โดย ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที
ผมเก็บเมล็ดยางพารานี้มาจากภาคอีสาน ผมเห็นเส้นทางเดินของเมล็ดพืชเศรษฐกิจตัวนี้ ในปลายศตวรรษที่ 19 ยางพาราสักต้นคงยังไม่มีการปลูกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะในลอนดอน ปารีส นิวยอร์ก เขาใช้รถม้าแรงงานสัตว์ในระบบขนส่งในมหานครใหญ่ของโลก
หลังจากที่เครื่องสันดาปภายในมาแทนที่เครื่องจักรไอน้ำ อุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มสร้างรถยนต์มาใช้ในยุโรป แน่นอนว่าวัตถุดิบยางพาราที่เก็บจากป่าในประเทศบราซิล มีไม่เพียงพออีกแล้วต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในยุโรปและรัฐมิชิแกนที่ขยายตัวเติบโต
อังกฤษมีพื้นที่ในอาณานิคมมาลายู จึงลักลอบนำเมล็ดยางพารามาปลูกโดยให้เหตุผลกับบราซิลว่านำมาวิจัยและทดลองการปลูก จนในที่สุดตั้งแต่ปี 1888 จนถึงวันนี้ยางพาราได้เดินทางมาอย่างยาวนาน มางอกเงยในแผ่นดินภาคอีสานและ จ.น่านเพื่อทดแทนข้าวโพด
ใครเคยคิดไหมว่า ประเทศสิงคโปร์ใจกลางเมืองเคยเป็นสวนยางมาก่อนและปี 1910 (พ.ศ.2443) บริษัท 30 กว่าบริษัทในตลาดทุนในลอนดอน มาลงทุนปลูกยางพาราใน สิงคโปร์ มะละกา เประ ยะโฮร์
พืชแห่งความมั่งคั่งของอุตสาหกรรมรถยนต์โลก แน่นอนว่าท่านคอซิมบี้ ท่านคงเห็นโอกาส ความมั่งคั่งบนโลกเช่นกัน ว่ากลุ่มอาณานิคมด้านมาลายูเขาปลูกพืชอะไรกัน (Southeast Asia Rubber Boom ) มูลค่าของราคายางในตลาดโลกปี1910 ยางพาราแค่ 2 กิโลครึ่งมีมูลค่าในสมัยรัชกาลที่ 5 เท่ากับมูลค่าทองคำหนักหนึ่งบาท
ด้วยแรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์และกำไร จึงเป็นเหตุผลที่ยางพารากระจายไปอย่างรวดเร็ว ในอาณานิคมมาลายู และกระจายตัวมาตามการเปิดป่าในเส้นทางรถไฟของภาคใต้ จนวันนี้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตยางพารามากที่สุดของโลก แต่สิงคโปร์สวนยางไม่มีเหลืออีกแล้วเป็นแค่ตำนานความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีตันคากี่ ผู้ขายทรัพย์สินโรงงานอุตสาหกรรมยางพาราทั้งหมดในช่วงที่ญี่ปุ่นยึดสิงคโปร์ นำความมั่งคั่งทั้งหมดหนุนช่วยการสร้างชาติจีนใหม่ของเหมาเจ๋อตุง
เมล็ดยางพาราที่ร่วงหล่นจากภาคอีสานมีเรื่องเล่ามากมายในประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมรถยนต์โลกครับ