ปีเก่ากำลังจะผ่านไปปีใหม่กำลังจะมาถึง กาลเวลาเดินทางไปข้างหน้าไม่หยุดนิ่งไปจนกว่าโลกจะแตกดับสลายกลายเป็นจุดสัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยก่อตัวขึ้น แม้ไม่รู้ว่าผลของการเปลี่ยนแปลงนั้นจะส่งผลบวกหรือลบ แต่ก็ยากที่จะรับมือกับคลื่นลูกใหม่ที่กำลังมาถึง
คลื่นลูกใหม่ที่ไม่ใช่เพียงแต่จะกวาดเม็ดทรายขึ้นมาบนฝั่ง แต่เป็นคลื่นในวันพายุคลั่งที่จะทำลายทุกอย่างแล้วกวาดเอาซากปรักหักพังต่างๆ จากท้องทะเลขึ้นมาด้วย และไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าหลังพายุสงบลงแล้วจะมีอะไรหลงเหลืออยู่บ้าง
91 ปีที่เปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ก่อให้เกิดสายพันธุ์นักการเมืองที่เป็นชนชั้นอภิสิทธิชนที่อาศัยอาณัติจากประชาชนเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากอำนาจ ผลัดกันเข้าไปกุมอำนาจรัฐไม่ว่าพรรคการเมืองไหนเมื่อมีอำนาจก็ล้วนแล้วแต่ฉ้อฉลประโยชน์โพดผลไปจากแผ่นดินเพื่อให้ตัวเองร่ำรวยแทบทั้งสิ้น
เกือบทุกคนเมื่อเล่นการเมืองแล้วสามารถเปลี่ยนแปลงชนชั้นและฐานะทางสังคม ในขณะที่ประชาชนเจ้าของอำนาจที่แท้จริงยังต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของชีวิตจนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำถี่ห่างในสังคม จนประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงในระดับต้นของโลก
ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความแตกต่างระหว่างชนชั้นในสังคมผลกระทบของความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมต่อการแบ่งแยกชนชั้นทำให้ขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรทั้งด้านการศึกษาการดูแลสุขภาพและโอกาสทางเศรษฐกิจ
ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพไม่เท่าเทียมกันส่งผลให้เกิดความแตกต่างในด้านความรู้ทักษะและโอกาสระหว่างชนชั้นทางสังคมผู้ที่มีทรัพยากรทางการศึกษาที่ดีกว่ามีแนวโน้มที่จะได้งานที่มีค่าตอบแทนสูงกว่าและมีโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นซึ่งจะช่วยหนุนสร้างความแตกต่างทางชนชั้นให้ถี่ห่างขึ้น ส่วนคนจนเมื่อยากที่จะเข้าถึงการศึกษาก็ยากที่จะยกระดับฐานะทางสังคมของตัวเองขึ้นมา
แม้เรารู้ว่าการจัดการกับความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมต้องอาศัยการปฏิรูปการศึกษาและความคิดริเริ่มที่มุ่งส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับทุกคนการลดความแตกต่างระหว่างชนชั้นทางสังคมสามารถช่วยให้สังคมมีความเป็นธรรมและเท่าเทียมกันมากขึ้น แต่นักการเมืองเมื่อเข้ามามีอำนาจจะไม่ทำสิ่งนี้โดยมุ่งที่จะหาประโยชน์ส่วนตัวเพียงอย่างเดียว และกระทรวงด้านการศึกษาอยู่ในมือของนักการเมืองที่ด้อยคุณภาพ
ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมมีการเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับความแตกต่างทางเศรษฐกิจชนชั้นสูงที่ร่ำรวยมักมีโอกาสสะสมความมั่งคั่งมากกว่า ในขณะที่ผู้ที่อยู่ในชนชั้นล่างอาจต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้การแตกต่างในฐานะทางเศรษฐกิจนำไปสู่ความแตกต่างในวิถีชีวิตขาดโอกาสการเข้าถึงที่อยู่อาศัยทำให้ความเป็นอยู่ทุกด้านยิ่งเกิดความแตกต่างกันระหว่างชนชั้นทางสังคม ขณะที่นักการเมืองก็มักจะเอื้อประโยชน์ให้กับชนชั้นสูงและนายทุนมากกว่าชนชั้นล่างในสังคม
ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมแปรไปสู่ความไม่เท่าเทียมกันในอำนาจและอิทธิพลทางการเมืองบุคคลหรือองค์กรที่ร่ำรวยกว่าสามารถเข้าถึงกระบวนการตัดสินใจทางการเมืองได้มากขึ้นสามารถกำหนดนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อตนได้ สิ่งนี้ยิ่งขยายความแตกแยกทางชนชั้นและจำกัดความสามารถของกลุ่มชายขอบในการจัดการพึ่งพาระบบการเมืองที่ดำรงอยู่
เมื่อคนส่วนใหญ่เกิดความศรัทธาที่ตกต่ำต่อนักการเมืองทำให้คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงกวาดล้างการเมืองเก่าให้หมดสิ้นไป และเชื่อว่าถึงเวลาที่คนรุ่นใหม่จะต้องเข้ามามีอำนาจโดยหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น จนนำมาสู่ชัยชนะจากการเลือกตั้งของพรรคก้าวไกล โดยไม่ได้ตระหนักว่าพรรคการเมืองที่เราคาดหวังว่าจะนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมไทยนั้น มีความรู้ความสามารถที่จะนำพาสังคมไปสู่ความหวังใหม่ได้หรือไม่
แต่ดูเหมือนคนในสังคมไม่น้อยเชื่อในสงครามชวนเชื่อของพวกเขาที่จะเป็นความหวังใหม่ของสังคมไทย พวกเขาใช้ความสามารถในการควบคุมโซเชียลมีเดียเพื่อปลุกปั่นให้คนจำนวนไม่น้อยคิดเหมือนกันและเชื่อเหมือนกันว่าพรรคก้าวไกลเป็นความหวังที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคมแบบพลิกฝ่ามือ
พวกเขาถือโอกาสโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า เป็นตัวฉุดรั้งสังคมไทย เป็น Deep State เครือข่ายที่ซ่อนอยู่เพื่อกำหนดการตัดสินใจและการดำเนินการเชิงนโยบายของนักการเมือง กองทัพ และผู้มีอำนาจเมื่อพรรคก้าวไกลมีแนวคิดที่พุ่งเป้าไปท้าทายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ทำให้พรรคก้าวไกลได้แนวร่วมนักวิชาการและปัญญาชนจำนวนมากที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบและโครงสร้างของสังคมไทย
ทั้งที่ปัญหาและอุปสรรคของประเทศไทยในการสร้างชาตินับตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมาที่แท้จริงก็คือ การเปิดประตูให้นักการเมืองเข้าไปแสวงหาประโยชน์และใช้อำนาจที่มีอยู่อย่างฉ้อฉลโดยอ้างว่าได้รับอำนาจมาจากประชาชน
สิ่งที่พรรคก้าวไกลคิดหากมีอำนาจก็คือ ต้องลดอำนาจ บทบาทและสถานะของพระมหากษัตริย์ลงมาให้มากกว่าผลพวงจากการรัฐประหาร 2475 ที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประกาศว่า จะสานต่อภารกิจของคณะราษฎรที่ยังทำไม่สำเร็จคือการสร้างประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง
พรรคก้าวไกลจึงหมกมุ่นอยู่กับการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อที่จะมีเสรีภาพในการดูหมิ่นประมาทอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และมุ่งที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์เพื่อลดทอนพระราชอำนาจลงมา ทั้งที่พระมหากษัตริย์ในปัจจุบันไม่ได้มีพระราชอำนาจมากและทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เพียงแต่พระบารมีของพระมหากษัตริย์ยังมีอยู่สูงเพราะศรัทธาของประชาชนที่มาจากทรงทำประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศชาตินั่นเอง
เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า หากได้อำนาจรัฐพรรคก้าวไกลจะนำพาประเทศไทยไปสู่หนทางที่ดีกว่า ถ้าหากพวกเขาเข้ามามีอำนาจและเปลี่ยนแปลงประเทศไปให้ไม่เหมือนเดิมทั้งเชิงโครงสร้างและรูปแบบของรัฐ และพวกเขาจะแตกต่างจากนักการเมืองในอดีตอย่างไรเมื่อมีอำนาจ
แม้เราจะมองเห็นถึงภัยของพรรคก้าวไกลที่กำลังจะมาถึงในวันข้างหน้า แต่ดูเหมือนว่าอำนาจที่สกัดกั้นพรรคก้าวไกลไม่ให้เข้าสู่อำนาจก็หาได้ตระหนักในการเปลี่ยนแปลงเพื่อเรียกความศรัทธาจากคนในสังคมส่วนใหญ่ แต่กลับใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลและสร้างระบบอภิสิทธิ์ขึ้นในสังคม ที่เห็นได้ชัดจากการที่ทักษิณแม้ถูกศาลตัดสินว่ากระทำผิดแล้วก็ยังไม่เข้าสู่เรือนจำแม้แต่วันเดียว ก็ยิ่งกลายเป็นปุ๋ยที่เร่งวันเติบโตของพรรคก้าวไกลให้มาถึงเร็วยิ่งขึ้น
ทำไมทักษิณจึงกล้าทำในสิ่งที่ท้าทายสังคมไทย จริงหรือไม่ว่าการที่ทักษิณกล้าทำเช่นนั้น เพราะมั่นใจว่าเขาได้รับการสนับสนุนจากทุกเครือข่ายอำนาจในสังคมไทย หรือเพราะทักษิณมั่นใจว่าอย่างไรเสียก็ต้องพึ่งพากับเครือข่ายของเขาในการรับมือกับพรรคก้าวไกลที่มีอันตรายมากกว่า
แม้ว่ายากที่จะตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงที่หมุนเคลื่อนไปตามกาลเวลาที่ไม่หยุดนิ่ง แต่ถ้าเราจะยับยั้งไม่ให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้ง่ายและรวดเร็วรุนแรง ทุกอำนาจในสังคมไทยก็ต้องทบทวนเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองให้สอดคล้องกับกาลเวลาด้วย
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan