ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
รายงานผลสอบสวนของคณะกรรมการเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินของพระคลังข้างที่ หรือสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในปัจจุบันเป็นรายงานที่ทำโดยสำนักนายกรัฐมนตรี ส่งถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี 2480 นอกจากกลุ่มที่ถูกคณะกรรมการสอบสวนได้ตรวจสอบพบจำนวน 12 รายแล้ว[1]
ยังมีผู้ที่ได้ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ไปในราคาถูกๆ และหรือผ่อนซื้ออีกหลายคน โดยในกลุ่มนี้คือได้รับที่ดินไปแล้ว แต่ยอมถวายที่ดินคืน โดยบางรายยอมคืนก่อนที่จะถูกอภิปราย แต่ส่วนโดยใหญ่ที่มีการถวายที่ดินคืนนั้น เกิดขึ้นภายหลังนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี้ ได้อภิปรายตั้งกระทู้ถามการปล้นพระคลังข้างที่ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2480 และมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว
สำหรับรายชื่อและธุรกรรมในการได้มาซึ่งที่ดินพระคลังข้างที่แล้วยอม ถวายคืนในภายหลัง รวมทั้งสิ้น 15 ราย แต่เห็นว่าความสำคัญของรายที่น่าจะพิเคราะห์ในรายละเอียดมากที่สุดในตอนนี้ก็คือพันเอกหลวงพิบูลสงคราม ซึ่งอยู่ในรายงานผลการสอบสวนหน้าที่ 11-12
ซึ่งในขณะเกิดเหตุ พันเอกหลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขิตตะสังคะ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เข้าซื้อที่ดินจากพระคลังข้างที่ เป็นโฉนดเลขที่ 2307 ริมถนนราชวิถี ตำบลสวนจิตรดา อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร
โดยโฉนดที่ดินของพันเอกหลวงพิบูลสงครามเลขที่ดังกล่าวนี้ เป็นเลขโฉนดที่ดินติดกับที่ดินเลขที่ 2306 ของร้อยเอกขุนนิรันดรชัย (สเหวก นิรันดร)อดีตสมาชิกคณะราษฎรสายทหารบก ซึ่งย้ายมาเป็นผู้ช่วยราชเลขานุการ
ร้อยเอกขุนนิรันดรชัยได้ซื้อที่ดินจากพระคลังข้างที่ เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2480 (นับปีใหม่แบบปัจจุบัน) โฉนดที่ดินเลขที่ 2306 ซึ่งสอดคล้องคำสัมภาษณ์ในเวลาต่อมาโดยของพลโทสรภฏ นิรันดร บุตรชายของขุนนิรันดรชัยว่าขุนนิรันดรชัยเป็นทหารที่ใกล้ชิดและเป็นผู้หาเงินสนับสนุนเสมือนเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับ หลวงพิบูลสงคราม
โดยโฉนดที่ดินเลขที่ 2307 ที่พันเอกหลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขิตตะสังคะ)ได้ซื้อจากพระคลังข้างที่นั้น เป็นเนื้อที่ว่างเปล่า ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง และเป็นมีเนื้อที่ 812 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ดินซึ่งพระคลังข้างที่รับโอนมาจากพระสุจริตสุดาซึ่งได้รับพระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพันเอกหลวงพิบูลสงคราม ได้ซื้อที่ดินแปลงนี้มาจากพระคลังข้างที่ในราคา 8,120 บาท โดยระบุว่าจะเป็นการผ่อนใช้ 2 ปีเสร็จ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2480 (นับปีใหม่แบบปัจจุบัน) ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับวันที่ขุนนิรันดรชัยซื้อที่ดินติดกันในโฉนดเลขที่ 2306
โดยพันเอกหลวงพิบูลสงครามหลังได้ที่ดินมาครอบครองเอาไว้ประมาณกว่า 6 เดือนเศษ จึงได้ถวายที่ดินคืนเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2479 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่นายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี้ ได้อภิปรายตั้งกระทู้ถามการปล้นพระคลังข้างที่ในสภาผู้แทนราษฎรประมาณ 1 ปีเศษในวันที่ 27 กรกฎาคม 2480
ซึ่งหมายเหตุรายงานของคณะกรรมการสอบสวนเรื่องการซื้อขายที่ดินพระคลังข้างที่ระบุความเอาไว้ว่า
“หมายเหตุ การขอซื้อที่รายนี้ นายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม ไม่ได้ขอซื้อเอง ปรากฏว่ารายร้อยเอกขุนนิรันดรชัย ได้เขียนหนังสือถึงผู้อำนวยการพระคลังข้างที่แจ้งความประสงค์ของนายพันเอก หลวงพิบูลสงครามขึ้นไป ขอให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระคลังข้างที่จัดการ“
แต่การถวายที่ดินคืนพระคลังข้างที่ของพันเอกหลวงพิบูลสงครามนั้น ได้ปรากฏคำอธิบายเบื้องหลังในการให้สัมภาษณ์ผ่านสือพร้อมกับการลาออกเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2480 ความว่า
“เมื่อปลายปี พ.ศ. 2479 ข้าพเจ้ามีความคิดว่า เมื่อออกจาราชการแล้ว ก็ใคร่จะไปปลูกบ้านพักอาศัยตามควรแก่ฐานะ จึงได้ให้ผู้ชอบพอไปหาซื้อที่ ขณะนั้นมีผู้แนะนำให้ ซื้อที่ของพระคลังข้างที่บริเวณหน้าวังจิตรลดารโหฐานเพราะกำลังตัดขายอยู่
ข้าพเจ้าเห็นว่าพอสมควรแก่กำลังจะซื้อได้ จึงได้ตกลงซื้อไว้ 2 ไร่ ราคาไร่ละ 4,000 บาท เป็นเงิน 8,000 บาท ทางพระคลังข้างที่ก็จัดการโอนที่ดินนั้นให้แก่ข้าพเจ้าประมาณเดือนมกราคม 2480
ครั้นต่อมาเมื่อข้าพเจ้าได้ไปดูที่นั่นก็ปรากฏว่า มีบ้านเรือนราษฎรปลูกอยู่กันแน่นหนา จึงมาคิดว่าแม้ข้าพเจ้าเป็นเจ้าของที่ดินรายนี้ ก็ต้องขับไล่ราษฎรให้รื้อถอนไปเป็นการลำบาก จึงได้ขอคืนที่ทั้งหมดกลับไปพระคลังตามเดิมในเดือนนั้นเอง โดยเหตุนี้จึงได้ให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์นี้ว่าข้าพเจ้าไม่เกี่ยวข้องด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีผู้คิดเอาว่าการที่ข้าพเจ้ากระทำไปอาจเป็นการผิดศีลธรรมอยู่ จึงได้มีผู้ยกเรื่องนี้ขึ้นมากล่าววิจารณ์กันขึ้นนั้น เพื่อเป็นการล้างมลทินของข้าพเจ้าๆ จึงได้ไปเสนอคณะรัฐมนตตรี ขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตั้งแต่เช้าวันนี้
ทั้งนี้หวังว่าทหารทั้งหลาย คงให้อภัยแก่ข้าพเจ้าที่บังเอิญมาตกอยู่ในฐานะเช่นนี้ และข้าพเจ้าขอร้องเพื่อนทหารทั้งหลายเป็นครั้งสุดท้าย ให้ช่วยกันรักษาความสงบให้จงดีสืบไป”[3]
ข้อสังเกตจากข้อความการสัมภาษณ์สือของพันเอกหลวงพิบูลสงครามมี ดังนี้
ประการแรก การคืนที่ดินของพันเอกหลวงพิบูลสงครามนั้น เพราะเหตุว่ามี“ความยุ่งยากในการขับไล่ราษฎรและการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดิน”จึงไม่ใช่มาจากสาเหตุเพราะความรู้สึกผิดหรือรู้สึกว่าเป็นการกระทำที่ไม่สมควร
ประการที่สอง พันเอกหลวงพิบูลสงครามให้สัมภาษณ์ไม่ได้ตรงกับผลการสอบสวนเรื่องเวลาการถวายคืน เพราะเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2480 พันเอกหลวงพิบูลสงครามอ้างว่าเมื่อได้ที่ดินพระคลังข้างที่มาครอบครองในเดือนมกราคม 2480 ต่อมาเห็นความยุ่งยากแล้วจึงถวายคืนที่ดินในเดือนเดียวกัน ทำให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องศีลธรรมแต่ก็เป็นการเกิดขึ้นสั้นๆ ภายในเดือนเดียวกันเท่านั้น
แต่ผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนกลับรายงานเมื่อเดือนตุลาคม 2480 ว่าพันเอกหลวงพิบูลสงคราม ได้ถือครองทรัพย์สินนานกว่า 6 เดือนจึงได้ถวายคืน การให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อนั้นถ้าไม่ใช่การ“จำผิด”ก็ต้องเป็นการ “โกหก” เพื่อลดกระแสความไม่พอใจต่อพันเอกหลวงพิบูลสงคราม ที่กำลังจะก้าวขึ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อมาในอีก 1 ปีเศษข้างหน้า
ประการที่สาม สถานภาพของพันเอกหลวงพิบูลสงครามนั้น มีความโดดเด่นในรัฐบาลขึ้นมา ภายหลังจาการร่วมทำการรัฐประหารพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และ ปราบกบฏบวรเดชสำเร็จในปี 2476 จึงได้มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตั้งแต่ปี 2477 เป็นต้นมา
ย่อมแสดงให้เห็นว่าเรื่องการซื้อที่ดินพระคลังข้างที่เป็นเรื่องที่ทหารในยุคนั้นเห็นว่า“ผิดศีลธรรม” จึงต้องใช้การ “ขอร้องเพื่อนทหาร” ให้ “ช่วงกันรักษาความสงบให้จงดีสืบไป”
สำหรับ“ผู้ชอบพอ” ที่รู้ดีว่าพระคลังข้างที่กำลังตัดขายตามที่ พันเอกหลวงพิบูลสงครามให้สัมภาษณ์เอาไว้เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2480 แต่ไม่ได้บอกชื่อนั้น เมื่อมาพิจารณาผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนจึงทำให้ทราบได้ว่าหมายถึงร้อยเอกขุนนิรันดรชัย (สเหวก นิรันดร) อดีตสมาชิกคณะราษฎรสายทหารบก ซึ่งย้ายมาเป็นผู้ช่วยราชเลขานุการ
แต่การดำเนินการที่รู้ข้อมูลภายในของ พันเอกหลวงพิบูลสงครามนั้น แท้ที่จริงแล้วคนที่ดำเนินการก่อนใครคือ “ร้อยเอกขุนนิรันดรชัย” (สเหวก นิรันดร) ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์ เพราะในรายงานผลการสอบสวนพบว่าเป็นคนแรกที่เปิดประเดิมซื้อที่ดินพระคลังข้างที่มาครอบครองด้วยการผ่อนจ่ายเป็นคนแรก เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2478
นั่นคือ โฉนดเลขที่ 2176 เนื้อที่ 400 ตารางวา ริมถนนราชวิถีอำเภอดุสิต ซื้อราคา 4,000 บาท โดยผ่อนใช้เดือนละ 100 บาท โดยในรายงานระบุเอาไว้หน้า 10 ว่า “ผู้ซื้อยังไม่ได้ถวายคืน” ปัจจุบันคือพื้นที่ รร.โรงเรียนนานาชาติเซนต์แอนดรูว์ส ดุสิต บริเวณหัวมุมหน้าพระราชวังสวนจิตรลดา
โดยวันที่ 1 กรกฎาคม 2477 ร้อยเอกขุนนิรันดรชัย ไปเป็นเลขานุการของนายกรัฐมนตรี พระยาพหลพลพยุหเสนา[4]
วันที่ 2 มีนาคม 2478 (นับปีใหม่แบบปัจจุบัน) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ คณะรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรได้อัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นทรงราชย์เป็นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8
แต่เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ทรงมีพระชันษาเพียง 9 ปี รัฐบาลโดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในวันที่ 7 มีนาคม 2478
วันที่ 1 สิงหาคม 2478 ร้อยเอกขุนนิรันดรชัย ได้ย้ายจากเลขานุการชองนายกรัฐมนตรีมาเป็นผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์ เป็นการตรึงคนของอดีตผู้ก่อการของคณะราษฎรในการดำเนินการกับ“คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”
โดยก่อนหน้านั้น วันที่ 1 พฤษภาคม 2478นายเรือเอกวัน รุยาพร ร.น. อดีตสมาชิกคณะราษฎรสายทหารเรือ ย้ายจากข้าราชกระทรวงกลาโหมมาทำหน้าที่“เลขานุการสำนักพระราชวัง”และมาดำรงตำแหน่งรักษาการ และครองตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักพระคลังข้างที่ในปีที่เกิดระหว่างปี 2479-2480[5]
หลังจากที่ร้อยเอกขุนนิรันดรชัยเข้ามาเป็นผู้ช่วยราชเลขานุการ ของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้เพียง 12 วันเท่านั้น ก็ปรากฏว่าพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัฒน์จาตุรนต์ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ปลงพระชนม์ด้วยพระแสงปืนในวันที่ 12 สิงหาคม 2478
การปลงพระชนม์เองนั้น เกิดขึ้นเวลาเพียง 1 วันเท่านั้น หลังจากพระราชกฤษฎีการจัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงวัง แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2478 ประกาศบังคับใช้ จึงเป็น “กฎหมายฉบับสุดท้าย“ ที่มีการลงพระนามโดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัฒน์จาตุรนต์
หลังจากนั้นมาเส้นทางการซื้อขายที่ดินพระคลังข้างที่ก็เปิดทางสะดวก
โดยหากจะพิจารณาถึง “อำนาจ” และ “รู้ข้อมูลภายใน” ที่ลึกสุด ก็จะเห็นลำดับเวลาของคนที่ทำธุรกิจซื้อ-ขายที่ดินพระคลังข้างที่ “เร็วที่สุด” กว่ากลุ่มคนอื่นๆ 3 คนแรก คือ ร้อยเอกขุนนิรันดรชัย พันเอกหลวงพิบูลสงคราม และ เรือเอกวัน รุยาพร ร.น.
เวลาซื้อเร็วที่สุดอันดับที่ 1 คือ ร้อยเอกขุนนิรันดรชัย ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ครั้งแรกวันที่ 12 พฤศจิกายน 2478[1]
เวลาซื้อเร็วที่สุดอันดับที่ 2 และ 3 คือ การซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ เลขโฉนดที่ดินติดกันและวันเดียวกันคือ ร้อยเอกขุนนิรันดรชัย (ครั้งที่สอง)[1] และพันเอกหลวงพิบูลสงคราม วันที่ 7 มกราคม 2480 (นับปีใหม่แบบปัจจุบัน)
เวลาที่ซื้อเร็วที่สุดอันดับ 4 นายเรือเอกวัน รุยาพร ร.น. เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2480 (นับปีใหม่แบบปัจจุบัน)
แต่สำหรับที่ดินพระคลังข้างที่ของ 3 คนแรกนั้นต่างกัน
พันเอกหลวงพิบูลสงคราม ยอมถวายที่ดินคืนด้วยเพราะมีความยุ่งยากในการขับไล่ราษฎรและการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดิน และลดข้อครหาทั้งปวงเพื่อความสงบเรียบร้อยในหมู่ทหาร ก่อนขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา
แต่จุดจบของหลวงพิบูลสงครามคือถูกรับประหารและต้องลี้ภัยไปประเทศญี่ปุ่น ไม่สามารถกลับมาประเทศไทยได้อีก และเสียชีวิตที่ประเทศญี่ปุ่น
นายเรือเอกวัน รุยาพร ร.น. ได้ถือครองที่ดินดังกล่าวโดยไม่ยอมถวายคืน โดยได้ถือครองที่ดินพระคลังข้างที่มานานถึง 36 ปี
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 9 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ฟ้องร้องคดีความแพ่งต่อ นายเรือเอกวัน รุยาพร ซึ่งศาลฎีกาได้ตัดสินคดีความแพ่งที่ 784/2516 เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2516 ให้การโอนที่ดินผืนนี้เป็นโมฆะ และต้องคืนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพราะไม่ได้มีการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
ส่วนขุนนิรันดรชัย มีความสลับซับซ้อนกว่านััน เพราะสร้างฉากว่าถวายคืนพระคลังข้างที่ไปแล้ว แต่ต่อมาก็ให้สำนักงานพระคลังข้างที่กลับนำที่ดินมาขายผ่องถ่ายให้ภรรยาและลูกของขุนนิรันดรชัยที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะอยู่ดี
มีการนำโฉนดที่ดินแบ่งแยกจากสำนักพระราชวัง และได้ที่ดินพระคลังข้างที่มาอีกหลายแปลง โดยภายหลังที่ได้มีการตั้งกรรมการสอบสวนแล้ว ขุนนิรันดรชัยมีการทำธุรกรรมโอนคืนไปยังสำนักงานพระคลังข้างที่ แต่หลังจากนั้นในวันเดียวกันก็มีการโอนขายต่อให้ภรรยาของขุนนิรันดรชัย ก็คือนางจรูญ นิรันดร และส่งต่อให้ลูกสาวอีกทอดหนึ่ง เมื่อบรรลุนิติภาวะแล้วจึงโอนกลับมาให้นางจรูญอีกครั้ง และยังคงได้ที่ดินพระคลังข้างที่อยู่กับตระกูลนิรันดรต่อไปได้[6]
อย่างไรก็ตามในชีวิตบั้นปลาย ขุนนิรันดรชัย ได้ป่วยต้องผ่าตัดสมองหลายครั้งและเป็นอัมพาตอยู่หลายปี โดยก่อนเสียชีวิตได้ฝากให้บุตรชายให้ขอพระราชทานอภัยโทษและถวายที่ดินคืนให้พระมหากษัตริย์
ต่อมาพลโทสรภฏ นิรันดร บุตรชายของขุนนิรันดรชัย ได้ทำพิธีขอพระราชทานอภัยโทษ และต้องการที่จะถวายที่ดินคืน แต่จนถึงวันนี้ลูกหลานคนอื่นๆ ก็ยังไม่ยินยอมที่ดินทั้ง 2 แปลงนี้ก็ยังไม่ได้ถวายคืน และถึงตอนนี้ผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงย่อมเป็นสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่จะต้องทำหน้าที่ในการทวงคืนตามกฎหมาย
แต่สิ่งที่ไม่สามารถลบออกไปได้ คือ “บันทึกประวัติศาสตร์” ที่มีการซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ให้กับพรรคพวกตัวเองนั้น เป็นเรื่องจริงทุกประการ
บันทึกโดย
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
อ้างอิง
[1] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, เปิดผลสอบปล้นพระคลังข้างที่ 87 ปีที่แล้ว (ตอนที่ 1): 12 คน “ยังไม่ถวายที่ดินพระคลังข้างที่คืน” แฟนเพจ เฟซบุ๊ก ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, 27 มีนาคม 2567
https://www.facebook.com/100044511276276/posts/949107159916318/?
[2] รายงานกรรมการพิจารณาการจัดซื้อขายที่ดินบางรายของพระคลังข้างที่, 22 ตุลาคม 2480
[3] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, ศึกชิงพระคลังข้างที่ 2445, สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ พิมพ์ครั้งที่ 2 :บุ๊ค ด็อท คอม, 2564, 544 หน้า ISBN 978-616-536-202-3 หน้า 78-80
[4] ประวัติพันตรีสเหวก นิรันดร, หนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรีสเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499, หน้า 12
[5] หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ เรือเอกวัน รุยาพร ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส 25 พฤษภาคม 2515
[6] สนธิ ลิ้มทองกุล, คำต่อคำ SONDHI TALK EP. 156 [23 ก.ย. 65] : คณะโจรปล้นสมบัติเจ้า ภาค 2, 24 กันยายน 2565
https://sondhitalk.com/detail/9650000091716