xs
xsm
sm
md
lg

บันทึกเส้นทางบุญ จากบ้านพระอาทิตย์ถึงวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ จากยาลมถึงพระแสงราวเทียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์


มีหลายคนมาถามจำนวนมากว่า บ้านพระอาทิตย์มาเกี่ยวข้องกับการได้กลับคืนมาของพระแสงราวเทียนของวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ได้อย่างไร จึงขอใช้โอกาสนี้ได้บันทึกเรื่องราวที่น่าประทับใจ หรือบางคนอาจจะเรียกว่าความบังเอิญอย่างยิ่งก็ได้ ดังนี้

จากเดิมที่ผมได้เริ่มสนับสนุนสมุนไพรไทยเพื่อการพึ่งพาตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ฟ้าทะลายโจร และตำรับยาไทยในช่วงการเกิดโรคระบาดโควิด-๑๙ นั้น ก็เป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ทำให้คนไทยได้หันมาใช้สมุนไพรกันมากขึ้น

โดยช่วงเวลาก่อนหน้านั้นหรือใกล้เคียงกัน ได้มีคนจำนวนมากได้ใช้กัญชา ในรูปแบบน้ำมันกัญชาจำนวนมาก จึงเห็นว่าน่าจะมีตำรับยาที่มีพริกไทยจำนวนมากมาประกอบการใช้น้ำมันกัญชาด้วย เพื่อลดผลกระทบจากการใช้สมุนไพรเดี่ยวที่กำลังนิยมในเวลานั้น

หนึ่งในตำรับยาที่มีการบันทึกเอาไว้ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ในพระคัมภีร์ไกษย ซึ่งเป็นพระคัมภีร์สุดท้าย ได้บันทึกตำรับยาสุดท้ายเอาไว้อยู่ในฐานะยาอายุวัฒนะ

แม้จะไม่มีชื่อเรียกตำรับยานี้ แต่ในวงการแพทย์แผนไทยก็เรียกตำรับยานี้ว่า  “ยาลม ๓๐๐ จำพวก” เพราะข้อความในสรรพคุณตำรับยานี้เขียนเอาไว้ในความตอนต้นว่า

 “แก้ลมอันเกิดแต่เท้าให้เท้าตายมือตาย และแก้ลมริศดวงก็หายสิ้นแล ให้รับประทานเท่าผลสมอแก้ลม ๓๐๐ จำพวกก็หายแล”

เมื่อได้ทำตำรับยานี้ใช้ในสหคลินิกที่มีการแพทย์แผนไทยประยุกต์และอายุกรรม พบว่าผู้สูงวัยที่ได้รับประทานตำรับยานี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น แม้ว่ารสชาติจะขมจัดและเผ็ดร้อนอยู่ในตำรับเดียวกัน จนกระทั่งในที่สุดมีผู้ที่ได้รับประโยชน์จากตำรับยานี้เป็นจำนวนมาก

 เมื่อสืบค้นไปจึงพบว่าผู้ที่มอบตำรับยาอายุวัฒนะขนานนี้ให้เป็นมรดกปิดท้ายในตำรายาหลวงในสมัยรัชกาลที่ 5 คือ “ขรัวฉิม” หรือที่มีการเรียกในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ว่า “ขรัวพ่อฉิม” หรือบ้างว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงตรัสเรียกว่า “ขรัวฉิมเทวดา” ที่มารักษาโรคฝีในท้องมหาดเล็กในพระบรมมหาราชวังให้หายป่วยได้ภายใน ๗ วัน

 เมื่อสืบค้นต่อไปจึงพบว่าพระอาจารย์ฉิม ผู้ที่คิดค้นตำรับยาอายุวัฒนะนี้ เป็นปฐมเจ้าอาวาสของวัดชัยชนะสงคราม หรือที่เรียกกันว่า ”วัดตึก“ ซึ่งผู้ที่มอบที่ดินและสร้างเป็นวัดนั้นคือ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ซึ่งเป็นทหารหาญคู่พระทัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นผู้ที่ได้รับชัยชนะในศึกสงครามจากเวียดนามถึงกัมพูชา ใช้ระยะเวลาในการรบนานถึง 14 ปี จึงมาสร้างวัดชัยชนะสงคราม โดยมีขรัวพ่อฉิมเป็นปฐมเจ้าอาวาส และเป็นพระหมอยาในรูปเดียวกันที่ช่วยเหลือประชาชนที่เจ็บป่วยได้จำนวนมาก

ด้วยเหตุผลนี้ผมจึงมีความคิดจะจัดทำเหรียญขรัวพ่อฉิมด้านหนึ่ง โดยมีรูปท้าวเวสสุวรรณอยู่อีกด้านหนึ่ง โดยเดิมที่ตั้งใจจะแจกให้ผู้ที่ใช้ยาลมขนานดังกล่าวได้ระลึกถึงบุญคุณของครูบาอาจารย์ที่ได้มอบมรดกตำรับยานี้ไว้ให้คนรุ่นหลัง โดยผู้ออกแบบคือ  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศิริ หนูแดง ผู้ซึ่งเคยรับรางวัลชนะเลิศการออกแบบตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติ  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ

พอทำบล็อกเหรียญเสร็จก็ปรากฏว่าวัดชัยชนะสงครามเกิดเพลิงไหม้ จึงทำให้เริ่มสังเกตความบังเอิญนี้ จึงทำให้แน่ใจว่าเหรียญขรัวพ่อฉิมคงไม่สามารถจัดทำหรือพุทธาภิเษกในอุโบสถที่วัดชัยชนะสงครามที่เกิดเพลิงไหม้ได้แล้ว

เมื่อกลับมาหา คุณสนธิ ลิ้มทองกุล เล่าเรื่องดังกล่าว จึงทำให้ต้องเปลี่ยนวัตถุประสงค์ไปจากเดิมทำเหรียญเพื่อแจก มาร่วมกันจัดทำเหรียญเป็นระดมทุนโดยไม่หักค่าใช้จ่ายเพื่อทำบุญไปตามวัดต่างๆ ทั่วประเทศรวมถึงเพื่อถวายปัจจัยในการซ่อมอุโบสถวัดชัยชนะสงครามที่เกิดเพลิงไหม้ด้วย และอุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวรที่บาดเจ็บล้มตายไปในช่วงสงคราม และบังสุกุลให้แก่เจ้าพระยาบดินทรเดชาด้วย

เมื่อจะคิดว่าจะไปทำพิธีพุทธาภิเษกที่วัดไหนดี ก็มีความเห็นว่าเนื่องจากตำรับยาดังกล่าวนี้ซ่อนปริศนาสรรพคุณยา และปริศนาธรรมเอาไว้ในตำรับยาเดียว จึงต้องพิจารณาจากตำรับยานี้ที่ว่า

“ถ้ารับประทานได้ ๗ วัน เสียงดังจักกระจั่นเรไร ถ้ารับประทาน ๑๕ วัน เสียงนกการะเวก ถ้ารับประทานได้นานๆ เสียงดังหงษ์ทองอยู่ในถ้ำคูหาสวรรค์ ถ้ารับประทานถึงเดือน ๑ เรียนพระไตรปิฎก ๘๔๐๐๐ จบ คาถาปัญญาสว่าง ปราศจากพยาธิ ๕๐๐จำพวกก็หายสิ้นแล ถ้ารับประทานถึง ๖ เดือน จักษุสว่างทั้ง ๒ ข้าง รับประทานถึง ๗เดือน รู้กำเนิดเทวดาในชั้นฟ้า รับประทานถึง ๘ เดือน พระเวสสุวรรณลงมาสู่เราแลรับประทานถึง ๙ เดือนอายุยืนได้ถึง ๒๐๐ ปี ให้ทำยานี้กินเถิด ถ้าผู้ใดได้ตำรานี้แล้วไม่ทำกิน เหมือนเหยียบแผ่นดินผิดทีเดียวแล ตำรานี้ท่านคิดปฤษณาได้ อย่าได้สนเท่ห์เลย ถ้าได้พบให้ทำกินจำเริญอาหารด้วยแล”

ด้วยข้อความในตำรับยานี้ที่ว่า “รับประทานถึง ๘ เดือน พระเวสสุวรรณลงมาสู่เราแล” ทำให้เหรีญด้านหนึ่งเป็นรูปขรัวพ่อฉิม อีกด้านหนึ่งเป็นท้าวเวสสุวรรณ เมื่อพิจารณาลักษณะท้าวเวสสุวรรณด้วยแล้ว เห็นว่าเป็น “กุเวรประทำทิศเหนือ” จึงเลือกวัดแรกที่อยู่ทางตอนเหนือของพระบรมมหาราชวังของราชวงศ์จักรี จึงได้เลือก *“วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์”

ในขณะเดียวกันก็ไปตามหาฤกษ์จาก  พระมหาณัฐพงษ์ นาคถ้ำ แห่งวัดชำนิหัตถการ (วัดสามง่าม) ซึ่งให้ฤกษ์พุทธาภิเษกตรงกับวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ซึ่งมาทราบต่อมาภายหลังว่าฤกษ์ในวันดังกล่าวตรงกับวันสวรรคตของ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระอนุชาธิราชของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงเป็นผู้สถาปนา “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์”

 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงเป็นผู้ที่ร่วมกอบกู้เอกราช กับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และทรงร่วมทำราชสงครามต่อเนื่องมาจนถึงถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ขยายราชอาณาจักรไปไกลด้วยการทำศึกสงครามยาวนานถึง ๓๕ ปี ผ่านศึกสงครามมากว่า ๒๕ สมรภูมิ

ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงได้ขยายพิธีการทำพุทธาภิเษกและทำบุญครั้งนี้ โดยจัดให้มีพิธีสวดสดับปกรณ์ (บังสุกุล)ถวายดวงพระวิญญาณ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล บังสุกุลให้กับเจ้าพระยาบดินทรเดชา และอุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวรของแผ่นดินทั้งหมดในช่วงศึกสงคราม

 การระดมทุนเพื่อทำบุญโดยให้เช่าเหรียญบูชาครูครั้งนั้น รายได้ทั้งหมดไม่มีการหักค่าใช้จ่าย เป็นผลทำให้ระดมทุนร่วมบุญถวายปัจจัยไปทั่วประเทศในนามมูลนิธิไชย้ง ลิ้มทองกุล ได้ประมาณ ๔๕ ล้านบาท โดยในจำนวนนี้ได้รวมถึงการถวายปัจจัยเพื่อซ่อมอุโบสถวัดชัยชนะสงครามได้ ๔ ล้านบาทจนซ่อมได้เสร็จสมบูรณ์ และรวมถึงถวายปัจจัยเพื่อการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้กับวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์จำนวน ๑ ล้านบาท

 โดยหลังจากทำพิธีพุทธาภิเษกแล้ว ก็ได้ทำให้วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ได้กลับมาเป็นที่รู้จักมากขึ้น และปี ๒๕๖๖ เป็นปีแห่งการมีผู้มาจัดกิจกรรมที่วัดแห่งนี้มากขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในรอบหลายปี

พอมาถึงปี ๒๕๖๖ มูลนิธิไชย้ง ลิ้มทองกุล ได้จัดทำพิธีพุทธาภิเษก “พระสยามพุทธาธิราช” อันมีความหมายเพื่อความมั่นคงสถาพรของสถาบัน ชาติ (สยาม) ศาสนา (พุทธา) พระมหากษัตริย์(อธิราช) ออกแบบโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ศิริ หนูแดงคนเดิม โดยได้จัดทำพิธีพุทธาภิเษกในราชาฤกษ์เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๖๖

โดยเดิมทีมีความตั้งใจจะทำพิธีพุทธาภิเษกที่วัดบวรนิเวศวิหาร แต่ปรากฏว่าวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๖๖ อุโบสถไม่ว่าง จึงทำให้ต้องกลับมาทำพิธีพุทธาภิเษกที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์เป็นครั้งที่ ๒

โดยในครั้งนี้ได้จัดทำพิธีสดัปกรณ์ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ถวายแด่สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล และถวายแด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารด้วย

 การจัดทำพระสยามพุทธาธิราชในปี ๒๕๖๖ ทำให้สามารถระดมทุนโดยไม่หักค่าใช้จ่ายในการทำบุญทั่วประเทศได้ประมาณ ๕๒ ล้านบาท โดยในจำนวนนี้ได้ถวายเป็นปัจจัยให้วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ไปแล้ว ๑.๕ ล้านบาท และกำลังจะถวายเพิ่มอีก ๑ ล้านบาท รวมเป็นการถวายปัจจัยให้วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ในรอบ ๒ ปี รวม ๓.๕ ล้านบาท

โดยเมื่อวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์กลับมาเป็นที่รู้จักมากขึ้น และมีผู้มาขอจัดกิจกรรมมากขึ้น จึงทำให้ทางวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ตัดสินใจจัดงานสมโภชครบรอบ ๓๓๘ ปีของการก่อตั้งวัดแห่งนี้ที่เดิมเป็นวัดสลักตั้งแต่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในสมัยอยุธยา

โดยทางวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์เห็นว่าการจัดงานของมูลนิธิไชย้ง ลิ้มทองกุล ในการทำพิธีพุทธาภิเษก ๒ ปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จด้วยดี จึงขอรับการสนับสนุนการประชาสัมพันธ์งานสมโภชของวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์จัดงานสมโภชครบรอบ ๓๓๘ ปีด้วย

ด้วยเหตุผลนี้จึงเป็นเหตุที่ทำให้ในการถวายเงินวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ทั้งหมดในรอบ ๒ ปี ในจำนวนเงิน ๓.๕ ล้านบาทนั้น เป็นการถวายต้นบุญหลังเข้าร่วมประชาสัมพันธ์งานสมโภชของวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และทำให้ประชาชนให้ความสนใจในงานดังกล่าวมากขึ้น

เมื่อกระแสสมโภชของวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ได้รับความสนใจและเป็นข่าวมากขึ้น จึงเป็นผลทำให้เป็นจังหวะเวลาอันเหมาะสมและมีแต่มงคล อาจารย์ปริญญา สัญญะเดช นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตราวุธ จึงได้กาลอันสมควรในการถวายคืน  “พระแสงราวเทียน” ที่เคยสูญหายไปจากวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์เกือบ ๗๐ ปี โดยเป็นการนำเงินส่วนตัวของอาจารย์ปริญญา สัญญะเดช ไปไถ่มาจากร้านขายของเก่า ซึ่งพระแสงราวเทียนนี้เคยเป็นพระแสงดาบในการกอบกู้เอกราชของสมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่ถวายเป็นราวเทียนเป็นพุทธบูชาเมื่อ ๒๒๐ ปีที่แล้ว

และเรื่องที่น่าสนใจคือความสัมพันธ์กันของวังหน้า ที่เป็นเหตุของบุญที่มีวาระอันต้องทำในรอบ ๒ ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ สมเด็จพระราชวังบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นปฐมกรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์แรกในรัชกาลที่ ๑ หรือเรียกว่าเป็น “วังหน้า”

ในขณะที่เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) บิดาของท่านเป็นข้าหลวงเดิมในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและเป็น “สมเด็จเจ้าพระยาแห่งสายวังหน้า” ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ส่วนคณะเจ้าภาพที่ทำงาน “บ้านพระอาทิตย์” ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มในการทำบุญในครั้งนั้น ก็มีความสัมพันธ์กับวังหน้าเช่นกัน

โดยแต่เดิมสมเด็จพระราชวังบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ ๑ ทรงจัดสรรพื้นที่บ้านพระอาทิตย์ให้เป็น บ้านข้าราชการ รวมถึง บ้านพระยาจ่าแสนยากร คุณหญิงแว่นซึ่งเป็นที่นับถือว่าเป็นเจ้าที่เจ้าทางให้เซ่นสังเวยตามธรรมเนียม

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (ต่อมาทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒) ซึ่งเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลลำดับที่ ๒ ต่อจากพระราชวังบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทที่สวรรคตไป

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงขึ้นครองราชย์แล้ว ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลลำดับที่ ๓

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล โปรดให้สร้างวังที่ดินบริเวณบ้านพระอาทิตย์พระราชทาน พระราชโอรสพระองค์ที่ ๘ คือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นกษัตริย์ศรีศักดิเดช มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าพงศ์อิศเรศ ทรงเป็นต้นราชสกุลอิศรเสนา ณ อยุธยา ทรงเป็นเสนาบดีฝ่ายวังหน้าในรัชกาลที่ ๒

ต่อมาที่ดินนี้ตกทอดมาสู่เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (หม่อมราชวงศ์เย็น อิศรเสนา) ซึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงวังในสมัยรัชกาลที่ ๗

เนื่องจากวังเดิมชำรุดทรุดโทรมลงไปมาก *เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ได้สร้างวังขึ้นมาใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ลักษณะอาคารเป็นตึก ๒ ชั้นยกพื้นสูงหลังคามุงกระเบื้องว่าว และต่อเดิมเป็นอาคาร ๕ ชั้น มียอดโดมประดับอยู่เป็นหลังคาทรงสูงอยู่ด้านหลัง ประดับชายคาและช่องลมด้วยลวดลายไม้ฉลุ

 อาคารนี้ได้ตกทอดมาสู่ราชสกุลอิศรเสนา คือ หม่อมหลวงสันธยา อิศรเสนา ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อวังให้เป็น “บ้านพระอาทิตย์” ต่อมาได้ขายให้กับเอกชน เป็นสำนักงานของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ซึ่งเป็นที่ทำการของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และคณะเจ้าภาพในการจัดทำเหรียญครั้งนั้น

จึงบันทึกถึงเส้นทางบุญให้ร่วมกันอนุโมทนาบุญในโอกาสนี้
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์


กำลังโหลดความคิดเห็น