xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องของ “ปรัชญาตะวันตก” (ตอนสามสิบห้า) คำคม “มาร์กซ” และ “เลนิน”?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คาร์ล มาร์กซ
“สอดแนมการเมือง”
“ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”

แนวคิด “คอมมิวนิสต์” โดย “คาร์ล มาร์กซ” ซึ่ง “วลาดีมีร์ เลนิน” สู้จน “ปักธงแดง” ได้ที่รัสเซีย!

มีคำพูดอมตะที่ว่า..การจะเป็น “แชมป์โลก” ได้นั้น “ยาก”! แต่ “รักษาแชมป์” นั้น “ยากยิ่งกว่า”?


นำมาใช้ได้กับเมื่อ “รัสเซียเป็นคอมมิวนิสต์” ก็ต้องปล่อยให้ “ผู้นำ” กับ “ประชาชน”ว่ากันไป “รัสเซีย” จะเจริญก้าวหน้าหรือถอยหลังลงคลอง อยู่ที่ตัว “ผู้นำ”! ถ้าประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น-โอเคเลย! หากคุณภาพชีวิตประชาชนแย่ลง-โนเคว่ะ! “รัสเซีย” เคยได้“ผู้นำแย่” จึงตกต่ำลง! พอได้“ผู้นำดี” ก็ผงาดขึ้นอีกครา! ดังนั้น..เรื่อง“รัสเซีย”ยังต้องตามดูกันต่อไปครับ

หันมาดู “คำคมคนคิด” เรื่อง“คอมมิวนิสต์” ของ “คาร์ล มาร์กซ” บ้าง..

“นักปรัชญา เอาแต่ตีความเรื่องโลก ประเด็นคือ จงเปลี่ยนแปลงมันเสีย”!

“นักเขียนต้องหาเงินเพื่อการยังชีพ และเพื่อให้เขียนหนังสือต่อไปได้ แต่เขาไม่มีทางมีชีวิตอยู่ และเขียนหนังสือต่อไปได้ หากมีเป้าหมายเพียงแค่หาเงิน”

“ขายปลาตัวหนึ่งให้คนๆหนึ่ง เขาก็กินมันหมดในหนึ่งวัน แต่หากสอนให้เขาตกปลาเอง เท่ากับคุณทำลายโอกาสที่ดีเลิศไป” อ้าว!..ไหง “มาร์กซ” ดันคิดเช่นนั้นล่ะ? ช่างต่างจาก “ในหลวง ร.9” ที่ทรงคิดถึงประชาชนเป็นหลัก ทรงสอนสั่งผู้มีหน้าที่บริหารชาติ ให้สอนประชาชนจับปลาเอง.. การแจกปลา กินหมดก็หิวอีก..!

“ความคิดที่นำทางเราในแต่ละช่วงอายุนั้น ไม่เคยเป็นความคิดของชนชั้นนำเลย” แหม..ชนส่วนใหญ่ไม่มองการณ์ไกลเล้ย..“มาร์กซ” คิดเช่นนั้นใช่ไหม?

“จากที่ต้องทำตามความสามารถของเขา จงเปลี่ยนเป็นทำตามความต้องการของเขา”

“คนรวยจะทำทุกอย่างเพื่อคนจน แต่(คนจน)ต้องลุกขึ้นมาทำเอง” แหม! วรรคแรก “มาร์กซ” ทำเอางงเต็ก.. แต่วรรคหลัง “จริง” ว่ะ! ถ้าคนจนไม่ทำเองก็ต้องจนต่อไป!

“เหตุผลนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่เสมอ แต่มันไม่อยู่ในรูปแบบที่เป็นเหตุเป็นผลเสมอไป”

“ปรัชญานั้นเป็นเรื่องของโลกที่แท้จริง เหมือนกับที่การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองเป็นเรื่องทางเพศ”

“ประเพณีของคนที่ตายไปแล้วทั้งหมด เหมือนกับฝันร้ายที่อยู่ในสมองของคนที่ยังมีชีวิตอยู่”

“บ่อยครั้งที่มนุษย์ทำตัวเหมือนกับเขาไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง แต่เหมือนพยายามปรับปรุงตัวด้วยสิ่งนอกกาย” อืม..น่าคิด.. น่าคิด..

“ความหมายของคำว่าสันติภาพคือ ภาวะที่ไร้สิ่งตรงข้ามกับสังคมนิยม” โอ๊ย!..สิ่งตรงข้ามกับสังคมนิยมก็คือทุนนิยม ซึ่งยากจะหมดไปนะ “มาร์กซ”!

“ประวัติศาสตร์ไม่ได้ทำสิ่งใดเลย มันไม่ได้มีความร่ำรวยล้นฟ้า มันไม่ได้เป็นคนทำสงคราม แต่มันเป็นคน..คนมีชีวิตจริง ที่เป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ทั้งหมดไว้”

“มาร์กซ” อธิบายเรื่องทุนอีกว่า “ทุนนิยมคือเงิน ทุนนิยมคือสินค้า ด้วยเหตุที่มันมีมูลค่า มันมีความสามารถที่เหมือนมนต์วิเศษ ที่ทำให้คุณค่าของตัวมันเพิ่มขึ้นได้ แล้วมันก็ทำให้เกิดลูกหลานที่มีชีวิต หรืออย่างน้อยมันก็ออกไข่มาเป็นไข่ทองคำ” ถูกต้อง!ใช่เลย! ทุนนิยมเป็นเช่นนั้นแล..

“คนงานไม่มีสิ่งใด นอกจากโซ่ตรวนที่ต้องสลัดให้หลุด พวกเขาต้องเอาชนะโลกใบนี้” นี่เป็นคำพูดของ “มาร์กซ” ก่อนปลุกให้ผู้คนทั้งโลกลุกขึ้นตะโกนพร้อมกันว่า “คนงานแห่งโลก จงสามัคคี!”
“ประวัติศาสตร์นั้นซ้ำรอยตนเอง เริ่มแรกด้วยทุกข์โศก แล้วก็ตามด้วยเสียงหัวเราะเย้ยหยัน ใครจะเป็นคนสอนครู?” เพราะครูต้องถูกสอนด้วยประวัติศาสตร์จริง!

“นโยบายรัสเซียนั้นไม่เปลี่ยนแปลง วิธีการกลยุทธ์และปฏิบัติการอาจเปลี่ยนได้ แต่หมุดหลักนโยบายของรัสเซีย ซึ่งได้แก่การครอบครองโลก เป็นเสมือนดวงดาวที่หยุดนิ่งอยู่กับที่” อืม.. เรื่องของแต่ละชาติ..“มาร์กซ” หรือ “ใคร” ก็พูดแทนไม่ได้! เพราะ“การเมืองโลก”ของแต่ละชาติไม่เหมือนกัน..จริงไหม?!

“มนุษยชาติจะวางตนเองไว้ในจุดที่สามารถแก้ไขปัญหาได้เท่านั้น เพราะเมื่อมองที่ปัญหานั้นอย่างใกล้ชิดแล้ว เราจะพบเสมอว่า ปัญหานั้นเกิดขึ้นเมื่อเงื่อนไขทางวัตถุเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว อย่างน้อยก็อยู่ในขั้นตอนที่กำลังก่อตัวขึ้นมา” เฮ้อ!..“มาร์กซ ”พูดได้ทั้งนั้นแหละ..แต่ “หลายปัญหา” ซับซ้อนยากจะแก้ได้ง่ายๆ?

“เจ้าของที่ดินก็เหมือนคนอื่นๆทั้งหมด คือรักที่จะเก็บเกี่ยว ทั้งที่ตัวเองไม่เคยหว่านพืชเลย”

“นักเขียนสามารถช่วยเหลือขบวนการทางประวัติศาสตร์ได้ ในฐานะกระบอกเสียง แต่แน่นอน.. นักเขียนไม่สามารถสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาได้”

“ทุกคนที่รู้ประวัติศาสตร์เพียงเล็กน้อย ย่อมรู้ดีว่า.. การเปลี่ยนแปลงสังคมขนานใหญ่ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หากปราศจากภาวะอดอยาก” อืม.. “มาร์กซ” พูดถูกต้องนะจ๊ะ..

และ.. “ประสบการณ์ยกย่องคนที่สามารถทำให้คนส่วนใหญ่มีความสุขได้”!

ครานี้หันมาส่อง“คำคม” คนเสี่ยงชีวิตต่อสู้ จนมี “รัฐสังคมนิยมรัสเซีย” อย่าง “วลาดีมีร์ เลนิน” กันบ้าง..

“ความจริงคือ เสรีภาพเป็นสิ่งที่มีค่ามาก จึงต้องมีการปันส่วนอย่างรอบคอบ”

“เลนิน” สรุปอย่างหนักแน่นว่า “มาร์กซิสต์เป็นผู้ทรงอำนาจ เพราะเป็นความจริง”!

“การปฏิวัติเป็นสงครามที่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างแท้จริง และยิ่งใหญ่ในหลายคนที่รู้จักประวัติศาสตร์รัสเซีย สงครามครั้งนี้ได้รับการประกาศและได้เริ่มขึ้นแล้ว” อืม..ถูกต้อง! เพราะ“ผู้ชนะ” คือ “ผู้เขียนกฎหมาย”! เพราะการเมืองจะใช้สูตร “แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร” ไม่ได้นะโว้ย! “เลนิน” ยังพูดเรื่องของ“นักลัทธิมาร์กซ” ไว้อีกด้วยว่า..

“ในหมู่พวกลัทธิมาร์กซซิสต์ ไม่มีความเป็นเอกฉันท์อย่างสมบูรณ์เป็นความจริง...ความจริงข้อนี้ไม่ได้ชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อน แต่เป็นความแข็งแกร่งและความมีชีวิตชีวา ของระบอบประชาธิปไตยทางสังคมของรัสเซีย”

เออ..จริงดัง “เลนิน” พูดว่ะ! เพราะ “พวกมาร์กซิสต์” มักคิดว่า “กูรู้มากกว่า” คนอื่น! “กู” คือ “ของแท้”! “คนอื่น” เป็น “ของเทียม”!
“พวกมาร์กซ” จึงมักเถียงกันว่า “อั๊ว-มาร์กซจริง” ส่วน “ลื้อ-มาร์กซปลอม”! บางครั้ง “รัฐสังคมนิยม” โกรธกันถึงขั้น “ตัดไมตรีกันเลย”!
“ความคิดเกี่ยวกับลัทธิชาตินิยม ซึ่งกำหนดความจำเป็นในการกระทำของมนุษย์ และปฏิเสธคำพูดที่ไร้สาระของเจตจำนงเสรี จะไม่ยกเลิกสติปัญญาหรือมโนธรรมของมนุษย์ หรือประเมินการกระทำของเขา”
“เลนิน” ได้พูดอีกว่า “มาร์กซตั้งขบวนการทางสังคม เป็นกระบวนการทางธรรมชาติ ภายใต้กฎหมายที่ไม่เพียงแต่เป็นอิสระจากเจตนารมณ์ความตั้งใจ และความมุ่งมั่นของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังเป็นตัวกำหนดเจตนารมณ์ของพวกเขา มโนธรรมและความตั้งใจของพวกเขา” แหม..“มาร์กซ” มองแต่ผลประโยชน์ “กรรมาชีพ” เหนือสิ่งใด!

ส่วน “เลนิน” ก็ไม่ธรรมดา เพราะว่า “ศีลธรรมยังไม่สำคัญเท่ากับผลประโยชน์ของชนชั้นกรรมาชีพ ในการต่อสู้เพื่อบังเกิดสังคมที่ปราศจากชนชั้น และสงครามปฏิวัติเป็นกฎสำคัญสูงสุด” เขายังเน้นย้ำอีกว่า “ไม่มีทฤษฎีการปฏิวัติโดยปราศจากการปฏิบัติด้านการปฏิวัติ”!

“จักรวรรดินิยมเกิดขึ้นเป็นการพัฒนาโดยตรง และความต่อเนื่องของคุณสมบัติพื้นฐานของระบอบทุนนิยม” เพราะ “ทุนกลายเป็นอุปสรรคต่อรูปแบบการผลิต ที่มีความเจริญรุ่งเรืองไปพร้อมๆ กับการคุ้มครอง” และ “รัฐเป็นอาวุธแห่งการปราบปรามของชนชั้นหนึ่งในอีกชั้นหนึ่ง”
“..ยึดความคิดของมาร์กซ แต่ก็มีส่วนสำคัญยิ่งที่ช่วยเสริมต่อ และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงลัทธิมาร์กซไม่น้อย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ”
“เลนิน” ยังมี..“ความเชื่อมั่นหลายประการ เช่น อำนาจของชนชั้นนายทุน ทำให้เกิดความจำเป็นในการปฏิวัติ ศีลธรรมยังไม่สำคัญเท่ากับผลประโยชน์ของชนชั้นกรรมาชีพ ในการต่อสู้เพื่อให้บังเกิดสังคมที่ปราศจากชนชั้น และสงครามปฏิวัติเป็นกฎสำคัญสูงสุด”

โดย “เลนิน” ได้นำเอาความคิดของมาร์กซ มาประยุกต์ใช้กับการเมืองการปกครองของรัสเซียเป็นหลัก ทั้งนี้เพราะ “เลนิน” มีประสบการณ์ในการทำงานพรรค

“ลัทธิเลนินนิสต์” จึงเป็นดังนี้ “ส่วนสำคัญความคิดจึงเกี่ยวข้องกับการจัดองค์กรพรรค ปรากฏอยู่ในหนังสือ What is to be Done? หนังสือเล่มนี้ทำให้แนวคิด “เลนิน” ปรารถนาจะให้มีแกนนำในการดำเนินงานการเมือง ประกอบด้วยบุคคลกลุ่มเล็กที่ไว้ใจได้ มีประสบการณ์ มีความทรหดอดทน และมีผู้ช่วยเหลืออยู่ตามเขตที่สำคัญต่างๆ”

โดย “เลนิน” เน้นว่า “การปลูกฝังอุดมการณ์ จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการของ “ภายนอก” คือ อย่างน้อยก็มาจากชนชั้นนำของพรรคสู่กรรมกร มิใช่เกิดขึ้นในหมู่กรรมกรเอง”

คงต้องจบคำคม “มาร์กซ” และ “เลนิน” เพียงเท่านี้.. หากอยากรู้เพิ่มเติม.. ขอเชิญชวนให้หาอ่านตามอัธยาศัยนะครับ..


กำลังโหลดความคิดเห็น