xs
xsm
sm
md
lg

บาดแผลจากระบอบทักษิณ กับทางเลือกที่มีอยู่ของสังคมไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ

 การกลับประเทศของทักษิณ ชินวัตร และลิ่วล้อคนอื่นๆที่มีทีท่าว่าจะเดินทางกลับมาโดยล่าสุดคือจักรภพ เพ็ญแข คนส่วนใหญ่มองว่า นี่เป็น” “ดีล” ระหว่างทักษิณกับอำนาจหลักในสังคมไทยที่ต้องการใช้ทักษิณและเครือข่ายเป็นเครื่องมือในการตั้งรับกับความร้อนแรงของพรรคก้าวไกลที่กำลังมีความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และสามารถชนะเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 แม้จะยังไม่สามารถครองเสียงข้างมากพรรคเดียวแต่มีแนวโน้มว่าในอนาคตพวกเขาจะได้รับการเลือกตั้งมากขึ้นเรื่อยๆ และอาจสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวในที่สุด


ในขณะที่พรรคของทักษิณแม้สามารถยึดกุมนักการเมืองบ้านใหญ่ไว้ในพรรคได้ในหลายจังหวัดทำให้ยังได้รับเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 2 แต่คะแนนเลือกตั้งในหลายจังหวัดบ่งบอกว่าระบบบ้านใหญ่กำลังจะพังทลายและถูกท้าทายด้วยพลังของคนรุ่นใหม่จากพรรคก้าวไกล มีแนวโน้มว่าระบบบ้านใหญ่อาจจะแพ้พ่ายในอนาคต เมื่อคนส่วนหนึ่งเริ่มต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางการเมือง

อาจจะยังโชคดีที่ผู้สมัครของพรรคก้าวไกลในหลายจังหวัดยังเป็นคนโนเนม หลายคนคนส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นใครมาจากไหน เคยทำอะไรมาก่อน เลยอาศัยแต่ความนิยมของพรรค จึงยังไม่สามารถโค่นบ้านใหญ่ลงได้ และในต่างจังหวัดยังคงยึดติดกับระบบอุปถัมภ์ ต่างกับคนกรุงเทพฯ ที่ออกไปเลือกพรรคก้าวไกลโดยไม่สนใจเลยว่าผู้สมัครจะเป็นใคร

แต่ถ้าการเมืองเก่ายังย่ำอยู่ในแนวเดิมที่ยึดกุมแต่ผลประโยชน์เป็นหลัก มันก็ยิ่งท้าทายให้คนเริ่มอยากจะเปลี่ยนแปลงผู้แทนของเขามาขึ้นเรื่อยๆ และแน่นอนพรรคที่ตรงข้ามกับการเมืองเก่าก็คือพรรคก้าวไกลนั่นเอง หรือแม้ในอนาคตพรรคก้าวไกลจะถูกยุบ พรรคใหม่ที่ตั้งขึ้นมาแทนก็ยังอยู่ในความนิยมได้เหมือนเดิม

 ก็เกิดคำถามเหมือนกันว่า การเอาทักษิณกลับมาแลกกับการยินยอมให้เขาไม่ต้องติดคุกแม้แต่วันเดียวนั้น สามารถรับมือกับกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงที่เป็นที่ต้องการของคนจำนวนมากได้จริงหรือ

 กระทั่งอาจจะมีคนตั้งคำถามว่า ระบอบทักษิณที่เราเคยประสบกับความมุ่งหมายของพรรคก้าวไกลที่จะทำให้ประเทศไทยไม่เหมือนเดิมนั้นอย่างไหนน่ากลัวว่ากัน

ระบอบทักษิณนั้นใช้เงินเป็นใหญ่ในการสร้างอำนาจทางการเมือง เริ่มด้วยการซื้อตัว สส.บ้านใหญ่เข้าพรรค ซื้อพรรคการเมืองควบรวมเพื่อให้ได้เสียงข้างมากเด็ดขาดในสภา ซื้อเสียงสว. ครอบงำองค์กรอิสระ ใช้ประชานิยมในการสร้างความนิยมเช่นกองทุนหมู่บ้าน1ล้านบาท แก้กฎหมายเพื่อให้ธุรกิจของตัวเองได้ประโยชน์ โอนกิจการของรัฐเป็นเอกชนโดยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่งตั้งพวกพ้องวงศ์วานว่านเครือเข้าไปมีตำแหน่งที่สำคัญ โยกย้ายคนที่ไม่ต้องการออกจากตำแหน่งอย่างไม่เป็นธรรม และใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล

การใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลของระบอบทักษิณนั้นเป็นที่ประจักษ์ชัดด้วยคำพิพากษาของศาลในหลายคดีที่ตัดสินให้ทักษิณติดคุก เช่น คดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ในการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก จำนวน 33 ไร่ 78 ตรว. ราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ต.ค.2551 ซึ่งทักษิณ ไม่มารับฟังคำตัดสินและได้หลบหนีออกนอกประเทศโดยอ้างว่าเดินทางไปดูการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศจีน ศาลฯ จึงอ่านคำพิพากษาลับหลัง และสั่งตัดสินจำคุก นายทักษิณ 2 ปี ภายหลังคดีนี้หมดอายุความไป

คดีทักษิณสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อจำนวน 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลเมียนมา โดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน เพื่อนำเงินกู้ดังกล่าวไปใช้ในการซื้อสินค้าและบริการของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) อันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา

คดีให้บุคคลอื่น (นอมินี) ถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แทน โดยบริษัท ชินคอร์ปฯ เป็นคู่สัญญาต่อหน่วยงานของรัฐ และเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นในกิจการโทรคมนาคม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100 โดยศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา

คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือที่รู้จัก ในคดี “หวยบนดิน” โดยศาลฎีกาฯ ตัดสินจำคุกทักษิณ 2 ปี ไม่รอลงอาญา

และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอ่านคำพิพากษาตามที่องค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คน มีมติเสียงข้างมากให้ยึดทรัพย์ทักษิณและครอบครัว ที่ได้จากการขายหุ้นและเงินปันผล รวมทั้งสิ้น 46,373 ล้านบาท ให้ตกเป็นของแผ่นดิน โดยระบุเหตุผล เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติ และเป็นการกระทำที่ขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม

ศาลได้นับโทษจำคุกทักษิณรวมกัน 8 ปี จากทั้งหมด 10 ปี ซึ่งทักษิณได้ยอมรับความผิดที่ทำไปทั้งหมด เมื่อเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้ทรงพระราชทานลดโทษให้เหลือ 1 ปี แต่ทักษิณก็ไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว โดยอ้างว่ามีอาการป่วยเจียนตายต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจ

ในการบริหารของทักษิณยังทำให้นักการเมืองและข้าราชการหลายคนถูกดำเนินคดีติดคุก แม้บางคดีตัวของทักษิณกฎหมายจะไม่สามารถเอาผิดได้ก็ตาม และแนวทางการเมืองที่เรียกว่าระบอบทักษิณยังถูกนำมาใช้ในวันที่ยิ่งลักษณ์น้องสาวเป็นนายกรัฐมนตรี ที่มีสโลแกนว่า ทักษิณคิดยิ่งลักษณ์ทำจนมีการทุจริตในการจำนำข้าวที่ทำให้รัฐมีความเสียหายถึง 1.11 ล้านล้านบาท ต้องใช้หนี้จากการกระทำดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน และศาลตัดสินจำคุกยิ่งลักษณ์ 5 ปี รวมถึงรัฐมนตรี ข้าราชการ และเอกชนจำนวนมากที่ยังคงติดคุกจนถึงวันนี้

วันนี้ทักษิณกลับมาแล้ว และดูเหมือนว่าอำนาจของเขาจะมากขึ้นกว่าเดิม ในขณะที่พรรคการเมืองของเขาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทักษิณแสดงออกอย่างไม่สนใจข้อครหาเลยว่า ที่เขาอ้างว่าป่วยไม่ต้องติดคุกนั้นเป็นความจริงหรือไม่ เพราะทันทีที่ได้พักโทษเขาไม่ได้แสดงอาการป่วยอย่างที่แพทย์ของโรงพยาบาลตำรวจอ้างว่า เขาอยู่ในขั้นที่วิกฤตอาจจะถึงแก่ชีวิตเลย ทั้งๆ ที่มีผู้ร้องเรียนให้เอาผิดเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และแพทย์โรงพยาบาลตำรวจต่อป.ป.ช.

ทักษิณไม่ได้แสดงออกให้เห็นเลยว่า เขาจะวางมือทางการเมืองเมื่อกลับมาเมืองไทย และที่เขาเคยบอกว่าอยากจะกลับมาเพื่อเลี้ยงหลาน การแสดงออกของเขาแสดงให้เห็นชัดว่าเขายังมีความมุ่งหมายทางการเมือง และคนส่วนใหญ่เชื่อด้วยซ้ำว่า ตอนนี้คนที่มีอำนาจสั่งการในทางการเมืองและการบริหารราชการที่แท้จริงคือทักษิณไม่ใช่เศรษฐา ทวีสิน ตอนนี้เศรษฐาจึงต้องแสดงออกในการเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยการเดินสายไปต่างประเทศและภูมิใจกับที่ถูกเรียกว่าเป็นเซลล์แมน เพราะไม่มีอำนาจที่แท้จริงในมือนั่นเอง

 แต่เมื่อเราย้อนมองกลับไปกับสิ่งที่ทักษิณทำและใช้ระบอบการปกครองที่เราเรียกว่าระบอบทักษิณที่เต็มไปด้วยการแสวงหาผลประโยชน์และการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล เราก็ต้องถามว่า ทักษิณจะนำพาประเทศไปซ้ำรอยเดิมไหม หรือทักษิณจะมีบทเรียนและมีความสำนึกไหมว่าที่เขาทำไปในอดีตนั้นเป็นความผิดพลาด และทำให้เขาต้องใช้ชีวิตระเหเร่ร่อนไปต่างแดนมาแล้ว หลังจากนี้เขาจะไม่ทำผิดซ้ำรอยเดิมอีก หรือว่ายากที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของทักษิณที่ย่างเข้าวัยสุดท้ายของชีวิตได้แล้ว นั่นเป็นคำถามว่าจะเกิดอะไรกับประเทศของเราอีกถ้ากลับมาอยู่ภายใต้ระบอบทักษิณอีกครั้ง

ต้องยอมรับว่าแนวคิดของพรรคก้าวไกลและแกนนำของพรรคที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไม่ให้เหมือนเดิมนั้น เต็มไปด้วยคำถามว่า พวกเขาจะพาประเทศไทยไปทางไหน พวกเขาบอกว่าจะสานต่อภารกิจของคณะราษฎร์ที่ยังทำไม่สำเร็จ พวกเขาจะปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ พวกเขาจะยกเลิกมาตรา 112 พวกเขาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 1 หมวด 2 เพื่อลดทอนบทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ ในขณะที่หลายคนเชื่อว่าพวกเขามีความมุ่งหมายซ่อนเร้นที่ไปไกลกว่านั้น

  มีคำถามว่าระหว่างทางออกสองทางที่คนไทยต้องเลือกในปัจจุบันนี้ เรายังจะพอมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าไหมที่ไม่ต้องเผชิญกับนักการเมืองที่ฉ้อฉล และยังรักษาประเทศไทยที่มีรากเหง้าประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามของตัวเองเอาไว้ได้เหมือนเดิม
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น