xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องของ“ปรัชญาตะวันตก”(ตอนยี่สิบแปด)“คอมมิวนิสต์”ของ“คาร์ล มาร์กซ”?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 คาร์ล มาร์กซ | เฟรดเดอริก แองเกล
“สอดแนมการเมือง”
“ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”

 ทำไม “กลุ่มนายทุน” และ “รัฐนายทุน” จึงขลาดกลัว “คาร์ล มาร์กซ” ดุจถูก “ปีศาจ” ตามไล่ล่าตลอดเวลา..?


งั้น.. เรามาตามติด “แนวคิด” กับ “พฤติกรรม” ของ “คาร์ล มาร์กซ” กัน..

ก่อนอื่น มารับรู้กันว่า “มาร์กซ” ได้ผ่านพ้นการฝ่าอันตรายเสี่ยงชีวิต ต้องหนีเอาชีวิตรอดครั้งแล้วครั้งเล่าจากภัยการเมืองได้อย่างไร? นอกจากมี “ภรรยา” คู่ทุกข์คู่ยากร่วมทุกข์ร่วมสุขในทุกสถานการณ์แล้ว มี “ใคร” เป็น “เพื่อนแท้-เพื่อนร่วมตาย-มิตรร่วมอุดมการณ์” อย่างมั่นคง เอื้ออาทรคอยช่วยเหลือ เสี่ยงอันตรายคอยช่วยปลดทุกข์โดยไม่เคยคิดคดทรยศ ฯลฯ

ต้องยอมรับว่า.. เป็นเรื่อง “ยากยิ่งถึงยากที่สุด” ที่มนุษย์คนหนึ่งจะได้พบ “เพื่อนตาย” เช่นนั้น ซึ่ง“คาร์ล มาร์กซ” เป็น “มนุษย์โชคดี” ที่ได้พบกับ “เฟรดเดอริก แองเกล” สุภาพบุรุษผู้เป็น “สหายแท้” ร่วมอุดมการณ์ความคิดทางการเมืองระบอบ“สังคมนิยม-คอมมิวนิสต์” ร่วมทำงานตามแนวคิดและปฏิบัติการจริง มุ่งหวังจะปฏิวัติ “รัฐทุนนิยมอธรรม” ให้ปรับเปลี่ยนเป็น “รัฐคอมมิวนิสต์” ที่มีความเป็นธรรมต่อผู้ยากไร้ ซึ่งทำให้ “สหายคู่นี้” เป็น “สองผู้ทรงอิทธิพล” ที่สุดในประวัติศาสตร์!

ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เป็นจุดก่อเกิดแนวคิดระบอบคอมมิวนิสต์ “มาร์กซ” เริ่มหันไปสนใจปรัชญา ท่ามกลางความไม่พอใจของบิดา ซึ่งคาดหวังให้บุตรเป็นนักกฎหมายเช่นเดียวกับเขา

“มาร์กซ”ได้เข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มนักศึกษาและอาจารย์ที่มีอายุไม่มาก เป็นที่รู้จักในชื่อ “กลุ่มนิยมเฮเกิลรุ่นใหม่” นำโดย “บรูโน บาวเออร์” กับสมาชิก ในกลุ่มมี“มักซ์ สเตอร์เนอร์” ที่พยายามโยงแนวปรัชญาของ “อริสโตเติล” เข้ากับปรัชญาของ “เฮเกิล”
เพื่อนรักที่จริงใจและเกื้อกูลอย่าง “แองเกล” เป็นผู้กระตุ้นให้ “มาร์กซ” สนใจสถานการณ์ของ “ชนชั้นแรงงาน” และยังแนะนำให้ “มาร์กซ” สนใจรายละเอียดทางด้านเศรษฐศาสตร์ และเมื่อ “มาร์กซ” และ “แองเกล” ถูกภัยการเมืองเล่นงานอีกครั้งจากงานเขียน ทำให้ “มาร์กซ” ต้องย้ายไปเมือง “ปรัสเซล” ประเทศเบลเยี่ยม

“มาร์กซ” และ “แองเกล”ได้ร่วมกันเขียนบทความชื่อ “อุดมการณ์เยอรมัน” วิพากษ์ปรัชญาของ “เฮเกิล” และกลุ่มนิยมเฮเกิลรุ่นใหม่ หลังจากนั้น “มาร์กซ” ได้เขียนบทความ “ความอับจนของปรัชญา” ซึ่งวิพากษ์ความคิดสังคมนิยมสายฝรั่งเศส บทความทั้งสองได้วางรากฐานให้กับ “คำประกาศเจตนาคอมมิวนิสต์” อันเป็นผลงานที่โด่งดังที่สุดของ “มาร์กซ” และ “แองเกล”
ซึ่ง “คำประกาศเจตนาคอมมิวนิสต์” ก็คือหนังสือคำประกาศเจตนาโดย “สมาพันธ์คอมมิวนิสต์” กลุ่มผู้อพยพชาวเยอรมัน ซึ่งได้ร้องขอให้ “มาร์กซ” เขียนขึ้น เมื่อครั้งที่ได้พบกันที่ลอนดอน บทความนี้ได้รับการตีพิมพ์เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ.1848

ในปีนั้นเอง ได้เกิดการลุกฮือครั้งใหญ่ในทวีปยุโรป โดย “กลุ่มคนงาน” ได้เข้ายึดอำนาจจาก “พระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปที่ 1” แห่งฝรั่งเศส จัดตั้งรัฐบาลคนงาน และได้เชิญ “มาร์กซ” กลับปารีส

ทว่า!..ในปีถัดมาคือ ค.ศ.1849 รัฐบาลคนงานก็ได้ล่มสลายลง “มาร์กซ” จึงได้กลับไปยัง “โคโลญจน์” เริ่มทำหนังสือพิมพ์ Rheinische Zeitung ขึ้นมาอีก ซึ่งก็ถูกทางการสั่งปิดอีกครั้ง

“มาร์กซ” จึงย้ายไปอยู่กรุงลอนดอน ที่นั่น “มาร์กซ” ทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวฝั่งยุโรป ให้กับหนังสือพิมพ์ “นิวยอร์กทรีบูน” ระหว่างปี ค.ศ.1852 ถึง 1861

ในปี ค.ศ.1852 “มาร์กซ” ได้เขียนแผ่นพับ “การปฏิวัติของหลุยส์ โบนาปาร์ต” เพื่อวิเคราะห์เหตุการณ์ที่ “หลุยส์ นโปเลียน โบนาปาร์ต” (หลานของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 แห่งฝรั่งเศส) เข้ายึดอำนาจรัฐในฝรั่งเศส และสถาปนาตนเองเป็น “จักรพรรดินโปเลียนที่ 3”

นั่นคือส่วนหนึ่งของชีวิต “คาร์ล มาร์กซ” ผู้ก่อเกิดแนวคิด “คอมมิวนิสต์”..

ในปี ค.ศ.1863 “วิลเลียม แกลดสตัน” รัฐมนตรีคลังของอังกฤษ ได้กล่าวสุนทรพจน์แก่ “สภาสามัญชน” โดยเขาได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของความร่ำรวยของประเทศอังกฤษ (และเพิ่มเติมตามรายงานจากหนังสือพิมพ์ไทม์)ว่า

“ผมควรจะมองการเพิ่มขึ้นของความมั่งคั่ง และอำนาจอย่างเมามายเหล่านี้ ด้วยความหวาดกลัวและความเจ็บปวด ถ้าผมเชื่อว่ามันเกิดขึ้นเฉพาะกับกลุ่มชนที่มีชีวิตสะดวกสบายเท่านั้น ที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้เกี่ยวกับสภาพของประชากรที่ใช้แรงงานเลย การเพิ่มขึ้นมาของความมั่งคั่งที่ผมได้อธิบาย และที่ผมคิดว่าเกิดขึ้นจากกำไรจากการลงทุนนั้น เป็นการเพิ่มขึ้นที่เกิดเฉพาะกับชนชั้นที่ครอบครองทรัพย์สินเท่านั้น” แต่ในรายงานฉบับกึ่งทางการ “แกลดสตัน”ได้ลบประโยคสุดท้ายออก ซึ่งการแก้ไขนี้เป็นสิ่งที่กระทำกันทั่วไปในหมู่สมาชิกสภา

ในปีต่อมา ค.ศ.1864 “มาร์กซ” ได้ก่อตั้ง “สมาคมกรรมกรสากล” ซึ่งต่อมาเรียกว่า “องค์กรสากลที่หนึ่ง” เพื่อเป็นแกนหลักในการทำกิจกรรมทางการเมือง ในสุนทรพจน์ที่ใช้เปิดงาน “มาร์กซ” ได้อ้างคำพูดของ “แกลดสตัน” ในทำนองที่ว่า

“การเพิ่มขึ้นของความร่ำรวยและอำนาจอย่างเมามายนี้ เกิดขึ้นกับเฉพาะชนชั้นที่มีทรัพย์สินเท่านั้น”!

“มาร์กซ” ยังอ้างถึงคำพูดนี้อีกในหนังสือ “ว่าด้วยทุน”

ไม่นานนัก ความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ “มาร์กซ” อ้าง กับที่มีบันทึกในรายงาน(ซึ่งเป็นที่แพร่หลาย) ถูกนำมาใช้เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของแนวร่วมระหว่างประเทศ “มาร์กซ” พยายามจะโต้ตอบข้อกล่าวหาเรื่องความไม่ซื่อสัตย์นี้ แต่ว่าข้อกล่าวหานั้นก็ยังคงกลับมาเรื่อยๆ

ในภายหลัง “มาร์กซ” ได้ระบุแหล่งข้อมูลที่เขาใช้ ว่าคือหนังสือพิมพ์ “เดอะ มอร์นิ่ง สตาร์” ซึ่ง “แองเกล” ได้ใช้เนื้อที่ในส่วนคำนำในการพิมพ์ครั้งที่สี่ ของหนังสือ “ว่าด้วยทุน” เพื่อพูดถึงเรื่องนี้ แต่ก็ไม่อาจจบข้อโต้เถียงนี้ลงได้ “แองเกล”อ้างว่าแหล่งข่าวนั้นไม่ใช่ “เดอะ มอร์นิ่ง สตาร์” แต่เป็น “ไทมส์” นักข่าว “พอล จอห์นสัน” ที่มักวิจารณ์แนวคิด “มาร์กซ” ยังคงใช้เรื่องนี้ในการกล่าวหา “มาร์กซ” เรื่องความซื่อสัตย์

ในเวลาเดียวกัน อันถือเป็นช่วงปลายชีวิตของ “มาร์กซ” แล้ว ที่ลอนดอน ยังมีการโต้เถียงเรื่องการอ้างคำพูดของ “แกลดสตัน” ในขณะที่ “มาร์กซ” ได้ทุ่มเทเวลาไปกับการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์และทฤษฎี สำหรับการเขียนหนังสือ “ว่าด้วยทุน” (ในชื่อเดิมว่า ทุน: บทวิพากษ์ทางเศรษฐศาสตร์การเมือง มาร์กซ ตีพิมพ์เล่มแรกของชุดในปี ค.ศ.1867 ส่วนอีกสองเล่มที่เหลือ “มาร์กซ” ไม่ได้เป็นผู้เขียนให้เสร็จสิ้น แต่ได้รับการเรียบเรียงโดยเพื่อนรัก “แองเกล” จากบันทึกและร่างต่างๆ และตีพิมพ์หลังจาก “มาร์กซ”เสียชีวิตไปแล้ว)

ช่วงเวลาที่ “มาร์กซ” ใช้ชีวิตอยู่ในลอนดอน ครอบครัวของ “มาร์กซ” ค่อนข้างยากจน ยังคงถูกสื่อมวลชนบางคนโจมตีกล่าวหา โดยไม่รู้ว่าเพื่อนรักที่ร่ำรวยอย่าง “แองเกล” ต้องให้เงินช่วยเหลือ “มาร์กซ” เป็นระยะๆ

“คาร์ล มาร์กซ” ผู้คลอดทฤษฎี “คอมมิวนิสต์” เสียชีวิตที่ลอนดอนในปี ค.ศ. 1883 (พ.ศ.2426) ร่างของเขาถูกฝังที่ “สุสานไฮห์เกต” ณ กรุงลอนดอน ป้ายหลุมศพจารึกข้อความว่า..

Workers of all lands, unite!  (กรรมาชีพในทุกพื้นที่ จงรวมพลัง!)

“ชาวคอมมิวนิสต์” ทั้งที่ “ยังยึดอำนาจรัฐไม่ได้” แล ะ“ยึดอำนาจรัฐได้แล้ว” แม้แต่ “พรรคคอมมิวนิสต์ไทย” ได้นำข้อความดังกล่าว ไปใช้เป็น “คำขวัญอันทรงพลัง” ว่า “ขอกรรมาชีพทั่วโลก จงรวมกันเข้า”

และเป็นที่รู้กันในหมู่ “ชาวคอมมิวนิสต์” ว่า..

“มาร์กซ-แองเกล บิดาแห่งลัทธิคอมมิวนิสต์” ต้องการตะโกนดังๆ หวังทำให้ “ความฝันเป็นความจริง” เรียกร้อง “ชนกรรมาชีพทั่วโลก จงรวมพลังปฏิวัติโลก” ไงล่ะ?!

“ฝัน” ของ “คาร์ล มาร์กซ” กับ “เฟรดเดอริก แองเกล” ที่ “สิ้นชีวิตไปนานแล้ว” มิได้เป็นแค่ “ความฝัน” เลื่อนลอย.. แต่มันได้กลายเป็น “ความจริง” แล้วในบางแห่งบนโลก..?!

แต่หากจะพูดถึง “ฝันแรก” เมื่อ “มาร์กซ” ค้นพบข้อมูลจาก “ห้องสมุดใหญ่ในยุโรป” ซึ่ง “มาร์กซ” ได้ระบุไว้ว่า เนื่องจากความยากจนของผู้คนจำนวนมหาศาล ในชมพูทวีปอย่างประเทศอินเดีย.. เขาเชื่อมั่นเต็มร้อยถึงกับฟันธงเปรี้ยงว่า “อินเดียจะเป็นคอมมิวนิสต์ชาติแรกของโลก”?!!

 เป็น “ฝันแรก” ที่ “คาร์ล มาร์กซ” พลาดอย่างแรง!!

บทความชิ้นต่อไป มาดูกันว่า รัฐคอมมิวนิสต์แห่งแรกเกิดขึ้นที่ไหน.. 


กำลังโหลดความคิดเห็น