xs
xsm
sm
md
lg

อย่าเห็นแก่ประโยชน์ของธุรกิจวัคซีน อยู่เหนือสุขภาพของประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ประเด็นสำคัญที่  กลุ่มแพทย์และจิตอาสาคนไทยพิทักษ์สิทธิ์ เรียกร้องให้มีการสืบสวนหาสาเหตุการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติของคนไทย ซึ่งได้แสดงให้เห็นถึงตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตใน 2 ปีที่ผ่านมา (2565-2566) ได้เพิ่มสูงขึ้น “ผิดปกติ” หรือที่เรียกว่า  Excess Deaths[1]

โดยการตายเพิ่มขึ้นผิดปกติ 2 ปีหลังนั้น เกิดขึ้นหลังจากการระดมฉีดวัคซีนทั่วประเทศในปี 2564 ทั้งๆ ที่พ้นช่วงระบาดของโควิดไปแล้ว แปลว่าเราต้องมีอะไรบางอย่างผิดปกติ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าเป็นผลมาจากวัคซีนรวมอยู่ด้วย[1]-[2]

โดยปี 2562 ปีนั้นเริ่มมีโควิด-19 ตอนปลายปี แต่ยังเข้าประเทศไทยน้อยมาก ถือว่าเราได้ใช้ชีวิตเป็นปกติ ป่วยปกติ ขับรถเกิดอุบัติเป็นปกติ ปีนั้นคนไทยเสียชีวิตทั้งสิ้น 497,339 ราย

ปี 2563 เราเริ่มเกิดโรคโควิด-19 แต่เกิดขึ้นไม่มาก เพราะช่วงระบาดเกิดขึ้นช่วงสั้นๆ ปีนั้นคนไทยเสียชีวิตทั้งสิ้น 498,983 ราย

ปี 2564 เป็นปีที่ระบาดหนักในโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า โดยมีการเจ็บป่วยและเสียชีวิตมากที่สุด และเป็นปีที่เราเริ่มระดมฉีดวัคซีนเป็นปีแรก ปีนั้นคนไทยเสียชีวิตทั้งสิ้น 548,174 ราย ซึ่งถือว่าเป็นปีที่คนไทยเสียชีวิตมากที่สุดเป็นประวัติการณ์

ปี 2565 หลังจากระดมฉีดวัคซีนมา 1 ปี คนไทยกลับมาใช้ชีวิตเกือบปรกติ คนไทยเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโควิดน้อยลงมาก ร้านค้ากลับมาทำมาหากินได้

ดังนั้นเราควรจะตายน้อยลง แต่กลับปรากฏว่า ปี 2565 คนไทยเสียชีวิตกลับเพิ่มสูงขึ้นกว่าปี 2564 โดยเสียชีวิตมากถึง 590,174 ราย

ปี 2566 โควิดกลายพันธุ์เป็นโอไมครอนกลับมาระบาดอีกครั้งแต่ความรุนแรงน้อยลงมาก คนไทยจึงมีการฉีดวัคซีนแต่ฉีดน้อยลง ผลปรากฏว่าคนไทยก็ยังเสียชีวิตมากกว่าปี 2564 ที่โควิดระบาดหนัก คือมีการเสียชีวิตมากถึง 576,516 ราย

 ถ้าเปรียบเทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนโควิด คนไทยควรจะเสียชีวิตประมาณ 5 แสนคนต่อปี แต่การเสียชีวิต 2 ปีรวมกัน คือ 2565 - 2566 ตายมากเกินผิดปกติรวมกันน่าจะประมาณ 166,690 ราย

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต จึงได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องเสนอให้มีการจัดองค์กรกลางที่ไม่มีส่วนได้เสียเพื่อศึกษาวิจัยว่าจำนวนการเสียชีวิตที่ผิดปกติและเจ็บป่วยอันเป็นผลกระทบจากวัคซีนนั้นมีมากน้อยแค่ไหน ยังไม่นับผู้ที่กำลังเจ็บป่วยจากวัคซีนด้วย[2]

เพราะมีหลักฐานจากคณะนักวิจัยในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาได้วิจัยการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นจากการตรวจชิ้นเนื้อผู้เสียชีวิตพบว่ามีความเกี่ยวพันกับวัคซีนมากถึงร้อยละ 75 และยังพบการประเมินจากนักวิจัยด้วยว่าข้อมูลการบันทึกผลกระทบจากวัคซีนในสหรัฐอเมริกาที่เผยแพร่งานวิจัยไปทั่วโลกต่ำกว่าความเป็นจริงไป 20 เท่าตัว[3]

 เว็บไซต์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งได้รายงานผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวัคซีนในกลุ่มเฉพาะผู้ที่ใช้สิทธิยื่นคำร้องและผ่านเกณฑ์ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 20 มกราคม 2567 พบว่า มีประชาชนชาวไทยยื่นคำร้องว่าได้รับผลกระทบจากวัคซีนจำนวนทั้งสิ้น 23,082 ราย ผ่านเกณฑ์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทั้งสิ้น 19,328 ราย โดยแบ่งเป็นการเสียชีวิตและทุพพลภาพจากวัคซีนจำนวน 5,482 ราย พิการหรือสูญเสียอวัยวะจำนวน 815 ราย และบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง 13,031 ราย

โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ใช้งบประมาณช่วยเหลือไปแล้วทั้งหมด 2,560 ล้านบาท[4]

 เมื่อพิจารณาจำนวนคำร้องแยกตามอาการที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พบว่ามีสัดส่วนคำร้องการเสียชีวิตร้อยละ 24.3 ปวดเวียนศีรษะหน้ามืดร้อยละ 19.42 แขนขาอ่อนแรงร้อยละ 17.94 แน่นหน้าอกหายใจลำบากร้อยละ 12.86 มีอาการชาร้อยละ 12.23 มีอาการผื่นคันบวมร้อยละ 11.49 มีอาการไข้ร้อยละ 10.22 ปวดท้องคลื่นไส้อาเจียนร้อยละ 10.4 และอาการช็อกจากการแพ้รุนแรงร้อยละ 0.88[4]

แต่จำนวนคำร้องที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นั้นอาจไม่ครอบคลุมประชากรที่ได้รับผลกระทบของวัคซีนจริงทั้งหมด ด้วยเพราะการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้อาการและสิทธิในการได้รับการเยียวยามีน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับการประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ประชาชนฉีดวัคซีน

ในขณะเดียวกันโรคที่ได้รับการอนุมัติตามเกณฑ์ระบุนั้นก็อาจจะไม่ได้ครอบคลุมที่เกิดขึ้นทั้งหมดด้วย เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลตามรายงานและผลการศึกษาจากต่างประเทศในวารสารทางการแพทย์จำนวนมาก ดังเช่น

 ผลการสำรวจในสหรัฐอเมริกาพบว่า ระบบที่เสียหายและเกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิดจนถึงเสียชีวิตนั้น ประกอบไปด้วย ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางโลหิตวิทยาระบบทางเดินหายใจ และมีหลายระบบเสียหายร่วมกัน[3] อีกทั้งการฉีดวัคซีนที่มากเกินไปหรือถี่เกินไปอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงได้[5]-[7] และยังรวมถึงความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจอักเสบ หรือภาวะสมองเสื่อมได้ด้วย[8]-[9]

นอกจากนั้นยังพบการตีพิมพ์ในวารสารจิตเวชศาสตร์ Asian Journal of Psychiatry เมื่อปี 2565 ซึ่งได้รายงานถึงผลกระทบของวัคซีนที่อาจทำให้เกิดโรคทางจิตหรือระบบประสาทซึ่งรวมถึง สภาพจิตที่แปรเปลี่ยนไป ทำให้เป็นโรคจิต วิกลจริตคลุ้มคลั่ง โรคซึมเศร้า และระบบการทำงานของประสาทผิดปกติ[10]

นอกจากนั้นการวิจัยตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ของอังกฤษ BMJ Open วิเคราะห์อภิมานจากผลการศึกษาวิจัย 7 ชิ้นเมื่อปี 2566 พบว่าผู้ที่ฉีดวัคซีน mRNA เพียง 1 เข็มขึ้นไปมีความเสี่ยงโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน mRNA เลย[11]

คณะนักวิจัยชาวจีนที่แม้จะสนับสนุนวัคซีนแต่เผยแพร่ในงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารเกี่ยกับโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง Autoimmunity Reviews เมื่อปี 2566 พบความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติหรือแพ้ภูมิตัวเองอันมีสาเหตุจากวัคซีน ซึ่งรวมถึง ภาวะไตอักเสบ โรคไขข้ออักเสบ โรคตับอักเสบ[12] นอกจากนั้นยังมีกรณีศึกษาจากประสบการณ์ตรงของเราว่ามีเด็กและเยาวชนในประเทศไทยเกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงอันเป็นผลมาจากวัคซีนด้วย[13]

อีกทั้งยังพบการรายงานตีพิมพ์ในวารสาร Cureus เมื่อปี 2566 ถึงกรณีศึกษาของผู้ป่วยมะเร็งชนิดซาร์โคมาพบความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจนทันทีหลังฉีดวัคซีนของโมเดิร์นนา[14]

ตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นว่าวัคซีนอาจจะเป็นผลโดยตรงหรือกระตุ้นทำให้เกิดโรคอื่นๆ ได้ตามมามากกว่าอาการตามเกณฑ์ที่อนุมัติเพื่อเยียวยาโดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และอาจจะเป็นเหตุอ้างกล่าวโทษว่าเสียชีวิตหรือเพราะโรคอื่นโดยปราศจากการสืบสวนโรคหรือชันสูตรศพ ดังนั้น ความจริงจะเป็นเช่นไรก็สมควรที่จะทำการสำรวจและสืบสวนอย่างจริงจังให้ปรากฏความเป็นจริงต่อไปจากองค์กรกลางที่ไม่มีส่วนได้เสียหรือผลประโยชน์ในวัคซีน จริงหรือไม่

อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์ตามหาวความจริงเรื่องวัคซีนนั้น กำลังเป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องจินตนาการของใครคนใดคนหนึ่ง

 ตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 อัยการสูงสุดรัฐเทกซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ฟ้องร้องดำเนินคดีกับ “ไฟเซอร์” บริษัทยายักษ์ใหญ่ โดยกล่าวหาบริษัทแห่งนี้บิดเบือนความจริงเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 และหาทางปกปิดการพูดคุยของสาธารณชนเกี่ยวกับความล้มเหลวของผลิตภัณฑ์ของบริษัท รวมถึงข้อมูลชี้มีประสิทธิภาพป้องกันโควิดแค่ 0.85%[16]

นอกจากนั้นยังมีคดีการฟ้องร้องและศาลยุติธรรมเพิ่งจะได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 ให้ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของประเทศสหรัฐอเมริกา (CDC) เปิดเผยคำร้องเรียนจากประชาชนเรื่องผลกระทบของวัคซีนต่อตนเองกว่า 7.8 ล้านคำขอ โดยให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป[17]

นอกจากนั้นยังมีทีมวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ของญี่ปุ่นได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 ว่าวัคซีนไวรัสโควิด-19 เมื่อฉีดไปแล้ว สุ่มเสี่ยงมีผลข้างเคียงนับพันชนิด และยังมีต่อโรคสำคัญๆ ที่พบในคนฉีดมีถึง 201 ชนิด

 “ศาสตราจารย์ยาสุฟูมิ มุรากามิ” (Yasufumi Murakami) แห่งมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์แห่งโตเกียวได้จัดประชุมในงานแถลงข่าวซึ่งจัดโดยกลุ่มศึกษาประเด็นวัคซีน (the Vaccine Issues Study Group) ในญี่ปุ่น ซึ่งทำการศึกษาพบว่าการฉีดวัคซีนไวรัส โควิด-19 ก่อให้เกิดผลข้างเคียงหลายพันอย่าง โรคภัยไข้เจ็บสำคัญๆ ที่เกิดต่อคนฉีดวัคซีนมีถึง 201 ชนิดหลังจากที่ศึกษาผลข้างเคียงจากงานวิจัยต่างๆ ประมาณ 6 เดือน ในจำนวนนี้ มีทั้งโรคหัวใจ โรคไต โรคไทรอยด์ โรคตับ โรคผิวหนัง โรคทางตา โรคในเม็ดเลือด โรคประสาท โรคที่เป็นระบบ โรคทางสมองและโรคปอด

ในจำนวนผู้ร่วมทีมวิจัยนี้ มี ศาสตราจารย์เกียรติคุณมาซาโนริ ฟุกุชิม่า (Masanori Fukushima) ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์ต่อต้านวัคซีนหลายครั้งรวมอยู่ด้วย ศาสตราจารย์ท่านนี้ได้กล่าวว่า “การศึกษาทบทวนบทความการวิจัยอย่างเป็นระบบทำให้เราได้ข้อมูลบางเรื่องที่สามารถช็อคผู้คนได้ บทความวิจัยหลายพันบทความได้รายงานผลข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีนไปแล้ว ซึ่งผลเสียต่อมนุษย์ในทางพยาธิวิทยาทุกๆ ด้าน นับแต่จักษุวิทยาไปจนถึงจิตบำบัด”[18]

 ด้วยเหตุผลดังกล่าวหรือไม่ จึงทำให้ประชาชนชาวไทยจำนวนไม่น้อยจึงมีความรู้สึกว่าสุขภาพร่างกายไม่เหมือนเดิมโดยที่หาสาเหตุไม่ได้ ทำให้หลายคนมีอาการเหนื่อย ไม่สู้งาน เดินไม่ไหว สมาธิสั้น ไทรอยด์ทำงานผิดปกติ หลอดเลือดอุดตัน เป็นโรคหัวใจ สมองอักเสบ มีทั้งอาการทางระบบหัวใจและปอด ระบบสมองประสาทและกล้ามเนื้อ ภาวะที่มีการอักเสบของผิวหนัง เส้นเอ็นพังผืด กล้ามเนื้อ และข้อต่างๆ ตลอดจนการปะทุขึ้นของโรคที่ไม่เคยเป็นมาก่อนหรือโรคที่สงบไปแล้ว รวมทั้งมะเร็งและการเกิดเริม งูสวัดซึ่งไวรัสเหล่านี้เป็นไวรัสที่ซ่อนอยู่ในร่างกายจากการติดเชื้อเนิ่นนานมาแล้ว และถูกกดไม่ให้แสดงตัวออกมาจากการควบคุมของระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงของร่างกาย และยังรวมถึงการนอนหลับที่ผิดปกติ หลับยากหลับกระท่อนกระแท่น จนถึงฮอร์โมนแปรปรวนทั้งผู้ชายและผู้หญิง[2]

จากเหตุผลดังกล่าวดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต จึงได้มีมติร่วมกันในการจัดโครงการจัดเสวนาและหน่วยแพทย์เคลื่อนที่สำหรับภาวะ Long-Covid-19 และผลกระทบจากวัคซีน

โดยในงานเสวนาดังกล่าวจะมีการบรรยายสถานการณ์ภาวะลองโควิด-19 และผลกระทบจากวัคซีนในมิติต่างๆ รวมถึงการบรรยายแนวทางการรักษาและเยียวยาโดยการแพทย์แผนตะวันออกด้วยการแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนจีน ธรรมชาติบำบัด ฯลฯ
นอกจากนั้นยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีภาวะลองโควิด-19 และผลกระทบจากวัคซีนได้มาลงทะเบียนหรือรายงานตัวในอาการเจ็บป่วย และเปิดเวทีแลกเปลี่ยนในแนวทางรักษาของแพทย์ทุกสาขาในโอกาสนี้ด้วย

โดยเราจะจัดให้มีคลินิกแพทย์เคลื่อนที่ของวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ให้บริการในการให้คำปรึกษา รักษา บำบัด เยียวยาโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะลองโควิด-19 และผลกระทบจากวัคซีนตามทฤษฎีและกรรมวิธีของการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนจีนและธรรมชาติบำบัด ในขณะเดียวกันศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเปิดให้บริการและให้คำแนะนำการตรวจเลือดเพื่อหาค่าการอักเสบและโปรตีนที่อาจเกี่ยวพันกับภาวะลองโควิดหรือผลกระทบจากวัคซีนในงานเดียวกัน

จึงขอเรียนเชิญสื่อมวลชน ผู้ป่วยภาวะลองโควิด-19 หรือได้รับผลกระทบจากวัคซีน แพทย์ทุกสาขาที่ต้องการแบ่งปันประสบการณ์ในการรักษา ตลอดจนประชาชนที่สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวได้ในวันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้องประชุมอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เวลา 13.00 น.-17.00 น.

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต


อ้างอิง
[1] เรณู เขมาปัญญา, กลุ่มแพทย์และจิตอาสาคนไทยพิทักษ์สิทธิ์ เรียกร้องให้มีการสืบสวนหาสาเหตุการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติของคนไทย, เว็บไซต์ข่าววิทยุรัฐสภา, 9 มกราคม 2567
https://www.tpchannel.org/radio/news/24200

[2] ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา, ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, แถลงการณ์ร่วมฉบับที่ 2 แจ้งความคืบหน้าภาวะลองโควิดและผลกระทบจากวัคซีน ใครมีอาการเหล่านี้ควรได้รับการรักษาหรือเยียวยา, แฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, 21 มกราคม 2567
https://www.facebook.com/100044511276276/posts/pfbid02swD4yQdayujaUrnCcaQUbsVDHW4nKuRySydV9UcG6iDduqgTx85MaY2gRxyXgtn7l/

[3] ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา, “หมอธีระวัฒน์” เผยผลชันสูตรผู้ตายหลังฉีดวัคซีนโควิดในสหรัฐฯ พบ 73.9% เกี่ยวข้องกับวัคซีน คาดรายงานตัวเลขต่ำกว่าจริง 20 เท่า, ผู้จัดการออนไลน์ 18 ธันวาคม 2566
https://mgronline.com/qol/detail/9660000113303

[4] เว็บไซต์สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, รายงานผู้ได้รับสิทธิเยียวยาจากการได้รับผลกระทบจากวัคซีนระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 20 มกราคม 2567
https://subsidy.nhso.go.th/subsidy/?_trms=9e0133efad1b0b70.1641959148848&fbclid=IwAR1dZXMGOmb4imZdlpjd700r4gHLNmPSLVu_by_me1emYmqpLFqoVMn8Gow#/dashboard

[5] ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา, “หมอธีระวัฒน์” เผยรายงาน วัคซีน mRNA ยิ่งฉีดมากประสิทธิภาพยิ่งลด เสี่ยงหัวใจอักเสบ ใครฉีดกระตุ้นแล้วไม่จำเป็นฉีดอีก, ผู้จัดการออนไลน์, 17 ธันวาคม 2566
https://mgronline.com/qol/detail/9660000112970

[6] PASCAL IRRGANG , et al., Class switch toward noninflammatory, spike-specific IgG4 antibodies after repeated SARS-CoV-2 mRNA vaccination, SCIENCE IMMUNOLOGY, 22 Dec 2022, Vol 8, Issue 79
DOI: 10.1126/sciimmunol.ade2798
https://www.science.org/doi/10.1126/sciimmunol.ade2798

[7] Parawee ChevaiHybrid, et al., Hybrid and herd immunity 6 months after SARS-CoV-2 exposure among individuals from a community treatment program, Scientific Reports 13, Article number: 763 (2023)
https://www.nature.com/articles/s41598-023-28101-5

[8] ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา, กลุ่มอาการหลังวัคซีนโควิด (ตอนที่ 1), ผู้จัดการออนไลน์, 15 ธันวาคม 2566
https://mgronline.com/daily/detail/9660000112456

[9] ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา, กลุ่มอาการหลังวัคซีนโควิด (ตอนที่ 2),ผู้จัดการออนไลน์, 16 ธันวาคม 2566
https://mgronline.com/daily/detail/9660000112457

[10] Ilambaridhi Balasubramanian, et al., Psychiatric adverse reactions to COVID-19 vaccines: A rapid review of published case reports, Asian Journal of Psychiatry, Volume 71, May 2022
https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S1876201822001277?via%3Dihub

[11] Abdallah Alami,Risk of myocarditis and pericarditis in mRNA COVID-19-vaccinated and unvaccinated populations: a systematic review and meta-analysis, BMJ Open 2023
https://bmjopen.bmj.com/content/bmjopen/13/6/e065687.full.pdf

[12] Ming Guo, et al., Insights into new-onset autoimmune diseases after COVID-19 vaccination, Autoimmunity Reviews, Volume 22 Issue 7, July 2023
https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S1568997223000745?via%3Dihub

[13] ปานเทพดอทคอม, บันทึกข้อตกลงร่วมมือด้านวิชาการงานวิจัยระหว่าง แพทย์แผนตะวันออก ม.รังสิต กับ คณะแพทย์ศาสตร์จุฬาฯ, เว็บไซต์ยูทูป 15 มกราคม 2567
https://www.youtube.com/live/NZWNHxOHKyg?si=8604EAZrDsZA0gkg

[14] Edward Bae, et al., Development of High-Grade Sarcoma After Second Dose of Moderna Vaccine., Cureus, April 15,2023
https://www.cureus.com/articles/147360-development-of-high-grade-sarcoma-after-second-dose-of-moderna-vaccine#!/

[15] Laine S., et al., Profiling post-COVID Syndrome across different variants of SARS-CoV-2, the Lancet, Published May 16,2023
https://www.thelancet.com/journals/landig/article/PIIS2589-7500%2823%2900056-0/fulltext

[16] ผู้จัดการออนไลน์, อ้าว! อัยการเทกซัสฟ้องเอาผิดไฟเซอร์ หลังข้อมูลชี้มีประสิทธิภาพป้องกันโควิดแค่ 0.85%, 1 ธันวาคม 2566
https://mgronline.com/around/detail/9660000107912

[17] ICAN, BREAKING: FEDERAL JUDGE ORDERS CDC TO RELEASE ALL V-SAFE FREE-TEXT ENTRIES IN A HUGE WIN FOR VACCINE SAFETY TRANSPARENCY, January 11,2024.
https://icandecide.org/press-release/breaking-federal-judge-orders-cdc-to-release-all-v-safe-free-text-entries-in-a-huge-win-for-vaccine-safety-transparency/

[18] Lee Harding, Japanese researchers say side effects of COVID vaccines linked to 201 types of diseases, Western Standard, 16 January 2024
https://www.westernstandard.news/news/japanese-researchers-say-side-effects-of-covid-vaccines-linked-to-201-types-of-diseases/51661


กำลังโหลดความคิดเห็น