ตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศสิ่งที่ถูกพูดถึงมากก็คือ soft power ถึงกับรัฐบาลจะผลักดันให้มีกฎหมายขึ้นมาโดยเฉพาะการผลักดัน soft power ของไทยให้เป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติเป็นเรื่องดีนะครับ แต่มีคำถามว่ามันอยู่ในมือผิดคนหรือเปล่า เพราะดูเหมือนว่าวันนี้ soft power เป็นเพียงเครื่องมือไต่บันไดการเมืองของอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร เท่านั้นเอง
อุ๊งอิ๊งก่อนจะถูกอุ้มขึ้นมานั่งตำแหน่งหัวหน้าพรรค เธอไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำงานอะไรทั้งภาครัฐและเอกชนจนเป็นที่ประจักษ์มาก่อน นอกจากเป็นคุณหนูที่เกิดบนกองเงินกองทองที่พ่อเธอหามาโดยชอบและมิชอบ ดังนั้นการที่เธอเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศนี้ จึงจำเป็นต้องสร้างโปรไฟล์เพื่อสั่งสมประสบการณ์เพื่อให้เห็นว่าเธอมีความสามารถ
มีคนแทนคำว่า soft power เป็นภาษาไทยว่า อำนาจนุ่ม อำนาจละมุน อำนาจทางวัฒนธรรมฯลฯ หรือที่เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เสนอให้ใช้คำว่า ภูมิพลังทางวัฒนธรรม แต่เพื่อให้ง่ายผมจะใช้ทับศัพท์ว่าซอฟต์เพาเวอร์ก็แล้วกัน
Joseph Nye ผู้สร้างแนวคิดนี้ ได้กำหนดแหล่งที่มาหลักๆ ของ soft power ไว้ 3 แหล่งในขณะที่เขาพัฒนาแนวคิดนี้ ซอฟต์เพาเวอร์ 3 เสาหลักของ Nye ได้แก่ ค่านิยมทางการเมือง วัฒนธรรม และนโยบายต่างประเทศ พูดง่ายๆ ว่า ซอฟต์เพาเวอร์เป็นความสามารถของประเทศหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมประเทศอื่น เพื่อให้ได้รับผลลัพธ์ตามที่ประเทศเราต้องการในมิติของการเมืองระหว่างประเทศ
แม้ 3 เสาหลักของซอฟต์เพาเวอร์จะมี 3 อย่างคือ ค่านิยมทางการเมือง วัฒนธรรม และนโยบายต่างประเทศ แต่โอกาสที่เราน่าจะมีจุดขายเพียงอย่างเดียวก็คือ วัฒนธรรมนั่นเอง
ดูเหมือนว่าสิ่งที่คณะกรรมการชุดอุ๊งอิ๊งทำและคิดก็คือ การสร้างโฆษณาชวนเชื่อเพื่อให้ต่างชาติหลงใหลในวัฒนธรรมของไทย แต่ Joseph Nye อธิบายว่าด้วยอำนาจของซอฟต์เพาเวอร์ “การโฆษณาชวนเชื่อ ที่ดีที่สุด ไม่ใช่การโฆษณาชวนเชื่อ” และอธิบายเพิ่มเติมว่าในยุคข้อมูลข่าวสาร “ความน่าเชื่อถือเป็นทรัพยากรที่หายากที่สุด”
นั่นแสดงว่า ซอฟต์เพาเวอร์ไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้โดยการชวนเชื่อปั้นแต่งชวนเชื่อขึ้นมา แต่มันต้องสร้างแรงดึงดูดและความประทับใจออกมาจนเป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติด้วยตัวของมันเอง
แน่นอนอุ๊งอิ๊งเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือเธอเป็นลูกสาวของนักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นเจ้าของพรรคตัวจริง และเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือรัฐบาลชุดนี้ เธอจึงถูกผลักดันให้เป็นรองประธานพัฒนายุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์แห่งชาติ โดยประธานคือนายกรัฐมนตรี แต่บทบาททั้งหมดอยู่ที่ตัวเธอจนวันนี้ดูเหมือนเธอจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของซอฟต์เพาเวอร์ไปแล้ว
แต่ด้วยการเป็นลูกสาวของทักษิณนี่เองทำให้อะไรดูเหมือนง่ายไปหมด เธอของบประมาณถึง 5,100 กว่าล้านเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์เพาเวอร์ 11 ด้าน แม้เธอจะอธิบายว่า เป็นงบประมาณจากกระทรวงต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามคนที่จะทำอย่างนี้ได้ก็ต้องเป็นคนที่มีอิทธิพลเหนือรัฐบาลเท่านั้น
เมื่อเธอเป็นผู้นำด้านซอฟต์เพาเวอร์แล้วเมื่อมีงานอะไรเกี่ยวกับอุตสาหกรรม 11 ด้าน แฟชั่น หนังสือ ภาพยนตร์ ละครและซีรีส์ เฟสติวัล อาหาร ออกแบบ ท่องเที่ยว เกม ดนตรี ศิลปะ และกีฬา เราจึงเห็นว่าระยะหลังเธอจะได้รับเชิญไปเป็นประธานเกี่ยวกับงานต่างๆ เหล่านี้หรือแม้แต่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่ผ่านมาก็เชิญเธอไปเป็นประธานอย่างน่าประหลาดใจ
ในตอนแรกๆ เธอก็หยิบเอาทุกอย่างขึ้นเป็นซอฟต์เพาเวอร์สะเปะสะปะไปหมด เช่น บอกว่าจะผลักดันหมูกระทะให้เป็นซอฟต์เพาเวอร์ หมูกระทะนั้นมีที่มาจากต่างชาติไม่ใช่วัฒนธรรมไทย แต่เป็นซอฟต์เพาเวอร์ของเกาหลีหรือมองโกเลียที่เรารับอิทธิพลของเขามาอีก
หรือกระทั่งคิดว่าจะต้องมีหนึ่งครอบครัวหนึ่งซอฟต์เพาเวอร์ซึ่งเป็นเรื่องเพ้อฝันมาก เพราะซอฟต์เพาเวอร์ที่เป็นเครื่องมือของประเทศหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อประเทศหนึ่งไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นง่ายๆ แค่สามารถทำให้ชาวต่างชาติหลงใหลวัฒนธรรมไทยไม่กี่อย่างได้ก็ต้องนับว่าประสบความสำเร็จแล้ว เรื่องหนึ่งครอบครัวหนึ่งซอฟต์เพาเวอร์จะเป็นได้อย่างไรซึ่งก็ดูเหมือนจะเลิกพูดเรื่องนี้ไปแล้ว
ถ้าพูดกันตามความเป็นจริงทุกวันนี้เราก็มีหลายอย่างที่เป็นซอฟต์เพาเวอร์อยู่แล้วก่อนที่อุ๊งอิ๊งจะเกิด เช่น อาหารไทย ต้มยำกุ้ง ต้มข่าไก่ หรือตอนหลังอาหารไทยหลายอย่างก็ถูกจัดอันดับให้เป็นอาหารชั้นนำของโลกเช่น ผัดกะเพรา ข้าวซอย เป็นต้น อีกอย่างที่โดดเด่นมากก็คือ นวดไทย ในต่างประเทศหลายประเทศจะมีร้านนวดไทยเปิดบริการอยู่ รวมไปถึงมวยไทย ที่เป็นที่รู้จักดีมานาน
ดังนั้นถ้าจะเห็นความสามารถของอุ๊งอิ๊งเพื่อจะต่อยอดขึ้นไปเป็นนายกรัฐมนตรี เธอต้องพัฒนาสิ่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่สิ่งที่ชาวโลกเขายอมรับอยู่แล้วให้ขึ้นมาเป็นซอฟต์เพาเวอร์ที่ดึงดูดชาวต่างชาติให้มายอมรับวัฒนธรรมไทย
แต่ล่าสุดที่ตลกมากก็คือ การจัดการแข่งขันเพื่อผลักดันซอฟต์เพาเวอร์ของไทยก็คือ การแข่งขันใส่นวมต่อยลูกโป่งแตกมากที่สุดใน 1 นาที, การแข่งขันใส่กางเกงช้างเยอะที่สุดใน 1 นาที, การแข่งขันกินปาท่องโก๋มากที่สุดใน 1 นาที, การแข่งขันใส่หน้ากากผีตาโขนได้มากที่สุดใน 1 นาที, การแข่งขันกินป็อปคอร์นได้เยอะที่สุดใน 1 นาที
ถามว่าที่ยกมานี้มีอะไรบ้างที่เป็นวัฒนธรรมไทยการใส่นวมต่อยลูกโป่งมันจะไปสื่อถึงมวยไทยได้อย่างไร เพราะมวยสากลเขาก็ใส่นวมเหมือนกัน ใส่กางเกงช้างเร็วที่สุดแล้วได้อะไรขึ้นมา กางเกงช้างจะกลายเป็นวัฒนธรรมไทยที่ต่างชาติหลงใหลจริงๆ หรือ หรือเขาใส่ตามกระแสแฟชั่นเมื่อมาเที่ยวเมืองไทยเท่านั้น แล้วที่สำคัญคงเป็นข่าวที่เราทราบกันแล้วว่า กางเกงช้างที่ขายอยู่ส่วนใหญ่นั้นผลิตในจีน จนกระทั่งรัฐบาลต้องสั่งการให้กรมศุลกากรสกัดการนำเข้ากางเกงช้าง
ส่วนป็อปคอร์นกับปาท่องโก๋นั่นเป็นขนมไทยเหรอ แล้วเราจะผลักดันสิ่งเหล่านี้ให้เป็นซอฟต์เพาเวอร์ของไทยได้อย่างไร
สิ่งเหล่านี้สะท้อนภาพที่ชวนตลกขบขันของหน่วยงานรัฐของไทยที่ต้องการจัดงานเพื่อเอาใจรัฐบาล จนกระทั่งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านแฟชั่น ซึ่งเป็น 1 ใน 11 อุตสาหกรรมต้องประกาศลาออก เพราะยอมรับไม่ได้กับการแข่งขันใส่กางเกงช้าง
กมลนาถ องค์วรรณดี ประธานด้านนี้บอกว่า “คณะอนุกรรมการสาขาแฟชั่นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับไอเดีย Guinness นี้นะคะ อยากเห็นหน้าคนอนุมัติงบมากห้ามก็ไม่ได้ ปรึกษาก็ไม่ปรึกษา คิดกันเองเห็นดีเห็นงามกันเอง ทำแล้วได้อะไรคะ ทีมเอกชนอาสาทำงานกันหนักมากเพื่อวางกรอบคิดการพัฒนาอุตสาหกรรม ในขณะที่หน่วยงานทำอีเวนต์จุดพลุแล้วไงต่อ สร้าง value อะไรขึ้นมา ฝากหน่วยงานทุกหน่วยที่อยากเอาใจนาย ก่อนจะทำอะไรปรึกษาหารือกรรมการยุทธศาสตร์ หรือคิดให้รอบด้านด้วยค่ะ เงินภาษีประชาชน”
ก็คงต้องรอดูว่าถ้าไม่ต่อยอดวัฒนธรรมที่ประสบความสำเร็จเป็นที่รู้จักของต่างชาติอยู่แล้ว มีวัฒนธรรมอะไรบ้างที่อุ๊งอิ๊งจะผลักดันให้เป็นซอฟต์เพาเวอร์ได้สำเร็จด้วยฝีมือตัวเองจากงบประมาณกว่า 5,100 ล้านบาทที่เอามาใส่ไว้ในมือเธอ เพื่อจะไต่บันไดขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในอนาคต
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan