ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
วารสารทางการแพทย์ของอังกฤษ BMJ Open วิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis)จากผลการศึกษาวิจัย 7 ชิ้นเมื่อปี 2566 พบว่าผู้ที่ฉีดวัคซีน mRNA เพียง 1 เข็มขึ้นไปมีความเสี่ยงโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเพิ่มขึ้น 2.05 เท่าตัวเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน mRNA[1]
งานวิจัยข้างต้นแสดงให้เห็นว่าโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญถึง 2.05 เท่าตัวจากการฉีดวัคซีน mRNA นั้น ย่อมส่งผลต่อความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพหรือการเสียชีวิตโดยที่มีคนจำนวนมากไม่รู้ตัว และอาจจะเสียชีวิตฉับพลันทันที หรือกลายเป็นผู้พิการก็ได้
โดยในเวลาต่อมา ได้มีการเปิดเผยในวารสารทางการแพทย์ในด้านภาวะหัวใจล้มเหลวชื่อว่า ESC Heart Failure ในปี 2567 ที่ได้มีการชันสูตรศพ 28 คนกรณีการเสียชีวิตของการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบโดยเฉพาะถึง 26 คน และอีก 2 คนที่เป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเป็นผลจากความเสียหายจากหลายระบบในร่างกาย ทำให้เห็นว่าวัคซีนโควิด-19 มีผลทำให้เกิดการเสียชีวิตด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ถูกพิสูจน์ด้วยการชันสูตรจากศพจริง[2]
ข้อสำคัญอายุค่าเฉลี่ยของการตรวจชันสูตรศพ กลุ่มคนที่เสียชีวิตด้วยเพราะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบอันเนื่องจากวัคซีนมีอายุเฉลี่ยเพียงแค่ 44.4 ปีเท่านั้น จึงเป็นการสูญเสียที่ไม่ใช่ผู้สูงวัย แต่อาจเป็นใครในกลุ่มอายุที่ยังดูแข็งแรงปกติได้ด้วย[2]
คนที่เจ็บป่วยจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบไม่มีขีดจำกัดว่าจะเป็นชนชั้นใด อยู่ที่ว่าจะมีความพยายามปกปิดหรือบิดเบือนข้อมูลเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของวัคซีนหรือไม่เท่านั้น
ยิ่งกว่านั้นยังมีการรายงานโดยนักวิชาการอิสระในประเทศอิตาลีและหัวหน้าที่ปรึกษาทางการแพทย์ของมูลนิธิ Truth For Health Foundation มลรัฐอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมกันทำหนังสือรายงานถึงบรรณาธิการและได้รับการตีพิมพ์ในวารสารเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันวิทยาของกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียน Scandinavian journal of immunology เพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่สำคัญด้วยว่า ในบรรดากลุ่มคนที่มีความแข็งแรง คือ นักกีฬาอาชีพและกึ่งอาชีพในยุโรปที่อายุต่ำกว่า 35 ปี เปรียบเทียบกับช่วงเวลาก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 มีอัตราการเสียชีวิตต่อปีเพิ่มสูงขึ้น 10 เท่าตัวหลังการฉีดวัคซีน[3]
ปัญหาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนั้นไม่ใช่เรื่องที่มีเพียงงานวิจัยเท่านั้น แต่ยังอยู่ในเอกสารกำกับยาของวัคซีน ที่ประชาชนทั่วไปอาจไม่ได้อ่าน หรือไม่มีใครอ่านให้ฟัง ดังตัวอย่างเอกสารกำกับยาวัคซีน mRNA ของ บริษัทไฟเซอร์ สำหรับช่วงอายุ 5-11 ปี และ 12 ปีขึ้นไปซึ่งเขียนแปลเป็นภาษาไทยเอาไว้ในหน้าที่ 4 ความตอนหนึ่งยอมรับว่า
“กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
พบความเสี่ยงของการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเพิ่มขึ้นหลังจากการฉีด โคเมอร์เนตี (ชื่อเครื่องหมายการค้าวัคซีน mRNA) ภาวะเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากการฉีดวัคซีนและส่วนใหญ่เกิดอาการภายใน14 วันพบได้บ่อยโดยเฉพาะภายหลังการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 และพบได้บ่อยในเพศชายวัยหนุ่ม….
…บุคลากรทางการแพทย์ควรระมัดระวังและสังเกตอาการและอาการแสดงของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ผู้ที่รับการฉีดวัคซีน (รวมถึงผู้ปกครองหรือผู้ดูแล) ควรได้รับคําอธิบายถึงวิธีการสังเกต อาการตนเองเพื่อสามารถแจ้งแพทย์ได้ทันท่วงทีหากมีอาการที่อาจบ่งชี้ถึงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เช่น การเจ็บหน้าอก (แบบเฉียบพลันและอาการคงอยู่) หายใจสั้นหรือใจสั่นภายหลังจากการ ฉีดวัคซีน
บุคลากรทางการแพทย์ควรดําเนินการตามแนวทางปฏิบัติหรือปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อวินิจฉัยและรักษา ภาวะดังกล่าว“[4]
เพียงแต่ว่าเอกสารกำกับยาของไฟเซอร์อ้างว่าโอกาสจะเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบพบได้น้อยมากคือน้อยกว่า 1 ในหมื่นคน หรือคิดเป็นอัตราเพียงร้อยละ 0.01 เท่านั้น[5]
แต่ความเป็นจริงจะมีน้อยเพียงแค่นี้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะใน “ประเทศไทย”
เพราะงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดยคณะวิจัยที่มาจากความร่วมมือของโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช และนักวิจัยจากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ได้ร่วมทำการศึกษาผลกระทบของวัคซีน mRNA ในกลุ่มเด็กและเยาวชนโรงเรียนมัธยม 2 แห่ง ที่มีอายุระหว่าง 13-18 ปี
โดยงานวิจัยชิ้นนี้สนใจในเรื่องผลกระทบด้านความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และภาวะเนื้อเยื่อหัวใจอักเสบ และตีพิมพ์ในวารสารด้านเวชศาสตร์เขตร้อนและโรคติดเชื้อ Tropical Medicine and Infectious Disease เผยแพร่เมื่อเดือนสิงหาคม 2565
ซึ่งเชื่อว่าคนไทยและผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่มีใครได้อ่าน จริงหรือไม่?
ผลงานการวิจัยชิ้นนี้พบว่า “เด็กและเยาวชนไทย” ที่ฉีดวัคซีน mRNA ที่ติดตามผลจำนวน 301 คน พบอาการทางหัวใจและหลอดเลือดจำนวนร้อยละ 29.24 ซึ่งมีตั้งแต่อัตราการเต้นของหัวใจเร็วเกินปกติ ใจสั่น ไปจนถึงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนสูงมาก
โดยมีการยืนยันว่าเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 1 ราย และยังมีเยาวชนอีก 2 รายตรวจพบข้อสงสัยว่ามีภาวะเนื้อเยื่อหัวใจอักเสบ และยังมีอีก 4 รายที่ตรวจพบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบแบบไม่แสดงอาการ[6]
รวมเฉพาะอาการเกี่ยวกับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เนื้อเยื่อหัวใจอักเสบ และภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบแบบไม่แสดงอาการทั้งสิ้น 7 รายจากเยาวชนทั้งหมด 301 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.32[6]
หมายความว่าผลการวิจัยในเด็กและเยาวชนไทยชิ้นนี้ มีจำนวนผลข้างเคียงมากกว่าเอกสารกำกับยาของบริษัทไฟเซอร์ถึง 232.56 เท่าตัว จริงหรือไม่ !!!?
ผลงานวิจัยในประเทศไทยชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่ายังมีคนที่รักชาติบ้านเมืองและรักประชาชนในการแสวงหาข้อเท็จจริงจากวัคซีน และเป็นผลทำให้บางประเทศหยุดฉีดวัคซีนในเด็กจากผลงานการวิจัยชิ้นนี้ (แต่ประเทศไทยยังฉีดอยู่)
อย่างไรก็ตามนี่คือผลกระทบในวัคซีนที่เกิดขึ้นกับ “เด็กและเยาวชน” แต่ถ้าเป็นกลุ่มที่มีความอ่อนแอกว่านี้ หรือเปราะบางกว่านี้จะส่งผลทำให้เกิดภาวะอันตรายต่อสุขภาพมากกว่านี้หรือไม่?
และทำให้เราต้องตระหนักว่าการอ้างอิงงานวิจัยจากต่างประเทศอย่างเดียวที่นำเสนอโดยบริษัทยาในสภาวะที่ทั่วโลกมีการปกปิดข้อมูลตามโซเชียลมีเดีย หรือปกปิดข้อมูลในสื่อแอพลิเคชั่นต่างๆ ก็อาจจะทำให้เราไม่สามารถประเมินความจริงอย่างถูกต้องได้
และต้องตระหนักด้วยว่างานวิจัยดังกล่าวนี้ได้ศึกษาถึงเพียงแค่ระยะเวลา 14 วัน และจำกัดอยู่เฉพาะการพิจารณาขอบเขตในผลกระทบด้านหัวใจและหลอดเลือดเท่านั้นด้วย ซึ่งหมายความว่าหลังจากนั้นมาจนถึงวันนี้หรือต่อไปในวันข้างหน้า ยังไม่มีใครรู้ว่าผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายในมิติอื่นๆ และในระยะยาว จะมีหรือไม่และอย่างไร? และยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
เพราะในขณะที่เว็บไซต์สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้รายงาน “ผู้ที่ยื่นคำขอ“ ว่าได้รับผลกระทบจากวัคซีนโควิด-19 ถึงสำนักงานหลักประกันสุขภาพระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 23,082 คน
ในจำนวนผู้ยื่นคำร้อง 23,082 คนระบุว่ามีผู้ที่ผ่านเกณฑ์จำนวน 19,328 คน แบ่งเป็นประเภทเสียชีวิต/ทุพพลภาพ 5,483 คน พิการหรือสูญเสียอวัยวะ 815 คน บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง 13,031 คน โดยมีการจ่ายเงินเบื้องต้นไปแล้ว 2,560 ล้านบาท[1]
ในขณะที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกแถลงการณ์ “สวนทาง” เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 อ้างว่าการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนทั้งประเทศจริงๆ แล้ว มีเพียง 5 รายเท่านั้น !!![8]
คำถามคือ ตัวเลขการเสียชีวิตจากวัคซีนของกรมควบคุมโรคที่มีน้อยกว่า การอนุมัติงบประมาณการเสียชีวิตและทุพพลภาพ (เฉพาะที่มายื่นคำขอและผ่านเกณฑ์) ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่างกันถึง 1,096 เท่าตัวได้อย่างไร?
ถ้าไม่ใช่ว่ากรมควบคุมโรคประเมินต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อปกป้องวัคซีนต่างชาติ ก็แปลว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจ่ายเงินโดยทุจริตให้กับผู้เสียชีวิตและทุพพลภาพที่ไม่เกี่ยวกับวัคซีน หรือไม่ อย่างไร?
แล้วถึงวันนี้ประชาชนจะเลือกเชื่อใครดี?
เฉพาะพิจารณาจากตัวเลขการเบิกจ่ายเบื้องต้นของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็อาจจะต่ำกว่าความเป็นจริงด้วย
เนื่องด้วยเพราะคนที่ได้รับผลกระทบของวัคซีน “ส่วนใหญ่” ทั้งที่เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตไม่เคยได้รู้ตัวว่าที่เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตนั้นเป็นผลจากวัคซีน จริงหรือไม่?
แต่ที่ต้องสร้างความตระหนักให้กับสังคมเพราะในวันนี้ผลกระทบของวัคซีนโควิด-19 อาจจะมากกว่าที่พวกเราคิด เพราะความจริงคือ ในขณะนี้มีรายงานผลการศึกษา กรณีศึกษา หรือแม้แต่เป็นงานวิจัยจำนวนมากว่าวัคซีนมีผลข้างเคียงอาจจะเกิดขึ้นได้ในหลายอาการ
ตัวอย่างเช่นสื่อมวลชนอิสระที่ทำหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนได้นำมาเผยแพร่ในเว็บไซต์ DailyClout ด้วยจำนวนรายงานมากถึง 94 ชิ้น โดยได้เปิดเผยการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยอันเป็นผลกระทบจากวัคซีนจำนวนมาก[9]
ในขณะที่เว็บไซต์ในอังกฤษชื่อองค์กร saveusnow ได้รวบรวมงานวิจัยและผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากผลกระทบวัคซีนโควิด-19 ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2565 จากวารสารทางการแพทย์มากถึง 1,011 ชิ้น ซึ่งครอบคลุมถึงภาวะการอุดตันของหลอดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เนื้อเยื่อหัวใจอักเสบ โรคเส้นเลือดตีบ ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ภูมิแพ้รุนแรง การเกิดอัมพาตของใบหน้า การอักเสบเฉียบพลันที่เส้นประสาทส่วนปลาย การเกิดมะเร็ง และการเสียชีวิต[10]
สอดคล้องกับข้อสงสัยที่ว่า เหตุใดหลังฉีดวัคซีนแล้วประชาชนคนไทยกลับเสียชีวิตมากขึ้นในปี 2565 และ 2566 ทั้งๆ ที่โรคโควิด-19 ที่รุนแรงหนักที่สุดและเสียชีวิตมากที่สุดคือในปี 2564 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว
จึงย่อมเกิดคำถามว่าประชาชนคนไทยมีอัตราการเสียชีวิตและเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากผล กระทบของวัคซีนมากน้อยเพียงใด ซึ่งการหาความจริงในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด
สำคัญกว่าการที่ภาครัฐไทยจะไปถกเถียงการนำข่าวเรื่องแท่งย้วยขาวซึ่งเป็นรายงานจากแพทย์ต่างชาติที่เขาตรวจแลปแท่งขาวในหลอดเลือดมาเผยแพร่ ซึ่งรัฐไทยก็ไม่ได้เป็นผู้ตรวจแลปกับเขาด้วย
แต่ถ้าอยากจะทราบความจริงในระดับงานวิจัยในเรื่องภาวะการเกิดลิ่มเลือดจากวัคซีน mRNA จริงหรือไม่ ก็ลองพิจารณาจากงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ในวารทางการแพทย์เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันวิทยาและโรคการอักเสบ Immunity, Inflammation and Disease เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งได้รวบรวบผลการวิจัยอย่างเป็นระบบกว่า 81 ชิ้นสรุปสาระสำคัญผู้ที่ฉีดวัคซีน mRNA มีปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือดหลังการฉีดวัคซีนได้ 17,636 คน ในจำนวนนี้มีการเสียชีวิต 284 คน
โดยในกลุ่มวิจัยข้างต้นนี้การเกิดลิ่มเลือดหรือการอุดตันในหลอดเลือดมากถึงร้อยละ 80.8 พบได้ในวัคซีน mRNA ของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค (BNT162b2) และเกิดภาวะหลอดเลือดตีบหรือแตกร้อยละ 39.9 พบในวัคซีนของโมเดอร์นา (mRNA-1237)[11]
แต่สำหรับประเทศไทยควรจะเริ่มต้นที่ความโปร่งใสในประเทศไทยก่อนดีหรือไม่?
เพราะจนป่านนี้ยังไม่มีรายงานเลยว่าการที่คนไทยเสียชีวิตสูงขึ้นอย่างผิดปกติในปี 2565 และ 2566 มีสัดส่วนของผู้เสียชีวิตที่ฉีดวัคซีนจำนวนเท่าไหร่กันแน่? และฉีดวัคซีนชนิดใดในแต่ละสาเหตุของการเสียชีวิต ยังไม่มีใครออกมารายงานให้ประชาชนได้รับทราบแม้แต่นิดเดียว
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สัญญาที่ประเทศไทยทำเอาไว้กับบริษัทวัคซีน ก็กลับเป็น “สัญญาทาส” ทำให้เป็นความลับ ไม่สามารถได้รับการเปิดเผยได้
ดังปรากฏตัวอย่างของหนังสือที่ นายพงศธร พอกเพิ่มดี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการพัฒนาการสาธารณสุข ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ทำหนังสือตอบกลุ่มแพทย์และจิตอาสาคนไทยพิทักษ์สิทธิ์ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ว่าจะไม่เปิดเผยสัญญาจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัท ไฟเซอร์ จำกัด ความตอนหนึ่งว่า
“ทั้งนี้ เนื่องจากมีข้อกำหนดในสัญญากำหนดให้คู่สัญญาต้องรักษาข้อมูลไว้เป็นความลับอย่างเคร่งครัดและไม่เปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับแก่บุคคลที่สาม
หากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับเนื่องจากคำสั่งของศาล กฎเกณฑ์ คำสั่งของรัฐบาล หรือข้อกำหนดภายใต้กฎหมายใดๆ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ต้องแจ้งไปยังบริษัท ไฟเซอร์ จำกัด โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้บริษัท ไฟเซอร์ จำกัด สามารถขอให้มีคำสั่งคุ้มครองตามสมควรหรือการเยียวยาอื่นๆ
และไม่ว่ากรณีใดๆ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ต้องไม่เปิดเผยข้อตกลงเกี่ยวกับการเงินหรือการชดใช้ค่าเสียหายใดๆ ที่ปรากฏอยู่ในสัญญาโดยไม่ได้รับความยินยอมอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าจากบริษัท ไฟเซอร์ จำกัด เว้นแต่มีการกำหนดโดยคำสั่งศาลหรือคำสั่งทางปกครอง
ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขจึงไม่อาจเปิดเผยสัญญาจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ระหว่างประเทศไทยกับบริษัท ไฟเซอร์ จำกัด ต่อสาธารณชน ตามที่ท่านร้องขอได้“[11]
คำถามมีอยู่ว่านอกจากจะมีการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารในระดับโลกแล้ว แม้แต่สัญญาที่ตกลงกับ “รัฐไทย” กลับไม่สามารถเปิดเผยเพื่อแสดงความโปร่งใสในการตรวจสอบได้ และยังไม่สามารถเปิดเผยการรับผิดชอบของบริษัทต่อความเสียหายต่อประชาชนคนไทยด้วย
คำถามต่อมามีอีกว่าประเทศไทยเราไปลงนามใน “สัญญาทาส” ที่ไม่โปร่งใสเช่นนี้ได้อย่างไร? แล้วเราปล่อยให้เกิดความไม่โปร่งใส ไม่สามารถตรวจสอบได้กับสุขภาพและชีวิตคนไทย ดำรงอยู่ต่อมาจนถึงวันนี้ได้อย่างไร
ไม่อายกันบ้างหรือ?
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขต่างหาก ที่ควรทบทวนนโยบายว่าสมควรแก่เวลาที่จะต้องหยุดรณรงค์ให้ประชาชนฉีดเข็มกระตุ้นวัคซีนโควิด-19 ได้แล้ว เพราะนอกจากความรุนแรงของเชื้อได้ลดความอันตรายลงอย่างมาก และไม่ใช่สถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ยังมีการปกปิดข้อมูลในหลายมิติ ขาดความโปร่งใสในการเข้าถึงข้อมูลเพื่อการตรวจสอบได้ อีกทั้งยังมีผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชนคนไทยที่มีอยู่จริงและไม่มีใครมารับผิดชอบด้วย จริงหรือไม่?
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต
อ้างอิง
[1] Abdallah Alami,Risk of myocarditis and pericarditis in mRNA COVID-19-vaccinated and unvaccinated populations: a systematic review and meta-analysis, BMJ Open 2023
https://bmjopen.bmj.com/content/bmjopen/13/6/e065687.full.pdf
[2] Nicolas Hulscher, et al., Autopsy findings in cases of fatal COVID-19 vaccine- induced myocarditis., ESC HEART FAILURE, 2024
https://onlinelibrary.wiley.com/doi/pdfdirect/10.1002/ehf2.14680?download=true&campaigns=%5B%7B%22position%22%3A%22ereader-last-page%22%2C%22uri%22%3A%22uri%3A707b1a3c-73e6-4188-b21f-2b05b70307d8%22%7D%2C%7B%22position%22%3A%22ereader-first-page%22%2C%22uri%22%3A%22uri%3A7691ea89-90f5-4086-9241-486673caed61%22%7D%5D
[3] Panagis Polykretis, Peter A. McCullough, Rational harm-benefit assessments by age group are required for continued COVID-19 Vaccination, Scandinavian journal of immunology, First published: 21 December 2022 https://doi.org/10.1111/sji.13242
[4] เอกสารกำกับยาภาษาไทย Pfizer, โคเมอร์เนตี (COMIRNATYTM), สำหรับอายุ 12 ปีขึ้นไป และ สำหรับอายุ 5-11 ปี, หน้า 4
[5] เรื่องเดียวกัน, หน้า 10
[6] Suyanee Mansanguan, et al., Cardiovascular Manifestation of the BNT162b2 mRNA COVID-19 Vaccine in Adolescents., Tropical Medicine and Infectious Disease, Published: 19 August 2022, 7(8), 196; https://doi.org/10.3390/tropicalmed7080196
[7] เว็บไซต์สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, รายงานผู้ได้รับสิทธิเยียวยาจากการได้รับผลกระทบจากวัคซีนระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567
https://subsidy.nhso.go.th/subsidy/?_trms=9e0133efad1b0b70.1641959148848&fbclid=IwAR1dZXMGOmb4imZdlpjd700r4gHLNmPSLVu_by_me1emYmqpLFqoVMn8Gow#/dashboard
[8] กรมควบคุมโรค, ชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องผลกระทบของวัคซีนโควิด 19 และข้อมูลการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดภายหลังการได้รับวัคซีน, เว็บไซต์สถาบันวัคซีนแห่งชาติ, 17 มกราคม 2567
http://nvi.go.th/2024/01/17/prnews_2567_01_ddc_covid-19vaccine/
[9] Dailyclout, Investigation. 2022-2024
https://dailyclout.io/pfizer-and-moderna-reports/
[10] saveusnow, Covid Vaccine Scientific Proof Lethal, 5 January 2022
https://www.saveusnow.org.uk/covid-vaccine-scientific-proof-lethal/
[11] Farah Yasmin, et al., Adverse events following COVID‐19 mRNA vaccines:
A systematic review of cardiovascular complication,thrombosis, and thrombocytopenia, Immunity, Inflammation and Disease, Accepted: 24 February 2023
https://onlinelibrary.wiley.com/doi/epdf/10.1002/iid3.807
[12] หนังสือจากนายพงศธร พอกเพิ่มดี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ถึง นางรุ่งธรรม มีโลเจวิค ตัวแทนกลุ่มแพทย์และจิตอาสาคนไทยพิทักษ์สิทธิ์ เรื่อง ขอให้เปิดเผยสัญญาจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ระหว่างรัฐบาลกับบริษัท ไฟเซอร์ จำกัด เลขที่ สธ.0402.7/516 ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567