xs
xsm
sm
md
lg

ยุบก้าวไกลนิติรัฐไม่ใช่นิติสงคราม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ในที่สุด กกต.ก็มีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกลโดยเห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคก้าวไกลกระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ. 2560

มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) ระบุว่า (1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ก่อนที่จะทราบผลว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติยุบพรรคก้าวไกลหรือไม่ ลองย้อนไปดูเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักษาชาติตามมาตราเดียวกัน

กรณีของพรรคไทยรักษาชาตินั้นศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ให้ยุบพรรคตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2)

มติ 6 ต่อ 3 ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 8 ก.พ. 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีการกระทำความผิดตาม พ.ร.ป. พรรคการเมืองมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) แต่กำหนดระยะเวลาไว้ 10 ปีนับจากวันที่ศาลมีคำสั่งยุบพรรคเนื่องจากเห็นว่า “เป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยังไม่ถึงขนาดมีเจตนาจะล้มล้างการปกครอง” เพราะเป็นขั้นตอนหนึ่งในการได้มาซึ่งนายกฯ ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อระบอบการปกครอง อีกทั้งพิจารณาความสำนึกรับผิดชอบของ กก.บห.ที่น้อมรับพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ ทันทีที่ทราบเห็นว่าพรรคไทยรักษาชาติยังมีความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้นชี้แจงเพิ่มเติมว่าเสียงฝ่ายข้างมาก 6 เสียงวินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของ กก.บห.มีกำหนดเวลา 10 ปีส่วนเสียงข้างน้อย 3 เสียงวินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของ กก.บห.มีกำหนดเวลาตลอดชีพ

ศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติและผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งห้ามจดทะเบียนพรรคใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคอื่นหรือมีส่วนร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองอื่นภายในกำหนด 10 ปี

ประเด็นว่าพรรคก้าวไกลจะถูกยุบพรรคหรือไม่นั้น ต้องตอบว่า รอดยาก เมื่ออ่านคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าการกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์และพรรคก้าวไกลในการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายหาเสียงเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมสั่งยุติการกระทำ ดังนั้นจึงเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) อย่างชัดเจน

ประเด็นสำคัญมาดูว่า กรรมการบริหารพรรคก้าวไกลจะถูกตัดสิทธิกี่ปีหรือตลอดชีวิต

จะเห็นได้ว่ามติ 6 ต่อ 3 ที่ตัดสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาตินั้น 6 เสียงให้ตัดสิทธิ 10 ปี โดยให้เหตุผลว่า “เป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขยังไม่ถึงขนาดมีเจตนาจะล้มล้างการปกครอง” แต่ 3 เสียงให้ตัดสิทธิตลอดชีวิต

ถ้อยความสำคัญที่กรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติรอดจากการตัดสิทธิตลอดชีวิตคือ “ยังไม่ถึงขนาดมีเจตนาจะล้มล้างการปกครอง” และ “เห็นว่าพรรคไทยรักษาชาติยังมีความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์”

ที่สำคัญพรรคไทยรักษาชาติถูกฟ้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) เท่านั้นคือ กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่พรรคก้าวไกลนอกจากถูกฟ้องตามวรรคหนึ่ง (2) และยังถูกฟ้องตาม (1) ด้วย คือกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

และเมื่อดูกรณีของพรรคก้าวไกลศาลรัฐธรรมนูญชี้อย่างชัดแจ้งว่า การที่นายพิธาและพรรคก้าวไกลเสนอเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้งเป็นการใช้นโยบายทางการเมืองโดยนำสถาบันฯ ลงมาเพื่อหวังผลในการได้คะแนนเสียงและประโยชน์ในการชนะการเลือกตั้งซึ่งเป็นผลทำให้สถาบันฯ ตกเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนจึงถือว่ามีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายที่อาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครองฯ ได้ในที่สุด

ถ้อยความสำคัญของพรรคก้าวไกลที่ต่างกับพรรคไทยรักษาชาติที่รอดการตัดสิทธิตลอดชีวิตคือ “จึงถือว่ามีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายที่อาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครองฯ”

ดังนั้นมีโอกาสมากทีเดียวที่กรรมการบริหารพรรคก้าวไกลอาจจะถูกตัดสิทธิตลอดชีวิต เมื่อเทียบกับข้อกล่าวหาต่อพรรคไทยรักษาชาติ

รายชื่อคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลในยุคที่พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรคมีใครบ้าง 1. พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค 2. ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค 3. ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค 4. ณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค 5. ปดิพัทธ์ สันติภาดา กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคเหนือ 6. สมชาย ฝั่งชลจิตร กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคใต้ 7. อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคกลาง 8. อภิชาติ ศิริสุนทร กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9. เบญจา แสงจันทร์ กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคตะวันออก 10. สุเทพ อู่อ้น กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนปีกแรงงาน

แม้ผมจะมีความเห็นว่า การยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิทางการเมืองของพรรคก้าวไกล ไม่ใช่ทางออกที่จะยับยั้งการเติบโตของพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้แล้วว่า มีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายที่อาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครองฯ ได้ในที่สุด เพราะสุดท้ายแล้วก็จะมีการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่และเปลี่ยนคนอีกรุ่นขึ้นมาสืบทอดอุดมการณ์ และอาจนำไปสู่การหาเสียงเรียกร้องความเห็นใจว่าเป็นฝ่ายถูกกระทำจากอำนาจรัฐ

ที่สำคัญความคิดและอุดมการณ์ของพรรคก้าวไกลที่สืบทอดมาจากพรรคอนาคตใหม่นั้น ถูกส่งต่อปลุกปั่นยุยงเข้าไปสู่ความคิดของคนรุ่นใหม่จำนวนมากให้มีแนวคิดที่ท้าทายต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ก็ต้องรอดูว่าถ้าพรรคก้าวไกลถูกยุบพรรคใหม่ต่อจากพรรคก้าวไกลจะชื่ออะไร ใครที่จะถูกผลักดันให้ขึ้นมานำพรรคเพื่อสืบทอดอุดมการณ์ต่อไป

แต่เมื่อพรรคก้าวไกลกระทำความผิดเข้าข่ายที่กฎหมายต้องห้ามและเป็นอันตรายต่อระบอบของรัฐแล้ว กลไกของรัฐก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะบังคับใช้กฎหมายได้

ไม่ว่าวันเวลาและอนาคตข้างหน้าจะเป็นของฝ่ายไหน และบ้านเมืองจะถูกนำพาไปสู่หนทางใดก็ตาม แต่กลไกของรัฐก็มีหน้าที่ต้องปกป้องระบอบและรูปแบบของรัฐเอาไว้ นั่นคือ การปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

พรรคการเมืองที่มีเจตนาจะเซาะกร่อนบ่อนทำลายระบอบการปกครอง ไม่ว่าจะเป็นพรรคใดหรือนำโดยใครก็ไม่อาจละเว้นที่กฎหมายจะไม่ดำเนินการได้ นี่จึงเป็นความชอบธรรมตามหลัก “นิติรัฐ” ไม่ใช่ “นิติสงคราม” ที่อีกฝ่ายกล่าวหา
 
ติดตามผู้เขียนได้ที่
https://www.facebook.com/surawich.verawan 


กำลังโหลดความคิดเห็น