับสนุนแนวคิดว่าเชาวน์ปัญญาเป็นผลมาจากพันธุกรรมมากกว่าการเลี้ยงดู
Arthur Jensen นักจิตวิทยาการศึกษาและนักจิตวิทยาความแตกต่างระหว่างบุคคลชื่อก้องคนหนึ่ง แห่งมหาวิทยาลัยคาลิฟอร์เนีย เบิร์คเลย์ เป็นคนที่มีแนวคิดในเรื่อง Nature-Nurture debate นี้ โดยสนับสนุนแนวคิดว่าเชาวน์ปัญญานั้นมีผลมาจากพันธุกรรมเป็นหลักใหญ่ และมีความแตกต่างระหว่างเชื้อชาติที่ทำให้เชาวน์ปัญญาแตกต่างกันด้วย ความเห็นและผลการศึกษาของ Jensen นั้นได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรงมากในสหรัฐอเมริกา โดยมองว่าเป็นการเหยียดสีผิว

Arthur Jensen นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ผู้สนับสนุนแนวคิดว่าเชาวน์ปัญญาเป็นผลมาจากพันธุกรรมมากกว่าการเลี้ยงดู
ในขณะที่ Anne Anastasi นักจิตวิทยาด้านจิตมิติหรือการวัดทางจิตวิทยาชื่อก้องของโลกชาวอเมริกันแห่งมหาวิทยาลัยฟอร์ดแดม นิวยอร์กซิตี้ เมื่อเป็นนายกสมาคมจิตวิทยาอเมริกันใน ค.ศ. 1958 ได้กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมจิตวิทยาอเมริกันเพื่อยุติข้อถกเถียงต่อคำถามที่ว่าเชาวน์ปัญญาเป็นผลมาจากพันธุกรรมหรือการเลี้ยงดู แต่ตั้งคำถามจากมุมมองของปฏิบัตินิยมว่า แล้วจะทำอย่างไร เชาวน์ปัญญาของคนเราไม่เท่ากัน อาจจะมาจากทั้งพันธุกรรมและการเลี้ยงดูจริง แต่สังคมและการศึกษาจะทำอย่างไรให้เขาอยู่ในสังคมได้ ทำงานได้ เป็นประโยชน์แก่สังคมได้ ไม่เป็นภาระแก่สังคม และมีความสุขได้

ทัศนะของ Anne Anastasi ได้รับการยอมรับมากในเหล่านักจิตวิทยาและนักการศึกษาในปัจจุบัน

Anne Anastasi นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ผู้ตั้งคำถามว่า  Heredity, environment, and the question how?
Howard Gardner นักจิตวิทยาพัฒนาการชาวอเมริกัน ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ศึกษาและตั้งทฤษฎีพหุปัญญา (Multiple intelligence) ใน ค.ศ. 1983 โดยกล่าวว่าเชาวน์ปัญญามีหลายแง่มุม เช่น ทางดนตรี ทางมิติสัมพันธ์ ทางภาษา ทางตัวเลข ทางการเคลื่อนไหว ทางความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ทางความเข้าใจในตน ทางความเข้าใจในธรรมชาติ เป็นต้น คนเราแต่ละคนมีเชาวน์ปัญญาแต่ละด้านแตกต่างกันไป จำเป็นต้องเข้าใจและพัฒนาคนให้สอดคล้องกับศักยภาพทางปัญญาของแต่ละคนที่มีพหุปัญญาแต่ละด้านแตกต่างกันไป

Howard Gardner ผู้ตั้งทฤษฎีพหุปัญญา
การที่นายทักษิณ ชินวัตร กล่าวว่า อุ๊งอิ๊ง มี DNA ของตัวเขาและคุณหญิงพจมาน หากว่านายทักษิณ ทำได้ อุ๊งอิ๊งก็ย่อมทำได้นั้น แสดงให้เห็นว่านายทักษิณ ชินวัตรมีทัศนะคล้อยตามว่าเชาวน์ปัญญาเป็นผลมาจากพันธุกรรมมากกว่าการเลี้ยงดูพอสมควร

แต่ก็ต้องยอมรับว่านายทักษิณ ชินวัตรและคุณหญิงพจมานน่าจะมีส่วนเลี้ยงดูอุ๊งอิ๊งมาเหมือนกัน ดังนั้นเชาวน์ปัญญาของอุ๊งอิ๊งน่าจะมีผลมาจากทั้งพันธุกรรมและการเลี้ยงดูก็เป็นไปได้

ที่น่าสนใจคือ พันธุกรรมใกล้เคียงกัน การเลี้ยงดูเท่ากัน จะฉลาดเท่าๆ กันหรือไม่ โอ๊ก เอม อุ๊งอิ๊ง จะฉลาดสามารถเท่าๆ กันหรือไม่?

แล้วความสามารถหรือความฉลาดที่นายทักษิณหมายถึงนั้น เป็นความฉลาดด้านไหนกันแน่ ถ้ามองจากทฤษฎีพหุปัญญาของ Howard Gardner

ตกลงนายทักษิณ ชินวัตร เชื่อแบบ Burt หรือ Jensen ที่ว่า ความฉลาดหรือเชาวน์ปัญญาถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือ DNA ใช่หรือไม่?

ผมคงไม่ยืนยันว่าสิ่งที่นายทักษิณ ชินวัตรพูด เป็นการพูดเพราะเชื่อมั่นในพันธุกรรมของตนเองและภรรยาว่าจะสามารถถ่ายทอดความสามารถและความฉลาดไปยังบุตรีคืออุ๊งอิ๊งได้ดีแค่ไหน

สิ่งที่ผมมั่นใจมากกว่าคือทฤษฎีเศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญของศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า การเล่นการเมืองโดยทายาทของนักการเมืองหรือสืบทอดทายาททางการเมืองทำให้ประหยัดต้นทุนทางการเมือง นอกจากนี้ยังไว้ใจได้มากกว่า น่าจะชักใยบงการได้ง่ายกว่ามากอีกด้วย

จากทฤษฎีเศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญและคำพูดของนายทักษิณ ชินวัตร ผมทำนายได้ว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน ชักจะไม่มั่นคงเสียแล้วครับ




กำลังโหลดความคิดเห็น