ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
“พระแสงราวเทียน” ซึ่งเดิมเป็นพระแสงดาบมังกร โดยใบพระดาบคาตานะของญี่ปุ่น เป็นศาสตราวุธประจำพระองค์ของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระอนุชาธิราชในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทได้ใช้ทรงพระแสงดาบด้ามมังกรนี้ในการสู้รบเชื่อว่าน่าจะผ่านศึกสงครามอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า ๓๕ ปี ระหว่างทรงมีพระชนมายุ ๒๔ ถึง ๕๙ พรรษาในระหว่าง พ.ศ. ๒๓๑๐ - ๒๓๔๕
โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือเรียกสั้นๆว่า “วังหน้า” นอกจากจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการกอบกู้เอกราชหลังเสียกรุงอยุธยาแล้ว ยังทรงช่วยรวบรวมและขยายราชอาณาจักรไปไกลมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยได้เสด็จไปการพระราชสงครามท้้งทางบกและทางเรือ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีถึง ๑๖ ครั้งใช้เวลา ๑๕ ปี และในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชอีก ๘ ครั้งเป็นเวลาอีก ๒๐ ปี
ในช่วงท้ายของพระชนมชีพ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงได้ตัดสินพระทัย ถวายพระแสงดาบประจำพระวรกายก่อนลาสวรรคต ให้เป็น “ราวเทียน” เพื่อถวายให้เป็นพุทธบูชาหน้าองค์พระประธานคือ หลวงพ่อพระศรีสรรเพชญ แห่งวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร จึงเรียกว่า “พระแสงราวเทียน”
โดยในคราวประชวรหนักช่วงปลายพระชนม์ชีพ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคลได้เสด็จพระราชดำเนินจากวังหน้ามากราบลาสักการะพระประธานในพระอุโบสถใหญ่ น้อมถวายพระแสงทำเป็นราวเทียนเพื่อเป็นพุทธบูชา
โดยเมื่อจะทำให้เป็นราวเทียนบูชา ก็ได้ลบปลาย ลบคม และถอดด้ามออก ตกแต่งเป็นเศียรและหางนาคตามพระราชนิยม ซึ่งมีข้อสังเกตสำคัญคือการที่ทรงตัดสินพระทัยจะถวายเป็นพุทธบูชา ย่อมหมายถึงทรงมีพระราชประสงค์จะตัดขาดจากการสู้รบฆ่าฟันที่ต้องทรงกระทำมาตลอดพระชนม์ชีพ ดาบจึงถูกทำให้หมดคมสิ้นสภาพความเป็นอาวุธ เปลี่ยนเป็นราวเทียนให้แสงแห่งปัญญาถวายเป็นพุทธบูชาสืบไป
อีกประการหนึ่งย่อมเป็นการอุทิศส่วนกุศลเพื่อให้แก่ผู้ที่เสียชีวิตด้วยพระแสงดาบเล่มนี้ หรือด้วยการบัญชาทัพของพระองค์ ด้วยเพราะทรงเป็นด่านหน้าในการกอบกู้เอกราชรักษาบ้านเมืองตลอดพระชนมชีพ [๑]
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ได้เรียบเรียง โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตรวจชำระและทรงพระนิพนธ์อธิบาย ในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ เกี่ยวกับเรื่องของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในช่วงนี้ความว่า
“ให้เชิญเสด็จขึ้นพระเสลี่ยง เสด็จออกมาวัดมหาธาตุ รับสั่งว่าจะนมัสการลาพระพุทธรูป ครั้นเสด็จมาถึงหน้าพระประธานในพระอุโบสถมีพระราชบัณฑูรดำรัสเรียกพระแสง ว่าจะทรงจบพระหัตถ์อุทิศ ถวายให้ทำเป็นราวเทียน ครั้นเจ้าพนักงานถวายพระแสงเข้าไป ทรงเรียกเทียนมาจุดเรียบเรียงติดเข้าที่พระแสงทำเป็นพุทธบูชาอยู่ครู่หนึ่ง แล้วทรงปรารถจะเอาพระแสงแทงพระองค์ถวายพระ
ครั้นนั้นพระองค์เจ้าลำดวนเข้าปล้ำปลุกแย่งชิงพระแสงไปเสียจากพระหัตถ์ ทรงพระโทมนัสทอดพระองค์ลง ทรงพระกันแสงด่าแช่งพระองค์เจ้าลำดวนต่างๆ เจ้านายเหล่านั้นก็พากันปล้ำปลุกเชิญเสด็จขึ้นทรงพระเสลี่ยงแล้ว เชิญเสด็จกลับเข้าพระราชวังบวรฯ“ [๒]
โดยหลังจากถวายพระแสงราวเทียนได้ไม่นาน สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคลก็ได้เสด็จสวรรคตในวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๓๔๖
ต่อมาปรากฏว่า “พระแสงราวเทียน” ของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคลได้หายไปจากวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร โดยไม่มีใครทราบว่าหายไปตั้งแต่เมื่อไหร่ในปีไหน จึงได้แต่คาดการณ์ว่าน่าจะหายไปไม่ต่ำกว่า ๖๐ - ๘๐ ปี [๑]
จนกระทั่งวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๖ ประวัติศาสตร์จะต้องจารึกเอาไว้อีกครั้ง เมื่อ อาจารย์ปริญญา สัญญะเดช นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตราวุธ ได้ใช้ความเพียรพยายามตามหาพระแสงราวเทียนมาเป็นเวลา ๓๐ ปีจนเจอและได้นำมาถวายคืนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร เป็นผลสำเร็จ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว[๓]
ถึงตอนนี้คงจะมีคำถามที่หลายคนคงอยากจะทราบว่า อาจารย์ปริญญา สัญญะเดช สามารถตามหาพระแสงราวเทียนกลับคืนมาสู่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร ได้อย่างไร?
อาจารย์ปริญญา สัญญะเดช ได้กล่าวถึงความเป็นมาในการตามหาพระแสงราวเทียนเอาไว้เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๖ เนื่องในโอกาสถวายพระแสงราวเทียนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร มีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจที่เรียบเรียงได้ดังต่อไปนี้
“เมื่อเช้านี้ผมมีรถ ๒ คัน แต่สตาร์ทไม่ติดทั้ง ๒ คัน เดิมนึกว่าจะต้องอัญเชิญพระแสงด้วยมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แต่ก็หาไม่ได้ แต่ก็ได้อธิษฐานจิตต่อพระแสงราวเทียนจนสามารถอัญเชิญพระแสงราวเทียนมาที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร ตามฤกษ์ที่วางไว้พอดี”[๔]
อาจารย์ปริญญา สัญญะเดช ในฐานะที่เป็นนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตราวุธ จึงได้สะสมศาสตราวุธจำนวนมากที่บ้าน และได้ให้ความเห็นว่า “พระแสงดาบราวเทียน”เมื่อได้อัญเชิญมาที่บ้าน ก็กลับสามารถสะกดพลังอำนาจของศาสตราวุธทั้งหลายในบ้านอย่างรู้สึกได้ [๔]
โดยในวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๖ ที่อาจารย์ปริญญา สัญญะเดช ได้นำพระแสงราวเทียนในพระอุโบสถเพื่อถวายคืนให้วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร ผู้ที่เข้าร่วมงานหลายคนก็รู้สึกคนลุก บางคนเส้นผมตั้งขึ้น และบางคนก็น้ำตาซึมออกมาในเวลาที่ถวายด้วยความปลื้มปิติ
อย่างไรก็ตามอาจารย์ปริญญา สัญญะเดช ได้เล่าตามบันทึกของเฟสบุ๊ก “อีจัน” เมื่อวันทีี่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๖ ว่า
“ถ้าสิ่งนี้มีจริงก็ขอให้แสดงปาฏิหารย์สักหน่อยหนึ่ง หลังจากนั้นก็ได้จุดเทียนบนพระแสงราวเทียนในห้องแอร์ ปรากฏว่าไฟดับและหลับนิ่ง พอผ่านไป ๑๐ วินาที ไฟที่ดับก็กลับลุกโชนขึ้นมาอีกครั้ง“[๕]
อาจารย์ปริญญา สัญญะเดช ได้อธิบายไว้ในวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๖ ในโอกาสถวายพระแสงราวเทียนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร ความว่า
”พระองค์อยู่ร่วมศึกสงครามในยามที่บ้านเมืองลุกเป็นไฟ ถ้าเราได้มีโอกาสอ่านปณิธานวังหน้า จะรับรู้ถึงความผูกพันรักกับแผ่นดิน และทรงแสดงถึงใจที่มองเห็นภาพในวันนั้นว่าบ้านเมืองยามที่แตกความสามัคคี หรือมีภัยมีความสาหัสสากรรจ์เพียงใด
ตลอดพระชนม์ชีพนั้นทรงลำบากตรากตรำจริงๆ จนกระทั่งเรียกว่าเป็นนักรบที่ฟาดฟันศัตรูทั้งจากภายในและภายนอก จนกระทั่งจวบจนพระชนม์ชีพบั้นปลาย ที่เป็นชายชราท่านหนึ่งอายุ ๖๐ ปีแล้ว ก็ยังทรงบัญชากองทัพขึ้นเหนือลงใต้ตลอด
นอกจากความทุกข์ทางกาย ก็มีความทุกข์ทางใจพร้อมๆกัน พระองค์ท่านเป็นผู้ที่ไม่ได้อยู่ในความสุขสบาย ถึงแม้จะมีเพียงระยะเวลาสั้นๆ แต่ทรงทำเพื่อพวกเรามาโดยตลอด
ในเหตุการณ์สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี (พ.ศ๒๕๒๕) ตอนนั้นผมยังเด็กมากยังไม่ ๑๐ ขวบ แต่ก็ได้ยินเรื่องราว “พระแสงราวเทียน” จากการบรรยาย ก็มีความประทับใจ แต่ก็เป็นคนที่ชอบเรื่องราวของประวัติศาสตร์
แต่เมื่อเริ่มโตขึ้น ก็เริ่มอ่านและศึกษามากขึ้น แต่ก็ยังมี ๒ อย่างที่เกิดขึ้น คือ เป็นเรื่องจริงหรือตำนาน ซึ่งต้องใช้บริบทหลายๆอย่างในการแยกย่อยให้เข้าถึง หนึ่งในนั้นคือถ้าเป็นเรื่องจริงวัตถุทางประวัติศาสตร์ต้องยังคงอยู่
อย่างเช่นการที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงเขียนเอาไว้ในบันทึกประวัติศาสตร์ว่ามีเหตุการณ์ที่มีการนำพระแสงดาบคู่พระทัยของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล มาถวายเป็นพระแสงราวเทียนแด่ หลวงพ่อพระศรีสรรเพชญ แห่งวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร
ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นบริเวณอุโบสถแห่งนี้ตรงนี้ เมื่อ ๒๓๐ ปีที่ผ่านมา และเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับที่ทุกท่านอยู่ที่แห่งนี้ เราจึงอยู่ในพื้นที่ของวงรอบประวัติศาสตร์
มีการบรรยายว่าทรงประชวรด้วยพระโรคนิ่วและทรงเจ็บปวด และจะทรงใช้พระแสงดาบทำการแทงพระองค์ให้สิ้นชีพ หรือเราจะเทียบได้กับการทำฮาราคีรี และก็มีเหตุการณ์คล้ายๆกันที่ผมเคยอ่านว่าเวลาเจ็บป่วยมากๆนั้นอาจมีการแทงตัวตายจริงๆ ก็แสดงว่าพระอาการหนักจริงๆ การที่คิว่าจะแทงพระองค์ให้สิ้นชีพจริงๆนั้นก็คงเกิดขึ้นจริงจากการทุกข์ทรมาน
ในขณะเดียวกันถ้าเหตุการณ์ความเจ็บป่วยมีจริง การระบุบันทึกเรื่องราวที่ไม่ได้เป็นมงคล ในลักษณะการฆ่าตัวตายก็เป็นสิ่งที่ผิดต่อหลักการของพระพุทธศาสนามาก การบันทึกอย่างนี้จึงมีความน่าสนใจ ดังนั้นผมจึงได้วางหมุดหมายว่า ค่อยๆไปทีละเรื่องๆนะครับ
หลังจากนั้นผมก็เริ่มค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องอาวุธ โดยมองเรื่องความหลากหลายของศาสตราวุธในประเทศไทย จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๔๔ ผมได้มีโอกาสมาที่ตรงนี้มาบวช (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์)ได้มาอยู่ที่คณะ ๘ ระหว่างนั้น ผมก็ได้สอบถามท่านเจ้าอาวาสว่าได้เคยเห็นหรือได้รู้เรื่องราว “พระแสงราวเทียน“ หรือไม่
ในตอนนั้นพระแสงราวเทียนไม่อยู่แล้ว โดยน่าจะหายไปในช่วงเวลาการบูรณะพระอุโบสถ เพราะในเวลานั้น มีคนมากมาย มีช่างต่างๆ อาจจะเคลื่อนย้ายไปช่วงเวลานั้น อันนี้อาจจะไม่ได้ถึอว่าคำว่าโจรกรรม หรือ ขโมย แต่มีการถ่ายเทของไปที่ต่างๆ และไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนกันแล้ว
ซึ่งขอย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นได้ถามอาจารย์หลายๆท่าน ซึ่งท่านก็เป็นคนที่อยู่ร่วมสมัยในช่วงที่ราวเทียนยังประดิษฐานอยู่ที่วัด ท่านได้อธิบายเรื่องพระแสงราวเทียนซึ่งเคยอยู่ที่วัดว่ารู้แต่เพียงว่าเป็นดาบญี่ปุ่น ผมก็ไม่ถูกใจเลย เพราะเมื่อไหร่ที่เป็นดาบญี่ปุ่นแล้วเนี่ย ภาพของการนำพระแสงดาบคู่พระทัยเนี่ยไปวางเป็นราวเทียน แล้วเอาเทียนวางแล้วจุด ถ้าเป็นดาบญี่ปุ่นแล้วมันจะเป็นยังไงต่อ ที่ไม่ถูกใจเพราะมันไม่เข้าตำราเอกสาร
ถามอาจารย์อีกท่านหนึ่งท่านบอกว่า “พระแสงราวเทียน” เป็นนามสมมุติ นั่นหมายความว่าอาจจะเป็นได้ทั้งเป็นรูปร่างพระแสงแล้วตั้งชื่อเอาไว้ หรือ นำเอาพระแสงดาบไปทำเป็นมวลสารแล้ว ซึ่งไม่สามารถจะอธิบายว่าเป็นรูปร่างหน้าตาอย่างไร
และมีอีกท่านหนึ่งอยู่ที่กรมอู่ทหารเรือ ท่านเคยเข้ามาอยู่ที่นี่ (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์)มาตั้งแต่ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ตอนนั้นท่านอายุ ๘๐ ปลายๆแล้ว ท่านก็พูดถึงพระแสงราวเทียน แต่ก็ยืนยันว่าเป็น “ดาบญี่ปุ่น” ผมก็ยิ่งไม่ถูกใจ เพราะเราจะตามหาได้อย่างไร
จนกระทั่งช่วงที่ผมบวชอยู่ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ มันมีกิจกรรมอันหนึ่งของบริเวณย่านนี้ โดยมีการขายของเก่ารอบวัด โดยในงานนั้นมีการนำสมุดภาพซึ่งมีอายุสมัยรัชกาลที่ ๖ ถึงที่ ๗ ภาพ แต่สมุดนั้นเป็นภาพต้นฉบับมารวมกันเป็นอัลบั้ม และเขียนบรรยายคำต่างๆไว้ เช่น วัดสุทัศน์ ถนนหน้าพระลาน ถ่ายเหตุบ้านการเมืองต่างๆ
และสมุดภาพนั้นก็วกกลับเข้ามาในพระอุโบสถของวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และได้ถ่ายภาพของสำคัญ หนึ่งในนั้นก็คือ ”ภาพพระแสงราวเทียน“ ที่ปรากฏอยู่หน้าทุกท่านในอุโบสถขณะนี้
เพียงแต่ที่เราเห็นช่อเทียนไม่ได้เป็นแบบนี้ มีแต่เป็นช่อเทียนอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นทรงบัวโถสั้นๆ แต่ภาพชัดมาก
คือทำไมผมสนใจภาพถ่ายโบราณ ผมรับราชการในปี ๒๕๔๐ ก็ยังเป็นอาจารย์เด็กมาก วิชาแรกที่ผมสอน คือ ผมสอนประวัติศาสตร์การถ่ายภาพ ดังนั้นเราจึงแยกแยะเรื่องภาพถ่ายได้
โดยเฉพาะมีการเขียนใต้ภาพนี้ว่าเป็น ”พระแสงราวเทียน ของกรมพระบวรราชเจ้าฯ” จึงเป็นของที่ติดตา แต่ติดตาแบบไม่ตรงกับสิ่งที่เราคิด เพราะเรามีภาพๆหนึ่งในหัว ผมก็เห็นช้างไม้ ม้าไม้ แต่ไม่ได้อยู่ด้านหลังแบบนี้ แต่เป็นภาพที่เก็บอยู่ในห้องๆหนึ่ง เกี่ยวกับสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ โดยหนึ่งในนั้นเป็นภาพ “พระแสงราวเทียน” ผมก็จำภาพนี้แบบขัดใจ และในขณะเดียวกันก็ศึกษาเรื่องอื่นๆไป
จนกระทั่งเวลาได้เลื่อนเดินทางมา ไม่มีวันไหนของชีวิตผมเลยที่ อาบน้ำ ตื่นนอน หรือ ทำอะไรแล้วรู้สึกเหนื่อย หรือมีอะไรที่เข้ามาในชีวิตแล้วก็จะนึกถึง “พระแสงราวเทียน” ซึ่งผมนึกถึง “พระแสงราวเทียน”มาตั้งแต่เด็กๆ เหมือนมีเสียงนี้ แต่มันสิ้นทางเพราะเราไม่รู้ว่าหน้าตาอย่างไร ไม่รู้ว่าถูกย่อยไปอย่างไร มีแต่เรื่องการสอบถามไปเรื่อยๆ
ผ่านมาจนวันหนึ่ง ช่วงนั้นเกิดสถานการณ์โรคโควิดขึ้น ประมาณ ๒ ปีที่แล้ว มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ผมรู้จัก ท่านก็มาหาผมแล้วก็ยื่นภาพจากโทรศัพท์มือถือให้ดู ถามว่าอาจารย์หนึ่งเคยเห็นของแบบนี้มั้ย
ในวันนั้นตอนที่ท่านยื่นให้ผมดูเนี่ย ผมน้ำตาไหลออกมาต่อหน้าท่าน คือ อยู่แค่นี้เองหรือเนี่ย คือภาพเดียวกับพระแสงราวเทียนที่อยู่ต่อหน้าทุกท่านในวันนี้ เพียงแต่เวลาเขาถ่ายหลายมุม มันจึงเห็นว่านี่คือ “ใบพระแสง” (ใบดาบ) และมีหัวท้ายที่เป็นนาค หุ้มทับอยู่บนใบพระแสงดาบ แล้วก็ทุกอย่างภาพมันซ้อน เหมือนคนที่เรามีใจจดจ่อแล้วสิ่งนั้นมันเฉลย เป็นบุญมาก
ผมก็ทันทีขอซื้อท่านเลย ขายให้ผมเถอะ ของชิ้นนี้สำคัญ และบอกว่ามันสำคัญมาก ท่านก็อาวุโสมากและเราก็เด็กกว่าท่านเยอะ ท่านก็เฉยๆ เราก็ไม่รู้ทำยังไง ก็ใช้วิธีบอกไปตามผู้คนต่างๆที่มีความสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ท่านนี้ บอกว่าขอซื้อให้หน่อย หรือทำยังไงก็ได้ให้ท่านขายให้หน่อย
ผ่านเวลาไปอีกหลักเดือน จนกระทั่งวันหนึ่งมีเพื่อนผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ผมรู้จัก ท่านมาส่งข่าวว่า อาจารย์หนึ่ง เห็นแล้วของชิ้นนี้อยู่ที่ไหน ผมก็ดีใจมากก็ไปร้านขายแอนทีคที่หนึ่งครับ ของชิ้นนั้นขายอยู่ในร้านขายวัตถุโบราณ
ผมก็รู้สึกว่าจากภาพนำไปสู่ของจริงซ้อนกันอย่างลงตัวหมดครับ ก็ขอทำการซื้อของชิ้นนี้ [๖]
ถึงตอนนี้ต้องขอขั้นท่านผู้อ่านด้วยข้อความที่อาจารย์ปริญญา สัญญะเดช ได้เล่าเบื้องหลังเพิ่มเติมต่อมาในการซื้อ ”พระแสงราวเทียน“ว่า ตัวอาจารย์ปริญญาเป็นอาจารย์ที่เป็นข้าราชการ ไม่ได้ร่ำรวยหรือมีรายได้มากมาย จึงต้องขายทรัพย์สินเป็นอุปกรณ์ถ่ายรูปส่วนตัว เพื่อนำเงินไปไถ่พระแสงราวเทียนนี้กลับคืนมาสำเร็จ[๔]
โดยในวันที่อาจารย์ปริญญา สัญญะเดช ได้ครอบครอง “พระแสงราวเทียน” อาจารย์ปริญญาก็ได้พิมพ์บันทึกส่วนตัวที่พระอุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ในวันที่ได้ไถ่..พระแสงราวเทียน จากร้านขายวัตถุโบราณ เพื่อนำกลับถวายคืนฯ
“บันทึก : บรรยายความรู้สึกดีๆ และปิติใจมากในวันนี้… เมื่อไม่ถึง ๑ ชั่วโมงที่ผ่านมา ได้พบกับศิลปวัตถุชิ้นหนึ่งที่พยายามตามหามากว่า ๓๐ ปี ซึ่งเคยได้เห็นแต่เพียงภาพ
จนกระทั่งเมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีผู้ใหญ่ท่านนึง เปิดภาพให้ดูจากมือถือ เห็นแล้วน้ำตาคลอ อยากได้จับใจ แต่ท่านก็ไม่ยอมขาย…
คิดถึงทุกวันๆและทำใจว่า คราวนี้อาจจากไปอย่างไม่ได้พบอีกแล้ว
…จนกระทั่งเมื่อครู่นี่นี้เอง ผมเพิ่งได้ครอบครองของขิ้นนี้…ดีใจเหลือเกินกับภาระหนักนี้ ที่มิใช่การหาทรัพย์ แต่เป็นหน้าที่ ที่ต่อแต่นี้ต้องทำตัวให้ดีเป็นที่ศรัทธาในทางวิชาการ และสร้างหมู่มิตรที่มีพลัง… เพื่อจะบอกกล่าวเรื่องราวฯและมอบคืน ”พระแสงราวเทียน“ องค์นี้กลับสู่ที่เดิมอย่างไม่คลางแคลงใจ ตามเจตนารมณ์ของพระองค์ฯท่านเจ้าของเดิม… เมื่อถึงเวลาอันควร
…จะรักษ์ราวเทียนองค์นี้ เพื่อส่งต่อให้ลูกหลานไทยสืบต่อไป… กว่าสามสิบปีที่ตามหาสุขใจเหลือเกิน สุขใจเหลือเกินๆ”
นอกจากนั้นยังมีคำอธิษฐานของ อาจารย์ปริญญาที่มีมาเสมอความว่า
“…ข้าพระพุทธเจ้าขอน้อมถวายชีวิตนี้เป็นเครื่องบูชาแด่พระพุทธองค์ และจอมทัพผู้ทรงทศพิธ การใดในภาพหน้าขออย่าให้ชีพนี้หมดไปด้วยกาลให้เปลืองเปล่า แลภัยอันมิควร หากจะสิ้นก็ให้ยังประโยชน์สูงสุดแก่แผ่นดิน เท่าที่บุญมี แม้ต้องด้วยแล่งเนื้อเถือหนัง เผาผลาญฝังทั้งเป็นก็ยอมพลี ให้เป็นดังปรารถนานี้ทุกภพชาติไปเทอญ”[๔]
โดยหลังจากที่ได้ทำการซื้อเพื่อไถ่พระแสงราวเทียนได้เป็นผลสำเร็จแล้ว อาจารย์ปริญญา สัญญะเดช ได้เล่าต่อหน้าประชาชนในอุโบสถ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๖ อีกว่า
“หลังจากนั้นก็ทำการเก็บรักษา ก็ทำการศึกษาต่อไปเรื่อย โดยในเมื่อพระแสงราวเทียนอยู่ในมือแล้ว แล้วเราก็มั่นใจ แต่การที่ทำสิ่งเหล่านี้เนี่ย แน่นอนครับมันเป็นเรื่องตำนาน เป็นเรื่องที่อยู่ในใจของคนไทยทั้งหลาย ความคลางใจในเรื่องของความจริง ความใช่ไม่ใช่เนี่ย เกิดขึ้นมากมาย
ผมรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ก็ไม่ใช่จะทำให้สิ่งมงคลนี้แปดเปื้อนไป เพราะเรื่องของโซเชียล หรือ การที่เรามาวิจารณ์แสดงความเห็นว่ามันเป็นแบบนั้น แบบนี้
ผมก็พยายามเดินทางในเส้นทางการสืบต่อไป จนกระทั่งเรียกว่ามันสุดทาง ก็ได้ข้อมูลอื่นๆเพิ่มนะครับ บางเรื่องนี่ก็จะคุยได้แบบนี้ บางเรื่องอาจจะต้องคุยกันอีกแบบหนึ่ง
ทีนี้พระแสงราวเทียนนี้ เป็นพระแสงดาบญี่ปุ่น โดยจารีตการถวายเครื่องศาสตราวุธเป็นสิ่งที่ไม่สมควร เป็นหนึ่งในบาป ดังนั้นท่านคงไม่ถวายดาบเป็นดาบหรอก ท่านคงต้องแปลงสภาพสิ่งนี้ให้หมดจากความเป็นศาสตราวุธ
สิ่งนี้จะไปเกิดใหม่ในโลกของพระพุทธศาสนา เป็นเครื่องศรัทธาบูชา ทีละประเด็นๆ และก็สืบทางนิติวิทยา คือดูร่องรอยการใช้ ดูเทคนิก ดูสกุลช่าง เข้าถึงผู้เชี่ยวชาญด้านดาบญี่ปุ่น เพื่อวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆ ก็ได้เก็บหลักฐานเหล่านี้เป็นฐานของข้อมูล แทบจะเป็นงานวิจัยส่วนตัว
หลังจากนั้นก็พยายามเหลือเกินที่จะหามุมเพื่อจะกลับมาที่วัดมหาธาตุฯ ว่าผมจะเข้ามาถวายวัดมหาธาตุฯด้วยมุมไหนดี มีผู้หลักผู้ใหญ่หรือใครที่ติดต่อที่นี่บ้าง และขอว่า หนึ่ง การถวายครั้งนี้ขอถวายแบบเงียบๆที่สุด เหมือนตื่นเช้ามาสิ่งนี้ก็อยู่ในพระอุโบสถ ไม่เคยถูกเคลื่อนย้ายไปไหน ไม่มีคำว่าถูกขโมย ไม่มีคำว่าหาย ไม่เรื่องอะไรที่เป็นเรื่องหม่นหมองกับสถานที่แห่งนี้
ก็ได้พยายามและก็หาไม่ได้เลยจริงๆ มาในช่วงที่วัดยังเฉยๆที่ไม่ใช่วาระก็ไม่เหมาะ ก็ยังหามุมที่เข้ามาไม่ได้ แต่ผมก็ได้บอกไปหลายๆคนว่าผมจะพยายามถวายให้จบภายในปีนี้
จนกระทั่งทางทีมงานจัดงานสมโภชวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ได้ประสานโทรมาบอกว่าถึงเวลาที่จะถวายพระแสงราวเทียน ผมรู้สึกหมดทุกข์ในใจ เพราะการที่พระแสงราวเทียนอยู่กับเราเนี่ย ไม่ได้เป็นสิ่งที่มีความสุข ไม่ได้เป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจ เพราะสิ่งๆนี้มันเกินผม เกินคนๆหนึี่ง คิดตลอดเวลาว่าจะทำยังไงเนี่ย ให้กลับคืนมาสู่พระอุโบสถนะครับ ดังปณิธานของพระองค์ท่าน เรื่องราวก็เป็นแบบนี้นะครับ
ผมในฐานะคนที่ศึกษาเรื่องอาวุธ ผมรู้ว่ากษัตริย์นักรบ หรือคนที่ผ่านเหตุการณ์บ้านเมืองมันล่มสลาย ความผูกพันกับอาวุธเนี่ย เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ศาสตราวุธเป็นเครื่องป้องขวัญ ป้องกันความหวาดผวา เป็นเพื่อน เป็นหลายสิ่งหลายอย่าง เป็นของที่คู่พระวรกายท่าน
ในพระราชนิพนธ์ที่พระองค์ท่านทรงเขียนกลอน ที่ยกทัพไปที่นครศรีธรรมราช ก็ระบุว่าพระองค์ท่านทรงพระแสงดาบคู่มังกร บางครั้งก็ใช้คำว่าพระแสงกระบี่ คือคำว่าพระแสงดาบมังกร คือใบพระแสงดาบญี่ปุ่น ประดับตกแต่งด้วยมังกรซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของพิชัยสงคราม ซึ่งเป็นนามมงคลในชัยภูมิของพระองค์ท่านซึ่งตั้งอยู่ริมน้ำเช่นกัน
จะรู้สึกถึงความผูกพันของพระองค์ท่านกับศาตราวุธ แล้ววันหนึ่งที่ทุกท่านมาที่นี่มาถวายสิ่งนี้สู่บวรพระพุทธศาสนา มันคือการกระทำที่ยิ่งใหญ่ เป็นสิ่งที่มีสัญญลักษณ์มากมายในการตีความ
พระองค์ท่านสามารถถวายสิ่งต่างๆมากมายด้วยความมั่งคั่งในขณะนั้น ถวายทั้งวัตถุสิ่งของ ถวายข้าทาสบริวาร ถวายอะไรก็ได้ แต่สิ่งที่พระองค์ท่านทำอย่างเรียบง่ายกับการขาดจากสิ่งของของพระองค์ท่าน
ในวันที่บ้านเมืองแตกสาแหรกขาด ในวันที่บ้านเมืองลุกเป็นไฟ พระองค์ท่านเกาะกุมสิ่งนี้ ฟาดฟันและบัญชาการ มันเป็นบันทึกทั้งหมดของพระองค์ท่านในช่วงที่ตรากตรำ ไม่ได้สร้างความสุขแต่เป็นภาระอันหนัก ผมมองพระองค์ท่านเหมือนพระโพธิสัตว์
พระองค์ท่านต้องเจ็บปวดและทุกแทนเรา ลูกไทย หลานไทย จนกระทั่งวันหนึ่ง พระองค์ท่านวางสิ่งนี้แล้ว มันเปลี่ยนสถานะของการฆ่าฟัน และจุดเป็นแสงสว่างของความศรัทธา
ผมเชื่อเรื่องการเดินทางของพระแสงราวเทียนที่หายไป ที่ชำรุด เทียนก็ดับ ทุกคนจุดเทียนแล้วก็ดับ แต่ถ้าเกิดเทียนของจิตวิญญาณที่เราส่งต่อไปๆ ตั้งแต่วันที่ท่านจุดเทียนตรงนี้เมื่อว ๒๓๐ ปีที่แล้ว มันก็เป็นเทียนในจิตวิญญาณคนไทย
ผมก็ลูกไทย หลานไทย ผมอยากให้เราช่วยกันจุดเทียนแห่งความสว่างในการรักแผ่นดิน รักซึ่งพระพุทธศาสนา รักซึ่งสถาบันฯ ผมก็คิดแบบนี้ ผมไม่ได้วิเศษอะไร ผมเชื่อทุกคนถ้าอยู่ในสิ่งที่ผมอยู่ ณ ขณะนั้น หรือรู้หรือเข้าใจตรงนั้น มันก็เป็นเรื่องที่ทุกคนก็ต้องทำอย่างที่ผมทำนั่นแหละ
ผมต้องขอขอบคุณ คุณแม่ของผม คุณพ่อของผม ครอบครัวผม พระอุปัชฌาย์ผม ขอบคุณครูบาอาจารย์ที่ล่วงลับไปแล้ว สิ่งนี้มันเป็นองค์ประกอบที่ทำให้เราได้คืนกลับมา ขอบคุณมากครับ“[๖]
บันทึกถ่ายทอดคำสัมภาษณ์นี้ด้วยจิตคารวะ
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๖
อ้างอิง
[๑] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, (ชมคลิป-ภาพ) จาก“พระแสงดาบ” กอบกู้เอกราชของสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ กลายมาเป็น “พระแสงราวเทียน”ส่งมอบคืนสู่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์แล้ว, ผู้จัดการออนไลน์ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๖
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9660000115940
[๒] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เรียบเรียง; สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตรวจชำระและทรงพระนิพนธ์อธิบาย, พระราชพงศาวดารกรุงรัตโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพฯ, กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ๒๕๓๑. ๑๗๔ หน้า. ISBN 974-7936-18-6 เผยแพร่เว็บไซต์วัชรญาณ หน้า ๑๐๗ เรื่องหม่อมลำดวน หม่อมอินทปัต หน้า ๓๓๐-๓๓๑
https://vajirayana.org/พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์-รัชกาลที่-๑/๑๐๗-เรื่องหม่อมลำดวน-หม่อมอินทปัต
[๓] ผู้จัดการออนไลน์, ถวายคืนสมบัติสุดล้ำค่า “พระแสงราวเทียน“ กรมพระราชวังบวรฯ กลับคืน “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์” ก่อนจัดงานใหญ่สมโภช ๓๓๘ ปี, ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๖
https://mgronline.com/travel/detail/9660000115585
[๔] คำสัมภาษณ์ของปริญญา สัญญะเดช ให้กับปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ที่บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๖
[๕] เฟสบุ๊ก อีจัน, พระแสงราวเทียน อาวุธคู่พระทัย สมเด็จกรมวังหน้าฯ กลับคืนวัดมหาธาตุฯ หลังหายไปนาน ๗๐ปี เตรียมนำออกแสดงในงานสมโภช ๓๓๘ ปี, ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๖
https://web.facebook.com/ejan2016/posts/349381817801256
[๖] คำกล่าวของปริญญา สัญญะเดช ในอุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร เนื่องในพิธีถวายคืนพระแสงราวเทียน เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๖