xs
xsm
sm
md
lg

“เผายา” ภูมิปัญญาการใช้ไฟ และความร้อนในการแพทย์แผนตะวันออก นำไปใช้อย่างไรให้ปลอดภัย?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

จากกรณีที่รายการโหนกระแสทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ได้เผยแพร่ออกอากาศเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2566 เป็นเรื่องราวของผู้เสียหายชื่อ คุณหมวย ซึ่งได้รับความเสียหายเกิดเพลิงไหม้ตามร่างกายในการเผายาในสถานพยาบาลที่เป็นสหคลินิกแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานความปลอดภัย และยังแสดงให้เห็นถึงแพทย์แผนไทยคนดังกล่าวและสถานพยาบาลแห่งนั้นขาดความรู้และความเข้าใจในเรื่องการเผายา ขาดสติและมีความประมาทเลินเล่อจนทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายทั้งต่อร่างกายและจิตใจ

การกระทำที่มีความผิดพลาดที่สำคัญคือ มีการใช้ปริมาณแอลกอฮอล์จำนวนมากในการเทลงบนสมุนไพรที่อยู่บนหน้าท้อง โดยไม่รู้ว่านำความรู้ที่ไม่ถูกต้องมาจากที่ใด ทำให้แอลกอฮอล์ที่เทลงไปชุ่มผ้าจนเปียกแล้วไหลเข้าไปผิวหนังด้านหน้าท้องจนถึงด้านหลัง เมื่อผู้เสียหายได้ทักท้วงว่ามีน้ำไหลลงไปถึงกางเกงในก็ยังไม่ใส่ใจ กลับดำเนินการจุดไฟจนไฟลุกท่วมผู้เสียหาย ครั้นเมื่อเกิดไฟลุกก็ขาดสติไม่มีความเตรียมพร้อมสำหรับการดับไฟอีกด้วย

การเผายาดังกล่าว เป็นกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานความปลอดภัย และยังแสดงให้เห็นถึงแพทย์แผนไทยคนดังกล่าวและสถานพยาบาลแห่งนั้นขาดความรู้และความเข้าใจในเรื่องการเผายา ขาดสติและมีความประมาทเลินเล่อจนทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายทั้งต่อร่างกายและจิตใจ

ความเสียหายที่ไม่ถูกต้องกรรมวิธีของแพทย์แผนไทยคนดังกล่าว อาจทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงไปถึงวงการแพทย์แผนไทยด้วย และทำให้ต้องตั้งคำถามว่าแพทย์แผนไทยคนดังกล่าวไม่เคยเรียนรู้ในวิธีการเผายาจากสถาบันการศึกษาของตัวเอง แต่กลับเลือกใช้กรรมวิธีการเผายาโดยปราศจากความรู้พื้นฐานด้านความปลอดภัย ขาดความรู้ถึงเหตุผลของการเผายา จึงชักชวนในทำหลายๆ ครั้ง โดยอ้างว่าจำนวนครั้งที่เพิ่มมากขึ้นก็จะเพิ่มปริมาณแอลกอฮอล์ให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ

คำถามที่สำคัญจากกรณีความผิดพลาด ประมาทเลินเล่อส่วนบุคคล ต้องมีคำถามตามมาถึงสถานประกอบการหรือสหคลินิกแห่งนั้น นำกรรมวิธีการนี้มาจากการเรียนการสอนจากใคร ถ้ามาจากการฝึกฝนจากผู้ที่ไม่รู้จริงแล้วสอนผิดพลาด ก็ต้องตามหาให้ได้ว่าคนๆ นั้นเป็นใครและยังฝึกอบรมผิดๆ อยู่หรือไม่ ซึ่งหวังแต่เพียงว่าการสืบสวนและสอบสวนโดยสภาการแพทย์แผนไทย หรือกระทรวงสาธารณสุขจะนำไปสู่การดำเนินการที่เหมาะสมและเป็นรูปธรรมตั้งปลายเหตุและต้นเหตุต่อไป

เพื่อทำให้การแพทย์แผนไทยเป็นการแพทย์ที่สำคัญของชาติที่ประโยชน์และมีความปลอดภัยต่อประชาชนชาวไทยมากขึ้น
ด้วยเหตุผลนี้ วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต จึงได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1/2566 วันที่ 13 ธันวาคม 2566 ในฐานะเป็นองค์กรการศึกษาที่ได้เปิดการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติมานานกว่า 20 ปี ในหลักสูตรการแพทย์แผนไทย หลักสูตรการแพทย์แผนจีน และหลักสูตรนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร อีกทั้งยังมีประสบการณ์การให้บริการการเผายาในสหคลินิกภายในมหาวิทยาลัยแทบทุกวันมานานกว่า 10 ปี เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องแสดงจุดยืนในเรื่องดังกล่าว ให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสื่อมวลชนและพี่น้องประชาชน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ตระหนักต่อกรณีการเผายาที่เกิดขึ้นนี้

 ประการแรก วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ขอขอบคุณรายการโหนกระแส และขอบคุณผู้เสียหายที่ได้เปิดเผยความจริงในเรื่องดังกล่าวสู่สาธารณะ ในขณะเดียวกันต้องขอแสดงความเสียใจและขอให้กำลังใจต่อผู้เสียหายให้ได้รับการเยียวยาความเสียหายให้สำเร็จต่อไปโดยเร็ว

 ทั้งนี้ ความผิดพลาดส่วนบุคคลสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกอาชีพรวมถึงแพทย์ทุกสาขา ถ้าผู้นั้นขาดสติและขาดประสบการณ์ อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดข้อผิดพลาดแล้วต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ

  ดังนั้น แพทย์แผนไทยคนดังกล่าวรวมถึงสถานพยาบาลแห่งนั้นจะต้องเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายอย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกัน สภาการแพทย์แผนไทย และกระทรวงสาธารณสุข ควรเร่งรัดการสืบสวน สอบสวนข้อเท็จจริง และหาทางออกในกรณีนี้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งเรียกร้องต่อผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยให้ตระหนักและมีความระมัดระวังในการใช้ไฟและความร้อนต่อผู้ป่วยด้วยความระมัดระวังและความรอบคอบมากยิ่งขึ้น

 ประการที่สอง การเผายาเป็นกรรมวิธีหนึ่งที่เป็นหัตถการตามแนวทางวิชาชีพการแพทย์แผนไทยลำดับที่ 6 ในการประกาศเกณฑ์มาตรฐานและกรรมวิธีการแพทย์แผนไทยผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2556 ลงนามวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556




 ดังนั้น การเผายาจึงเป็นกรรมวิธีการแพทย์แผนไทยที่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านที่มีการใช้กันทางภาคเหนือที่ได้รับการรับรองโดยสภาการแพทย์แผนไทย โดยมีกรรมวิธีหัตถการที่ใช้การจุดไฟให้ความร้อนบนเครื่องยาสมุนไพรรสร้อนที่วางลงผิวหนังเฉพาะจุดของผู้ป่วย

ด้วยเหตุผลนี้ วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต จึงได้จัดให้มีการเรียนการสอนในภาคทฤษฎีและปฏิบัติกรรมวิธีต่างๆ ของการแพทย์แผนไทยมาโดยตลอด โดยมีอาจารย์ผู้มีประสบการณ์หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญควบคุมดูแล ซึ่งรวมถึงการเผายาด้วย เพื่อให้นักเรียนที่จะเป็นแพทย์แผนไทยในอนาคตได้ชั่งน้ำหนักในการเลือกใช้กรรมวิธีต่างๆ ให้มีความเหมาะสมกับผู้ป่วยในสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องเลือกและบริหารจัดการใช้กรรมวิธีต่างๆ ให้มีความปลอดภัยมาเป็นอันดับแรก

ทางวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต มีความเคารพต่อการตัดสินใจไม่สอนบางกรรมวิธีของบางสถาบันการศึกษา อย่างไรก็ตาม หากแพทย์แผนไทยคนใดไม่เคยเรียนรู้การเผายาภาคปฏิบัติจากครูบาอาจารย์โดยตรงอย่างถูกต้อง ไม่ควรใช้กรรมวิธีเผายากับผู้ป่วยโดยเด็ดขาด และ ผู้ที่จะทำหัตถการเผายากับผู้ป่วยต้องผ่านการฝึกฝนจนเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญแล้วเท่านั้น

 ประการที่สาม การเผายาเป็นหัตถการในการแพทย์แผนไทย ที่มีหลักการคือ การเพิ่มธาตุไฟเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งผ่านทางผิวหนังของร่างกาย (เช่น ท้อง, หลัง ฯลฯ) โดยใช้ความร้อนจากการจุดไฟด้านบนเครื่องยาสมุนไพรสดรสร้อนที่วางลงบนผิวหนัง (เช่น เหง้าไพลสด เหง้าขมิ้นสด เหง้าขิงสด เหง้าข่าสด เหง้าตระไคร้สด ฯลฯ) โดยโรคหรืออาการที่สามารถใช้การเผายา ได้แก่ ท้องอืดท้องเฟ้ออาหารไม่ย่อย ภูมิแพ้อากาศ ผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต อาการหนาวใน และอ่อนเพลีย ใช้เพื่อไล่ลมจากท้อง ไล่ลมในเส้นลมที่ติด คลายเส้นที่ตึง ลดการปวดกล้ามเนื้อ โรคลมผิดเดือน

 กรรมวิธีการเผายาจึงไม่ได้เหมาะกับคนปกติทั่วไป แต่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเกี่ยวกับโรคธาตุไฟหย่อนเฉพาะจุดเท่านั้น ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่อยู่ระหว่างภาวะร้อนเกิน เช่น มีไข้ เพลียจากแดด ร้อนใน มีภาวะการอักเสบ ฯลฯ

 ประการที่สี่ แม้การเผายาเป็นการใช้ไฟในบริเวณใกล้ผิวหนังของผู้ป่วย แต่เป็นหัตถการที่สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการควบคุมปริมาณแอลกอฮอลให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นบนผ้าเปียกอย่างระมัดระวัง นอกจากนั้นการเผายายังสามารถดำเนินกรรมวิธีด้วยการไม่ใช้แอลกอฮอล์เลยด้วย เช่น การใช้การบูรแบบดั้งเดิมเป็นเชื้อเพลิงในการเผาเครื่องยา ซึ่งการบูรเป็นเกล็ดของแข็งจึงไม่มีลักษณะซึมหรือไหลเหมือนแอลกอฮอล์ การเผาการบูรก็เป็นการเผาไหม้เครื่องยาทีละน้อยและต้องเผายาหลายครั้งในการรักษา 1 ครั้ง

นอกจากนั้น หัตถการขับลมหรือคลายกล้ามเนื้อด้วยสมุนไพรรสร้อนผ่านทางผิวหนังเฉพาะจุด ยังสามารถทดแทนด้วยหัตถการอย่างอื่น ที่อาจมีความเสี่ยงน้อยกว่าหรือแม้แต่อาจจะมีประสิทธิภาพมากกว่าสำหรับผู้ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญการเผายาหรือไม่ต้องการใช้กรรมวิธีการเผายา เช่น การประคบร้อนด้วยสมุนไพรรสร้อน การใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรรสร้อนที่สกัดมาแล้ว (เช่น ครีม หรือ น้ำมัน) ควบคู่ไปกับการนวดกดจุด

ซึ่งผู้ที่เป็นแพทย์แผนไทยจะต้องชี้แจงขั้นตอนต่างๆ ให้ผู้ป่วยทราบอย่างละเอียด และผู้ป่วยสามารถเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับตัวเองและสถานการณ์แวดล้อมในขณะนั้น โดยจะต้องคำนึงถึงประโยชน์และความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

โดยผู้ป่วยจะต้องมีความรู้เท่าทันและต้องกล้าปฏิเสธการรักษาทันทีหากรู้สึกได้ว่ามีความผิดปกติหรือมีความเสี่ยงในการรักษา

 ประการที่ห้า นอกเหนือจากกรรมวิธีเผายาแล้ว การแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านมีภูมิปัญญาการใช้ไฟและความร้อนในการรักษาอีกหลายวิธีที่ได้ผลดีมานานหลายร้อยปีแล้ว เช่น การนึ่งทับหม้อเกลือหลังคลอดเพื่อให้มดลูกเข้าอู่ การนึ่งท้องด้วยสมุนไพรเพื่อให้ท้องยุบในมารดาหลังคลอด การประคบร้อนด้วยสมุนไพรเพื่อคลายกล้ามเนื้อและเพิ่มการไหลเวียนของเลือดลม การย่างไฟบนแคร่ด้วยสมุนไพรเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ การอบตัวสมุนไพร การรมยา ฯลฯ

นอกจากนั้น ยังปรากฏการเทียบเคียงการใช้ความร้อนบนเครื่องยาสมุนไพร โดยหัตถการของการแพทย์แผนไทยซึ่งปรากฏอยู่ใน  คัมภีร์มัญชุสาระวิเชียร ปรากฏอยู่ใน  แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์เล่ม 2 ของโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ วัดเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร  ซึ่งคัมภีร์แพทย์หลวงเล่มนี้กล่าวถึง  ลมเป็นก้อนเป็นดาน 10 ประการ  ที่ทำให้เกิดโรค ตั้งอยู่ในตำแหน่งต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งได้กล่าวถึง “โรคปิตตะคุลมะ” อันเป็นก้อนดานตั้งอยู่ในอุระมีดีซึมอยู่เป็นอันมาก รักษาด้วยกรรมวิธีเผาเหล็กแดงนาบลงบนสรรพยาซึ่งเป็นเครื่องยาสมุนไพรในจุดที่เจ็บเพื่อแก้ลมก้อนเถาหาย

คัมภีร์มัญชุสาระวิเชียร ยังปรากฏอยู่ในหนังสือ  “เวชศาสตร์วรรณา” ของ  พระยาประเสริฐศาสตร์ธำรง (หนู วรกิจพิศาล) เป็นหมอที่มีชื่อเสียงมาก ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เป็นแพทย์ใหญ่ประจำโรงพยาบาลศิริราชพยาบาล โดยท่านสอนหนังสือเวชศาสตร์วรรณาในโรงเรียนแพทยาลัยยุคแรก ดังนั้นย่อมต้องเรียนรู้คัมภีร์มัญชุสาระวิเชียรด้วย ดังนั้น กรรมวิธีเหล็กร้อนแดงนาบลงบนสรรพยาจึงนับเป็นกรรมวิธีของ “แพทย์หลวง”

คัมภีร์มัญชุสาระวิเชียร เป็นคัมภีร์ที่รักษาโรคทางธาตุลมที่เป็นโรคที่รักษายาก ดังที่ปรากฏคำอธิบายเอาไว้ว่า

“อันว่าลมก้อนดานเถาอันใด อันตั้งอยู่ในอก และตั้งอยู่บนยอดไส้ เกี่ยวผ่านลงไปในนาภีนั้น ตั้งอยู่ได้เดือนหนึ่ง แทยาจารย์อย่าพึงรักษาเลย อันว่าลมก้อนดานเถาอันอื่น นอกจากลม 10 ประการนี้ แพทย์พอจะเยียวยารักษาให้หายได้”

โรคดังกล่าวนี้ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอะไรได้ จึงไม่สามารถรับประทานยาได้ด้วย จึงกำหนดกรรมวิธีการรักษา “โรคปิตตะคุลมะ”เอาไว้ความว่า

”อันว่าลมปิตตะคุละมะ แพทย์มิพึงจะรักษา ถ้าแหละแพทย์จะรักษา ก็พึงให้เผาเหล็กแดงเอาทาบลงบนสรรพยา เพื่อจะให้ที่เผานั้นพองขึ้น ทำทั้งนี้เพื่อมิให้พยาธิเจริญขึ้นมาได้ สรรพยาที่จะนาบนั้น เอาขมิ้นอ้อย ว่านน้ำ เปราะหอม เมล็ดผักกาด เมล็ดงาดำ เทียนดำ เอาสิ่งละ 6 สลึง ตำให้แหลกเคล้ากับน้ำมันหมู แล้ววางลงที่เจ็บนั้นเหล็กแดงนาบลง แก้ลมก้อนเถาหาย“

 ในขณะที่การแพทย์แผนจีนซึ่งมีภูมิปัญญาในการดูแลสุขภาพที่มีมานานมาเป็นพันปี หากการฝังเข็มไม่ได้ผลก็จะใช้การรมยาด้วยความร้อนเพื่อเพิ่มความอบอุ่น เพิ่มพลังหยางในการกระตุ้นการไหลเวียนของระบบประสาทซิมพาเทติก (sympathetic) จึงเหมาะสำหรับคนที่มีความเย็นและชื้นในร่างกาย เสริมสร้างสุขภาพเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน รักษาภาวะหยางพร่อง(ความร้อนพร่อง) หรือมีอาการขี้หนาว กลัวลมหนาว เหนื่อยง่าย เลือดน้อย ซึ่งมีข้อห้ามเช่นเดียวกับการแพทย์แผนไทย คือห้ามสำหรับคนที่มีไข้หรือภาวะอักเสบ ติดเชื้อ ร้อนเกิน ปัสสาวะน้อย ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม กระหายน้ำมาก เป็นแผนร้อนใน เหงื่อออกมาก และหัตถการนี้ไม่เหมาะกับฤดูร้อน

 นอกจากนี้ ในการแพทย์แผนจีนยังมีการใช้ความร้อนรมยาผ่านสมุนไพรตามแนวกระดูกสันหลังที่เรียกว่ามังกรไฟ ชื่อกรรมวิธีฮั่วหลงจิว(火龙灸)หรือ ฉางเฉอจิว(长蛇灸) และมีความคล้ายคลึงกับการกักน้ำมันร้อนตามแนวกระดูกสันหลังที่เรียกว่า กะติ บาสติ (KATI BASTI) ของการแพทย์อายุรเวทอินเดียอีกด้วย


โดยในการแถลงข่าวครั้งนี้วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ได้จัดให้มีการสาธิตการเผายาอย่างปลอดภัย การเผายาโดยใช้การบูร การประคบร้อน การนึ่งท้อง การรมยามังกรไฟ และการกักน้ำมันอุ่นตามแนวกระดูกสันหลังด้วย

ทั้งนี้ ผู้ให้บริการที่ใช้ไฟและความร้อนของแต่ละภูมิปัญญา ควรเป็นผู้ประกอบวิชาชีพนั้นๆ และมีความเชี่ยวชาญในด้านนั้นโดยตรง และดำเนินกรรมวิธีการรักษาด้วยความรู้ สติ และความรอบคอบ ย่อมจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพและบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้อย่างแน่นอน

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต



กำลังโหลดความคิดเห็น