xs
xsm
sm
md
lg

การวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบ (Comparative Analysis) ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดทั้งหมด ๗ ฉบับ : ตอนที่ ๒ ว่าด้วยเรื่องการตีความ “มลพิษทางอากาศ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์

ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ
คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
Email: pongpiajun@gmail.com


ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ ๑๗ ม.ค. พ.ศ. ๒๕๖๗ มีมติเป็นเอกฉันท์ ๔๓๘ เสียง งดออกเสียง ๑ ให้รับหลักการร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ที่ ครม. เป็นผู้เสนอจำนวน ๗ ร่างได้แก่

๑. ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ... เสนอโดย สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.)
๒. ร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. ... เสนอโดย เครือข่ายอากาศสะอาด
๓. ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. ... เสนอโดย พรรคภูมิใจไทย
๔. ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ... เสนอโดย พรรคเพื่อไทย
๕. ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ พ.ศ. ... เสนอโดย พรรคประชาธิปัตย์
๖. ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ... เสนอโดย พรรคพลังประชารัฐ
๗. ร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน พ.ศ. ... เสนอโดยพรรคก้าวไกล

ซึ่งในตอนที่แล้ว (การวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบ (Comparative Analysis) ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดทั้งหมด ๗ ฉบับ : ตอนที่ ๑ ว่าด้วยเรื่องการตีความ “แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ”) ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการนิยามรวมทั้งการตีความแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศของร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดทั้งหมด ๗ ฉบับดังที่ได้มีการเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ (https://mgronline.com/daily/detail/9670000003449) ไปแล้วนั้น สิ่งที่น่าหยิบยกมาเป็นประเด็นต่อคือมุมมองรวมทั้งการให้น้ำหนักความสำคัญของคำว่า “มลพิษ” ของ พ.ร.บ. แต่ละฉบับนั้นมีความตื้นลึกหนาบางแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด โดยจากการทบทวนวรรณกรรมพบว่าใน พ.ร.บ. ทั้ง ๗ ฉบับมีข้อความที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศดังนี้

ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ... ที่ สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) เป็นผู้จัดทำและนำเสนอโดยคณะรัฐมนตรี มาตรา ๔ ได้ระบุความหมายของ “อากาศสะอาด” “มาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด” “อากาศเสีย” “ภาวะมลพิษทางอากาศ” “มลพิษทางอากาศข้ามแดน” และ “ดัชนีคุณภาพาอากาศ” ไว้ดังนี้
“อากาศสะอาด” หมายความว่า อากาศที่ไม่มีสารมลพิษ หรือมีสารมลพิษเจือปนอยู่ในปริมาณที่ไม่เกินมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด ตามประกาศคณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด

“มาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด” หมายความว่า ค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศ ซึ่งกำหนดเป็นเกณฑ์ทั่วไป สำหรับการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด

“อากาศเสีย” หมายความว่า อากาศมาตรฐานคุณภาพอากาศที่ระบายหรือปล่อยทิ้งจากแหล่งกำเนิด ที่มีการปนเปื้อนด้วยสิ่งใดๆ ที่อยู่ในสภาพเป็นไอเสีย กลิ่น ควัน ก๊าซ เขม่า ฝุ่นละออง เถ้าถ่าน หรือมลสารอื่นที่มีสภาพละเอียดบางเบาจนสามารถรวมตัวอยู่ในบรรยากาศได้ ที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศและสุขภาพของประชาชน

“ภาวะมลพิษทางอากาศ” หมายความว่า สภาวะที่อากาศในบรรยากาศเปลี่ยนแปลงหรือปนเปื้อนด้วยสารมลพิษหรือสารพิษเจือปน ซึ่งทำให้คุณภาพาอากาศเสื่อมโทรมลง

“มลพิษทางอากาศข้ามแดน” หมายความว่า มลพิษทางอากาศที่มีแหล่งกำเนิดทางกายภาพตั้งอยู่ทั้งหมดหรือเพียงส่วนหนึ่งนอกราชอาณาจักรไทย ที่เคลื่อนตัวเข้ามาและเกิดผลกระทบในราชอาณาจักรไทย

“ดัชนีคุณภาพอากาศ” หมายความว่า ค่าตัวเลขหรือเกณฑ์ที่ใช้เป็นตัวแทนของคุณภาพอากาศ ตามประกาศของคณะกรรมการบริหารเพื่ออากาศสะอาด

ร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ.... นำเสนอโดย เครือข่ายอากาศสะอาด มาตรา ๓ ได้นิยาม “อากาศสะอาด” “อากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ” “หมอกควันพิษ” “ดัชนีคุณภาพอากาศ” และ “ดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพ” ไว้ดังนี้

“อากาศสะอาด” หมายความว่า อากาศที่ไม่มีสารมลพิษ หรือไม่มีสารมลพิษเจือปนอยู่ในปริมาณที่สูงกว่าระดับปกติเป็นอันเป็นที่ยอมรับทางวิชาการระดับสากล หรือตามที่คณะกรรมการกำกับประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการร่วม เป็นเวลานานพอที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ พืช หรือ ทรัพย์สินต่างๆ

“อากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ” หมายความว่า การลดปริมาณมลพิษทางอากาศ และหมอกควันพิษลง และเพิ่มคุณภาพอากาศสะอาดขึ้นในระดับที่มีคุณภาพเพียงพอสำหรับการหายใจอย่างปกติของประชาชน โดยไม่เป็นอุปสรรคต่อระบบการทำงานของร่างกายหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่ว่าในลักษณะเฉียบพลันหรือเรื้อรังจนเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เพื่อปกป้องความปลอดภัยในชีวิตและ สุขภาพของประชาชน

“หมอกควันพิษ” หมายความว่า หมอกควันที่มีสารมลพิษและมีผลกระทบต่อคุณภาพาอากาศและความยั่งยืนของระบบนิเวศ รวมถึงหมอกควันพิษที่มีระดับความเข้มข้นตามที่หน่วยงานดูแลด้านสุขภาพกำหนดให้เป็นหมอกควันพิษที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนในระยะยาว ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และให้หมายความรวมถึงมลพิษทางอากาศตามกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นด้วย

“ดัชนีคุณภาพอากาศ” หมายความว่า ดัชนีหรือตัวชี้วัดที่ใช้ในการรายงานคุณภาพาอากาศต่อสาธารณะในแต่ละพื้นที่ ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยดัชนีคุณภาพอากาศหนึ่งหน่วยแสดงถึงระดับความเข้มข้นของสารมลพิษในอากาศหลายชนิดตามที่คณะกรรมการกำกับประกาศกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการร่วม รวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงก๊าซโอโซน (O3) ฝุ่นละอองหรืออนุภาคของแข็งหรือของเหลว ขนาดเล็กกว่า ๑๐ ไมครอนหรือ ๒.๕ ไมครอน (PM10, PM2.5) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) เท่านั้น ซึ่งระดับความเข้มข้นของสารมลพิษดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับคำแนะนำด้านสุขภาพ

“ดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพ” หมายความว่าดัชนีหรือตัวชี้วัดที่ใช้ในการรายงานคุณภาพอากาศต่อสาธารณะในแต่ละพื้นที่ ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพหนึ่งหน่วยแสดงถึงระดับความเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่มีความอ่อนไหวต่อ หมอกควันพิษ จากการได้รับสารมลพิษในระยะสั้นตามที่คณะกรรมการกำกับประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการร่วม ซึ่งแสดงถึงระดับความเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบต่อสุขภาพที่มีความสัมพันธ์กับคำแนะนำด้านสุขภาพ

ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ.... นำเสนอโดยพรรคภูมิใจไทยมาตรา ๔ ได้มีการระบุคำสำคัญที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศไว้ดังนี้

“อากาศเสีย” หมายความว่า ของเสียที่อยู่ในสภาพเป็นไอเสีย กลิ่นควัน ก๊าซ เขม่า ฝุ่นละออง เถ้าถ่าน หรือมลสารอื่นที่มีสภาพละเอียดเบาบางจนสามารถรวมตัวอยู่ในชั้นบรรยากาศได้

“มลพิษ” หมายความว่า ของเสีย วัตถุอันตราย และมลสารอื่นๆ รวมทั้งกาก ตะกอนหรือสิ่งตกค้างจากสิ่งเหล่านั้น ที่ถูกปล่อยทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษ หรือที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ซึ่งก่อให้เกิดหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือภาวะที่เป็นพิษภัยอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนได้ และให้หมายความรวมถึง รังสี ความร้อน แสง เสียง กลิ่น ความสั่นสะเทือน หรือเหตุรำคาญอื่นๆ ที่เกิดหรือถูกปล่อยออกจากแหล่งกำเนิดมลพิษด้วย

“ภาวะมลพิษทางอากาศ” หมายความว่า สภาวะที่อากาศในชั้นบรรยากาศเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือปนเปื้อนโดยมลพิษซึ่งทำให้คุณภาพของอากาศเสื่อมโทรมลง

ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ... นำเสนอโดยพรรคเพื่อไทยมาตรา ๔ ได้มีการนิยามคำว่า “อากาศเสีย” หมายความว่า ของเสียที่อยู่ในสภาพเป็นไอเสีย กลิ่นควัน ก๊าซ เขม่า ฝุ่นละออง เถ้าถ่าน หรือมลสารอื่นที่มีสภาพละเอียดเบาบางจนสามารถรวมตัวอยู่ในชั้นบรรยากาศได้

“มลพิษ” หมายความว่า ของเสีย วัตุอันตราย และมลสารอื่นๆ รวมทั้งกาก ตะกอนหรือสิ่งตกค้างจากสิ่งเหล่านั้นที่ถูกปล่อยทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษ หรือที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ซี่งก่อให้เกิดหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือภาวะที่เป็นพิษต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนได้ รวมถึง รังสี ความร้อน แสง เสียง กลิ่น ความสั่นสะเทือน หรือเหตุอื่นๆ ที่เกิดหรือถูกปล่อยออกจากแหล่งกำเนิดมลพิษด้วย

“ภาวะมลพิษทางอากาศ” หมายความว่า สภาวะที่อากาศในชั้นบรรยากาศเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือปนเปื้อนโดยมลพิษซึ่งทำให้คุณภาพของอากาศเสื่อมโทรมลง

ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ พ.ศ. .... นำเสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ มาตรา ๔ ได้นิยาม “อากาศสะอาด” “อากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ” “หมอกควันพิษ” “ดัชนีคุณภาพอากาศ” และ “ดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพ” ไว้ดังนี้

“อากาศสะอาด” หมายความว่า อากาศที่ไม่มีสารมลพิษ หรือไม่มีสารมลพิษเจือปนอยู่ในปริมาณที่สูงกว่าระดับปกติเป็นเวลานานพอที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ พืช หรือ ทรัพย์สินต่างๆ อันเป็นที่ยอมรับทางวิชาการระดับสากล หรือตามที่คณะกรรมการกำกับประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการร่วม

“อากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ” หมายความว่า การลดปริมาณมลพิษทางอากาศ และหมอกควันพิษลง และเพิ่มคุณภาพอากาศสะอาดขึ้นในระดับที่มีคุณภาพเพียงพอสำหรับการหายใจอย่างปกติของประชาชน โดยไม่เป็นอุปสรรคต่อระบบการทำงานของร่างกายหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่ว่าในลักษณะเฉียบพลันหรือเรื้อรังจนเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เพื่อปกป้องความปลอดภัยในชีวิตและ สุขภาพของประชาชน

“หมอกควันพิษ” หมายความว่า หมอกควันที่มีสารมลพิษและมีผลกระทบต่อคุณภาพาอากาศและความยั่งยืนของระบบนิเวศ รวมถึงหมอกควันพิษที่มีระดับความเข้มข้นตามที่หน่วยงานดูแลด้านสุขภาพกำหนดให้เป็นหมอกควันพิษที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนในระยะยาว ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และให้หมายความรวมถึงมลพิษทางอากาศตามกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นด้วย

“ดัชนีคุณภาพอากาศ” หมายความว่า ดัชนีหรือตัวชี้วัดที่ใช้ในการรายงานคุณภาพาอากาศต่อสาธารณะในแต่ละพื้นที่ ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยดัชนีคุณภาพาอากาศหนึ่งหน่วยแสดงถึงระดับความเข้มข้นของสารมลพิษในอากาศหลายชนิดตามที่คณะกรรมการกำกับประกาศกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการร่วม ไม่จำกัดเพียงก๊าซโอโซน (O3) ฝุ่นละอองหรืออนุภาคของแข็งหรือของเหลว ขนาดเล็กกว่า ๑๐ ไมครอนหรือ ๒.๕ ไมครอน (PM10, PM2.5) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) เท่านั้น ซึ่งระดับความเข้มข้นของสารมลพิษดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับคำแนะนำด้านสุขภาพ

“ดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพ” หมายความว่าดัชนีหรือตัวชี้วัดที่ใช้ในการรายงานคุณภาพอากาศต่อสาธารณะในแต่ละพื้นที่ ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพหนึ่งหน่วยแสดงถึงระดับความเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่มีความอ่อนไหวต่อ หมอกควันพิษ จากการได้รับสารมลพิษในระยะสั้นตามที่คณะกรรมการกำกับประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการร่วม ซึ่งแสดงถึงระดับความเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบต่อสุขภาพที่มีความสัมพันธ์กับคำแนะนำด้านสุขภาพ

ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ....นำเสนอโดยพรรคพลังประชารัฐ มาตรา ๔ ได้ระบุความหมายของ “อากาศสะอาด” “มาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด” “อากาศเสีย” “ภาวะมลพิษทางอากาศ” “มลพิษทางอากาศข้ามแดน” และ “ดัชนีคุณภาพาอากาศ” ไว้ดังนี้

“อากาศสะอาด” หมายความว่า อากาศที่ไม่มีสารมลพิษ หรือมีสารมลพิษเจือปนอยู่ในปริมาณที่ไม่เกินมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด ตามประกาศคณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด

“มาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด” หมายความว่า ค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศ ซึ่งกำหนดเป็นเกณฑ์ทั่วไป สำหรับการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด

“อากาศเสีย” หมายความว่า อากาศที่ปนเปื้อนด้วยสิ่งใด ที่อยู่ในสภาพเป็นไอเสีย กลิ่น ควัน ก๊าซ เขม่า ฝุ่นละออง เถ้าถ่าน หรือมลสารอื่นที่มีสภาพละเอียดบางเบาจนสามารถรวมตัวอยู่ในบรรยากาศได้ ที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศและสุขภาพของประชาชน

“ภาวะมลพิษทางอากาศ” หมายความว่า สภาวะที่อากาศในบรรยากาศเปลี่ยนแปลงหรือปนเปื้อนด้วยสารมลพิษหรือสารพิษเจือปน ซึ่งทำให้คุณภาพาอากาศเสื่อมโทรมลง

“มลพิษทางอากาศข้ามแดน” หมายความว่า มลพิษทางอากาศที่มีแหล่งกำเนิดนอกราชอาณาจักรที่เคลื่อนตัวเข้ามาและเกิดผลกระทบในราชอาณาจักร

“ดัชนีคุณภาพาอากาศ” หมายความว่า ค่าตัวเลขหรือเกณฑ์ที่ใช้แสดงระดับคุณภาพอากาศ ตามประกาศของคณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด

ร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน พ.ศ. .…นำเสนอโดยพรรคก้าวไกล มาตรา ๔ ได้ระบุความหมายของ “ฝุ่นพิษ” “อากาศบริสุทธิ์” “มลพิษ” และ “มลพิษข้ามพรมแดน” ไว้ดังนี้

“ฝุ่นพิษ” หมายความว่า สภาพอากาศที่มีสารปนเปื้อนในอากาศที่เกินกว่าค่ามาตรฐานตามที่คณะกรรมการกำหนดหรือมาตรฐานความปลอดภัยของคุณภาพาอากาศที่องค์การระหว่างประเทศกำหนด และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงอากาศที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กขนาดไม่เกิด ๒.๕ ไมครอนเกินกว่าค่ามาตรฐานที่คณะกรรมการกำหนดหรือมาตรฐานความปลอดภัยของคุณภาพอากาศที่องค์การระหว่างประเทศกำหนด และมีความหมายเพิ่มเติมตามที่คณะกรรมการกำหนด

“อากาศบริสุทธิ์” หมายความว่า อากาศที่ไม่มีฝุ่นพิษ หรือไม่มีมลพิษเจือปนอยู่ในปริมาณที่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ตามค่าความปลอดภัยของคุณภาพอากาศที่องค์การระหว่างประเทศกำหนด หรือตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้กำหนดไว้

“มลพิษ” หมายความว่าฝุ่นพิษที่มีสารพิษและมีผลกระทบต่อคุณภาพาอากาศและความยั่งยืนของระบบนิเวศ รวมถึงฝุ่นพิษที่มีความเข้มข้นตามที่หน่วยงานดูแลด้านสุขภาพกำหนดให้เป็นฝุ่นพิษที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนในระยะยาว ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และให้หมายความรวมถึงมลพิษทางอากาศตามกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นด้วย

“มลพิษข้ามพรมแดน” หมายความว่า ฝุ่นพิษหรือมลพิษทางอากาศที่มีแหล่งกำเนิดนอกราชอาณาจักรไทยและแพร่กระจายมาสู่ราชอาณาจักรไทย รวมถึงฝุ่นพิษหรือมลพิษทางอากาศที่มีแหล่งกำเนิดในราชอาณาจักรไทยและแพร่กระจายออกไปนอกราชอาณาจักรไทย

เมื่อพิจารณาการตีความ “มลพิษทางอากาศ” ที่ปรากฏอยู่ในร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดทั้งหมด ๗ ฉบับพบว่ามีทั้งความเหมือนและต่างดังนี้

ประการแรก ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ... เสนอโดย สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) กับร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ....นำเสนอโดยพรรคพลังประชารัฐ มีการนิยาม“อากาศสะอาด” “มาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด” “อากาศเสีย” “ภาวะมลพิษทางอากาศ” “มลพิษทางอากาศข้ามแดน” และ “ดัชนีคุณภาพาอากาศ”ที่แทบจะเรียกได้ว่าเหมือนกันเกือบทุกอย่างยกเว้นการสลับเปลี่ยนลำดับในการร้อยเรียงคำพูด เช่นเดียวกับร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ พ.ศ. .... นำเสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์และร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ.... นำเสนอโดย เครือข่ายอากาศสะอาด ซึ่งได้นิยาม “อากาศสะอาด” “อากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ” “หมอกควันพิษ” “ดัชนีคุณภาพอากาศ” และ “ดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพ” ไว้แทบจะเหมือนกันเกือบทุกตัวอักษร สำทับด้วยความคล้ายคลึงกันในการนิยาม ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ.... นำเสนอโดยพรรคภูมิใจไทยและพรรคเพื่อไทยในการนิยาม “อากาศเสีย” “มลพิษ” และ “ภาวะมลพิษทางอากาศ” ไว้ในแบบที่เรียกว่าคล้ายคลึงกันมาก มีแต่เพียงพรรคก้าวไกลเท่านั้นที่มีการนิยาม “ฝุ่นพิษ” “อากาศบริสุทธิ์” “มลพิษ” และ “มลพิษข้ามพรมแดน” ในบริบทที่แตกต่าง

ประการที่สอง ความครบถ้วนในการตีความเรื่องมลพิษทางอากาศที่สารพิษปนเปื้อนอยู่ทั้งในวัฏภาคก๊าซและอนุภาคใน พ.ร.บ. ทั้งหมด ๗ ฉบับมีความแตกต่างกันพอสมควร เช่นพรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกับสารพิษที่อยู่ในรูปแบบของอนุภาคมากกว่าก๊าซซึ่งสังเกตได้จากการนิยามคำว่า “อากาศบริสุทธิ์” หมายความว่า อากาศที่ไม่มีฝุ่นพิษและ“มลพิษ” หมายความว่าฝุ่นพิษที่มีสารพิษและมีผลกระทบต่อคุณภาพาอากาศและความยั่งยืนของระบบนิเวศ ในขณะที่ร่าง พ.ร.บ.นำเสนอโดยพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อไทย และสำนักงาน ป.ย.ป. ได้นิยาม “อากาศเสีย” หมายความว่า อากาศที่ปนเปื้อนด้วยสิ่งใด ที่อยู่ในสภาพเป็นไอเสีย กลิ่น ควัน ก๊าซ เขม่า ฝุ่นละออง เถ้าถ่าน หรือมลสารอื่นที่มีสภาพละเอียดบางเบาจนสามารถรวมตัวอยู่ในบรรยากาศได้ เช่นเดียวกันกับร่าง พ.ร.บ. นำเสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์และเครือข่ายอากาศสะอาดที่ได้มีการนิยามมลพิษทางอากาศซึ่งอยู่ในสภาพก๊าซและอนุภาคอย่างชัดเจนโดยมีการระบุถึงชนิดของก๊าซ โดยได้มีการระบุชนิดของก๊าซอย่างชัดเจนเช่น โอโซน (O3) คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) และฝุ่นละอองก็ได้มีการระบุขนาดอย่างเป็นรูปธรรมเช่น ฝุ่นละอองหรืออนุภาคของแข็งหรือของเหลว ขนาดเล็กกว่า ๑๐ ไมครอนหรือ ๒.๕ ไมครอน (PM10, PM2.5)

ประการที่สาม อาจกล่าวได้ว่ามุมมองของพรรคก้าวไกลที่มีต่อวิธีการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศซึ่งมิได้จำกัดอยู่แค่เพียงภายในราชอาณาจักรไทย ได้สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในรูปแบบของ ร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน พ.ศ..… ซึ่งได้มีการนิยามฝุ่นพิษหรือมลพิษทางอากาศที่มีแหล่งกำเนิดนอกราชอาณาจักรไทยและแพร่กระจายมาสู่ราชอาณาจักรไทย รวมถึงฝุ่นพิษหรือมลพิษทางอากาศที่มีแหล่งกำเนิดในราชอาณาจักรไทยและแพร่กระจายออกไปนอกราชอาณาจักรไทยว่า “มลพิษข้ามพรมแดน” ในขณะที่ พ.ร.บ. อีก ๖ ฉบับมีเพียง พ.ร.บ. ของสำนักงาน ป.ย.ป และ พรรคพลังประชารัฐ ที่ได้มีการกล่าวถึงประเด็นนี้อย่างเป็นรูปธรรมภายใต้แนวคิดของ “มลพิษทางอากาศข้ามแดน”

ข้อเสนอแนะ
ในมุมมองของผู้เขียนประชาชนไทยไม่ควรเสียโอกาสในการที่จะมีกฎหมายอากาศที่ทันสมัยสอดคล้องกับหลักวิชาการซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ผู้เขียนชื่นชมในมุมมองของเครือข่ายอากาศสะอาด และพรรคประชาธิปัตย์ที่มีการระบุถึงความชัดเจนของประเภทสารพิษในรูปแบบของก๊าซแต่ในความเป็นจริงมีสารพิษจำนวนมากที่มีความเป็นพิษมากกว่า โอโซน (O3) คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) และในหลายประเทศที่มีระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่สูงก็ให้ความสำคัญกับฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กในระดับนาโนเมตรซึ่งเป็นฝุ่นมีขนาดเล็กกว่าฝุ่น PM10 และ PM2.5 หลายเท่า เหนือสิ่งอื่นใดจุลินทรีย์ที่อยู่ในฝุ่นก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ไม่แพ้สารเคมีที่มีความเป็นพิษ ด้วยเหตุผลดังกล่าวผู้เขียนมีข้อเสนอดังนี้

(๑) ควรมีการระบุถึงชื่อสารก่อมะเร็งอย่างเช่น โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons: PAHs) ลงในร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด โดยสามารถอ้างอิงกับค่ามาตรฐานสากลที่มีการกำหนดให้สารเบนโซเอไพรีน (Benzo[a]pyrene: B[a]P) ในชั้นบรรยากาศไว้ดังที่ระบุไว้ในตารางที่ ๑


(๒) นอกจากสารก่อมะเร็ง PAHs แล้วยังมีโลหะหนักที่เป็นพิษอีกหลายชนิดที่สมควรได้รับการควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมเช่น สหภาพยุโรป (European Union: EU) ได้กำหนดให้ สารหนู (As) แคดเมี่ยม (Cd) และ นิกเกิล (Ni) ควรมีระดับความเข้มข้นในชั้นบรรยากาศไม่เกิน 6 นาโนกรับต่อลูกบาศก์เมตร 5 นาโนกรับต่อลูกบาศก์เมตร และ 20 นาโนกรับต่อลูกบาศก์เมตรตามลำดับ [7] เป็นต้นซึ่งในหลายประเทศได้มีการกำหนดค่ามาตรฐานของกลุ่มโลหะหนักที่มีความเป็นพิษเหล่านี้ในชั้นบรรยากาศไว้อย่างชัดเจน [8-10]
(๓) ปัจจุบันได้มีงานวิจัยหลายชิ้นได้ระบุความสำคัญถึงสารพิษที่อยู่ภายในอาคาร (Indoor Air Pollution) ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่ทำงานในอาคารได้ และปัจจุบันได้มีกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการและดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับที่อับอากาศ พ.ศ. ๒๕๖๒ [11] ซึ่งสามารถนำมาผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของร่าง พรบ อากาศสะอาด เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับสุขภาพของประชาชนจากเหตุการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศโดยตรง
(๔) ไม่มี ร่าง พรบ อากาศสะอาดฉบับใดได้ระบุถึงความสำคัญของผลกระทบจาก “จุลินทรีย์” ในชั้นบรรยากาศทั้งที่มีผลงานตีพิมพ์ในระดับนานาชาติหลายชิ้นได้ระบุถึงความสำคัญของ แบคทีเรียแกรมลบ (Gram negative bacteria) อย่าง Escherichia coli (E. coli) หรือ วัณโรคซึ่งเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium โดยในไทยสายพันธุ์ที่พบบ่อยที่สุด คือ Mycobacterium Tuberculosis ก็มีรายงานว่าพบในฝุ่น PM2.5 ด้วยเช่นกัน [12-14] ยังไม่รวมถึงการปนเปื้อนของเชื้อราอีกหลายสายพันธุ์ในฝุ่น PM2.5 เช่น Aspergillus, Penicillium, และ Cladosporium [15]
(๕) ในขณะที่ประเทศไทยให้ความสำคัญกับ PM2.5 ว่าเป็นมลพิษทางอากาศหลัก แต่งานวิจัยหลายชิ้นได้ระบุถึงความสำคัญของฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 1.0 ไมครอนหรือฝุ่น PM1.0 ซึ่งอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพได้มากกว่าฝุ่น PM2.5 หลายเท่า [16-18] จึงสมควรที่จะมีการถกเถียงเรื่องการจัดทำค่ามาตรฐานควบคุมฝุ่น PM1.0 กันอย่างจริงจังเรียกว่าทำงานเหนื่อยทีเดียวแต่คุ้มค่า ไม่ต้องมาตั้งคณะกรรมการกันหลายชุดจัดประชุมกันอีกหลายรอบซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองทั้งงบประมาณและเวลาของผู้เกี่ยวข้อง

ในตอนต่อไปผู้เขียนจะวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบถึงมาตรการทางเศรษฐศาสตร์รวมไปถึงบทลงโทษและค่าปรับของ พ.ร.บ. อากาศสะอาดทั้ง ๗ ฉบับ ว่ามีรายละเอียดแตกต่างกันอย่างไร

เอกสารอ้างอิง
[1] Ambade, B., Kumar, A., & Sahu, L. K. (2021). Characterization and health risk assessment of particulate bound polycyclic aromatic hydrocarbons (PAHs) in indoor and outdoor atmosphere of Central East India. Environmental Science and Pollution Research, 28(40), 56269-56280.
[2] Coleman, P., Bush, T., Conolly, C., Irons, S., Murrells, T., Vincent, K., & Watterson, J. (2001). Assessment of benzo[a]pyrene atmospheric concentrations in the UK to support the establishment of a national PAH objective. AEAT/ENV.
[3] European Environment Agency (2016) Air quality in Europe-2016 report. No. 28.
[4] Ministry for the Environment (2003) Health effects of CO, NO2, SO2, ozone, benzene and benzo(a)pyrene in New Zealand, Air quality technical report, 43, Wellington, New Zealand.
[5] Ministry of Environmental Protection (2012) Ambient air quality standard, GB3095, China.
[6] Agency for Toxic Substances and Disease Registry (2012) Case studies in environmental medicine. Toxicity of polycyclic aromatic hydrocarbons (PAHs), WB 1519.
[7] Pinto, E., Soares, C., Couto, C. M., & Almeida, A. (2015). Trace elements in ambient air at Porto metropolitan area—checking for compliance with new European Union (EU) air quality standards. Journal of Toxicology and Environmental Health, Part A, 78(13-14), 848-859.
[8] Showstack, R. (2012). Tougher rules for mercury and other toxics.
[9] https://uk-air.defra.gov.uk/assets/documents/reports/empire/dera_hg1.pdf
[10] https://uk-air.defra.gov.uk/networks/network-info?view=metals
[11] https://kanchanaburi.labour.go.th/attachments/article/1074/4พรบความปลอดภัย%20อาชีวอนามัย.pdf
[12] Schlesinger, R. B. (2007). The health impact of common inorganic components of fine particulate matter (PM2.5) in ambient air: a critical review. Inhalation toxicology, 19(10), 811-832.
[13] Min, K. D., Kim, S. Y., & Cho, S. I. (2023). Ambient PM2.5 exposures could increase risk of tuberculosis recurrence. Environmental Health and Preventive Medicine, 28, 48-48.
[14] Torres, M., Carranza, C., Sarkar, S., Gonzalez, Y., Vargas, A. O., Black, K., ... & Schwander, S. (2019). Urban airborne particle exposure impairs human lung and blood Mycobacterium tuberculosis immunity. Thorax, 74(7), 675-683.
[15] Degobbi, C., Lopes, F. D., Carvalho-Oliveira, R., Mu, J. E., & Saldiva, P. H. (2011). Correlation of fungi and endotoxin with PM2.5 and meteorological parameters in atmosphere of Sao Paulo, Brazil. Atmospheric environment, 45(13), 2277-2283.
[16] Agudelo-Castañeda, D. M., Teixeira, E. C., Schneider, I. L., Lara, S. R., & Silva, L. F. (2017). Exposure to polycyclic aromatic hydrocarbons in atmospheric PM1.0 of urban environments: Carcinogenic and mutagenic respiratory health risk by age groups. Environmental pollution, 224, 158-170.
[17] Du, W., Yun, X., Luo, Z., Chen, Y., Liu, W., Sun, Z., ... & Shen, G. (2019). Submicrometer PM1.0 exposure from household burning of solid fuels. Environmental Science & Technology Letters, 7(1), 1-6.
[18] Wang, X., Xu, Z., Su, H., Ho, H. C., Song, Y., Zheng, H., ... & Cheng, J. (2021). Ambient particulate matter (PM1, PM2.5, PM10) and childhood pneumonia: the smaller particle, the greater short-term impact?. Science of The Total Environment, 772, 145509.



กำลังโหลดความคิดเห็น