xs
xsm
sm
md
lg

จุดยืนของพรรคก้าวไกล และการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ

คดีที่ศาลอาญาสั่งจำคุกไอซ์-รักชนก ศรีนอก ส.ส.พรรคก้าวไกลนั้น เป็นคดีแรกที่ศาลได้เปิดเผยต่อสาธารณะว่า ข้อความที่ไอซ์หมิ่นนั้นมีเนื้อหาใจความอย่างไร จะเห็นว่าข้อความดังกล่าวแม้จะกระทำต่อบุคคลธรรมดาก็เข้าฐานความผิดหมิ่นประมาทแน่นอน อย่าว่าแต่ประมุขของรัฐเลย

ในอดีตนั้นศาลจะไม่เปิดเผยข้อความที่หมิ่นประมาทสู่สาธารณะ เพราะเท่ากับกระทำความผิดซ้ำ แต่เมื่อไม่เปิดเผยทำให้ฝ่ายตรงข้ามนำไปกล่าวหาว่า รัฐปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยคนทั่วไปไม่อาจรู้ว่าที่ศาลสั่งจำคุกนั้นมีการกล่าวหาต่อพระมหากษัตริย์อย่างไร แต่เมื่อศาลเปิดเผยให้เห็นถึงเนื้อหาที่ไอซ์กระทำความผิดตามมาตรา 112 จะเห็นได้ว่า จากเนื้อหาดังกล่าวนั้นไม่อาจยกเอาเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมาอ้างได้เลย

และทำให้คนจำนวนมากตกใจที่ไอซ์กล่าวหาต่อพระมหากษัตริย์เช่นนั้น

การที่ ช่อ-พรรณิการ์ วานิช แสดงความกังวลว่า คนจำนวนหนึ่ง กล่าวว่า ก็แสดงความเห็นเช่นนี้ก็สมควรแล้ว อยากให้ย้อนคิดว่าการแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะพูดว่าอะไรก็ตาม ในฐานะเพื่อนมนุษย์ ควรจะช่วยกันยืนยันว่า สิทธิในการแสดงความคิดเห็นนั้นเป็นของทุกคน และไม่ว่าคำพูดหรือความเห็นนั้นจะมีเนื้อหาอย่างไร ก็ไม่ควรได้รับโทษหนักขนาดจำคุก 6 ปี ซึ่งมากกว่าคดีฆ่าคนตายหรือข่มขืนบางคดีด้วยซ้ำ

สะท้อนว่าช่อไม่ได้มีความเห็นต่างไปจากไอซ์และไม่ได้ใช้สติปัญญาในการแยกแยะสิทธิในการแสดงความคิดเห็น กับการกล่าวหาให้ร้ายบุคคลอื่น เพราะไม่ว่าประเทศไหนในโลกนี้ก็ไม่ให้สิทธิในการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้ายบุคคลอื่น แม้กระทั่งการกระทำดังกล่าวต่อบุคคลธรรมดาก็มีความผิด อาจจะมีบางประเทศที่เป็นความคิดทางแพ่ง แต่ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นความผิดทางอาญาทั้งสิ้น และการที่ไอซ์ถูกจำคุก 6 ปีนั้น เพราะกระทำผิดหลายครั้งโดยได้รับการลงโทษเบาที่สุดของฐานความผิดตามมาตรา 112 ที่มีโทษจำคุก 3-15 ปี

บทลงโทษการหมิ่นประมาทประมุขของรัฐนั้นอาจจะแตกต่างกันในหลายประเทศ แต่ล้วนแล้วแต่มีกฎหมายคุ้มครองทั้งสิ้น เช่นในสหรัฐอเมริกาแม้จะมีการคุ้มครองเสรีภาพในการพูด แต่การพูดบางรูปแบบเช่นการคุกคาม ก็ถือเป็นความผิดทางอาญา ในสหรัฐอเมริกาก็เคยมีการตัดสินจำคุกผู้ต้องหาที่หมิ่นประธานาธิบดี

โดยศาลในเมืองหลุยส์วิลล์ มลรัฐเคนตักกี ได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2553 ให้จำคุกนายจอห์นนี่ โลแกน สเปนเซอร์ ชาวเมืองหลุยส์วิลล์ วัย 28 ปี เป็นเวลา 33 เดือน ด้วยข้อหาข่มขู่นายบารัก โอบามา กรณีที่นายสเปนเซอร์ได้เขียนบทกวี 16 บรรทัด ซึ่งมีเนื้อหาบรรยายถึงการใช้ปืนสไนเปอร์ลอบยิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ โพสต์ขึ้นบนเว็บไซต์แห่งหนึ่ง

และการที่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร กล่าวว่า กรณีของน.ส.รักชนก ทำให้เห็นถึงปัญหาของ ม.112 ได้อย่างชัดเจนอีกแล้ว หวังว่าจะทำให้สังคมเห็นถึงปัญหาและความพยายามที่จะแก้ไข กฎหมายมาตราดังกล่าวของพรรคก้าวไกล นั่นเท่ากับว่านายวิโรจน์ไม่สามารถแยกแยะได้ระหว่างการวิจารณ์กับการกล่าวหาในร้าย ซึ่งจากคำกล่าวหาต่อพระมหากษัตริย์ของไอซ์นั้นชัดเจนว่า เป็นการกล่าวหาให้ร้าย

นี่ทำให้เห็นว่าทำไมพรรคก้าวไกลจึงมีแนวคิดที่จะยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ระบุว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี”

แท้จริงแล้วในความคิดที่ลึกไปกว่านั้นของพรรคก้าวไกลก็คือ การมีความคิดที่ไม่ยอมรับในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และแสดงออกชัดเจนถึงการสนับสนุนการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ของคนจำนวนหนึ่ง แต่เพราะคนเหล่านั้นไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจในทางทฤษฎีอย่างชัดเจน ทำให้เนื้อหาในการเคลื่อนไหวส่วนใหญ่จึงเป็นการกล่าวหาต่อพระมหากษัตริย์ด้วยข้อความให้ร้ายที่รุนแรงและหยาบคายจนนำไปสู่การดำเนินคดีจำนวนมาก และทำให้พรรคก้าวไกลต้องออกมาเคลื่อนไหวเพื่อให้นิรโทษกรรมกับผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ที่พวกตนให้ท้ายอยู่ในขณะนี้

ปิยบุตร แสงกนกกุล สอนพวกเขาว่า การสืบทอดอำนาจโดยเอาอำนาจสูงสุดไว้กับคนๆ เดียวนั้นเป็นความล้าสมัย พวกเขาจึงเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทั้งที่จริงพระมหากษัตริย์ได้ลดทอนอำนาจตัวเองลงมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เป็น Constitutional Monarchyมาตั้งแต่ถูกรัฐประหาร 2475มาแล้ว และถึงจะไม่เกิด 2475 พระมหากษัตริย์ไทยก็เตรียมจะให้รัฐธรรมนูญกับปวงชนชาวไทยอยู่แล้ว

ตามรัฐธรรมนูญพระมหากษัตริย์ของไทยเพียงแต่มีพระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ผ่านสถาบันต่างๆ ของรัฐ คือ บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 3 ได้กำหนดว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”

แต่พรรคก้าวไกลก็ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์เพื่อลดทอนบทบาทและสถานะของพระมหากษัตริย์ให้ลดน้อยลงไปกว่านี้อีก

นอกจากนั้นพวกเขายังมีสำนักพิมพ์ที่เผยแพร่ความคิดในการลดทอนสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่าง สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ที่มี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นนายทุน หนังสือของ ณัฐพล ใจจริงชื่อ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี ที่มาจากวิทยานิพนธ์ของเขานั้นมีอิทธิพลต่อความคิดของคนรุ่นใหม่จำนวนมาก แม้วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จะถูกเปิดโปงว่า มีการเสกสรรปั้นแต่งเพื่อให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ในหลายจุด แต่ก็ไม่สามารถทำให้ความเชื่อของผู้เสพหนังสือเล่มนี้เปลี่ยนแปลงไปได้

คนรุ่นใหม่เหล่านี้ถูกทำให้เชื่อว่าพระมหากษัตริย์ไม่ได้มีคุณูปการต่อแผ่นดิน ทั้งที่ทุกพระองค์ได้สั่งสมคุณูปการต่อชาติบ้านเมืองมาอย่างใหญ่หลวง เพราะเด็กพวกนี้ถูกสอนให้เชื่อในอำนาจของนักการเมืองมากกว่าว่าเราเลือกผู้ปกครองให้ตัวเองได้ แต่เราไม่รู้เหมือนกันว่า ถ้าไม่มีพระมหากษัตริย์มีแต่นักการเมืองเราจะฟังใครไหมถ้าเกิดเหตุการณ์แบบ 14 ตุลาคม 2516 หรือพฤษภาทมิฬ 2535

พรรคก้าวไกลแสดงออกชัดเจนต่างกับพรรคการเมืองต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเห็นได้ชัดคือ การที่พรรคก้าวไกลไม่โพสต์ถวายพระพรในวันเฉลิมพระชนมพรรษานั้นก็เป็นการแสดงออกที่ชัดเจนว่า พรรคก้าวไกลมีความคิดอย่างไร แม้ไม่มีกฎหมายจะเอาผิดได้ แต่ก็แสดงให้เห็นถึงการไม่ยอมรับต่อการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์นั่นเอง

สมาชิกของพรรคก้าวไกลทั้งที่เป็นส.ส.ไม่เป็นส.ส.และแนวร่วมของพรรคล้วนแล้วแต่มีทัศนคติเชิงลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น ไม่เพียงแต่ไอซ์ รักชนกเท่านั้นที่ถูกดำเนินคดี แต่ยังมีหลายคนที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 รวมไปถึงคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่เมื่อถูกดำเนินคดีแล้วพรรคก้าวไกลจะใช้ตำแหน่งส.ส.เพื่อเป็นนายประกันก็ล้วนแล้วแต่เป็นแนวร่วมของพรรคก้าวไกลทั้งสิ้น

อย่างที่เราทราบกันอยู่แล้วว่า ร่างแก้ไขมาตรา 112 ที่พวกเขาเสนอเขาสภาฯ ในสมัยที่แล้ว แต่ถูกตีตกเพราะขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 6 นั้น พวกเขาไม่ได้เพียงแต่แก้ไขมาตรา 112 เท่านั้น แต่พวกเขายกเลิกมาตรา 112 แล้วเขียนมาตราใหม่ขึ้นมาให้โทษเบาลงมากแล้วย้ายหมวดออกไปจากหมวดความมั่นคง สถานะของพระมหากษัตริย์ก็จะเท่ากับบุคคลธรรมดา ถ้ามีผู้ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ก็ต้องให้สำนักพระราชวังไปฟ้องศาลหรือแจ้งความดำเนินคดีด้วยตัวเอง และมีโทษที่เบาบางมากโดยอ้างเอาว่านั่นเป็นการให้ได้สัดส่วนกับเสรีภาพในการแสดงออก

หากใครได้ติดตามการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่พรรคก้าวไกลให้การสนับสนุนจำนวนมากแล้วจะเห็นได้ว่า ล้วนแล้วแต่เกินเลยสิ่งที่เรียกว่า การวิจารณ์โดยสุจริตทั้งสิ้น แต่เป็นการกล่าวหาให้ร้ายด้วยข้อความที่เป็นเท็จและหยาบคาย เช่นเดียวกับที่ศาลเผยแพร่การแสดงออกของไอซ์ รักชนกออกมานั่นแหละ ถ้าติดตามการพิจารณาคดีของศาลในคดีตามมาตรา 112 ในปัจจุบันนั้นจะเห็นได้ว่ามีหลายครั้งที่ศาลให้ยกฟ้องและให้รอลงอาญาเช่นกรณีของ เบญจา อาปัน เพื่อเปิดโอกาสให้กลับตัวและเห็นว่ากระทำผิดโดยขาดวุฒิภาวะ ดังนั้นจะกล่าวหาว่าศาลดำเนินคดีตามมาตรา 112 โดยไม่เป็นธรรมไม่ได้เลย

แม้ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลจะได้รับการเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 แต่หากคนจำนวนมากเข้าใจจุดยืนอุดมการณ์ความคิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของพรรคก้าวไกลที่ปรากฎออกมาชัดเจนขึ้น ก็เชื่อว่าจะมีคนไม่น้อยที่จะต้องทบทวนความคิดในการลงคะแนนให้พรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น