xs
xsm
sm
md
lg

ซอฟต์พาวเวอร์แบบไทยๆ ของเล่นเพื่อไต่บันไดฝันของอุ๊งอิ๊ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ

ตอนนี้สังคมไทยกำลังตื่นเต้นกับคำว่า ซอฟต์พาวเวอร์ ที่นำโดยอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร ที่ถูกอุปโลกน์ให้เป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ แล้วเธอก็นั่งหัวโต๊ะแต่งตั้งบุคคลผู้เชี่ยวชาญในแขนงต่างๆ มาร่วมประชุมกับเธอ แล้วล่าสุดประกาศจะใช้วงเงิน 5000 กว่าล้านเพื่อพัฒนาโครงการซอฟต์ของไทย

เมื่อพิจารณาจากคณะทำงานต่างๆ ที่เธอเชิญมาร่วมแล้ว ดูเหมือนคุณสมบัติเดียวที่ทำให้เธอสามารถนั่งเป็นประธานเหนือกว่าผู้อาวุโสทั้งหลายก็คือ ความเป็นลูกสาวของทักษิณเท่านั้นเอง ส่วนคุณสมบัติอื่น ด้านการประสบความสำเร็จและความสามารถอันเป็นที่ประจักษ์นั้นไม่มีเลย หรือพอเราเอาหนังสือหรือวรรณกรรมไทยไปเป็นหมวดหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ เราก็เชิญเธอไปเป็นประธานเปิดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ซึ่งเป็นความสอพลอของคนบางคนมากกว่าที่จะสื่อสารอะไรออกมา

แต่เพราะอำนาจและผลประโยชน์เป็นเรื่องเดียวกัน เราจึงเห็นหลายคนเข้ามาเป็นกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ โดยไม่ติดใจที่มีแพทองธารนั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน

และคนไทยจำนวนไม่น้อยก็คงจะสับสนกับคำว่าซอฟต์พาวเวอร์ ยิ่งท่าทีของแพทองธารที่เอะอะอะไรก็เป็นซอฟต์พาวเวอร์ด้วยแล้วคนก็คงจะงงกันมากขึ้น หรือไม่ก็เข้าใจว่า อะไรที่เป็นไทยก็เป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้หมด แต่ความหมายของซอฟต์ พาวเวอร์ที่แท้จริงก็คือ การใช้อิทธิพลทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ ของประเทศ เพื่อชักชวนประเทศอื่นให้ทำบางสิ่งบางอย่างแทนที่จะใช้อำนาจทางการทหาร

 Joseph Nye ผู้สร้างแนวคิดนี้ ได้กำหนดแหล่งที่มาหลักๆ ของ soft power ไว้ 3 แหล่งในขณะที่เขาพัฒนาแนวคิดนี้ ซอฟต์พาวเวอร์ 3 เสาหลักของ Nye ได้แก่ ค่านิยมทางการเมือง วัฒนธรรม และนโยบายต่างประเทศ พูดง่ายๆ ว่า ซอฟต์พาวเวอร์เป็นความสามารถของประเทศหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมประเทศอื่น เพื่อให้ได้รับผลลัพธ์ตามที่ประเทศเราต้องการในมิติของการเมืองระหว่างประเทศ

ดูเหมือนว่าสิ่งที่คณะกรรมการชุดอุ๊งอิ๊งทำและคิดก็คือ การสร้างโฆษณาชวนเชื่อเพื่อให้ต่างชาติหลงไหลในวัฒนธรรมของไทย แต่ Joseph Nye อธิบายว่าด้วยอำนาจของซอฟต์พาวเวอร์  “การโฆษณาชวนเชื่อ ที่ดีที่สุด ไม่ใช่การโฆษณาชวนเชื่อ” และอธิบายเพิ่มเติมว่าในยุคข้อมูลข่าวสาร  “ความน่าเชื่อถือเป็นทรัพยากรที่หายากที่สุด”

นั่นแสดงว่า ซอฟต์พาวเวอร์ไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้โดยการชวนเชื่อปั้นแต่งขึ้นมา แต่มันต้องสร้างแรงดึงดูดและความประทับใจออกมาจนเป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติด้วยตัวของมันเอง  ศาสตราจารย์ดร.ไชยันต์ ไชยพร จึงโพสต์เฟซบุ๊กของเขาหยิกแกมหยอกว่า  “เลิกเรียกสิ่งที่จะส่งเสริมว่า soft power เถิดครับ เพราะพอเขาได้ยิน เขาจะรู้ตัว !”

เราได้ยินแพทองธรบอกว่า จะส่งเสริมหมูกระทะให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทย เธอบอกว่า อยากดัน “หมูกระทะ” เป็นซอฟต์พาวเวอร์ เนื่องจากเป็นเมนูอาหารที่สามารถสร้างและดึงคนมารวมกลุ่มกันได้ นักท่องเที่ยวต่างชาติก็เข้าถึงได้ง่าย อีกทั้งอาหารประเภทหมูกระทะของไทย มีทั้งจิ้มจุ่ม ต้ม ปิ้ง สามารถกินได้ทั้งหมู่บ้าน

คนทั่วไปก็พากันขบขันเพราะหมูกระทะแม้จะเป็นที่นิยมของคนไทยก็ตาม แต่ถามว่า มันเป็นวัฒนธรรมที่มาจากรากเหง้าของสังคมไทยหรือไม่เลย เพราะหมูกระทะนั้นจริงๆ แล้วเป็น ซอฟต์พาวเวอร์ที่เรารับวัฒนธรรมาจากจีนเกาหลีหรือมองโกเลียที่เป็นประเทศเมืองหนาว เพียงแต่เรามาดัดแปลงให้มีรสชาติแบบไทยเท่านั้นเอง

หรือแม้สมมติมันเป็นไทยเป็นอาหารไทยชนิดอื่นการที่เราจะทำให้เป็นซอตฟ์พาวเวอร์ได้ มันต้องเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมโดยชาวต่างชาติ ไม่ใช่เพราะคนไทยด้วยกันเองนิยมแบบหมูกระทะ เช่น ต้มยำกุ้งที่เป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมของคนต่างชาติ

บางคนอาจจะบอกว่า การแสดงคอนเสิร์ตของศิลปินสาว MILLI บนเวที Coachella ที่เจ้าตัวร้องเพลงและ กินข้าวเหนียวมะม่วง ระหว่างทำการแสดง จนทำให้ยอดขายข้าวเหนียวมะม่วงพุ่งขึ้น เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ถามว่ามันใช่เหรอ ต้องแยกแยะให้ได้นะว่า มันเป็นซอฟต์พาวเวอร์หรือกระแสเพียงวูบไหว เพราะมันไม่ได้ทำให้ชาวต่างชาติหันมาถามหาข้าวเหนียวมะม่วงของไทยจนสร้างความนิยมที่ยั่งยืนได้ มีแต่กระแสคนไทยด้วยกันเองนี่แหละ

ที่คนไทยน่าจะงงกันมากก็คือนโยบายของพรรคเพื่อไทยซึ่งได้หาเสียงการเลือกตั้งที่ผ่านมาด้วยนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ โดยประกาศว่าจะยกระดับทักษะคนไทยให้เป็นแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน สร้างรายได้อย่างน้อย 200,000 บาทต่อปี และสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง ก็ชวนให้คิดว่าพรรคเพื่อไทยเข้าใจหรือไม่ว่าซอฟต์พาวเวอร์คืออะไร เหมือนกับว่า พรรคเพื่อไทยเข้าใจเพียงว่า การผลักดันให้แต่ละครอบครัวมีงานทำมีรายได้นั่นคือ ซอฟต์พาวเวอร์ ไม่ใช่การทำให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล

อาจจะมีคนบอกว่า การเริ่มนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ก็ยังดีกว่าไม่ได้ลงมือทำ พูดแบบนั้นก็จริง แต่ถามว่ามันเป็นการขี่ช้างจับตั๊กแตนหรือไม่ ถ้าพูดถึงงบประมาณที่ต้องหว่านลงไป อย่างว่า แต่ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์เลย ทำ 1 จังหวัด 1 ซอฟต์พาวเวอร์ให้ได้เสียก่อนก็เป็นเรื่องยากเย็นแล้ว

และที่กล่าวขานกันมากล่าสุดก็คือ แพทองธารประกาศว่า ปีหน้าจะจัดสงกรานต์ตลอดทั้งเดือน

 “อีกหนึ่งเรื่องใหญ่และน่าตื่นเต้น คือแผนงานใหญ่ปีหน้า วันสงกรานต์จะไม่ใช่แค่เทศกาลแบบในอดีตที่ผ่านมา แต่เราจะจัดงานใหญ่ มหาสงกรานต์ World Water Festival - The Songkran Phenomenon

 เราจะปักหมุดให้สงกรานต์ในไทยปีหน้า เป็นเทศกาลที่คนทั้งโลกต้องบินมาเล่นที่บ้านเรา และสงกรานต์ปีหน้า เราจะไม่เล่นน้ำแค่ 3 วันนะคะ แต่จะจัดงานกันทั้งเดือน ทยอยจัดกันทั้งประเทศ 77 จังหวัด เตรียมวางแผนกันได้เลยนะคะว่าสัปดาห์ไหนของเดือนเมษายน อยากจะไปเล่นน้ำสงกรานต์กันที่จังหวัดไหนค่ะ”

คำกล่าวถึงงานสงกรานต์ตลอดทั้งเดือนของเธอแม้บอกว่าจะให้ทยอยจัดไปแต่ละจังหวัดในเดือนเมษายน คนก็งงกันว่า ปกติเราจัดสงกรานต์กันวันที่ 13-15 เมษายน ยกเว้นสงกรานต์ของบางพื้นที่เช่น สงกรานต์พระประแดง ที่เขามีประเพณีของเขาและจัดหลังวันสงกรานต์ไปประมาณ 1 สัปดาห์ จังหวัดอื่นจะต้องรอให้อุ๊งอิ๊งกำหนดหรือว่าจะจัดสงกรานต์ได้วันไหนในเดือนเมษายน แล้วถามว่า มันจะดึงดูดชาวต่างชาติและทำให้มันเป็นสากลจนกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทยได้อย่างไร

แน่นอนว่า มีวัฒนธรรมหลายอย่างของไทยที่สามารถเป็นซอฟต์พาวเวอร์ระดับโลกได้ แต่มันต้องเป็นด้วยตัวของมันเองไม่ใช่การสร้างขึ้นหรือการทำโฆษณาชวนเชื่อให้คนต่างชาติหันมานิยม สิ่งที่เราเห็นแล้วเวลาไปต่างประเทศก็คือ การนวดแผนไทยที่มีร้านนวดไทยดาษดื่นในต่างประเทศ เพราะได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติ มันก็เกิดขึ้นจากศักยภาพของตัวมันเองไม่ใช่การสร้างขึ้นมา

แพทองธารบอกว่า จะผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทย 11 ด้าน ได้แก่ แฟชั่น หนังสือ ภาพยนตร์ ละครและซีรีส์ เฟสติวัล อาหาร ออกแบบ ท่องเที่ยว เกม ดนตรี ศิลปะ และกีฬา ซึ่งแต่ละคณะได้เสนอแผนการดำเนินการเร่งด่วนภายใน 100 วัน การดำเนินการภายใน 6 เดือน และภายใน 1 ปี เพื่อขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของไทยให้เป็นที่รู้จักและสร้างรายได้เข้าประเทศเพิ่มมากขึ้น

ล่าสุดแถลงออกมาแล้วว่า จะใช้เงิน 5,164 ล้านบาท และคุยว่าจะทำให้เกิดรายได้กลับมาถึง 40,000 ล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่า รัฐบาลจะต้องจัดเงินให้คณะกรรมการชุดนี้อย่างไม่ต้องสงสัย แม้เศรษฐาจะพูดแก้เกี้ยวถึงงบแประมาณดังกล่าวเมื่อถูกนักข่าวถามว่า ต้องพิจารณาอีกที เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญกับงบประมาณทุกบาททุกสตางค์ และต้องชี้แจงได้ รวมถึงต้องเป็นประโยชน์กับประชาชนด้วยก็ตาม

แต่ใครล่ะจัดไปกล้าขัดใจเส้นทางปั้นคุณหนูอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ลูกสาวของทักษิณให้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป แม้จะมีคำถามว่าเธอจะวัดผลอย่างไรว่า รายได้ 40,000 ล้านบาทใน 11 ด้านนั้นมาจากความสำเร็จของคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติของเธอ

 ดูเหมือนการตั้งลูกสาวของทักษิณ อุ๊งอิ๊ง แพทองธารให้เข้ามามีบทบาทในรัฐบาลนั้น มีราคาที่รัฐจะต้องจ่ายไม่น้อย มันน่าจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของเขมรที่ส่งผลมาถึงการเมืองไทย เหมือนกับที่ฮุนเซนสร้างและผลักดันให้ลูกชายของเขาขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อสืบสายเลือดคนในครอบครัวได้สำเร็จนั่นแหละ

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น