เมื่อถึงเทศกาลสิ้นปีเก่า ขึ้นปีใหม่ของทุกปี สื่อมวลชนได้ตั้งฉายาให้กับองค์กรทางการเมือง และนักการเมืองอันเป็นปัจเจกในตำแหน่งต่างๆ อันได้แก่รัฐบาล สภาฯ และรัฐมนตรี เป็นต้น เพื่อสะท้อนพฤติกรรมทางการเมืองในบทบาทต่างๆ ทั้งที่แสดงออกอย่างเปิดเผยและซ่อนเร้น เพื่อให้มองเห็นเจตนาที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไร
ในวาระที่ปี พ.ศ. 2566 ได้สิ้นไป และปี พ.ศ. 2567 เข้ามาใหม่ก็ทำนองเดียวกันกับทุกปีที่ผ่านมา สื่อมวลชนได้ตั้งฉายาทางการเมืองเช่น “รัฐบาลแกงส้ม “ผลัก” รวม และนายกฯ เซลส์แมน สแตนด์ชิน” เป็นต้น ส่วนจะหมายถึงอะไรนั้น ได้มีการเผยแพร่ความหมายทางสื่อต่างๆ ไปแล้วอย่างกว้างขวางเป็นที่ทราบกันไปแล้ว
แต่ที่นำมาเขียนอีกครั้ง ก็เพื่ออธิบายขยายความเกี่ยวกับผลที่เกิดขึ้น และการใช้ภาษาที่น่าจะนำมาเป็นข้อคิดในมุมมองที่แตกต่างออกไป
เริ่มด้วยฉายาของรัฐบาล ถ้ามองเจตนาที่ผู้ตั้งต้องการสื่อให้ท่านผู้อ่าน และท่านผู้ฟังเข้าใจว่าพรรคเพื่อไทยแกล้งร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล โดยยอมให้พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ และเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ผ่านการเห็นชอบของที่ประชุมรัฐสภา เนื่องจาก สว.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย โอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลจึงตกมาเป็นของพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี และมีการเปลี่ยนพรรคร่วมรัฐบาลเข้ามาใหม่ พร้อมกับผลักก้าวไกลออกไปเป็นฝ่ายค้านร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ พฤติกรรมทางการเมืองเยี่ยงนี้ของพรรคเพื่อไทยในมุมมองของสื่อ โดยเฉพาะสื่อที่หนุนพรรคก้าวไกล ถือว่าเป็นการแกล้งพรรคก้าวไกล จะเห็นได้จากคำว่า แกล้งเป็นแกงซึ่งเป็นภาษาของสาวกก้าวไกล
แต่เมื่อสื่อไปถามคนบางคนจากพรรคเพื่อไทย กลับได้รับคำตอบที่ไม่ตรงกับเจตนาที่ผู้ตั้งฉายาต้องการเช่น คำตอบที่ว่าชอบกินแกงส้มผักรวม เป็นต้น จึงทำให้มองเห็นนิสัยถาวรของคนเป็นนักการเมือง และทำให้เกิดข้อคิดที่ว่า บางครั้งการแกล้งโง่ช่วยให้ผู้ถูกถามเลี่ยงที่จะตอบคำถามตรงประเด็นไปได้แบบน้ำขุ่นๆ
ดังนั้น การตั้งฉายาแทนที่จะทำให้ผู้ได้รับฉายารู้สึกละอายต่อการกระทำของตนเอง และปรับปรุงแก้ไขกลับมีผลตรงกันข้ามคือ ทำให้มองเห็นนักการเมืองแกล้งโง่ โดยเลี่ยงไม่ตอบคำถามตรงประเด็นหรือด้วยการแสดงอารมณ์ฉุนเฉียว เป็นการเบี่ยงเบนประเด็น ถ้าเห็นว่าตอบตรงประเด็นแล้วเข้าตัว
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าการตั้งฉายาทางการเมือง ไม่ทำให้นักการเมืองละอายในสิ่งที่ตนเองทำ ทางที่ดีสื่อมวลชนควรนำเสนอความผิดพลาดบกพร่องขององค์กรทางการเมือง และนักการเมืองอย่างตรงไปตรงมา พร้อมทั้งข้อเสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขน่าจะดีกว่าเอาเวลาไปคิดประดิษฐ์วาทกรรมให้ประชาชนนั่งอ่านแล้วรู้สึกสงสารตนเองที่เลือกนักการเมืองประเภทนี้ ถามช้างตอบม้าเข้ามาและเสียเวลาในการฟังคำตอบที่ไม่ตรงคำถาม ทั้งอาจเสียเวลาในการตีความอีกต่างหาก
ในความเป็นสื่อมวลชน ผู้เขียนเข้าใจเจตนาของสื่อที่พยายามหาคำมาตั้งฉายา เพื่อสะท้อนเจตนาอันเป็นที่มาของพฤติกรรมของนักการเมือง เพื่อให้เจ้าของพฤติกรรมอ่านแล้ว ฟังแล้วได้คิดและทบทวนพฤติกรรมที่ตนเองได้กระทำในอดีต แล้วนำมาเป็นบทเรียนในการปรับปรุงแก้ไขมิให้พฤติกรรมเช่นนั้นเกิดขึ้นอีกในอนาคต
แต่ผู้ที่ทำหน้าที่สื่อมวลชนก็ต้องยอมรับว่านักการเมืองก็คือนักการเมือง ส่วนใหญ่จะเหมือนกันคือเข้าใจและเห็นประชาชนในตอนหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง แต่เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้วนักการเมืองเกือบทุกคนจะฟังนายทุนของพรรคหรือผู้ที่นายทุนพรรคมอบหมายให้ดูแลทุกคนในพรรค ทั้งนี้เป็นไปตามเจตนาที่แท้จริงของการลงสู่สนามการเลือกตั้งทางการเมืองทุกคนที่อ้าง “โดยประชาชน เพื่อประชาชนในทางทฤษฎี แต่ในความเป็นจริงเท่าที่เป็นอยู่ก็คือ โดยประชาชน แต่เพื่อตนเอง และพวกพ้องก่อนประเทศ และประชาชนเป็นส่วนใหญ่”