xs
xsm
sm
md
lg

เปิดความจริง ทำไม “สุขภาพเราไม่ถึงเหมือนเดิม” กับผลสำรวจคนไทยมีผลกระทบจากวัคซีนและลองโควิด “หมอธีระวัฒน์” เตรียมลงนามกับ “อ.ปานเทพ” ร่วมวิจัยหาทางออก / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์


มีคนจำนวนมากมีความรู้สึกถึง “สุขภาพสภาพร่างกายไม่เหมือนเดิม” หลังจากผ่านการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งรวมถึงหลังได้รับวัคซีน แต่ดูเหมือนว่าในวงการแพทย์และการสาธารณสุขยังมีการกล่าวถึงเรื่องนี้ยังอยู่ในวงจำกัดมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาของผลกระทบของ “วัคซีน“

เป็นที่เข้าใจได้ถึงสถานการณ์ฉุกเฉินและข้อมูลอันมีอย่างจำกัด ในช่วงเวลาหนึ่ง ที่ภาครัฐได้ตัดสินใจส่งเสริมสนับสนุนหรือการรณรงค์ของภาครัฐในการฉีดวัคซีนมาโดยตลอด โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง หรือที่เรียกว่า กลุ่ม 608 (อายุ 60 ปีขึ้นไป และ 8 กลุ่มเสี่ยงคือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และหญิงตั้งครรภ์)[1]

แต่ภาครัฐ รัฐบาลหรือผู้รณรงค์การฉีดวัคซีน ควรจะต้องให้ความรู้ประชาชนถึง “ความเสี่ยง”รอบด้านจากการรับวัคซีนของประชาชนด้วย เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักและตัดสินใจบนข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้าน

โดยเฉพาะปัญหาของประชาชนที่เผชิญหน้าอยู่จากการเจ็บป่วยอันเป็นผลกระทบของวัคซีนนั้น ยังไม่มีนโยบายการแสวงหาข้อเท็จจริงด้วยผลวิทยาศาสตร์ มีแต่การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารในโซเชียลมีเดียมาโดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา และการไม่ยอมรับว่ามีผู้ที่ได้รับผล กระทบจากวัคซีนมีอยู่จริงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

การไม่พยายามหาข้อเท็จจริง ปกปิดข้อเท็จจริง มีผลทำให้ประชาชนไม่สามารถจะรู้ได้ว่าตัวเองป่วยเป็นโรคอะไร และหาสาเหตุที่แท้จริงไม่เจอ และไม่สามารถหาทางรักษาตัวเองที่ถูกต้องได้ด้วย

 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้เขียนบทความเรื่อง “กลุ่มอาการหลังวัคซีนโควิด (ตอนที่ 1) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566  มีการยกตัวอย่างกรณีศึกษา ความตอนหนึ่งว่า

 “ยกตัวอย่างเช่นเด็กผู้ชายอายุ 14 ขวบได้รับวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอสามเข็มโดยเข็มสุดท้ายเก้าเดือนก่อนที่จะมีอาการของหัวใจอักเสบหัวใจวายรุนแรงและกล้ามเนื้อแขนขาอักเสบอัมพาตยกแขนขาไม่ได้ เมื่อดูเงื่อนไขของเวลาเผินๆ อาจจะตัดประเด็นของวัคซีนได้เลย

แต่การสืบหาสาเหตุอย่างอื่นทั้งตัวไวรัสโควิดและไวรัสอีกหลายชนิดทั้งหมดรวมทั้งภาวะภูมิแปรปรวนที่ทำให้เกิดการอักเสบ อีกทั้งสามารถตรวจพบเศษของวัคซีนในกล้ามเนื้อหัวใจและมีการอักเสบอย่างรุนแรงในกล้ามเนื้อหัวใจทั้งนี้ได้รับการรักษาด้วยการเปลี่ยนถ่ายน้ำเหลือง และการให้สารสกัดน้ำเหลือง ตลอดจนยากดภูมิคุ้มกัน แม้ว่าหัวใจอักเสบหัวใจวายจะดีขึ้นแต่แขนขายังขยับไม่ได้ ทั้งหมดนี้ต้องใช้การตรวจในห้องปฏิบัติการการรักษาในระดับเป็นแสนเป็นล้านบาทต่อหนึ่งคน”[2] 

สำหรับผู้เขียนก็เคยได้รับรู้ถึงเด็กคนหนึ่งซึ่งผู้ปกครองพามาหาเพื่อขอรับคำปรึกษาด้านสุขภาพ เพราะเด็กคนดังกล่าวได้รับผลกระทบจากวัคซีน คือมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงต่อเนื่องมากขึ้นเรื่อยๆ จนเดินไม่ได้ ไปตรวจรักษาในต่างจังหวัดก็ไม่พบสาเหตุ เมื่อมาตรวจที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งจึงมีการเจาะไขกระดูกสันหลัง จึงพบว่าเด็กคนดังกล่าวได้รับผลกระทบจากวัคซีน และทำให้แพทย์ต้องจ่าย สารภูมิต้านทานที่เรียกว่า  อิมมิวโนโกลบูลิน(immunoglobulin)เข้าทางหลอดเลือด แม้จะมีอาการดีขึ้น แต่ก็ไม่เหมือนเดิม และแพทย์ยังได้กำชับว่าแพทย์ให้การรักษาเต็มที่แล้ว แต่ขอห้ผู้ปกครองอย่าได้เปิดเผยเรื่องผลกระทบของวัคซีนนี้สู่สาธารณะ

ดังนั้น ใครก็ตามที่คิดจะปกปิดข้อมูลเหล่านี้เพื่อทำให้การรณรงค์ฉีดวัคซีนดำเนินการต่อไปโดยสะดวกเป็นการกระทำที่สมควรหรือไม่ เพราะการปกปิดข้อมูลคือการทำให้ประชาชนไม่ตระหนักรับรู้ถึง “ความเสี่ยง”ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งไม่เป็นธรรมกับประชาชนอย่างยิ่ง

เพราะนอกจากผู้ป่วยจะไม่รู้ตัวว่ามีสุขภาพร่างกายไม่เหมือนเดิมอันเป็นผลกระทบจากวัคซีนแล้ว การตรวจหาข้อพิสูจน์เรื่องผลกระทบต่อวัคซีนเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก อีกทั้งยังมีการช่วยกันปกปิดข้อมูลในเรื่องผลกระทบต่อวัคซีนทั้งในโชเชียลมีเดียที่สำคัญของโลก แม้แต่ในวงการแพทย์ก็มีการปกปิดข้อมูลดังกล่าวอยู่ด้วย

นอกจากนั้นแพทย์ส่วนใหญ่จะไม่พยายามแสวงหาการเจ็บป่วยหรือการตายอันเนื่องมาจากผลกระทบจากวัคซีน โดยเลือกที่จะไปโทษสาเหตุอื่นๆทั้งหมดแทน จริงหรือไม่?

คนเหล่านี้ปกป้อง “วัคซีน” ยิ่งกว่าปกป้อง “ประชาชน”ที่ได้รับผลกระทบจากวัคซีน จริงหรือไม่?

 อย่างไรก็ตาม เริ่มมีผู้วิเคราะห์สาเหตุการตายที่สูงเกินกว่าที่จะอธิบายได้เมื่อเทียบในช่วงเวลาก่อนโควิด ในระหว่างการระบาดของโควิดและหลังจากระบาดเริ่มสงบไปแล้ว และในช่วงที่เริ่มมีการใช้วัคซีน ที่เรียกว่าอัตรา excess deaths ซึ่งนำเสนอมาอย่างต่อเนื่องโดย นพ.อรรถพล สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง [3]-[5]

ภาคประชาสังคมที่เห็นความผิดปกติในเรื่องนี้ได้รวมตัวกันในนาม “กลุ่มแพทย์และจิตอาสาคนไทยพิทักษ์สิทธิ์” โดยได้เคลื่อนไหวและให้ความรู้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 โดยได้นำเสนอสถิติอัตราการเสียชีวิตของคนไทยอย่างผิดปกติในแต่ละปีงบประมาณเอาไว้โดยมีสาระสำคัญว่า ประชาชนชาวไทยหลังการระบาดโรคโควิด-19 มีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าก่อนช่วงการเกิดโรคระบาดโควิด-19

ปีงบประมาณ 2560 ประชาชนชาวไทยเสียชีวิตทั้งสิ้น 465,389 ราย
ปีงบประมาณ 2561 ประชาชนชาวไทยเสียชีวิตทั้งสิ้น 476,455 ราย
ปีงบประมาณ 2562 ประชาชนชาวไทยเสียชีวิตทั้งสิ้น 497,339 ราย
ปีงบประมาณ 2563 (โควิด-19 ระบาด) ประชาชนชาวไทยเสียชีวิตทั้งสิ้น 498,963 ราย
ปีงบประมาณ 2564 (โควิด-19 ระบาดเป็นปีที่ 2) ประชาชนชาวไทยเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 จนถึงปลายปีได้ถึง 100 ล้านโดส ประชาชนชาวไทยเสียชีวิตเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 548,174 ราย
ปีงบประมาณ 2565 (โควิด-19 หยุดการระบาดหนัก) ประชาชนชาวไทยเสียชีวิตทั้งสิ้น 590,174 ราย
ปีงบประมาณ 2566 ประชาชนชาวไทยเสียชีวิต 576,516 ราย

ดังนั้น ค่าเฉลี่ยการเสียชีวิตของคนไทย 5 ปีก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 คือ 473,375 รายต่อปี ปีงบประมาณ 2566 จึงมีผู้เสียชีวิตจากค่าเฉลี่ย 5 ปีก่อนโควิด-19 ถึง 103,141 ราย หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 22[6]

อัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ แม้พ้นช่วงการระบาดโรคโควิด-19 ไปแล้ว การขอให้สืบสวนข้อเท็จจริงจึงถือว่าเป็นข้อเรียกร้องที่สำคัญยิ่ง

เพราะแม้ว่าอัตราการเสียชีวิตในปี 2566 จะเกิดขึ้นมากกว่าช่วงเวลาก่อนการระบาดของโควิด หรือเกินกว่าที่อธิบายได้ excess deaths อาจจะเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ แต่การจะด่วนว่าไม่เกี่ยวกับวัคซีนเลยนั้นก็เป็นเรื่องที่ด่วนสรุปเกินไป เพราะในความจริงรัฐจะต้องเร่งใช้งบประมาณและสรรพกำลังบุคลากรลงไปสืบสวนหาสาเหตุของการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติจริงหรือไม่?

เพราะการเสียชีวิตเกินผิดปกติไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น แต่การเรียกร้องจนพิสูจน์ได้ว่ามีการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องจากวัคซีนยังเกิดขึ้นในต่างประเทศอีกด้วย

 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ได้นำเสนอบทความเผยแพร่ผลการศึกษาในความร่วมมือกันของกลุ่มแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ทั้งจากสหรัฐอเมริกาและแคนนาดาที่ได้วิเคราะห์ฐานข้อมูลที่ดำเนินการภายใต้สหภาพยุโรป โดยได้ทำการการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการได้รับวัคซีนโควิดและตายที่มีรายงานมาล่วงหน้าจนกระทั่งถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 2566

หลังจากคณะวิจัยที่ได้มีการกลั่นกรองข้อมูลทั้งหมดจาก 678 รายการ โดยจุดประสงค์เพื่อที่จะให้หลักฐานว่า วัคซีนโควิดเป็นสาเหตุตรงหรือเป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้เสียชีวิตมากน้อยเพียงใด

 โดยผลการชันสูตรศพผู้เสียชีวิตหลังจากฉีดวัคซีนโควิด 326 รายในสหรัฐอเมริกา พบ 240 รายหรือมากถึงร้อยละ 73.9 เกี่ยวข้องกับวัคซีน

 โดยผลการศึกษาพบว่าผู้ที่เสียชีวิตอันเนื่องมาจากปัจจัยวัคซีน มีระบบที่เสียหายและเกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิดจนถึงเสียชีวิตนั้น ประกอบไปด้วย ระบบหัวใจและหลอดเลือดร้อยละ 53 ระบบทางโลหิตวิทยาร้อยละ 17 ระบบทางเดินหายใจ 8 และมีหลายระบบเสียหายร่วมกัน 7 ทั้งนี้ 21 รายในจำนวนผู้เสียชีวิตดังกล่าวมีอวัยวะที่ได้รับผลกระทบสามระบบหรือมากกว่า โดยที่302 รายเกิดจากระบบอวัยวะเดียว 3 รายเกิดจากสองระบบ 8 รายเกิดขึ้นในสามระบบและ 13 รายเกิดขึ้นใน 4 ระบบหรือมากกว่า

 ขณะเดียวกันผลการศึกษาในยุโรป 31 ประเทศ พบว่าประเทศที่ฉีดวัคซีนโควิดมากในปี 2021 จะมีการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2022

 และยังประเมินว่า การตายจากวัคซีนที่รายงานเข้าในระบบ VAERS (Vaccine Adverse Event Reporting System) ของสหรัฐอเมริกา ต่ำกว่าความจริงกว่า 20 เท่า ดังนั้นการเสียชีวิตจากวัคซีนที่มีการรายงานจากระบบของสหรัฐ จนกระทั่งถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 อาจจะสูงถึง 706,480 รายจากตัวเลขที่รายงาน 35,324 ราย[7]

 ดังนั้น การเสียชีวิตอย่างผิดปกติของคนไทยจึงสมควรที่จะสืบสวนหาข้อเท็จจริงอย่างยิ่ง เพราะทิศทางในผลการศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามีการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นผิดปกติอันเป็นผลต่อเนื่องจากผู้ที่ฉีดวัคซีนด้วย

ที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องต่อต้านวัคซีน (แม้ผู้เขียนจะไม่ได้ฉีดวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว) แต่ประชาชนผู้ตัดสินใจฉีดวัคซีน ควรจะได้รับความเป็นธรรมในการได้รับข้อมูลถึง “ความเสี่ยง” อย่างครบถ้วนอย่างรอบด้านทั้งการตัดสินใจฉีดวัคซีนและการไม่ฉีดวัคซีน ทั้งความเสี่ยงในระยะสั้นและในระยะยาว(ที่รู้แล้วหรือยังไม่รู้)ตั้งแต่แรก เท่าที่มีข้อมูลในขณะนั้น และให้คำเตือนถึงความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีข้อมูลมากขึ้นตามกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป

เช่นเดียวกับอีกด้านหนึ่ง ที่ประชาชนจำนวนมากได้ตัดสินใจฉีดวัคซีนไปแล้วเกิดผลข้างเคียงอยู่จริงในปัจจุบัน ก็ควรที่จะรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชน “รู้ตัว” หรือรีบตรวจหาความจริง เพื่อนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องต่อไป และถ้าเจ็บป่วยรัฐบาลก็ควรเร่งวิจัยและรวบรวมองค์ความรู้ทั่วประเทศในการรักษาผู้ที่มีอาการเหล่านี้ จริงหรือไม่?

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงปัญหาโรคต่อเนื่องเรื้อรังจากภาวะลองโควิดอีกด้วยว่า

“นอกจากนั้นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นที่ทอดยาวเป็นเวลานานเกินกว่าสามเดือนหลังจากติดเชื้อโควิดที่เรียกว่าลองโควิด (long covid) โดยมีทั้งอาการทางระบบหัวใจและปอด ระบบสมองประสาทและกล้ามเนื้อ ภาวะที่มีการอักเสบของผิวหนัง เส้นเอ็นพังผืด กล้ามเนื้อ ข้อ ตลอดจนการปะทุขึ้นของโรคที่ไม่เคยเป็นมาก่อนหรือโรคที่สงบไปแล้ว รวมทั่งมะเร็งและการเกิดเริมงูสวัดซึ่งไวรัสเหล่านี้เป็นไวรัสที่ซ่อนอยู่ในร่างกายจากการติดเชื้อเนิ่นนานมาแล้ว และถูกกดไม่ให้แสดงตัวออกมาจากการควบคุมของระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงของร่างกาย และยังรวมถึงการนอนหลับที่ผิดปกติหลับยากหลับกระท่อนกระแท่น จนถึงฮอร์โมนแปรปรวนทั้งผู้ชายและผู้หญิง”[2]

 นอกจากนั้นคณะทำงานของ ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นำโดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ยังได้ร่วมกับภาควิชาอายุรศาสตร์และสาขาประสาทวิทยาคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์ ได้ทำการติดตามผู้ที่ได้รับผลกระทบในลักษณะนี้โดยอาการขณะที่เป็นโควิดไม่รุนแรงแต่อาการหลังจากนั้นกลับรุนแรงและยืดยาว และสืบค้นผู้ได้รับผลกระทบจากวัคซีนชนิดต่างๆ ทั้งหมดแล้วเกือบ 100 รายด้วยกัน โดยติดตามหลายวาระเป็นเวลานานกว่าหนึ่งปี

แม้ว่ารายงานการติดตามผลดังกล่าวจะยังไม่ได้ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ แต่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา เห็นความสำคัญว่าเมื่อทำการศึกษาแล้วควรให้ประชาชนได้รับข้อมูลข้อเท็จจริงเร็วที่สุด โดยได้รายงานเบื้องต้นก่อนการตีพิมพ์ให้ทราบว่า

 “สิ่งที่น่าตกใจก็คือแม้ว่าอาการตอนแรกหลังจากติดเชื้อโควิดหรือหลังจากได้รับวัคซีนมีผลไม่มากนักแต่ระยะต่อมามีผลกระทบแม้ว่าอาการจะเริ่มสงบไปแล้วก็ตาม

 โดยผลกระทบ สามารถพิสูจน์ได้ด้วยการวิเคราะห์การอักเสบในเลือด 13 ชนิด และผลกระทบต่อสมองโดยมีการจุดปะทุ ของการอักเสบในสมองจากเซลล์ Astroglia microglia ที่เรียกว่า GFAP และมีระดับของโปรตีน พิษอัลไซเมอร์ในสมองรวมทั้งมีการทำลายเนื้อสมอง ด้วย (จากการตรวจค่า NFL)ลักษณะนี้ทำให้ต้องตระหนักว่าภาวะสมองเสื่อมได้เกิดขึ้นเงียบๆ โดยไม่แสดงอาการด้วยซ้ำ และยังสามารถทำให้โรคดำเนินต่อไปได้จากภาวะของโรคเมตาบอลิคของตนเองทั้งอ้วน เบาหวานความดันสูง การไม่ออกกำลังอาหารที่มากด้วยเนื้อสัตว์การขาดการบริโภคผักผลไม้กากใย

 สมองเสื่อมในลักษณะนี้เป็นที่ตระหนักและมีการประกาศจากสมาคมสมองเสื่อมของสหรัฐและนานาชาติมาตั้งแต่ช่วงโควิดจนกระทั่งถึงปัจจุบัน“[2]

ลำพังผลข้างเคียงต่อการได้รับวัคซีนหรือลองโควิดก็เป็นเรื่องใหญ่แล้ว แต่ปัญหาสำคัญที่ต้องตระหนักในปัจจัยเสี่ยงอย่างรอบด้านคือ การยิ่งฉีดวัคซีน mRNA มากกลับสร้างปัญหาใหม่ในเรื่องระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยรวมเปลี่ยนแปลงไป ยังทำให้ประสิทธิภาพยิ่งลดลง และทำให้เกิดความเสี่ยงเกิดภาวะหัวใจอักเสบอีกด้วย[8]

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 วารสารภูมิคุ้มกันวิทยาที่ชื่อว่า SCIENCE IMMUNOLOGY ได้รายงานว่าเมื่อฉีกวัคซีน mRNA มากขึ้นแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันอาจจะผิดเพี้ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  แอนติบอดีจะปรับเปลี่ยนเป็น IgG4 ซึ่งทำให้หน้าที่ในการฆ่าไวรัสด้อยลงเมื่อเทียบกับ IgG 1 และ 3 และ อาจอธิบายประสิทธิภาพที่ถูกจำกัดลง[8]-[9]

คณะวิจัยที่นำโดย รศ.พญ.ปารวี ชีวะอิสระกุล คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้เผยแพร่รายงานเอาไว้ในวารสาร Nature Scientific Report เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2565 ได้กล่าวถึงประเด็นการฉีดวัคซีนหลังเข็มที่ 3 ว่าจะทำให้ภูมิคุ้มกันชนิด T Cell หมดแรง[8],[10]

โดยภาพรวมการฉีดวัคซีนที่มากเกินไป เพิ่มอัตราความเสี่ยงในการอักเสบของหลอดเลือด เสี่ยงภาวะหัวใจอักเสบ ระบบภูมิคุ้มกันมีการเปลี่ยนแปลงจนถึงขั้นหมดแรง

ถึงเวลาหรือยังที่เราจะต้องยอมรับความจริงในสิ่งนี้ และเร่งศึกษาหาข้อเท็จจริง เผยแพร่ไปให้ประชาชนเริ่มสำรวจในอาการที่เป็นอยู่ ตรวจผลแลปในข้อสงสัยเรื่องภาวะสมองเสื่อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยอมรับความจริงเท่านั้น จะนำไปสู่การรวบรวมความรู้ในการรักษาประชาชนที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป สุขภาพที่อ่อนแอลงไปให้กลับมาแข็งแรงขึ้น

ด้วยเหตุผลนี้ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย  ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา พันธ์ จึงจะลงนามความร่วมมือทางด้านวิชาการและการวิจัยกับวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต นำโดย อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์ ซึ่งมีอุดมการณ์และเจตนาตรงกันที่จะร่วมกันสนับสนุนงานด้านวิชาการและงานวิจัยหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนางานวิจัยโครงการภาคีเครือข่ายสมองเสื่อมแบบประยุกต์ และงานวิจัยด้านลองโควิด-19 และผลกระทบของวัคซีนโควิด-19 ด้วย

จึงขอเชิญท่านผู้สื่อข่าวและท่านที่สนใจมาร่วมการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ โดยจะได้มีการแถลงจุดยืนสู่สาธารณะเพื่อสร้างความตระหนักต่อทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาที่เป็นภัยต่อสุขภาพของคนไทยในเวลานี้ ในวันจันทร์ที่ 15 มกราคม 2567 เวลา 13.30 น. ณ ห้อง District M โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ กรุงเทพมหานคร

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต
11 มกราคม 2567

อ้างอิง
[1] สื่อมัลติมีเดียกรมอนามัย, กลุ่ม 608 คือกลุ่มคนที่ต้องได้รับการวัคซีนป้องกันโควิด-19 มากที่สุด, 16 มกราคม 2565
https://multimedia.anamai.moph.go.th/anamai-toons/covid-vaccine-4/

[2] ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา, กลุ่มอาการหลังวัคซีนโควิด (ตอนที่ 1), ผู้จัดการออนไลน์, 15 ธันวาคม 2566
https://mgronline.com/daily/detail/9660000112456

[3] นพ.อรรถพล สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง, หวั่นผลข้างเคียงวัคซีน ภาพรวมตายเยอะกว่าปีก่อน ห่วงเด็กยังฉีดทั้งที่ไม่จำเป็น, ผู้จัดการออนไลน์, 9 พฤศจิกายน 2565
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9650000106851

[4] นพ.อรรถพล สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง, หมออรรถพล ตอบกระทรวงสาธารณสุข กรณี Excess Death "ทำไมยังเชียร์ให้เด็กๆ ไปรับวัคซีนอยู่“,ผู้จัดการออนไลน์, 12 พฤศจิกายน 2565
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9650000108219

[5] รายการคนเคาะข่าว, ฉีดอะไรเข้าไปในร่างกาย? เรื่องที่วงในการแพทย์รู้ แต่พูดไม่ได้, ผู้จัดการออนไลน์ 14 กุมภาพันธ์ 2566
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9660000014722

[6] เรณู เขมาปัญญา, กลุ่มแพทย์และจิตอาสาคนไทยพิทักษ์สิทธิ์ เรียกร้องให้มีการสืบสวนหาสาเหตุการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติของคนไทย, เว็บไซต์ข่าววิทยุรัฐสภา, 9 มกราคม 2567
https://www.tpchannel.org/radio/news/24200

[7] ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา, “หมอธีระวัฒน์” เผยผลชันสูตรผู้ตายหลังฉีดวัคซีนโควิดในสหรัฐฯ พบ 73.9% เกี่ยวข้องกับวัคซีน คาดรายงานตัวเลขต่ำกว่าจริง 20 เท่า, ผู้จัดการออนไลน์ 18 ธันวาคม 2566
https://mgronline.com/qol/detail/9660000113303

[8] ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา, “หมอธีระวัฒน์” เผยรายงาน วัคซีน mRNA ยิ่งฉีดมากประสิทธิภาพยิ่งลด เสี่ยงหัวใจอักเสบ ใครฉีดกระตุ้นแล้วไม่จำเป็นฉีดอีก, ผู้จัดการออนไลน์, 17 ธันวาคม 2566
https://mgronline.com/qol/detail/9660000112970

[9] PASCAL IRRGANG , et al., Class switch toward noninflammatory, spike-specific IgG4 antibodies after repeated SARS-CoV-2 mRNA vaccination, SCIENCE IMMUNOLOGY, 22 Dec 2022, Vol 8, Issue 79
DOI: 10.1126/sciimmunol.ade2798
https://www.science.org/doi/10.1126/sciimmunol.ade2798

[10] Parawee ChevaiHybrid, et al., Hybrid and herd immunity 6 months after SARS-CoV-2 exposure among individuals from a community treatment program, Scientific Reports 13, Article number: 763 (2023)
https://www.nature.com/articles/s41598-023-28101-5


กำลังโหลดความคิดเห็น