หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
กรณีของทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน ทะลุวัง ที่ขับรถไล่ตามขบวนเสด็จนั้น เจตนาชัดแจ้งว่าต้องการก่อกวนและท้าทายหากมองจากพฤติกรรมในอดีตของตะวันที่มักจะไปก่อกวนตามขบวนเสด็จในหลายครั้ง รวมถึงเคยทำโพลว่า “คุณคิดว่าขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่”
แต่เมื่อใครดูคลิปบันทึกภาพแล้วจะเห็นว่า ขบวนเสด็จใช้เวลาไม่นานและไม่ได้ปิดถนนเพียงแต่มีรถตำรวจนำหัวขบวนและท้ายขบวน ทำให้เห็นว่าเจตนาของตะวันและเพื่อนที่นั่งรถมาด้วยกันนั้นต้องการจะหาเรื่องและก่อกวน หากการกระทำของตะวันเช่นนั้นเกิดขึ้นกับการอารักขาผู้นำในต่างประเทศตะวันจะเจอมาตรการตอบโต้ที่รุนแรงกว่านั้นแน่นอน ไม่เพียงเท่าที่เราเห็นคือ ตำรวจเพียงแต่สกัดรถให้หยุดแล้วขับไปสอบถามว่า กระทำเช่นนั้นด้วยเจตนาอะไร
แต่เมื่อกระแสของสังคมตีกลับ คนที่เคยสนับสนุนหลายคนพากันชิ่งหนีเพราะไม่อาจช่วยแบกรับพฤติกรรมเช่นนั้นของตะวันได้ เธอก็เลยพยายามเฉไฉว่าไม่มีเจตนา
เหมือนที่เธอออกมาโพสต์เฟซบุ๊กแก้ตัวว่า เราไม่ได้รู้ว่าจะมีขบวนเสด็จ และไม่ได้มีความตั้งใจจะไปป่วน รวมถึงไม่ได้ขวางขบวนตามที่เป็นข่าว เพราะหากใครดูคลิปจริงๆ ก็จะรู้ว่าเราไม่ได้ขวางขบวนหรือปาดหน้าขบวนตามที่สื่อหลายช่องบอก แต่เพียงขับรถเร็วและไม่ระมัดระวังจริงๆ เพียงเพื่อจะรีบไปให้ถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิตามที่เราจะไปทำธุระ”
“เราทบทวนเหตุการณ์นั้น และคิดได้ว่าการขับรถเร็วและไม่ระมัดระวังแบบนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ จึงได้ขอโทษในส่วนนี้ไป และจะนำไปปรับปรุงเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก”
แต่พฤติกรรมในอดีตของตะวันนั้นบ่งบอกว่า เธอมีเจตนาเช่นไร ตั้งแต่การที่เธอเคยทำโพลแล้วนอกจากนั้นยังเคยเข้าไปก่อกวนเสด็จหลายครั้ง เช่น ในวันที่ 5 มีนาคม 2565 ตะวันไปรอรับเสด็จที่ถนนราชดำเนินนอกและไลฟ์เฟซบุ๊กพร้อมตั้งคำถามระหว่างไลฟ์ทำนองว่า เหตุใดม็อบชาวนาที่มาปักหลักเรียกร้องประเด็นปัญหาของตัวเองกลับถูก “ขอ” ให้ออกจากพื้นที่ช่วงที่ขบวนเสด็จจะเคลื่อนผ่าน นอกจากนั้นเธอและสมาชิกกลุ่มทะลุวังยังติดตามไปก่อกวนขบวนเสด็จอีกหลายครั้ง แต่ถูกตำรวจติดตามตัวอย่างใกล้ชิดและขัดขวางไม่ให้เธอเข้าใกล้ขบวนเสด็จ
ความจริงแล้วชื่อของ “ทะลุวัง” นั้นก็มีเจตนาที่ชัดแจ้งอยู่แล้วว่า พวกเขาต้องการท้าทายการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ทะลุ แปลว่า เจาะ,ทำให้เป็นรู,ทะลุทะลวง วัง แปลว่า ที่ประทับของพระมหากษัตริย์
กลุ่มนี้นอกจากตะวันแล้วยังมีคนอื่นที่เป็นสมาชิกเช่น ใบปอ -ณัฐนิชดวงมุสิทธิ์ สายน้ำ-นพสินธุ์ ตรียาภิวัฒน์ ที่เป็นสมาชิกกลุ่มก่อตั้งต่อมามีคนเข้าร่วมอีกหลายคน เช่น เมนู-สุพิชฌาย์ ชัยล้อม พลอย-เบญจมาภรณ์ นิวาส ซึ่งต่อมาสองคนนี้ลี้ภัยไปอยู่ประเทศแคนาดา รวมถึงแบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม หยก-ธนลภย์ เยาวชนวัย 16 ปี ฯลฯ
ต่อมากลุ่มนี้มีความแตกแยกกันด้วยการกล่าวหากันว่ามีการเอาเปรียบ แสวงหาผลประโยชน์ สั่งการ บังคับ กดดัน ตำหนิตัดสินต่างๆ เพื่อลดทอนคุณค่าในตัวของคนอื่นๆ และเพิกเฉยต่อความรุนแรงทางเพศ ทำให้เมนู และพลอยขอแยกตัวจากกลุ่ม และผลประโยชน์เรื่องเงินทองโดยมีการนำชื่อไปขอทุนต่อ Young Southeast Asian Leaders Initiative ปัญหาทั้งหมดนี้พุ่งเป้าไปที่บุ้งซึ่งมีอาวุโสที่สุดในกลุ่มนี้
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ความคิดเชิงลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของคนเหล่านี้มาจากไหน พวกเธอก็คือ ผลิตผลของคนอย่างสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ปิยบุตร แสงกนกกุล ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และการติดตามสื่อต่างๆ ที่ผลิตโดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ที่มีธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจเป็นนายทุน
ต้องบอกว่ากลุ่มนี้มีแนวร่วมสำคัญก็คือพรรคก้าวไกลที่เมื่อสมาชิกในกลุ่มถูกดำเนินคดีก็จะมีสมาชิกของพรรคก้าวไกลไปช่วยประกันตัว และมีศูนย์ทนายสิทธิมนุษยชนที่เป็นเครือข่ายเดียวกันคอยว่าความให้ ตอนที่ตะวัน-แบม อดอาหารประท้วงในคุกนั้นก็มี จดหมายของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลขณะนั้นเขียนไปให้กำลังใจและชื่นชมการต่อสู้ของทั้งสอง
จดหมายของพิธามีข้อความตอนหนึ่งว่า “ผมขอคารวะหัวจิตหัวใจความกล้าหาญของทั้งคู่มาก ผมเองละอายใจ ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า สังคมได้ลืมตาตื่นขึ้น เห็นถึงความบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรมไม่ใช่เพราะผม เพราะพรรคก้าวไกล พวกเราทำน้อยเกินไป พวกคุณคือคนผลักดันสังคมมาถึงจุดนี้”
“ภารกิจในส่วนของคุณสำเร็จแล้ว จากนี้เป็นหน้าที่ของพวกเราและพรรคก้าวไกล. เราจะทำภารกิจนี้ให้สำเร็จด้วยกัน และผมต้องการให้คุณอยู่ร่วมฉลองชัยชนะ ของประชาชนร่วมกับเราทุกคน”
จากจดหมายของพิธาถึงตะวันและแบมก็ชัดเจนแล้วว่า พวกเขามีอุดมการณ์เดียวกัน ชัยชนะที่กลุ่มทะลุวังและพิธาต้องการร่วมกันนั้นคืออะไร สังคมย่อมเข้าใจไม่ยาก
ดังนั้นกลุ่มทะลุวังจึงเป็นขบวนการเดียวกันกับพรรคก้าวไกลที่สนับสนุนการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และยกเลิกมาตรา 112 และเขียนขึ้นมาใหม่ให้ความคุ้มครองพระมหากษัตริย์เหมือนกับบุคคลธรรมดา และต้องให้สำนักพระราชวังไปร้องทุกข์กล่าวทาเอาเอง
ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญชี้แล้วว่า การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองคือพิธาและพรรคก้าวไกลเสนอ “กฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 เพื่อลดสถานะของสถาบันกษัตริย์ เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้นโยบายทางการเมือง โดยนำสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาเพื่อหวังผลคะแนนเสียง และประโยชน์ในการชนะการเลือกตั้ง มุ่งหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน ทำให้สถาบันกษัตริย์ต้องเข้าไปเป็นฝักฝ่าย ต่อสู้ แข่งขัน รณรงค์ทางการเมือง อันอาจจะนำมาซึ่งการโจมตีติเตียน โดยไม่คำนึงถึงหลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งมีหลักสำคัญว่า พระมหากษัตริย์ต้องดำรงฐานะอยู่เหนือการเมืองและความเป็นกลางทางการเมือง...”
“การที่ผู้ถูกร้องทั้งสอง เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอาญามาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้งดังกล่าว มีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง นำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด”
ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่า กลุ่มทะลุวังซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพรรคก้าวไกลในการต่อสู้คดีตามมาตรา 112 กับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถึงพฤติกรรมของพรรคก้าวไกลจึงเป็นขบวนการเดียวกัน รวมทั้งพรรคก้าวไกลยังมีแนวคิดที่จะผลักดันให้นิรโทษกรรมความผิดตามมาตรา 112 ให้กับบุคคลเหล่านี้ด้วย
เช่นเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยกลุ่มผู้ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ถูกร้อง 1 (อานนท์ นำภา) ผู้ถูกร้องที่ 2 (ภาณุพงศ์ จาดนอก) และผู้ถูกร้องที่ 3 (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) ว่า “การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องที่ 1, 2 และ 3 เป็นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่สุจริต เป็นการละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง”
คนกลุ่มนี้ก็ชัดแจ้งว่า เป็นขบวนการเดียวกับพรรคก้าวไกลมีการช่วยเหลือและเกื้อหนุนทั้งในการต่อสู้ การออกมาชุมนุม และการช่วยเหลือในการประกันตัว จากพฤติกรรมที่ชัดแจ้งเหล่านี้จึงอนุมานได้ว่า พรรคก้าวไกลและคนกลุ่มนี้มีเจตนาอย่างไรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพรักของคนไทยจำนวนมาก ซึ่งชัดเจนตามที่ศาลรัฐธรรมนูญกล่าวว่า พวกเขาต้องการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย มีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่งนั่นเอง
ไม่แปลกหรอกที่เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงจุดยืนพิธา ต่อการกระทำของตะวัน ว่าเป็นอย่างไร พิธา จึงตอบว่า กังวลใจแต่เข้าใจ
ถึงวันนี้ชัดเจนแล้วว่า คนกลุ่มไหนที่ดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาเป็นเงื่อนไขทางการเมือง และสนับสนุนเรียกร้องให้มีการลดทอนบทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น ห้ามมีพระราชดำรัสกับประชาชน ห้ามมีโครงการพระราชดำริ ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าผู้ใดจะฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ ยกเลิกมาตรา 112 ฯลฯซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องการแยกพระมหากษัตริย์ออกจากประชาชนและทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีความอ่อนแอและกลายเป็นเพียงสัญลักษณ์นั่นเอง
ทั้งกิจกรรมธรรมศาสตร์จะไม่ทน มาถึงพรรคก้าวไกลที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ชัดถึงพฤติกรรมที่ต้องการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์จนถึงพฤติกรรมของกลุ่มทะลุวังก็ต้องนับเป็นขบวนการเดียวกันทั้งสิ้น
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan