xs
xsm
sm
md
lg

จะฟ้องกลั่นแกล้งกันด้วยคดีอาญามาตรา 112 ได้ง่ายหรือยากสักแค่ไหน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


แฟ้มภาพ
ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาสถิติศาสตร์
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ข้อกล่าวอ้างประการหนึ่งของผู้ที่มักจะยุยงให้เยาวชนกระทำผิดมาตรา 112 หรือพวกพ้องตนเองก็กระทำผิดมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญาที่มีมาอยู่เสมอคือกล่าวหาว่ามีการฟ้องเพื่อกลั่นแกล้งกัน โดยเหตุที่ว่าในคดีอาญาผู้เสียหายต้องเป็นผู้ฟ้องร้องต่อศาลหรือแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยตนเอง แต่คดีอาญามาตรา 112 นั้นใครไปแจ้งความกล่าวโทษใครที่ตนเองที่ต้องการกลั่นแกล้งนั้นก็สามารถทำได้ทันที โดยที่ผู้เสียหายคือองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งน่าจะเป็นผู้เสียหายโดยตรงไม่ต้องไปฟ้องร้องแจ้งความหรือดำเนินคดีด้วยตนเองแต่ประการใด

ทั้งนี้ข้อเท็จจริงคือมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา จัดอยู่ในหมวดความมั่นคง และเมื่อเป็นความมั่นคงแห่งรัฐคือองค์รัฏฐาธิปัตย์ เป็นอาทิ ประชาชนย่อมมีหน้าที่ต้องปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อยู่แล้วอันเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2560 มาตรา 50 ปวงชนชาวไทยย่อมทำหน้าที่ในการปกป้ององค์พระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ได้

และเมื่อไม่นานมานี้ก็เกิดการแจ้งความมาตรา 112 กับนายอนันต์ สาครเจริญ กรรมการบริหารพรรคไทยภักดี ซึ่งเป็นตัวแทนพรรคไทยภักดี ที่ได้ไปยื่นหนังสือถึงกรมราชทัณฑ์คัดค้านการขอพระราชทานอภัยโทษของ นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร และคนที่แจ้งความนายอนันต์ สาครเจริญ เป็นคนที่มีท่าทีเป็นปฏิปักษ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ (Anti-royalist) แต่กลับแจ้งความคนที่ปกป้องสถาบัน (Royalist) ดังปรากฏในข่าว "วรงค์" ชี้ สุดแปลก ฝ่ายปกป้อง ถูกฝ่ายโดนคดี 112 ร้อง ตร.รับลูกด้วย https://www.thairath.co.th/news/politic/2742047


เป็นที่น่าสังเกตอย่างยิ่งว่า จากกรณีดังกล่าว นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือน้องรุ้ง แกนนำของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมซึ่งต้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างระบอบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอันเป็นการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2560 มาตรา 49 กลับได้โพสต์แสดงความเห็นในทำนองเย้ยหยันว่าเกิดการกลั่นแกล้งโดยการฟ้องมาตรา 112 ว่า “กว่าจะรู้ว่า 112 มีปัญหา ก็ถึงวันที่ตัวเองโดนบ้าง ใช่ไหมคะคุณวรงค์ แปลกไหมล่ะ”
ทั้งนี้ในอดีตก็เคยมีการฟ้องร้องมาตรา 112 กับนายสนธิ ลิ้มทองกุลซึ่งปราศรัยบนเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บริเวณเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ โดยนำเอาคำปราศรัยของนางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล หรือดา ตอปิโด ที่เคยพูดบนเวทีปราศรัยที่ท้องสนามหลวง อันเป็นการพูดที่มีถ้อยคำหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงมาพูดซ้ำเพื่อปกป้องสถาบัน

จากหลายกรณีดังกล่าว ทำให้เกิดการพยายามปั่นกระแสว่ามีการกลั่นแกล้งกันด้วยการฟ้องร้องคดีอาญามาตรา 112

ทั้งนี้ในปัจจุบันการฟ้องร้องเพื่อกลั่นแกล้งด้วยคดีอาญามาตรา 112 มิได้เป็นเรื่องที่ง่ายแต่อย่างใดด้วยเห็นผลดังนี้

ประการแรก มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาลงมาแล้วอย่างชัดเจนว่า แม้กระทั่งการพูดซ้ำถ้อยคำที่หมิ่นองค์พระมหากษัตริย์และพระราชินี หากมีเจตนาเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ก็หาได้เป็นความผิดไม่ ซึ่งเกิดจากการฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิด ให้ยกฟ้อง แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ เห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ระมัดระวังอย่างเพียงพอ ครบองค์ประกอบความผิดแล้ว ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี ลดเหลือ 2 ปี และศาลฎีกาเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 ได้พิพากษายกฟ้องในคดีหมายเลขดำ อ.2066/2553 เพราะจำเลยขาดเจตนาหมิ่นเบื้องสูง เพียงเรียกร้องให้มีการดำเนินคดี มีเจตนาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ (ฎีกาที่ 8827/2559)

ดังนั้นแม้กระทั่งการนำคำพูดหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์มาพูดซ้ำเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่อย่างใด ผู้ที่มีเจตนาบริสุทธิ์ในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จึงไม่ต้องเกรงกลัวการกลั่นแกล้งเพื่อฟ้องร้องคดีด้วยมาตรา 112 แต่อย่างใดทั้งสิ้น เพราะมีแนวคำพิพาษาศาลฎีกาที่ชัดเจนเช่นนี้แล้ว
















ประการที่สอง สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคณะกรรมการพิจารณาคดีเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 558/2563 ลงนามโดยพลตำรวจเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2563 ที่ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง
คำสั่งดังกล่าวนิยามว่าความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หมายถึง ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรและความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญาลักษณะที่ 1 และลักษณะที่ 1/1 ตามลำดับ รวมถึงความผิดอื่นที่ต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน และการกระทำที่มีลักษณะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(3) และมาตรา 15 (เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาลักษณะดังกล่าว)

จากนิยามดังกล่าวคดีมาตรา 112 และมาตรา 116 จึงถูกรวมเข้าไปในคดีเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรด้วย

คณะกรรมการพิจารณาคดีเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรมีองค์ประกอบดังแสดงในคำสั่งดังกล่าวข้อ 6 ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงจำนวนมากทำงานร่วมกันและเป็นผู้ที่รับผิดชอบงานกฎหมายและคดีตลอดจนผู้ที่รับผิดชอบงานสืบสวนสอบสวน อันหมายรวมถึงทั้งผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค (9 ภาค) ด้วย

ก่อนที่สน.ต่างๆ ที่รับแจ้งความมาตรา 112 จะดำเนินคดีต้องมีการเขียนรายงานไปยังคณะกรรมการพิจารณาคดีเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรเสียก่อนดังคำสั่งดังกล่าวในข้อ 3-5 ซึ่งหากจะมีความเห็นว่าสมควรหรือไม่สมควรดำเนินคดีก็ต้องรวบรวมเรียบเรียงหลักฐานและพฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวโดยละเอียด

ข้อเท็จจริงว่าการกลั่นแกล้งกันโดยที่ใครไปแจ้งความมาตรา 112 ก็ได้ ผู้ถูกกล่าวหาทุกคนจะถูกดำเนินคดีจึงไม่เป็นความจริง เพราะคณะกรรมการพิจารณาคดีฯจะต้องพิจารณาหลักฐาน เอกสาร พฤติการณ์แห่งคดีก่อนที่จะอนุมัติให้ทำคดีต่อไปได้

และเมื่อคณะกรรมการพิจารณาคดีฯ มีความเห็นชอบให้ทำคดีได้ พนักงานสอบสวนจึงสามารถสอบสวนทำคดีได้

นอกจากนี้คำสั่งดังกล่าวในข้อ 7 ได้กำหนดไว้ว่าให้คณะกรรมการพิจารณาคดีฯ ประชุมพิจารณาสำนวนการสอบสวนและมีความเห็นเสนอผู้บัญชาการ เพื่อให้ผู้บัญชาการมีความเห็นทางคดีเสนอไปยังพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาต่อไป

ดังนั้นการที่กรรมการบริหารพรรคไทยภักดีถูกแจ้งความดำเนินคดีที่กองบังคับการปราบปราม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นั้น พนักงานสอบสวนที่กองบังคับการปราบปรามก็ต้องสรุปหลักฐาน เอกสาร และพฤติการณ์แห่งคดีไปยังคณะกรรมการพิจารณาคดีฯ เสียก่อน หากคณะกรรมการพิจารณาคดีฯ เห็นว่ามีเหตุผลเพียงพอจึงสามารถสอบสวนดำเนินคดีต่อไปได้ โดยส่วนตัวผมจึงเชื่อมั่นว่าจะไม่มีการทำสำนวนคดีหรือสั่งฟ้องคดีกับนายอนันต์ สาครเจริญ กรรมการบริหารพรรคไทยภักดี แต่อย่างใด

กล่าวให้เข้าใจได้ง่ายก็คือ มาตรา 112 ไม่ได้จะเอามาใช้กลั่นแกล้ง ฟ้องร้องกันได้ง่ายๆ หากไม่มีความผิดจริง

เพราะสน. หรือหน่วยงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติหน่วยใดจะรับคดีมาตรา 112 มาทำสำนวน ต้องแจ้งไปที่ คณะกรรมการพิจารณาคดีเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรเสียก่อน และเมื่อคดีนั้น พนักงานสอบสวนได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาคดีฯ นี้แล้วจึงเริ่มต้นทำสำนวนคดีต่อไปได้

หลังจากที่สน. ใดหรือหน่วยงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติหน่วยงานใด ทำสำนวนคดีเสร็จแล้วก็ต้องส่งสำนวนไปให้คณะกรรมการพิจารณคดีเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรได้พิจารณาเสียก่อนที่จะส่งไปให้พนักงานอัยการสั่งฟ้องได้

นอกจากนี้จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้ไปเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในคดีมาตรา 112 นับร้อยคดีในชั้นพนักงานสอบสวน ทำให้เข้าใจความลำบากของพนักงานสอบสวนในการทำสำนวนคดีมาตรา 112 เป็นอย่างยิ่ง เพราะคณะกรรมการพิจารณาคดีฯ ทำหน้าที่เหมือนอาจารย์ตรวจข้อสอบของพนักงานสอบสวน สั่งให้แก้สำนวน สั่งให้เรียบเรียงใหม่ สั่งให้หาพยานและหลักฐานเพิ่มเติม อย่างละเอียดถี่ถ้วน หลายครั้งทำให้ทราบว่าพนักงานสอบสวนก็เครียดและกดดันกับการต้องทำสำนวนคดีให้แน่นหนาเพียงพอในเวลาที่จำกัด ที่จะทำให้สำนวนคดีมีคุณภาพเพียงพอที่จะผ่านการตรวจพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาคดีฯ ซึ่งประกอบด้วยพนักงานสอบสวนชั้นครูที่ทำสำนวนคดีเก่งๆ จำนวนมากมานับร้อยนับพันคดี

พูดอย่างตรงไปตรงมา พนักงานสอบสวน ตามสถานีตำรวจจำนวนมาก ไม่ได้อยากจะทำคดีมาตรา 112 กันสักเท่าไหร่ เพราะทำยาก และมีคณะกรรมการพิจารณาคดีฯ ตรวจอ่านสำนวนแบบละเอียดถี่ยิบ ยุบยิบยับ จึงเป็นงานที่เหนื่อยยากลำบากมาก และหลายครั้งก็กดดันมาก เพราะมีเวลากำกับอยู่ ต้องทำให้เสร็จในเวลาที่กำหนด

ประการที่สาม ความยากลำบากของพนักงานสอบสวนที่ทำสำนวนคดีมาตรา 112 ในการรวบรวมหลักฐานและหาพยานผู้เชี่ยวชาญ เป็นอุปสรรคใหญ่ที่คงไม่มีพนักงานสอบสวนคนไหนจะอยากทำคดีมาตรา 112 เพื่อกลั่นแกล้งใคร

ทั้งนี้พนักงานสอบสวนยุคใหม่ใช้หลักฐานที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง digital footprint พนักงานสอบสวนต้องเก่งกาจและเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมากพอสมควรและต้องมีไหวพริบดีเยี่ยม เช่น การตรวจสอบจากสลิปการจ่ายเงินซื้อกาแฟของผู้กระทำคดีมาตรา 112 ที่เผลอจ่ายเงินด้วย prompt pay แล้วทิ้งหลักฐานให้พนักงานสอบสวนระบุตัวบุคคลในการดำเนินคดีได้อย่างแม่นยำ

อย่างไรก็ตาม การจะหาพยานผู้เชี่ยวชาญ หรือพยานความเห็นในคดีมาตรา 112 ก็หายากมาก ต้องการทั้งผู้ที่เสียสละเวลาไปให้การในชั้นพนักงานสอบสวน และต้องเสียสละเวลาไปให้การในชั้นสืบพยานโจทก์ (โดยพนักงานอัยการ) ในชั้นศาลอีกรอบ และรูปแบบการกระทำความผิดก็ทำให้หาพยานผู้เชี่ยวชาญได้ยากมาก

เพราะการกระทำผิดมาตรา 112 ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา ใช้รูปแบบที่แปลกใหม่ เช่น การแต่งกายล้อเลียน การแสดงละครล้อเลียน การทำการ์ตูนหรือแม้กระทั่งปฏิทินล้อเลียนดูหมิ่น ทำให้ต้องอาศัยพยานผู้เชี่ยวชาญนอกเหนือไปจากด้านกฎหมาย เช่น พยานผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทย พยานผู้เชี่ยวชาญด้านสถาบันพระมหากษัตริย์ พยานผู้เชี่ยวชาญด้านการละครและการแสดง พยานผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะ หรือแม้กระทั่งพยานผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน การแพทย์ และสาธารณสุข และพยานผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารธุรกิจ ดังกรณีคดีมาตรา 112 ที่มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจเป็นจำเลยกรณี คลิปวัคซีนพระราชทาน ใครได้ ใครเสีย ที่มีผู้แจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 ที่สน. นางเลิ้งนั้น พนักงานสอบสวนต้องใช้ความพยายามในการเชิญพยานผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่หลากหลายมากเพื่อให้สำนวนคดีหนักแน่นรัดกุม รอบด้าน

การทำสำนวนของพนักงานสอบสวนในคดีมาตรา 112 หลายคดีนั้นมีลักษณะคล้ายกับงานวิจัย ที่ต้องรวบรวม เรียบเรียง และหาพยานหลักฐานให้หนาแน่นมั่นคง ซึ่งเป็นงานยาก และพนักงานสอบสวนหลายคนก็ไม่มีความชำนาญเพียงพอ โดยเฉพาะพนักงานสอบสวนที่ไม่ได้สำเร็จการศึกษามาทางด้านกฎหมายโดยตรงจะทำสำนวนคดีมาตรา 112 ด้วยความเหนื่อยยากลำบากมาก

ประการที่สี่ พนักงานสอบสวนเองก็ทำงานภายใต้ประมวลกฎหมายอาญาเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ได้บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ดังนั้นหากพนักงานสอบสวนทำสำนวนคดีเพื่อกลั่นแกล้งใครให้ได้รับโทษในมาตรา 112 โดยไม่เป็นจริง ผู้เสียหายก็สามารถฟ้องพนักงานสอบสวนคนนั้นด้วยมาตรา 157 อาญาได้ จะร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ได้ หรือจะฟ้องร้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางก็ย่อมได้ ที่ผ่านมาตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก็เข้าคุกเข้าตารางมีมาให้เห็นกันแล้วมากมายพอสมควร แต่ยังไม่เคยทราบมาว่ามีตำรวจที่ถูกพิพากษาว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการกลั่นแกล้งฟ้องร้องคดีมาตรา 112 แต่อย่างใด

ดังนั้นข้อเท็จจริงจึงมีอยู่ว่าไม่ได้สามารถฟ้องกลั่นแกล้งกันได้ด้วยความผิดอาญามาตรา 112 ได้อย่างง่ายๆ อย่างที่คนที่ชอบทำผิดมาตรา 112 ชอบพูดอ้างกันหรือคนที่มีความคิดเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ชอบอ้างพูดกันอยู่เสมอ








กำลังโหลดความคิดเห็น