xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมควรไปร่วมงานกับ หมอธีระวัฒน์-อ.ปานเทพ วันที่ 8 ก.พ. ที่หอศิลป์กรุงเทพ? / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

จากการที่ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ลงนามความร่วมมือทางด้านวิชาการกับ วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งได้ตัดสินใจที่จะจัดโครงการเสวนาและหน่วยแพทย์เคลื่อนที่สำหรับภาวะ Long Covid-19 และผลกระทบจากวัคซีน โดยจะจัดที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ สี่แยกปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ในวันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13.00 น.-18.00 น.

 มีหลายคนอาจจะเข้าใจไปว่าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นพวกต่อต้านวัคซีน ซึ่งคงต้องยืนยันในบทความนี้ว่า เป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง

เพราะในมุมของศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีหัวหน้าศูนย์ชื่อ  ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ซึ่งอยู่ในฐานะเป็นอาจารย์แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิในวงการแพทย์แผนปัจจุบันระดับต้นๆของประเทศ เมื่อมารับหน้าที่เป็นหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ จะไปปฏิเสธเรื่องวัคซีนได้อย่างไร ดังนั้น จึงปรากฏข้อความสำคัญในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ของศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ในการเข้าใจถึงจุดยืนในเรื่องวัคซีนความว่า

“วัคซีนมีประโยชน์ แต่ต้องรับทราบผลกระทบ เพื่อปรับปรุงเยียวยาและรักษา”

ในขณะที่ อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อผลิตบุคลาการที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนจีน ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมไทยเพื่อสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร ตลอดจนให้ความรู้ในเรื่องธรรมชาติบำบัดในแนวทางการแพทย์แผนตะวันออก แต่ก็ไม่ได้ต่อต้านวัคซีนเช่นกัน ดังปรากฏข้อความสำคัญในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในเรื่องจุดยืนในเรื่องวัคซีน ความว่า

“เราไม่ได้ต่อต้านวัคซีน แต่เราต่อต้านการปกปิดข้อมูลผลกระทบของวัคซีนฉุกเฉิน“

คนทั่วไปอาจจะลืมไปว่าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 หมอแผนไทยเป็นผู้ดำเนินการปลูกฝีให้กับประชาชน เพื่อลดการเกิดโรคไข้ทรพิษระบาด โดยได้รับการถ่ายทอดความรู้และการปฏิบัติแนวทางวัคซีนจากหมอบรัดเลย์ ซึ่งเป็นพระบรมราโชบายจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อหลักฐานปรากฏเช่นนี้แล้วหมอแผนไทยจะปฏิเสธวัคซีนได้อย่างไร จริงหรือไม่?

เพราะในความเป็นจริงของประวัติศาสตร์การแพทย์แผนไทย แม้จะได้รับทฤษฎีความรู้ในแนวทางธรรมชาติบำบัดอันเป็นอิทธิพลหลักจากการแพทย์อายุรเวท อินเดียในสายพระพุทธศาสนาแล้ว ยังได้มีการผสมผสานบูรณาการศาสตร์จากแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ในชาติต่างๆ มาผสมผสานหรือประยุกต์เพื่อประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยรวมอยู่ด้วย

ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ถึง 4 เข็มในสถานการณ์ ”ฉุกเฉิน“ แต่ยืนหยัดว่าถ้ามีผลกระทบจะต้องเปิดเผยความจริงอย่างรอบด้าน

เพราะการรับทราบผลกระทบรอบด้านจะนำไปสู่การปรับปรุงตัววัคซีนเอง การตัดสินใจชนิดวัคซีน หรือกรรมวิธีการฉีดวัคซีนเพื่อลดผลกระทบแล้ว ยังสามารถนำไปสู่การพัฒนาในการรักษาและเยียวยาอย่างถูกต้องได้
ในขณะเดียวกัน อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ซึ่งไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 เลยแม้แต่เข็มเดียวด้วยเพราะต้องวางหลักในการใช้สมุนไพรในสถานการณ์ในการปิดกั้นข้อมูลผลกระทบจากวัคซีนไปทั่วโซเชียลมีเดีย เมื่อความจริงปรากฏต่อมาว่ามีการปกปิดข้อมูลผลกระทบวัคซีนมีอยู่จริงในหลายประเทศ ยิ่งต้องมีทางเลือกให้กับประชาชนที่ถูกปฏิเสธจากแพทย์แผนปัจจุบันว่าไม่เกี่ยวกับวัคซีน ได้มีทางเลือกในการรักษาตัวเองและคนในครอบครัว

แม้แต่ในปัจจุบันซึ่งประชาชนคนไทยได้ฉีดวัคซีนไปมากแล้ว การห้ามพูดถึงผลกระทบจากวัคซีนยังเป็นนโยบายของโรงพยาบาลหลายแห่งอีกด้วย

 ไม่ว่าการตัดสินใจศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ถึง 4 เข็มในสถานการณ์จำเป็นในภาวะ ”ฉุกเฉิน“ทั่วโลก ซึ่งอาจจะตัดสินใจไม่เหมือนกับ อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ที่ไม่ฉีดวัคซีนเลยสักเข็มเดียวเพราะต้องวางหลักในการใช้สมุนไพรสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการฉีดวัคซีน “ฉุกเฉิน” เพราะมีการปกปิดข้อมูลทั่วโลก

แต่เราต่างมีวัตถุประสงค์ตรงกันว่า เมื่อเวลาผ่านไปนานมากขึ้น และมีข้อมูลมากขึ้น ต้องเปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบความจริง เพื่อที่จะให้ทุกภาคส่วนได้ชั่งน้ำหนักกับความจำเป็นในการฉีดวัคซีนต่อไปในอนาคตกับสถานการณ์ที่ไวรัสโควิด-19 ได้กลายพันธุ์อ่อนแอลงไปเรื่อยๆ

การเปิดเผยข้อมูลผลกระทบของวัคซีน จะทำให้การชั่งน้ำหนักในเรื่องภาวะลองโควิด-19 ถูกเปรียบเทียบอย่างถูกต้อง เพราะหากผลกระทบของวัคซีนทั้งการเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยถูกเบี่ยงเบนว่าเป็นเพราะโรคอื่นไปหมด ก็จะทำให้วัคซีนมีความปลอดภัย “เกินความเป็นจริง” เมื่อเทียบกับภาวะลองโควิดหลังโอไมครอนเป็นต้นมา

ดังนั้นเราแค่ต้องการให้มีการเปิดเผยความจริงให้ชัดเจนเท่านั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนคนไทยมีอัตราการเสียชีวิตสูงเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติในปี 2565 - 2566 ทั้งๆ ที่หมดช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ร้ายแรงที่สุดในปี 2564 ไปแล้ว แต่ที่สำคัญคือประเทศไทยเริ่มมีการฉีดวัคซีนไปทั่วในปี 2564 เป็นต้นมาเช่นกัน
ภาครัฐจึงควรจะจัดตั้งองค์กรกลางขึ้นมาเพื่อทำการวิจัยอย่างเป็นระบบและทางระบาดวิทยาว่าการเสียชีวิตของประชาชนชาวไทยที่สูงเพิ่มขึ้นผิดปกติหลังการฉีดวัคซีน เป็นผลจากวัคซีนมากน้อยเพียงใด

 การได้ข้อเท็จจริงนี้จึงจะเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับปรุงพัฒนาจากวัคซีนฉุกเฉิน ให้กลายเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัยยิ่งขึ้นโดยไม่มีการบิดเบือนหรือปกปิดความจริง

 การได้ข้อเท็จจริงนี้จึงจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เข้าใจถึงอาการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติของคนไทยนั้นมีความจริงเท็จเพียงใด และเป็นผลกระทบจากวัคซีนมากน้อยเพียงใด

 การได้ข้อเท็จจริงการเจ็บป่วยและเสียชีวิตที่แท้จริงอันเนื่องมาจากวัคซีน จะนำไปสู่การรู้สาเหตุที่แท้จริง เมื่อรู้สาเหตุที่แท้จริงก็จะทำให้ได้บทเรียนต่อการป้องกันผลกระทบจากวัคซีน การรักษาผลกระทบจากวัคซีน และการเยียวยาอันเนื่องมาจากผลกระทบจากวัคซีน จริงหรือไม่

และข้อสำคัญการรักษาและเยียวยาภาวะลองโควิดหรือผลกระทบจากวัคซีน จะสามารถได้การเปิดเผยความจริงว่ามีกรรมวิธีใดในการรักษาให้ได้อย่างประหยัด มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยที่สุดในกรรมวิธีที่ใช้จริงในการแพทย์ทุกสาขาในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทั้งการแพทย์แผนปัจจุบัน การแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนจีน การแพทย์ทางเลือก และธรรมชาติบำบัด เพื่อจะได้นำไปสู่การวิจัยหาความจริงต่อไป

ข้อสำคัญคือในเวลานี้ประชาชนได้สามารถสัมผัสข้อมูลความเจ็บป่วยอย่างผิดปกติ หรือเสียชีวิตจากภาวะลองโควิด-19 หรืออันเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากวัคซีนทั้งจากตัวเองหรือคนรอบข้าง ทั้งที่ยังไม่รู้ตัวว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง หรือถึงแม้รู้ตัวแต่ไม่รู้ว่าจะหาแนวทางการรักษาได้ที่ไหน

เพราะมีแต่การปฏิเสธโดยไม่ต้องสืบสวนโรคว่าไม่เกี่ยวกับวัคซีนๆ

ในขณะที่ศาลในสหรัฐอเมริกาบังคับเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงในเรื่องผลกระทบของวัคซีน ซึ่งมีอัตราการได้รับผลกระทบทั้งเสียชีวิตและเจ็บป่วยในรูปแบบต่างๆ “มากกว่า” งานวิจัยที่อ้างอิงกันในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งจะทยอยเปิดเผยข้อเท็จจริงในเร็ววันนี้อย่างแน่นอน

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ลงนามความร่วมมือทางด้านวิชาการกับ วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต จึงได้มีมติจัดโครงการเสวนาและหน่วยแพทย์เคลื่อนที่สำหรับภาวะ Long Covid-19 และผลกระทบจากวัคซีน

โดยจะจัดที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ สี่แยกปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ในวันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13.00 น.-18.00 น.

โดยใครก็ตามที่เจ็บป่วยหรือมีข้อสงสัยว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดในครอบครัวจะมีภาวะลองโควิด-19 หรือที่คิดว่าได้รับผลกระทบจากวัคซีน สามารถไปรับฟังการเสวนาในวันและเวลาดังกล่าวได้

เพราะในงานดังกล่าว  ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะได้มาบรรยายภาวะลองโควิด-19 และผลกระทบจากวัคซีน โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต จะได้มาบรรยายในเรื่องแนวทางการรักษาหรือบำบัดในแนวทางการแพทย์แผนตะวันออก (การแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนจีน และธรรมชาติบำบัด) โดยใช้เวลา 1 ชั่วโมง

หลังจากนั้นจะมีผู้มาร่วมให้ความเห็นที่ลงทะเบียนตอบรับมาแล้วในการแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เช่น

 นางสาวรสนา โตสิตระกูล มูลนิธิสุขภาพไทยและอดีตสมาชิกวุฒิสภา และ อาจารย์สันติสุข โสภณสิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทย มูลนิธิสุขภาพไทยและกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ จะมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในฐานะเป็นผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีน ใช้ชีวิตปกติพบปะผู้คนจำนวนมาก แต่ไม่เคยตรวจพบการติดเชื้อเลย ใช้แต่สมุนไพรรักษาตนเองและผู้อื่นอย่างไร

 นายแพทย์อรรถพล สุคณธาภิรมย์ ณ พัทลุง ซึ่งเคลื่อนไหวในนามกลุ่มคนไทยพิทักษ์สิทธิ์ จะมาให้ข้อมูลทางสถิติ การเรียกร้องให้เปิดเผยความจริง และการยืนหยัดในการแสวงหาความจริงเรื่องวัคซีน

 นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข จะมาในนามส่วนตัวเพื่อแลกเปลี่ยนทรรศนะจากประสบการณ์ในการออกหน่วยเรื่องโควิด

 นายแพทย์ชลธวัช สุวรรณปิยะศิริ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังจะมาให้ความเห็นจากประสบการณ์ที่ผ่านมา

 ศาสตราจารย์คลินิกแพทย์จีน นายแพทย์ภาสกิจ วัณนาวิบูล หัวหน้าหลักสูตรการแพทย์แผนจีน วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก,  แพทย์หญิงสุภาพร มีลาภ วิสัญญีแพทย์ คลินิกเวชกรรมอุ่นใจ,  พันเอกนายแพทย์พงศ์ศักดิ์ ตั้งคณา ประธานมูลนิธิจิตเป็นผู้ให้ใจเป็นนิพพาน และ แพทย์แผนไทยประยุกต์ แวสะมิง แวหมะ รองคณบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต จะมาเล่าประสบการณ์ตรงในการรักษาภาวะลองโควิด-19 และผลกระทบจากวัคซีน

หลังจากนั้นจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการสอบถาม แสดงความเห็นเพิ่มเติมทั้ง สื่อมวลชน ผู้ป่วย แพทย์ หรือภาคประชาชนทั่วไปเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมีส่วนร่วมในเวทีดังกล่าวจนหมดเวลา

โดยในงานดังกล่าวนี้ วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต จะได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในงานดังกล่าว เพื่อให้คำปรึกษา และรักษาเบื้องต้นสำหรับผู้ที่มีภาวะลองโควิด หรือผลกระทบจากวัคซีน โดยใช้แนวทางการบูรณาการด้วยการแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนจีน และธรรมชาติบำบัดเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย เรียกว่าบูรณาการในแนวทางการแพทย์ตะวันออกของมหาวิทยาลัยรังสิต (Rangsit’s Oriental Protocol) โดยเป็นการให้บริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น

ในขณะที่ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะจัดให้บริการและคิดค่าบริการสำหรับการเจาะเลือดเพื่อเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจเลือดสำหรับผู้ที่สนใจหาค่าการอักเสบและโปรตีนที่ชี้วัดภาวะความเสี่ยงสมองอักเสบหรือสมองเสื่อม สำหรับผู้ที่สงสัยว่าจะได้รับผลกระทบจากภาวะลองโควิด-19 หรือได้รับผลกระทบจากวัคซีน

นอกจากนั้นสำหรับคนที่ต้องการให้ข้อมูลความเจ็บป่วยที่สงสัยว่าจะเกิดจากภาวะลองโควิดหรือผลกระทบจากวัคซีนสามารถให้ข้อมูลได้ตั้งแต่วันนี้ที่ทางเฟสบุ๊คของ ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต

เราเชื่อว่าการเสวนาแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ และความเห็น ตลอดจนการรวบรวมข้อมูลการให้บริการรักษาคือจุดเริ่มต้นในการแสวงหาความจริง ที่จะนำไปสู่ทางออกของประเทศและประชาชนอย่างถูกต้องต่อไปได้ นอกจากนั้นการเข้าร่วมของทุกท่านย่อมจะเป็นกำลังใจให้พวกเราได้เติบโตในก้าวต่อไปอย่างแข็งแรงและยั่งยืน

โดยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมงานเสวนาติดต่อตรงในเวลาทำการที่ วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โทรศัพท์ 0897705862

จึงขอเรียนเชิญทุกท่านที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ สี่แยกปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ในวันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13.00 น.-18.00 น.

ด้วยความปรารถนาดี
อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต



กำลังโหลดความคิดเห็น