xs
xsm
sm
md
lg

ยางพารา 2 กิโลครึ่งเท่ากับทองคำหนึ่งบาทในตลาดยุโรป (ตอนที่2)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที



ผมตั้งใจเขียนให้สังคมไทยมีภูมิความรู้ที่ลึกซึ้งในมิติประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ในฐานะสื่อมวลชนที่เป็นนักประวัติศาสตร์คนหนึ่ง 

วันที่ยางพาราในประเทศช่วงนี้ไต่ระดับขึ้นมาถึง 63 บาท ความสำคัญของพืชเศรษฐกิจตัวนี้นั้นในปลายศตวรรษที่ 19 เพราะมีรถยนต์ได้กำเนิดขึ้นมาเพื่อ Disrupt รถม้าที่ลากจูงในระบบขนส่ง logistics ของมหานครในยุโรปและสหรัฐอเมริกา 

แน่นอนว่าวัตถุดิบยางพาราป่าจากบราซิล คือทองคำของโลกอุตสาหกรรมรถยนต์ในช่วงเวลานั้น เพราะเป็นของป่า Demand มีมากในตลาดโลก และยังไม่ได้ปลูกเพื่อการพาณิชย์ 


พ่อค้าจากฝรั่งเศสและอังกฤษได้เข้าไปในแผ่นดินบราซิล ลุ่มน้ำอเมซอนในช่วงดังกล่าว เพื่อนำเข้าสู่ความต้องการวัตถุดิบยางพาราป่า ให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์ในยุคเริ่มต้น (ยังไม่มีการนำมาปลูกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ซึ่งช่วงเวลานั้นสังคมไทยรัชกาลที่ 5 เพิ่งขึ้นครองราชย์ได้เพียงปีที่ 12 เท่านั้น

แต่กลุ่มพ่อค้าฝรั่งเศสและอังกฤษ ได้ไปรับซื้อหาวัตถุดิบยางพาราป่า ในลุ่มน้ำอเมซอนกันแล้ว เพียง 3 ทศวรรษเท่านั้น ความต้องการยางป่าจากบราซิลเพื่อป้อนอุตสาหกรรมรถยนต์โลกเวลานั้นทำให้เมืองท่า Manaus ของบราซิลมีความมั่งคั่งร่ำรวยในชั่วพริบตา


มีการบรรยายไว้ว่า "ยุคที่ยางพาราป่ามีความต้องการจากอุตสาหกรรมรถยนต์ของยุโรป เมืองมาเนาส์เศรษฐกิจคึกคักเหมือนปารีส เศรษฐีเมืองมาเนาส์เอาไวน์ที่แพงอาบน้ำให้ม้ากันเลย"


วัตถุดิบยางพาราเป็นของป่าหายากยังไม่มีการปลูก คนพื้นเมืองบราซิลไปเก็บยางพาราป่ามาทำเป็นก้อนกลมขนาดใหญ่ เพื่อเป็นวัตถุดิบเก็บไว้ในโรงเก็บ มีการป้องกันอย่างดี เพราะมีมูลค่าที่สูง ก่อนลงเรือจากบราซิลไปขายที่ลอนดอน,ปารีสและนิวยอร์ก




รถยนต์คันที่เห็นวิ่งอยู่ในวอชิงตัน DC ในปี 1907 ก็ใช้ยางพาราจากบราซิลทำล้อ ซึ่งอุตสาหกรรมรถยนต์ยุโรปและในสหรัฐอเมริกาเริ่มมีความก้าวหน้ามากขึ้น วัตถุดิบยางพารายังขาดแคลน


ต่อมาหลังจากที่อังกฤษเห็นว่า ยางพาราจากป่าบราซิลเริ่มขาดแคลนและมีมูลค่าที่สูง มูลค่ายางเพียง 2.5 KG มีมูลค่าเท่ากับทองคำหนึ่งบาท

รัฐบาลอาณานิคมอังกฤษในมาลายู จึงได้ชักชวนพ่อค้านักลงทุนในมหานครลอนดอน 30 กว่าบริษัทเข้ามาลงทุนปลูกยาง ร่วมกับนักธุรกิจเปอรานากันในสิงคโปร์และปีนัง


จนในที่สุดก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ผลผลิตจากยางพาราที่ปลูกในอาณานิคมมาลายูของอังกฤษ มีเป็นจำนวนมากกลายเป็นผู้ครอบครองตลาดวัตถุดิบยางพาราแซงหน้าจากบราซิลได้ในทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 20

และแน่นอนว่า พืชเศรษฐกิจยางพาราก็ได้ขยายการปลูกเข้ามาในสังคมไทยในปลายรัชกาลที่ 5 ด้วยเช่นเดียวกัน ในหมู่เปอรานากันชาวภูเก็ตและจังหวัดตรัง

ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที
โครงการปรัชญาดุษฎีบัณฑิตเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ
คณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต



กำลังโหลดความคิดเห็น