xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องของ “ปรัชญาตะวันตก” (ตอนสามสิบสอง) “เลนิน” รัฐสังคมนิยม“ มาร์กซ”?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เลนิน (คนที่นั่งตรงกลาง) กับสมาชิกคนอื่น ๆ ของสันนิบาตการต่อสู้เพื่อการปลดปล่อยชนชั้นแรงงาน ค.ศ. 1897 (ภาพ : วิกิพีเดีย)
“สอดแนมการเมือง”
“ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”

 “เลนิน” นำ “ชาวคอมมิวนิสต์” มุ่งสร้าง “รัฐสังคมนิยมรัสเซีย” ให้ “ฝันมาร์กซ” เป็นจริง?!

การเมืองทุกระบอบจะสำเร็จได้นั้น มิได้เดินบนทาง “โรยด้วยกลีบกุหลาบ” เพราะทุกก้าวย่างบนถนนแห่งการเปลี่ยนแปลง ต้องประสบทุกข์ยากเข็ญกับ “ความรับรู้-ความชาญฉลาด” ต้องมี “การยืนหยัด-การเสียสละ” จากการทำงานอย่างหนักของ “ผู้นำที่ดี” และ “ผู้ตามที่ดี” รวมทั้ง “มวลมหาชน” ในแต่ละชาติ ก็ต้อง “ดี” ด้วย

“ผู้นำ-วลาดีมีร์ เลนิน” ได้ผ่านการต่อสู้การ “ปฏิวัติรัสเซีย” ด้วยวิธี “รุก-รับ-ถอย” กว่าจะประสบชัยชนะ “ชาวพรรคบอลเชวิค” ต้องเสียสละชีวิตไปมากมาย..

ค.ศ.1893 “เลนิน” ย้ายไปที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เขาได้ทำงานเป็นเนติบัณฑิต ก่อนก้าวสู่ตำแหน่งอาวุโสในกลุ่มลัทธิมาร์กซ ที่เรียกกันว่า “พรรคสังคมประชาธิปไตย” โดยได้สนับสนุนการก่อตั้งกลุ่มปฏิวัติ ในศูนย์กลางอุตสาหกรรมของรัสเซีย

ปลายปี 1897 “เลนิน” เป็นผู้นำกลุ่มคนงานลัทธิมาร์กซ และต้องคอยหลบสายลับตำรวจด้วย “เลนิน” เริ่มมีอารมณ์โรแมนติกกับ “นาเดีย ครุปสกายา” ครูโรงเรียนลัทธิมาร์กซ ห้วงนั้น “เลนิน” ได้เขียนบทความการเมือง วิพากษ์นักสังคมนิยมเกษตรกรรมนารอดนิค ว่า “เพื่อนของประชาชน”คืออะไร? อีกทั้งบอกเล่าว่า พวกเขาต่อสู้กับสังคมประชาธิปไตยอย่างไร มีการพิมพ์อย่างผิดกฎหมายประมาณ 200 เล่มในปี 1894

ต่อมา “เลนิน” ได้เดินทางไป “สวิตเซอร์แลนด์” ได้พบกับ “พอล ลาฟาร์ก” ลูกเขยของ “มาร์กซ” เพื่อค้นคว้าเกี่ยวกับ “คอมมูนปารีส” ซึ่ง “เลนิน” ถือเป็นต้นแบบยุคแรกของรัฐบาลชนชั้นกรรมาชีพ จากนั้น “เลนิน” เดินทางไปเบอร์ลินด้วยทุนจาก “แม่” โดย “เลนิน” ได้ศึกษาที่“หอสมุดเบอร์ลิน”นานหกสัปดาห์ ที่นั่นเขาได้พบกับ “วิลเฮล์ม ลีบเนคท์” นักลัทธิมาร์กซ
เมื่อกลับรัสเซียอีกครั้ง “เลนิน” นำสิ่งพิมพ์ปฏิวัติผิดกฎหมายมากมายมาด้วย เขาได้เดินทางไปยังเมืองต่างๆ เพื่อแจกวรรณกรรมให้คนงานที่ประท้วง และร่วมทำเอกสารข่าว “ราโบซีเดโล” (สาเหตุแรงงาน) จน “เลนิน” เป็นหนึ่งในนักเคลื่อนไหว 40 คน ที่ถูกจับกุมในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ในข้อหาปลุกปั่นประชาชน

“เลนิน” ปฏิเสธการประกันตัว กับข้อกล่าวหาทั้งหมด เขาถูกจำคุกหนึ่งปีก่อนศาลพิพากษา โดย “เลนิน” ใช้ช่วงนี้คิดทฤษฎีและงานเขียน เขาตั้งข้อสังเกตการผงาดขึ้นของระบอบทุนนิยมอุตสาหกรรมรัสเซีย ที่ส่งผลให้ให้ชาวนาจำนวนมาก ต้องย้ายไปยังเมืองต่างๆ ซึ่งพวกเขาได้ก่อตั้งชนชั้นกรรมาชีพขึ้น จากมุมมองของนักลัทธิมาร์กซ

โดย “เลนิน” ได้แย้งว่า.. ชนชั้นกรรมาชีพรัสเซีย จะพัฒนา “ความสำนึกเรื่องชนชั้น” ซึ่งจะนำพวกเขาไปสู่การโค่นระบอบซาร์ “อภิชนาธิปไตย” และกระฎุมพี และจะสถาปนารัฐชนชั้นกรรมาชีพ เพื่อเคลื่อนสู่ระบอบสังคมนิยม

เดือนกุมภาพันธ์ 1897 “เลนิน” ถูกเนรเทศไปอยู่ไซบีเรีย 3 ปี โดยไม่มีการพิจารณาคดีความใดๆ เขาได้พบปะกับพรรคสังคมประชาธิปไตย ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น “สันนิบาตการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชนชั้นแรงงาน”

โชคดีที่ “เลนิน” เป็นภัยคุกคามรัฐบาลแค่เล็กน้อย แม้เขาจะถูกตำรวจจับตาติดตาม แต่ยังติดต่อพูดคุยกับนักปฏิวัติได้ หลายคนได้มาเยี่ยมเขา โดย “เลนิน” ยังเดินทางไปว่ายน้ำ และล่าเป็ดกับนกปากซ่อมได้ ฯลฯ

เดือนสิงหาคม 1896 “นาเดีย” ถูกจับกุมฐานจัดการนัดหยุดงาน “นาเดีย” ถูกเนรเทศไปยังชูเชียนสโคเย ที่นั่นเธอได้พบกับ “เลนิน” และได้แต่งงานกันในวันที่ 10 กรกฎาคม 1898 ทั้งคู่ใช้ชีวิตครอบครัวที่ชูเชียนสโคเย กับ “เยลีซาเวตา วาซีลเยฟนา” แม่ของ “นาเดีย”

ห้วงนี้ “เลนิน” กับ “นาเดีย” ช่วยกันแปลวรรณกรรมสังคมนิยมอังกฤษเป็นภาษารัสเซีย นอกจากงานแปล “เลนิน” ยังเขียนหนังสือประท้วงในนามพรรคสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย เพื่อวิพากษ์วิจารณ์“นักลัทธิแก้ลัทธิมาร์กซ”ชาวเยอรมัน เช่น “เอดูอาร์ต เบิร์นสไตน์” ผู้สนับสนุนเส้นทางการเลือกตั้งที่สันติไปสู่สังคมนิยม ฯลฯ

นอกจากนี้ “เลนิน” ยังเขียนเรื่อง “พัฒนาการของระบบทุนนิยมในรัสเซีย” เสร็จในปี 1899 ถือเป็นหนังสือเนื้อหายาวที่สุดของ “เลนิน”จนถึงปัจจุบัน ได้วิพากษ์วิจารณ์กลุ่มเกษตรกรรม-สังคมนิยม และสนับสนุนการวิเคราะห์แบบลัทธิมาร์กซ เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจของรัสเซีย หนังสือถูกจัดพิมพ์โดย “เลนิน” ภายใต้นามแฝง “วลาดีมีร์ อีนิน” ทว่า.. เมื่อตีพิมพ์แล้ว กลับได้รับคำวิจารณ์ที่แย่เป็นส่วนใหญ่!!

ครานี้มาดูชีวิตลุ่มๆ ดอนๆ ของ “นักปฏิวัติ” ระดับ “ผู้นำพรรคบอลเชวิค” อย่า ง“เลนิน” เมื่อครั้งอยู่ที่ “มิวนิก-ลอนดอน-เจนีวา” มาดูซิว่า เขาต้องเสี่ยงชีวิตมากน้อยแค่ไหน..

ช่วง “เลนิน” ถูกเนรเทศในต้นปี 1900 เขาเริ่มระดมทุนทำหนังสือพิมพ์ “อีสครา” ซึ่งเป็นองค์กรใหม่ของพรรคลัทธิมาร์กซรัสเซีย ซึ่งปัจจุบันเรียกตัวเองว่า “พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย” จากนั้น..“เลนิน” ก็เดินทางออกจากรัสเซียไปยุโรปตะวันตก เริ่มด้วย “สวิตเซอร์แลนด์”

ที่นั่น..“เลนิน” ได้พบกับนักลัทธิมาร์กซรัสเซียกับคนอื่นๆ และได้ประชุมที่ “คอร์เชียร์” โดยพวกเขาตกลงจะเปิดตัวรายงานฉบับนี้ที่มิวนิก ที่ซึ่ง “เลนิน” ย้ายมาตั้งถิ่นฐานในช่วงกันยายน ด้วยการสนับสนุนจากนักลัทธิมาร์กซที่มีชื่อเสียงชาวยุโรป โดยมีการลักลอบนำหนังสือพิมพ์ “อีสครา” เข้าไปในรัสเซีย จนกลายเป็นสิ่งพิมพ์ใต้ดิน ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของประเทศในรอบ 50 ปี!

เขาใช้นามแฝงว่า “อีนิน” เป็นครั้งแรกในเดือนธันวาคม 1901 เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ “อีสครา” คาดกันว่า นามแฝงอาจมีที่มาจาก “แม่น้ำเลนา” ในไซบีเรีย

อีกนามแฝงหนึ่งที่เขาใช้ในจุลสาร “จะทำอะไรดี?” ในปี 1902 คือ “เอ็น. เลนิน” อันเป็นสิ่งพิมพ์ทรงอิทธิพลที่สุดของเขาจวบจนปัจจุบัน ซึ่งได้สรุปความคิดของ “เลนิน” เกี่ยวกับความจำเป็นที่ “พรรคแนวหน้านิยม” จะนำพาชนชั้นกรรมาชีพเข้าสู่การปฏิวัติ

“นาเดีย” ได้เข้าร่วมกับ “เลนิน” ในมิวนิก และเป็นเลขานุการของเขาด้วย พวกเขายังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไป ดังที่ “เลนิน” ได้เขียนถึง “อีสครา” และร่างนโยบายพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตย โจมตีผู้เห็นต่างทางอุดมการณ์กับนักวิจารณ์ภายนอก โดยเฉพาะ “พรรคสังคมนิยมปฏิวัติ” ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรรมสังคมนิยมนารอดนิค ซึ่งก่อตั้งในช่วงปี 1901

แม้จะยังคงเป็นนักลัทธิมาร์กซ แต่ “เลนิน” ยอมรับมุมมองของนารอดนิค เกี่ยวกับอำนาจการปฏิวัติของชาวนารัสเซีย ดังนั้นในปี 1903 “เลนิน” จึงเขียนจุลสาร “คนจนในชนบท” เพื่อหลบเลี่ยงตำรวจบาวาเรีย ในเดือนเมษายน 1902 “เลนิน” ย้ายไป “ลอนดอน” พร้อมกับ “อีสครา”

ห้วงนี้ “เลนิน” ได้ล้มป่วยด้วยโรค “ไฟลามทุ่ง” จึงไม่สามารถรับบทบาทผู้นำในคณะบรรณาธิการ “อีสครา” ระหว่างที่ “เลนิน” ไม่อยู่ในคณะบรรณาธิการ “อีสครา” ได้ย้ายฐานปฏิบัติการไปประจำอยู่ที่ “เจนีวา” ในสวิตเซอร์แลนด์

ในการประชุมสมัชชา “พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตย” ครั้งที่สอง ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงลอนดอนในเดือนกรกฎาคม 1903 ได้เกิดความแตกแยกระหว่าง ผู้สนับสนุน “เลนิน” กับ “ยูลี มาร์ตอฟ” มีการเสนอให้สมาชิกพรรคต้องแสดงออกอย่างอิสระจากผู้นำพรรค ซึ่ง “เลนิน” ไม่เห็นด้วย โดยเขาเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง พร้อมกับการควบคุมพรรคโดยสมบูรณ์ โดย “กลุ่มคนส่วนใหญ่ (บอลเชวิค ในภาษารัสเซีย)” เห็นด้วยกับ “เลนิน” ส่วน “กลุ่มคนส่วนน้อย (เมนเชวิค ในภาษารัสเซีย)” เห็นด้วยกับ “มาร์ตอฟ”

การโต้เถียงกันในห้องประชุม ระหว่าง “เมนเชวิค” นำโดย “มาร์ตอฟ” กับ “บอลเชวิค” ซึ่งนำโดย“เลนิน”

“มาร์ตอฟ” ได้กล่าวหาว่า “เลนิน” ใช้อำนาจเผด็จการ และอัตตาธิปไตยต่อ“เมนเชวิค”

ด้วยความโกรธแค้น “เลนิน” จึงได้ลาออกจาก“ อีสครา” และได้ตีพิมพ์บทความ “หนึ่งก้าวไปข้างหน้าสองก้าวถอยหลัง” ต่อต้าน “เมนเชวิค”!

ความขัดแย้งครั้งนี้ทำให้ “เลนิน” เครียดจนป่วย เขาต้องเดินทางไปพักฟื้นร่างกายที่สวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างนั้นฝ่าย “บอลเชวิค”แข็งแกร่งมากขึ้น จนฤดูใบไม้ผลิปี 1905 คณะกรรมการกลาง “พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตย” ทั้งหมดคือ “บอลเชวิค” ในเดือนธันวาคมพวกเขาก็ได้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ “วเปียริออด”

 เฮ้อ..! “เลนิน” เสี่ยงชีวิต ในการเร่งสร้าง “รัฐสังคมนิยมรัสเซีย” ให้เป็นจริง... เพื่อ “มาร์กซ”!!!



กำลังโหลดความคิดเห็น