xs
xsm
sm
md
lg

บทวิจารณ์ แอนิเมชัน ๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ สิ่งที่ชาวสามกีบไม่ควรพลาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาสถิติศาสตร์
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ผมเพิ่งได้รับชม ๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติจบไป

ขอชมเชยคณะผู้จัดทำที่เล่าเรื่องราวและข้อเท็จจริงอันแสนจะยุ่งยากซับซ้อนให้เข้าใจได้โดยง่าย มีความแม่นยำทางประวัติศาสตร์ และทำให้ติดตามชมได้อย่างเพลิดเพลินในเวลาอันสั้น สนุกมาก แม้จะยาวสักหน่อยแต่ก็สะกดให้ติดตามจนจบไม่อาจจะลุกออกไปไหนได้แม้แต่วินาทีเดียว

แอนิเมชัน ๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัตินี้ เปรียบเสมือนบุปผามาลาสรร (Anthology) ของเอกสารชั้นต้นทางประวัติศาสตร์ที่นำมาเรียบเรียงอย่างสวยงามน่าติดตาม และในตอนจบของเรื่องก็ได้ให้แหล่งอ้างอิงสำหรับผู้ที่สนใจจะศึกษาต่อไปด้วยตนเองได้ด้วย

ในแง่เนื้อหา แอนิเมชัน ๒๔๗๕ หาใช่งานวิจัยที่นำเสนอองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับ ๒๔๗๕ ก็หาไม่ และไม่แม้แต่จะเป็นการตีความใหม่ แต่เป็นการนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันซับซ้อนได้อย่างสนุกสนานในเวลาอันสั้นที่สุดจัดว่าเป็นศิลปะในการเล่าเรื่องชั้นสูงที่ทำให้ได้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลินในเวลาเดียวกัน

หากจะอธิบายอย่างสั้นที่สุด แอนิเมชัน ๒๔๗๕ ได้ทำให้สิ่งที่อานนท์ต้องศึกษาค้นคว้าและอ่านหนังสือหลายสิบหลายร้อยเล่มและใช้เวลาอ่านสะสมนับหลายปี โดยที่ต้องวิพากษ์หลักฐาน ทั้งการวิพากษ์ภายนอกและการวิพากษ์ภายใน แม้กระทั่งการตรวจสอบสามเส้าทางประวัติศาสตร์ (Historical triangulation) สั้นลงเหลือเพียงสองชั่วโมงเศษ ซึ่งเหมาะสมกับยุคสมัยนี้ที่คนเราไม่ได้มีความพยายามพอที่จะอ่านมากมายและกลั่นกรองหลักฐานตลอดจนเอกสารชั้นต้นทางประวัติศาสตร์มากมายขนาดนั้น

จุดเด่นมากที่สุดคือ แอนิเมชัน ๒๔๗๕ ได้เลือกให้เกิดการปะทะอภิปรายระหว่างทุกฝ่าย และผู้เขียนบทได้เลือกใช้เอกสารชั้นต้นที่หลากหลายมุมมองเกิดดุลยภาพของมุมมอง (Balanced view) โดยได้กลั่นกรองเอกสารที่เป็นข้อเท็จจริง (Facts) กับข้อคาดเดา (Conjectures) และความคิดเห็น (Opinions) ออกจากกันอย่างชัดเจน

การให้เด็กได้เสนอมุมมองของตนปะทะอภิปรายกับลุงในห้องสมุด อย่างค่อยเป็นค่อยไป รับฟังซึ่งกันและหักล้างโต้เถียงกันด้วยหลักฐานและเหตุผลนั้นเป็นวิธีที่ย้อนกลับสู่วิธีโบราณในการสอนที่เรียกว่าวิภาษวิธี (Dialectical method) ซึ่งหากดำเนินการด้วยจิตวิทยาที่เข้าใจ ยอมรับความเห็นต่างก็เกิดสุนทรียสนทนาระหว่างสองฝ่ายที่คิดเห็นต่างกันได้ และเป็นวิถีทางที่สำคัญยิ่งสำหรับระบอบประชาธิปไตย

บทภาพยนตร์เรื่องนี้ ลงตัว และไม่ hard sale กระแทกหรือยัดเยียดความคิดให้คนดูมากจนเกินไป แต่พยายามให้คนดูได้เห็นหลักฐานจากทั้งสองด้านและคิดได้เอง โดยไม่ตัดสิน นับว่าเป็นข้อดีของแอนิเมชันเรื่องนี้ ที่ไม่ถึงทำให้สามกีบต้องขาดใจตาย ชักดิ้นชักงอ น้ำลายฟูมปากหากต้องมาชมแอนิเมชันเรื่องนี้


การเล่าเรื่องของ ๒๔๗๕ ใช้วิธีการเล่าเรื่องทางประวัติศาสตร์แบบกาลานุกรม (Chronological) อย่างเคร่งครัด คือเล่าเหตุการณ์เรียงเป็นเส้นตรงตามลำดับเวลา วิธีการนี้เป็นวิธีการที่คนทำหนังอาจจะเห็นว่าเป็นวิธีการที่ไม่น่าตื่นเต้น ไม่สวยงามในแง่ศิลปะภาพยนตร์ แต่เป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุดในการเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนและเกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงอย่าง ๒๔๗๕ ได้อย่างเหมาะสมลงตัว การเล่าเรื่องทางประวัติศาสตร์แบบเรียงไปตามลำดับเวลาแบบเส้นตรงนี้ ทำให้เห็นปมของความขัดแย้ง พัฒนาการ และการคลี่คลาย ทำให้เข้าใจเหตุและผล ตลอดจนปัจจัยหนุนเนื่องของเหตุการณ์ต่างๆ ที่เชื่อมโยงร้อยเรียงต่อกันในประวัติศาสตร์ได้อย่างดีที่สุด น่าเสียดายที่วิธีการเล่าเรื่องแบบโบราณเช่นนี้ หายไปจากวงการภาพยนตร์ที่ชอบเล่าเรื่องย้อนไปย้อนมาจนคนดูสับสน และการเล่าเรื่องในวงวิชาการประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่สนใจเป็นประเด็นเฉพาะ (Issue-based) ค่อนข้างแพร่หลายจนทำให้นักเรียนประวัติศาสตร์ไม่แม่นยำในลำดับเหตุการณ์และไม่แม่นยำตลอดจนไม่เข้าใจลำดับเหตุผลเบื้องหลังเหตุการณ์ ตลอดจนไม่เข้าใจปัจจัยหนุนเนื่องของเหตุการณ์

ภาพลายเส้นของแอนิเมชัน ทำได้ดี มีความผสมผสานระหว่างแอนิเมะของญี่ปุ่นบางเรื่อง โดยเฉพาะการ์ตูนนักสืบของญี่ปุ่นบางเล่มที่ผมคุ้นเคยเป็นอย่างดีคือโคนันคุง ในขณะเดียวกันก็ผสมผสานความเป็นไทยและมีอัตลักษณ์ของความเป็นไทยเข้าไปอย่างชัดเจน ในขณะที่ศิลปะและสถาปัตยกรรมนั้นในยุคสมัยนั้นได้รับอิทธิพลจาก Art Deco ค่อนข้างมากก็ปรากฎในภาพลายเส้นของแอนิเมชันเรื่องนี้เช่นกัน

การกำหนดโทนสีของแอนิเมชัน ให้ใช้โทนสีมืดและร้อนสำหรับคณะผู้ก่อการ ๒๔๗๕ และใช้สีโทนสีทองและสีอ่อนสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ อาจจะเป็นสิ่งที่ชี้เห็นทัศนคติของศิลปินผู้วาดภาพแอนิเมชันเรื่องนี้อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ยัดเยียดให้คนดูมากจนเกินไป สำหรับตัวผมมีความรู้สึกว่าถูกยัดเยียดความไม่ชอบคณะผู้ก่อการหรือคณะราษฎรของศิลปินผู้วาดภาพลายเส้นอยู่บ้างเมื่อเห็นหนวดปลาหมึกมากเหลือเกินหากมีการปรากฎของคณะราษฎร แต่ก็อยู่ในระดับที่พอยอมรับได้ แต่ถ้าตัดออกไปได้ก็จะดีมาก

แอนิเมชัน ๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ นี้เป็นแอนิเมชัน ต้นทุนต่ำที่สุด ที่ทำได้ดีมาก มากกว่าที่คาดหวังไว้มาก ยิ่งเมื่อเห็นเงินบริจาคที่ใช้ในการผลิตแล้วก็ยอมรับว่าตกใจมาก เงินแค่นี้ทำงานเช่นนี้ได้ แสดงว่าเป็นการรวมน้ำใจของจิตอาสาที่มาช่วยกันทำงานอันทรงคุณค่ายิ่ง

การพากย์เสียง ทำได้ดีและลงตัวมาก สำหรับเสียงพากย์ที่ส่วนตัวชอบมากที่สุดคือเสียงพากย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพี่นก ฉัตรชัย เปล่งพานิช ที่พากย์ได้อย่างดีที่สุดและสำแดงอารมณ์ความรู้สึกในพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้อย่างเข้าถึงโดยไม่ต้องพยายามใดๆ ไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่าพี่นกจะพากย์เสียงและลงเสียงได้ดีขนาดนี้มาก่อนเลย ขอชมเชยจากใจ

แอนิเมชันเรื่องนี้ สำหรับชาวสามกีบที่ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้ท่านจะมองว่าทีมผู้จัดทำเป็นชาวสลิ่ม ก็ยิ่งต้องชมแอนิเมชันเรื่องนี้ ไม่ได้ชมเพื่อจะเปลี่ยนความคิด แต่ชมเพื่อให้มองงานนี้เป็นงานศิลปะอย่างหนึ่ง ในการเล่าเรื่องราวอันซับซ้อนและเต็มไปด้วยความขัดแย้งได้อย่างลงตัวและไม่ยัดเยียดจนเกินไป

ขอเชิญชาวสามกีบมารับชมกันครับ


ปล. ขอเชิญอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรกุล ที่แม้จะไม่ได้ชมภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้ก็ดิ้นเร่าๆ เหมือนไส้เดือนถูกน้ำร้อนลวกเสียแล้วมารับชมให้ดิ้นหนักกว่าเดิม Somsak Jeamteerasakul


กำลังโหลดความคิดเห็น