xs
xsm
sm
md
lg

หลานม่าในเทศกาลเช็งเม้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



เดือนมีนาคมจนถึงต้นเดือนเมษายนสำหรับคนเชื้อสายจีนในประเทศไทยแล้วจะอยู่ในช่วงเทศกาลเช็งเม้ง (清明节) ส่วนใหญ่ก็เลือกเอาวันที่ตัวเองสะดวกตั้งแต่เดือนมีนาคม แต่จริงๆ แล้ววันเช็งเม้งคือวันที่ 4-6 เมษายนของทุกปีสำหรับเมืองไทยแล้วช่วงนี้เป็นช่วงที่อากาศร้อนมาก แต่ในเมืองจีนจะเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิที่อากาศเย็นสบาย ในสมัยโบราณคนจีนเรียกว่าเทศกาลออกนอกบ้านแหล่งกำเนิดของเทศกาลเช็งเม้งตั้งอยู่ในเมืองเจียซิ่ว (介休) มณฑลซานซีตอนกลาง

ผมเกิดมาในครอบครัวคนจีนเชื้อสายกวางตุ้ง แม่เป็นคนไทยแท้แต่แต่งงานเข้ามาอยู่ในครอบครัวคนจีน ผมคุ้นเคยกับการเช็งเม้งมาตั้งแต่เด็ก ตอนผมเกิดมาฮวงซุ้ยของเหล่ากง (ทวด/พ่อของย่า) ตั้งอยู่ในสวนหลังบ้านด้วยซ้ำ ก่อนจะย้ายออกไปอยู่ยังสุสานข้างนอก ทุกวันที่ 5 เมษายน ญาติทุกคนจะรู้ว่า เป็นวันเช็งเม้งของตระกูลเป็นวันรวมญาติ ปัจจุบันจะเช็งเม้งในวันเดียวกัน 2 หลุมคือหลุมฝ่ายอาม่าหรือย่า และหลุมอากงหรือปู่ ก่อนจะถึงวันต้องไปทำความสะอาด ถอนหญ้าที่ขึ้นรก หรือทาสีเสียใหม่

ที่พูดมานี้เพราะได้ไปดูหนังเรื่อง หลานม่า หรือภาษาจีนว่า 姥姥的外孙ก็แปลตรงตัวนั่นแหละ หนังเปิดด้วยฉากอาม่าพาลูกหลานไปเช็งเม้ง แล้วดำเนินเรื่องความสัมพันธ์ของอาม่ากับลูกหลานไปจนอาม่าลาจากไป

อาม่าของผมเป็นลูกจีนที่เกิดในเมืองไทย ส่วนอากงนั้นมาจากเมืองซื่อฮุ้ย (四会) กว่างตง ผมรู้บ้านเกิดของอากงเพราะสอบถามจากอาม่านั่นเอง ก่อนจะไปดูที่ป้ายที่ฮวงซุ้ยของอากงก็รู้ว่าความจำของอาม่านั้นถูกต้อง

อาม่าเป็นคนแซ่โล้ว (卢) ส่วนอากงนั้นแซ่เล้า (刘) ตอนเด็กผมถูกอากงส่งไปเรียนภาษาจีนในช่วงเย็นตั้งแต่เรียนภาษาไทยอยู่ชั้น ป. 2 และช่วงเย็นก็ต้องไปเรียนภาษาจีนที่โรงเรียนจีนต่อจนถึง 2 ทุ่มทุกวัน แต่ก็ได้พื้นฐานภาษาจีนมาบ้าง เมื่อก่อนภาษาจีนเรียนยากเพราะไม่มีตัวสะกดภาษาอังกฤษ (pin-yin) เหมือนทุกวันนี้ ทำให้สามารถรื้อฟื้นเมื่อตอนโตแล้วได้ง่าย วันนี้ก็พอจะสื่อสารภาษาจีนกลางได้แบบงูๆ ปลาๆ เพราะเคยไปรื้อฟื้นที่ปักกิ่งมาปีหนึ่ง แต่ภาษาจีนเมื่อไม่ได้ใช้ไม่ได้พูดไม่ได้อ่านก็ลืมเลือนไปจนคืนกลับไปให้เหล่าซือแทบจะหมดแล้ว

ปู่ผมก่อนจะมาพบกับลูกสาวจีนกวางตุ้งที่เมืองตรังนั้น ได้ล่องเรือสำเภาจากเมืองจีนไปขึ้นท่าที่ปีนังพร้อมกับพี่สาว ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นจนเป็นหนุ่มกระทงและจึงล่องเรือมาเมืองตรัง และประกอบอาชีพเป็นช่างทอง คนก็เรียกขานว่าช่างทอง จนกลายเป็นนายทองในชื่อไทย

ผมไม่ตั้งใจเล่าเรื่องตัวเอง แต่ก็ต้องการเชื่อมโยงให้เห็นว่า การเกิดมาในครอบครัวคนจีนทำให้ผมดูหนังเรื่องนี้อย่างสนุกสนานและนึกถึงวัยเยาว์ของตัวเองไปด้วยคนไทยจำนวนไม่น้อยมีเชื้อสายจีน ถ้าข้อมูลไม่ผิด ประเทศไทยของเราน่าจะมีคนเชื้อสายจีนมากที่สุดในโลก วันนี้คนไทยเชื้อสายจีนกลืนไปกับคนไทยแท้ๆ หมดแล้วหลายคนเป็นใหญ่เป็นโตในชีวิตราชการและนายกรัฐมนตรีหลายคนก็มีเชื้อสายจีน รวมทั้งพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีก็มีเชื้อสายจีน และทรงทำพิธีสังเวยพระป้ายในเทศกาลตรุษจีนทุกปี

ครอบครัวที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจส่วนใหญ่มีพื้นฐานที่บรรพบุรุษหอบเสื่อผืนหมอนใบมาอาศัยร่มโพธิสมภารในเมืองไทย คนจีนส่วนใหญ่จึงมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาก ธุรกิจกิจการห้างร้านใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นธุรกิจของคนไทยเชื้อสายจีนแทบทั้งนั้น นึกไม่ออกเลยถ้าให้นึกว่า ธุรกิจไหนที่เป็นของตระกูลคนไทยแท้ๆ ที่ไม่มีเชื้อสายจีนเจือปน

กลับมาที่หนังหลานม่า เรื่องราวนี้อาจเกิดขึ้นมาครอบครัวเชื้อสายจีนหลายครอบครัว บางครอบครัวอาจจะมีเรื่องราวที่สลับซับซ้อนกว่านี้และนำมาสร้างเป็นหนังเรื่องหนึ่งได้เหมือนกัน ผมนั่งดูและอินไปกับหนังเหมือนกับเอาตัวเองไปเป็นนักแสดงด้วย เพราะใช้ชีวิตช่วงหนึ่งอยู่กับอาม่า แม้ไม่ได้ “หว่านพืชเพื่อหวังผล” แบบในหนัง แต่ก็ย้อนไปนึกถึงอาม่าที่ไม่ค่อยแสดงออกถึงความรักต่อหลานออกมาตรงๆ คล้ายกับอาม่าในหนัง

ผมคิดว่าหากได้ดูหนังเรื่องนี้หลายคนก็คงจะอินเหมือนผม บางทีมันอาจช่วยให้เราได้ทบทวนตัวเอง ถึงความสัมพันธ์กับอาม่าอากง ความสัมพันธ์ในหมู่พี่น้อง ลุงป้าน้าอา ตั้งแต่ครอบครัวใหญ่ จนแยกกันไปตั้งครอบครัวของตัวเอง แล้วอาจช่วยให้เราย้อนนึกว่า เราได้ปฏิบัติต่อพี่น้องหรือญาติของเราอย่างไร เรามุ่งหวังแต่ประโยชน์ส่วนตัวมากไปจนลืมสายใยในครอบครัวไปหรือไม่ แม้ทุกอย่างจะย้อนไปไม่ได้แล้ว แต่มันก็อาจช่วยให้เรารู้สึกสำนึกถ้าบางเรื่องเป็นเรื่องที่เราเคยทำตัวไม่ดีไป เพราะมันอาจช่วยให้เราสามารถทำอะไรที่เยียวยาเพื่อทดแทนอดีตได้บ้าง

ผมเชื่อว่ามีหลายครอบครัวที่มีเรื่องราวชีวิตที่สามารถนำมาทำเป็นหนังได้ ลองไปดูหลานม่ากันเสียก่อนแล้วกลับมาย้อนดูว่า ถ้าเราทำประวัติชีวิตครอบครัวเป็นหนังเราจะดำเนินเรื่องไปอย่างไร และจุดจบของหนังเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร

ในหนังลูกสามคนของอาม่า ชายสอง หญิงหนึ่งมีชีวิตที่ต่างกันไป ทั้งประสบความสำเร็จในชีวิตสามารถยกระดับฐานะของตัวเองได้ กับลูกที่เอาตัวเองไม่รอด แม้อาม่าจะดูรักลูกไม่เท่ากัน แต่อาม่าก็สามารถจัดการกับชีวิตหลังจากไปได้เป็นอย่างดี

ผมอาจจะประหลาดใจเนื้อหาในหนังอยู่บ้างก็ตอนที่อาม่าพาหลานชายไปบ้านพี่ชายซึ่งเป็นมหาเศรษฐี เพราะไม่เข้าใจว่า หลานอาม่าที่โตเป็นหนุ่มแล้วจึงไม่รู้มาก่อนว่า อาม่ามีพี่ชายที่เป็นมหาเศรษฐี ซึ่งผมคิดว่า เป็นเรื่องผิดปกติของสายสัมพันธ์แบบคนจีนซึ่งมักมีโอกาสเจอกันในเทศกาลต่างๆ และเราสามารถลำดับได้ว่าใครเป็นญาติของเราฝ่ายไหนหรือไม่ก็ต้องเล่าสู่กันฟัง แต่คนอื่นอาจจะไม่คิดแบบผมหากไปดูแล้วก็ช่วยกลับมาอธิบายด้วยว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

อีกบทหนึ่งอาจเป็นเพราะหนังต้องการเน้นความสัมพันธ์ระหว่างอาม่าหรือยายกับหลานมากกว่าจึงสื่อถึงสายสัมพันธ์ของฝ่ายพ่อน้อยไป แม้จะมีลูกพี่ลูกน้องจากฝ่ายพ่อซึ่งเป็นหญิงสาวในเรื่องมาเชื่อมโยง แต่ทำไมหลานชายของตระกูลจึงแทบจะไม่มีความสัมพันธ์กับฝ่ายพ่อที่ดูมีฐานะเลย ผมคิดว่าในสายสัมพันธ์แบบคนจีนมันดูห่างเหินกันจนเกินไป

ส่วนบทพระเอกนางเอกของหนังที่จะต้องมีแม้ทั้งสองจะไม่ได้มีความสัมพันธ์กันแบบคู่รักแต่เป็นความสัมพันธ์แบบลูกพี่ลูกน้องที่อยู่ในวัยเดียวกัน ทั้งสองก็สามารถสะท้อนชีวิตความคิดและทัศนคติของเด็กรุ่นใหม่ได้ดี ที่มุ่งหวังจะทำอะไรเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่ดี ญาติฝ่ายหญิงลูกพี่ลูกน้องของหลานม่านั่นเองที่ปลูกฝังความคิด “หว่านพืชเพื่อหวังผล” ให้หลานม่า ซึ่งก็คือการทำความดีเพื่อหวังผลตอบแทน

หลานม่าทำให้ผมย้อนรำลึกชีวิตของตัวเองในช่วงวัยเยาว์ ชวนกันไปดูหนังเรื่องนี้เถอะครับ แม้ว่าจะไม่ใช่ลูกหลานจีนรับรองว่าหนังดูสนุกแบบน้ำตารื้นกันทุกคน
 
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan 


กำลังโหลดความคิดเห็น