“สอดแนมการเมือง”
“ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”
สรรพสิ่งมีเกิดและมีดับ! มี “ทุนนิยม” ของ “อดัม สมิธ” จึงมี “สังคมนิยม” ของ“ คาร์ล มาร์กซ”?
“ทุนนิยม” เกิด-พัฒนาและดำรงอยู่ใน “สังคม” มานานแล้ว แต่กำลังเสื่อมถอยลงไปเรื่อยๆ ด้วย “น้ำมือมนุษย์” ที่ “ทำลายทุนนิยม” จากการสร้าง “ความเหลื่อมล้ำ” มากมายในสังคม ด้วย “คนส่วนน้อย” ร่ำรวยล้นฟ้า ในขณะที่ “คนส่วนใหญ่” ยากจนไม่มีจะกิน ฯลฯ
“อดัม สมิธ ”กับ “นักปรัชญา” รวมทั้งขบวนการ “นักทฤษฎี” จำนวนไม่น้อย ผู้สร้าง “ระบบทุนนิยม” ไม่รู้ถึง “อันตรายร้ายแรง” จาก “สันดานดิบมนุษย์” ในเรื่อง “รัก-โลภ-โกรธ-หลง” ที่บานปลายสู่ความ “บ้าคลั่ง” เลยเถิดถึงการ“กระหาย”ในสิ่งที่“ต้องได้”!
โอ๊ย!..เมื่อสันดานดิบของ “มนุษย์” เดินมาจนถึง “จุดหมายนี้” แล้ว “อดัม สมิธ” กับ “นักปรัชญา” ที่สร้างแนวคิด “เศรษฐกิจทุนนิยมเสรี” ซึ่งพัฒนาเฉพาะ “วัตถุ” แต่ไม่ได้พัฒนา “จิตใจคน” สังคมมนุษย์จึงตกต่ำทรุดทรามลงเรื่อยๆ
จนเป็นที่ประจักษ์ว่า การพัฒนารอบด้านของ “ทุนนิยมเสรี”นั้น แม้จะนำความเจริญก้าวหน้ามาให้กับสังคม แต่ก็สร้าง“ความเหลื่อมล้ำ”มิติสำคัญๆ ขยายช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ทำให้ “คนส่วนน้อย” ร่ำรวยมหาศาล แต่ “คนส่วนใหญ่” จนยากลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ ฯลฯ นับจากอดีตจรดปัจจุบันจนถึงอนาคต “ทุนนิยมเสรี” จึงกลายเป็น “ทุนนิยมสามานย์” ไปเสียฉิบ!
แน่นอน!..เรื่องของระบบ “ทุนนิยม” นั้น “วิวัฒน์ขึ้น” ได้เกิดเรื่องราวมากมายใน “สังคมมนุษย์” กระจายไปทั่วทุกมุมโลก มีทั้งเรื่อง “ดีงาม” กับ “ชั่วช้า” ทั้ง “คาดถึง” และ “คาดไม่ถึง” เรื่องราวในอดีตค้นหาได้ไม่ยากเย็นจาก “บันทึกประวัติศาสตร์” โลก..
ครานี้.. มาดูรายละเอียดแนวคิดของ “อดัม สมิธ” เพิ่มเติมจากบทความชิ้นก่อน
หนังสือ “ความมั่งคั่งของชาติ” ซึ่งถูกตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1776 ได้ทำให้ระบบ “ทุนนิยม ”เกิดและเติบโต จนเป็นรูปแบบหลักของระบบ “เศรษฐกิจทั่วโลก” ในการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจ สืบทอดต่อเนื่องยาวนานจนบัดนี้
ทั้งนี้ มี “สองเรื่อง” ที่ “อดัม สมิธ” ได้เตือนให้ระวัง ด้วยอาจสร้างปัญหาต่อการสร้างเศรษฐกิจ “ทุนนิยมเสรี”
เรื่องแรก The Prejudices of the Public คือ แรงต้านในสังคม ที่ไม่เชื่อว่า กลไกตลาดและเสรีภาพทางเศรษฐกิจ ที่ภาครัฐไม่มีบทบาทเข้ามาเกี่ยวข้องในระบบเศรษฐกิจ จะสามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโต และทำให้คนส่วนใหญ่มีความเป็นอยู่ดีขึ้น
ไม่เชื่อว่า เหตุใดบทบาทภาครัฐในระบบเศรษฐกิจ จะไม่ดีต่อความมั่งคั่งมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ และไม่เชื่อว่า เสรีภาพทางเศรษฐกิจ คือคำตอบที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น
เรื่องที่สอง The Power of the Interests คือ พลังของผู้ที่ได้ประโยชน์จากการที่ภาครัฐมีบทบาท หรือการที่ภาครัฐเข้าแทรกแซงในระบบเศรษฐกิจ เพราะถ้าเปลี่ยนเป็นระบบเศรษฐกิจเสรี มีเสรีภาพในการแข่งขัน ภาครัฐมีบทบาทในระบบเศรษฐกิจน้อยลง ผู้ที่ได้ประโยชน์เหล่านี้จะเสียประโยชน์ที่เคยได้
ผู้ที่จะเสียประโยชน์ จะทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้ระบบเศรษฐกิจเสรี และปลอดการแทรกแซงของภาครัฐเกิดขึ้น
ในความเป็นจริง เราไม่อาจปฏิเสธเลยว่า ทั้งสองเรื่องนี้ได้เกิดขึ้นจริง ในทุกประเทศที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เป็นกลไกในการจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจของประเทศ
ข้อถกเถียงระหว่างกลไกตลาด และบทบาทภาครัฐในระบบเศรษฐกิจ มีให้เห็นทั่วโลก ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ผู้ที่ได้ประโยชน์จากภาครัฐ จะต่อต้านการแข่งขันและเศรษฐกิจเสรี จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรความมีเสรีภาพและการเกิดวิกฤติในระบบทุนนิยม รวมถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มากับระบบทุนนิยม อันเป็นผลจากที่สังคมขาดจิตสำนึกในเรื่องความยับยั้งชั่งใจ ทำให้สังคมไม่มีความสุข ไม่สามารถบรรลุตามที่“อดัม สมิธ”หวัง แม้ความมั่งคั่งจะมีมากขึ้น..
นั่นคือความเป็นอมตะของแนวคิด “อดัม สมิธ” ที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหา และทางออกในการสร้างความเติบโต และความมั่งคั่งให้กับประเทศ เป็นข้อเท็จจริงของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ที่มีให้เห็นต่อเนื่องมาแล้ว 247 ปี และจะดำรงต่อไปในอนาคต
ต้อนรับปี “มังกรทอง” ด้วยคำคมของ “อดัม สมิธ” นักคิดยุค “ทุนนิยมเสรี” ที่ได้แปรเปลี่ยนเป็น “ทุนนิยมสามานย์” ไปแล้ว
เริ่มด้วยคำที่ว่า.. “สิ่งที่ทำให้กำลังการผลิต ทักษะ ความชำนาญ และการตัดสินใจ ของแรงงานมีประสิทธิภาพสูงสุดนั้น ล้วนเป็นมาจากการแบ่งงานกันทำ” เข้าหลัก “แรงงานสร้างโลก” แค่ต้องแบ่งงานกันทำ!
“ผลอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นตามมา ภายหลังจากการแบ่งงานกันทำ ก็คือ มันทำให้เกิดการแตกธุรกิจ และการจ้างงานให้มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งการแตกธุรกิจและการจ้างงานให้มีความหลากหลาย ตรงนี้นี่เอง ที่จะส่งผลให้ประเทศมีความก้าวหน้าในทางอุตสาหกรรมสูงสุด” ความคิดนี้ก็จริง.. และใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ครับ
“การแบ่งงานกันทำ ที่ได้สร้างประโยชน์เป็นอย่างมากนั้น ไม่ได้เกิดจากภูมิปัญญาของมนุษย์ ที่หยั่งรู้ว่า เมื่อทำแล้ว มันจะนำมาซึ่งความมั่งคั่ง แต่การแบ่งงานกันทำนั้น มันเป็นสิ่งที่ค่อยๆ ถือกำเนิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ จากลักษณะนิสัยของมุนษย์ ที่มักจะมีแนวโน้มในการซื้อขาย ต่อรอง และแลกเปลี่ยนกันตลอดเวลาอยู่แล้ว”
อืม..“อดัม สมิธ” เป็นนักจิตวิทยาด้วยหรือ?.. เขายังพูดถึงเรื่อง “พรสวรรค์” กับ “การขนส่งทางธุรกิจ” ไว้ว่า..
“..การที่แต่ละคนมีพรสวรรค์ตามธรรมชาติที่แตกต่างกัน ในความเป็นจริงนั้น มันไม่ได้มีสาเหตุมาจากธรรมชาติได้กำหนดไว้แล้ว ตั้งแต่ในวัยเด็กจนถึงช่วงโตเต็มวัย แต่มันเป็นผลมาจากการแบ่งงานกันทำ”
และ “ในส่วนของการขยายการตลาดให้กว้างมากขึ้นนั้น จะพบว่าการขนส่งทางน้ำสามารถช่วยขยายตลาดได้มากกว่าการขนส่งทางบก ซึ่งเราจะสังเกตได้จากตามแถบชายฝั่งทะเล หรือตามริมแม่น้ำ ที่มักจะค่อยๆ มีอุตสาหกรรมแทบทุกชนิดปรากฎขึ้น และเจริญเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่นานนัก มันจะค่อยๆแผ่ขยายเข้าไปยังพื้นที่ตอนในของประเทศเอง”
“การที่เราจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าชิ้นหนึ่งมานั้น ราคาอย่างแรกที่เราต้องจ่ายไป นั่นคือ การจ่ายให้กับแรงงาน ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนในยุคแรกเริ่มของโลก ความมั่งคั่งไม่ถูกซื้อด้วยแร่ทองหรือแร่เงิน แต่ถูกซื้อด้วยแรงงาน”
เรื่องแรงงานนั้น “อดัม สมิธ” เน้นย้ำให้เห็นถึง “ความสำคัญ” ที่ต้องดูแล อย่าได้เอาเปรียบ..
“ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า ความต้องการแรงงานที่เพิ่มขึ้น ย่อมเกิดจากการที่ประเทศนั้นๆมีการเพิ่มรายได้และทุน โดยถ้าปราศจากการเพิ่มขึ้นของทั้งสองสิ่งนี้ ความต้องการในแรงงานก็ย่อมไม่มีทางเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เมื่อการเพิ่มขึ้นของรายได้และการเพิ่มขึ้นของทุนนั้นเรียกได้ว่า คือการเพิ่มขึ้นของความมั่งคั่งของชาติ เพราะฉะนั้น เราจึงอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ความต้องการแรงงานจะเพิ่มขึ้น ตามความมั่งคั่งของชาติที่เพิ่มขึ้น และถ้าไม่มีการเพิ่มขึ้นของความมั่งคั่งของชาติ ก็ไม่มีทางที่จะเพิ่มความต้องการแรงงานได้”
“อดัม สมิธ” มองผู้ใช้แรงงานที่ยากจนดังนี้ “..การที่แรงงานผู้ยากจนไม่พึงพอใจในอาหาร เสื้อผ้า และที่อยู่อาศัยที่พวกเขาเคยพึงพอใจในอดีต จนมีคำกล่าวที่ว่า ผู้คนชนชั้นล่างสุดของสังคม มีการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยกันมากขึ้น เหตุการณ์เช่นนี้ยิ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เรามั่นใจอย่างแน่นอนว่า มันไม่ใช่แค่ค่าตอบแทนของแรงงานในรูปตัวเงินเท่านั้นที่สูงขึ้นกว่าในอดีต แต่มันยังรวมไปถึงค่าตอบแทนที่แท้จริงของแรงงานด้วย ที่สูงขึ้นกว่าในอดีต” จริงตามที่ “อดัม สมิธ” พูด!.. นายทุนกำไรมากขึ้นก็ต้องจ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้นสิ!
“..เหมือนอย่างที่สุภาษิตได้กล่าวไว้ว่า การเล่นโดยไม่ได้อะไร ย่อมดีกว่าการทำงานโดยไม่ได้อะไร..”! จริงแท้ล้าน % นายทุนคนใดให้ทำงานแทบตาย แล้วคนงานไม่ได้เงินเนี่ย..ถือว่าชั่วช้าสารเลวสุดๆว่ะ
“เมื่อผู้หนึ่งมีทรัพย์สินมากกว่าผู้อื่น มันก็ย่อมมีความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้น เช่น เมื่อมีคนรวย 1 คน มันก็ย่อมที่จะมีคนยากจนอย่างน้อย 500 คน” นี่เป็นตัวเลขเหลื่อมล้ำที่ “อดัม สมิธ”แสดงในยุคนั้น
ส่วนใน “ยุคดิจิทัล” มาตรวัดความเหลื่อมล้ำแตกต่างจากของ “อดัม สมิธ” โดยรายงานออกซ์แฟมระบุว่า ช่วงสองปีที่ผ่านมา (ค.ศ. 2021-2022) คนรวยสุดของโลก 1% มั่งคั่งกว่าคนอื่นๆ ที่เหลือรวมกัน เกือบสองเท่า!!
อืม.. อยากรู้จริงๆ ว่า ถ้า “อดัม สมิธ” เห็นรายงานนี้ของออกซ์แฟมแล้ว จะมีปฏิกริยายังไง??