“หุงข้าวประชดหมา ปิ้งปลาประชดแมว และตายประชดป่าช้า 3 ประการนี้ไม่ควรทำ”
ข้อความข้างต้น ผู้เขียนจำได้ว่าอ่านจากข้อเขียนของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อนานมาแล้ว แต่ที่ยังจำได้ก็ด้วยเหตุว่าคำพูดนี้ยังเข้ากันได้กับสภาพแวดล้อมของสังคมในปัจจุบัน โดยเฉพาะการฆ่าตัวตายเพื่อประชดคนอื่นเช่น เมียฆ่าตัวตายประชดผัว เป็นต้น
โดยนัยแห่งการประชด 3 ประการข้างต้น เป็นการกระทำที่ไร้ประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและคนใกล้ชิด นอกจากไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แล้ว ยังก่อให้เกิดความหายนะโดยไม่จำเป็นด้วย ในทำนองเดียวกันกับการหุงข้าวประชดหมา ปิ้งปลาประชดแมว ทั้งหมาและแมวยังไม่รู้ว่าประชดมัน ให้มันกินอิ่มก็เลิกหิวมันก็กินใหม่ ส่วนการตายประชดป่าช้า ไม่ว่าจะตายด้วยอะไรและจำนวนเท่าไร ถึงป่าช้าแล้วจะเผาหรือฝังป่าช้าไม่รู้เรื่อง รวมทั้งคนตายก็ไม่รู้เรื่อง จะมีก็เพียงคนเป็นซึ่งเกี่ยวข้องกับตายเท่านั้นที่เป็นทุกข์ และเดือดร้อนกับการทำพิธีทางศาสนาแล้วทำการเผาหรือฝัง
ดังนั้น คำพูดนี้เป็นการเตือนคนที่โกรธแค้นคนอื่น แต่ทำร้ายตนเองเป็นการประชดว่า อย่าทำเพราะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรทั้งแก่ตนเองและคนรอบข้างที่มีความผูกพันกันเช่น พ่อ แม่ พี่น้อง และเพื่อนฝูง เพราะเขาเหล่านั้นจะเดือดร้อนเพราะการกระทำของเรา
วันนี้การประชดประชันในทำนองนี้ได้เกิดขึ้นอีก เมื่อแกนนำกลุ่มทะลุวัง 2 คนคือ บุ้ง ทะลุวัง และตะวัน ทะลุวัง ผู้กระทำผิดมาตรา 112 และถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกได้อดอาหารเพื่อต่อรอง และเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษคดีมาตรา 112 และให้ยกเลิกมาตรา 112 ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำเพื่อตนเอง และพวกพ้อง โดยที่คนอื่นในสังคมรวมทั้งคนที่มาตรา 112 ก็ไม่มีส่วนทำให้คนเหล่านี้ติดคุก แต่เขาทำตัวเขาเองแล้วโกรธแค้นคนอื่น และทำร้ายตนเองเป็นการประชด จึงเข้าทำนองการประชด 3 ประการข้างต้น ทั้งนี้อนุมานจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็เฉกเช่นกฎหมายอื่นใดคือ เป็นกติกาทางสังคมที่ทุกคนในสังคมต้องเคารพและปฏิบัติตามในฐานะสมาชิกของสังคม ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นเชื้อชาติใด และนับถือศาสนาอะไร รวมถึงมีสถานะทางสังคมในระดับไหน ในทำนองเดียวกันกับกฎกติกาของกีฬาประเภทใดประเภทหนึ่งที่ผู้เข้าแข่งขันกีฬาประเภทนี้ต้องยอมรับ ไม่ว่านักกีฬาคนนั้นจะเป็นชาติไหน และนับถือศาสนาใด และถ้าทำผิดกติกาก็จะถูกลงโทษตามที่ได้วางไว้ โดยที่ผู้กระทำผิดไม่ยอมรับไม่ได้
2. สมาชิกกลุ่มทะลุวังทุกคนล้วนเป็นสมาชิกของสังคมไทย ดังนั้น จะปฏิเสธไม่ยอมรับกติกาของสังคมไทยไม่ได้ และถ้าเห็นว่ากติกานี้ไม่ถูกต้อง และต้องการแก้หรือยกเลิก ก็จะต้องถามผู้คนในสังคมว่าจะยอมให้แก้หรือยกเลิกหรือไม่ ถ้าคนส่วนใหญ่เห็นด้วยก็สามารถดำเนินการได้ตามกระบวนการทางด้านนิติบัญญัติในระบอบประชาธิปไตย
แต่ตราบใดที่มาตรา 112 ยังไม่ได้แก้หรือยกเลิก ใครทำผิดกฎหมายก็จะต้องถูกลงโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้
3. ด้วยเหตุปัจจัยตามข้อ 1 และข้อ 2 การที่สมาชิกกลุ่มทะลุวังทำผิดมาตรา 112 และถูกศาลพิพากษาลงโทษถือว่าเป็นไปตามกติกาสังคม
ดังนั้น การที่บุ้งและตะวันอดอาหารเพื่อเรียกร้อง 3 ข้อคือ
1. ให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
2. คนที่เห็นต่างทางการเมืองจะต้องไม่ติดคุก
3. ประเทศไทยไม่ควรเป็นสมาชิกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในยูเอ็น
ทั้ง 3 ข้อนี้โดยเฉพาะข้อ 1 และข้อ 2 ถ้ามองให้ลึกก็จะเห็นชัดเจนว่า เป็นข้อเรียกร้องเพื่อตนเองและพวกพ้อง เริ่มจากข้อ 1 เจตนาที่แท้ก็คือแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 และข้อ 2 ก็คือ การเรียกร้องให้ปล่อยพวกตัวเองโดยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมนั่นเอง และข้อที่ 3 ก็คือการเบี่ยงเบนประเด็นที่ว่าคนกลุ่มนี้ได้แรงหนุนจากองค์กรระหว่างประเทศนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ผู้เขียนเห็นว่าถ้ากลุ่มทะลุวังโดยเฉพาะบุ้งและตะวันเห็นว่า มาตรา 112 ไม่ถูกต้องและจำเป็นต้องแก้ไขหรือยกเลิกตามแนวทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก็จะต้องเคารพกฎหมายโดยการยอมติดคุกโดยไม่มีข้อแม้หรือมีเงื่อนไขต่อรอง ครั้นเมื่อพ้นโทษออกมาและยังมีความต้องการจะดำเนินการเช่นเดิมอยู่ ก็ควรที่จะต้องต่อสู้ทางการเมืองโดยการสนับสนุนพรรคที่ตนเห็นว่าทำดีมีประโยชน์ต่อประเทศ และสังคมโดยรวมให้ได้รับชัยชนะการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากพรรคเดียวแล้วเสนอแก้มาตรา 112
แต่ตราบใดที่มาตรา 112 ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่อย่าทำผิดอีก ถ้าไม่ต้องการเข้าคุกอีกครั้ง