xs
xsm
sm
md
lg

“ประเสริฐ” เผย “ดีอีเอส” ลุยเช็คบิลแก๊งคอลเซนเอตร์ออนไลน์ ออก กม.จัดหนักโจร ผนึกเพื่อนบ้านปราบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ประเสริฐ” ตอบกระทู้วุฒิสภา ลั่นลุยปราบอาชญากรรมออนไลน์เต็มสูบ ดึง สคบ.ร่วมแก้สินค้าไม่ตรงปก เล็งออกมาตรการรับของก่อนค่อยจ่าย เผยคนไทยเสียหายตกวันละ 100 ล้าน ร่วมทุกหน่วยงานออก กม.จัดหนัก “บัญชีม้า” พร้อมผนึก ตปท.เร่งป้องกัน-ปราบปรามแก๊งคอลเซนเตอร์-หลอกลงทุน

เมื่อวันที่ 11 มี.ค.67 ในการประชุมวุฒิสภา มีวาระการพิจารณากระทู้ถามสดของ พล.ต.โอสถ ภาวิไล สมาชิกวุฒิสภา ได้ตั้งกระทู้ถาม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ถึงการป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยตั้งคำถามว่า 1.รัฐบาลมีมาตรการและแนวทางปราบปรามหรือไม่อย่างไร, 2.รัฐบาลมีแนวทางประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รู้เท่าทันกลลวงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่ และ 3.แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นแก๊งมิจฉาชีพที่เป็นภัยสังคมที่น่าหวาดกลัวและทำให้เศรษฐกิจของประเทศแย่ลง รัฐบาลมีความคิดหรือมีแผนที่จะป้องกันและปราบปรามมิจฉาชีพนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติหรือไม่

นายประเสริฐ กล่าวตอบตอนหนึ่งว่า กระทรวงดีอีเอส ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่ได้จับกุมมิจฉาชีพอย่างต่อเนื่อง, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย (TBA) ในการระงับ และอายัดบัญชีม้า บัญชีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและบัญชีที่มีเหตุต้องสงสัย,
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงิน และยึดทรัพย์, สำนักงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) ที่มีโครงการสายด่วนแจ้งหลอกการลงทุน เช่นเดียวกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ทำงานกับกระทรวงดีอีเอสอย่างใกล้ชิด ส่วน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ร่วมกันตรวจสอบซิมที่ใช้กระทำความผิด และตรวจสอบว่าซิมใดมีอัตราการใช้ที่ผิดปกติ ใน 1 วันถ้าใช้เกินกว่า 100 ครั้ง ให้ตรวจสอบผู้ใช้ และถ้าไม่สามารถตรวจสอบได้จะระงับการใช้ชั่วคราว จนกว่าจะยืนยันตัวตน นอกจากนี้ยังมี สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่ประสานในเรื่องการซื้อสินค้าที่ไม่ตรงปก โดยกำลังพิจารณามาตรการการให้ลูกต้าได้รับหรือตรวจสอบสินค้าก่อนการชำระเงิน โดยกระทรวงดีอีเอสเสนอไป 7 วันแล้วค่อยจ่ายเงินให้ผู้ขาย

“กระทรวงดีอีเอส ได้ตั้งศูนย์ต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ หรือ AOC 1441 ขึ้นมาบริการประชาชนแบบครบวงจร 24 ชั่วโมง ขณะนี้ได้ให้บริการประชาชนเฉลี่ยวันละ 3 พันกว่าคู่สาย และอยู่ระหว่างการขยายคู่สายเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาชนได้รับความเสียหายจากการหลอกลวงเป็นจำนวนมาก” นายประเสริฐ ระบุ

นายประเสริฐ เปิดเผยด้วยว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นที่ศูนย์ AOC ได้รับ เฉลี่ยความเสียหายวันละ 70-80 ล้านบาท บางวันถึง 100 ล้านบาท ความเสียหายระดับต้นคือ การหลอกให้ซื้อสินค้า ความเสียหายด้านนี้มีจำนวนมาก แต่จำนวนเงินไม่มาก ความเสียหายที่เป็นเงินจำนวนมากคือ หลอกให้ลงทุน เฉลี่ยต่อวันเป็นสัดส่วนที่สูงมาก โดยศูนย์ AOC เป็นศูนย์บริการจุดเดียวครบวงจรในการปราบปรามเชิงรุกและรับมือกับปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ โดยศูนย์จะดำเนินงานในลักษณะ Task Force Command Center (ศูนย์บัญชาการเฉพาะด้าน)เพื่อปราบปรามเชิงรุก และรับมือกับปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ การหลอกลวงทางการเงินที่ทำให้ประชาชนเกิดความเสียหาย และส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และมีช่องทางการให้ประชาชนสามารถ รับคำปรึกษาปัญหาทางคดีได้ ตลอดจนการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชน ได้ทราบถึงวิธีการหลอกลวงที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วง ทั้งในช่องทางเว็บไซต์ของกระทรวงดีอีเอส ช่องทางของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย รวมถึงช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ในทุกแพลตฟอร์ม เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักและมีภูมิคุ้มกันถึงภัยต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา

รมว.ดีอีเอส กล่าวอีกว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้น กระทรวงดีอีเอส ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการร่วมกันร่าง และออกกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหานี้ คือ พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 เพื่อใช้เป็นมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการฉ้อโกง และหลอกลวงออนไลน์ โดยมีบทลงโทษผู้กระทำความผิดและผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้เปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก นำไปใช้ในการกระทำความผิด หรือบัญชีม้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ หรือเป็นธุระจัดหา โฆษณาให้มีการซื้อขายบัญชีเงินฝาก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2-5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งยังมีโทษสำหรับผู้ที่เป็นธุระจัดหาเพื่อให้มีการซื้อ หรือขายหมายเลขโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2-5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า กระทรวงดีอีเอส ยังได้ขยายขอบเขตการทำงานให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยมีการลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวงดีอีเอสของไทย และกระทรวงการไปรษณีย์ และโทรคมนาคมแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาในการปราบปรามแก๊งคอลเซนเตอร์ และการหลอกลวงลงทุน (Hybrid Scam) รวมทั้งมีการจัดตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคณะทำงานนี้ มีปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นประธาน ล่าสุดได้มีการหารือการแก้ไขปัญหาในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 4 (The 4th ASEAN Digital Ministers’ Meeting: The 4th ADGMIN) เมื่อวันที่ 1 ก.พ.67 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ และจะมีการหารือกันอีกครั้ง ระหว่างเดือน มี.ค.67 นี้ ร่วมกับคณะทำงานฝ่ายกัมพูชา ในการประชุมผู้นำเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านดิจิทัลและผู้นำสภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมแห่งอาเซียน ครั้งที่ 1 ณ ประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นการสานต่อความร่วมมือด้านดิจิทัลในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะการจัดการภัยออนไลน์ ซึ่งเป็นปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติระดับโลก และประเทศไทยมีบทบาทสำคัญ ในการยกระดับความร่วมมือและการดำเนินงานของอาเซียนในการจัดการและรับมือกับปัญหา การหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์.
กำลังโหลดความคิดเห็น