xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องของ “ปรัชญาตะวันตก”(ตอนยี่สิบสอง) ปรัชญาของ “จี ดับเบิ้ลยู เอฟ เฮเกล”?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เฮเกล
“สอดแนมการเมือง”
“ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”

ประวัติศาสตร์เป็นความก้าวหน้าของเสรีภาพ ปรัชญาแห่งอุดมคติอันสูงส่ง ความเป็นจริงคือความเป็นเหตุเป็นผล!

นั่นเป็นหนึ่งในแนวคิดของนักปรัชญา “เฮเกล” ซึ่งมีความทะเยอทะยานมากที่สุดนับตั้งแต่ยุคของ “อริสโตเติ้ล”

ความคิดของ “เฮเกล” ดึงดูดความสนใจสังคมปัญญาชนเยอรมัน ไม่ต่างจากเพลงของ “บรูซ สปริงทีน” นักร้อง-นักดนตรี-นักแต่งเพลงคนดังชาวอเมริกันจากนิวเจอร์ซี ซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบของชนชั้นแรงงานมะกัน

“เฮเกล” เกิดที่เมืองสตุทท์การ์ต ประเทศเยอรมนี เขาคือตัวอย่างของคนที่ถูกเลี้ยงดูมาอย่างดี จากครอบครัวที่อบอุ่น มารดาเป็นแม่บ้าน ส่วนบิดาเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยของรัฐบาล

“เฮเกล” ได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยทูบิงเก็น แต่ด้วย “เฮเกล” ไม่ค่อยจริงจังกับการเรียนนัก ในประกาศนียบัตรจึงถูกระบุว่า เขามีความเข้าใจในเรื่องเทวศาสตร์ และไม่เข้าใจเรื่องปรัชญา แต่แล้วเขาก็แสดงให้ทุกคนได้เห็นว่า เกิดสิ่งใดขึ้น..

“เฮเกล” เริ่มสำแดงสิ่งที่คาดไม่ถึง ด้วยการเป็นครูสอนพิเศษส่วนตัวที่โรงเรียนมัธยมปลาย จากนั้นจึงขยับมาเรื่อยจนได้เป็นประธานภาควิชาปรัชญา ที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน เป็นที่ซึ่งทำให้เขาได้รับการยกย่องอย่างสูง และในช่วงสิบปีสุดท้ายของชีวิต ได้ทำให้ “เฮเกล” กลายเป็นคนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วยุโรป
 
เหมือนกับนักปรัชญาคนอื่นๆ ในยุคนั้น “เฮเกล” ชื่นชมยอมรับแนวคิดพื้นฐานของ “เอมมานูเอล คานท์” แต่มีประเด็นหนึ่งของ “คานท์” ผู้ที่ทำให้เราเข้าใจความจริงเกี่ยวกับโลกของประสบการณ์ โดยส่วนที่ “เฮเกล” ไม่ชอบใจ ก็ตรงที่ “คานท์” กล่าวว่า โลกที่อยู่นอกเหนือไปจากประสบการณ์ของเรานั้น เป็นสิ่งที่อาจรู้จักได้
 
ความคิดสำคัญของ “เฮเกล” หนึ่ง-โลกสร้างความรู้สึก!

ตามความคิดของ“เฮเกล” เชื่อว่า โลกตามธรรมชาตินั้น เป็นโลกที่มีเหตุผลในตัวมันอยู่แล้ว!

อะไรนะ? โลกนี้น่ะหรือที่มีเหตุผล? ใช่!..“เฮเกล” ยืนยันเช่นนั้น โดยมองว่า โลกทางกายภาพที่เราเห็นนั้น เป็นสิ่งที่มีเหตุมีผลของมัน รวมทั้งมีความหมายกระจัดกระจายอยู่ทุกแห่ง ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก คือ “การประกาศ” ให้รู้ถึงจิตวิญญาณของโลก สิ่งที่เป็นความจริงสูงสุด คือความคิดหรือจิต “เฮเกล” ยืนยันในแนวคิด “อุดมคติอันสูงสุด”

และกล่าวว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ดำรงอยู่นั้น จำต้องเกี่ยวข้องกับความคิด จิตหรือวิญญาณอย่างแน่นอน
 
คราวนี้ลองกลับมาดู “การมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่แล้ว การสนทนาเพื่อสรุปหาความจริงด้วยการใช้เหตผล” อันเป็นวิธีการที่เรียกกันว่า “การสนทนาแบบเฮเกล” ซึ่งมีองค์ประกอบ 3 ส่วน นั่นคือ 1. การตั้งสมมุติฐาน (thesis) 2. การคิดในทางตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับสมมุติฐาน (antithesis) 3. การสรุปผล โดยพิจารณาจากสองปัจจัยข้างต้น (synthesis)
 
ดังนั้น การสรุปผลจึงเป็นรูปแบบของจริงอันสูงสุด ใช่อยู่ในจิตสำนึกของมนุษย์ไม่ มันคือการผสานความคิดสองส่วนที่แตกต่างกัน ให้เข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกัน

ตัวอย่างการสนทนาฯ แบบ “เฮเกล” คือ

สมมุติฐาน : แนวคิดเรื่องการเป็นอยู่ (Being) แนวคิดที่ตรงกันข้ามกับสมมุติฐาน : ไม่มีสิ่งใด (Nothing) การสรุปผล : แนวคิดของการจะเป็น (Becoming)

โดยพื้นฐานก็คือ เมื่อมีความคิดว่า มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่แล้ว ความคิดที่ตรงกันข้ามเลยก็คือ ไม่มีสิ่งใดเลยที่มีหรือคงอยู่แล้ว แต่ความรู้ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น ความเป็นจริงที่สูงกว่านี้ก็คือ การพัฒนาความรู้ ด้วยการเอาสองส่วนมาพิจารณาร่วม แล้วจึงเกิดเป็นข้อสรุป ว่าสิ่งที่จะเป็นหรือจะเกิดขึ้นนั้นคือสิ่งใด อันเป็นการนำแนวคิดที่ตรงกันข้ามสองส่วน เข้ามาคิดร่วมกัน อีกนัยหนึ่งก็คือ “การเป็นอยู่” กับ “การไม่มีสิ่งใดเลย” ถูกนำมาสังเคราะห์จนเกิดเป็นแนวคิดใหม่ที่เรียกว่า “จะเป็น”
การสนทนาแบบ “เฮเกล” นี้ ไม่ใช่อยู่ในจิตสำนึกของมนุษย์ ที่ทำให้เราเข้าใจโลกใบนี้เท่านั้น แต่มันอยู่ในโลกใบนี้ของมันเองด้วย

โลกคือกระบวนการอย่างหนึ่งในตัวของมันเอง เป็นกระบวนการที่มันเปิดเผยความจริงอันสูงสุด ต่อสรรพสิ่งที่กายภาพได้รับรู้ ดังนั้น การที่เราเข้าใจโลกใบนี้ได้ ก็เพราะทุกสิ่งล้วนเป็นผลมาจาก “จิตวิญญาณอันสูงสุด”
ความคิดสำคัญของ “เฮเกล” สอง-ประวัติศาสตร์นั้นมีจุดมุ่งหมาย!

มุมมอง “เฮเกล” ต่อประวัติศาสตร์นั้น เป็นอีกด้านหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้เขา โดย“เฮเกล” ศึกษาพัฒนาการของโลกในแง่ของการแสวงหาเสรีภาพ ประวัติศาสตร์จึงเป็นพัฒนาการเพื่อความก้าวหน้าของเสรีภาพ ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่มีจุดมุ่งหมาย และจุดมุ่งหมายนั้นเป็นสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผล มันเป็นการเปิดเผยให้เห็นถึงความคิดเกี่ยวกับเสรีภาพในสำนึกของมนุษย์

ขั้นแรกของเสรีภาพ คือการยอมรับ “ตนเอง” ว่าเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับ “ผู้อื่น” ลองคิดถึงนายกับทาส ในขณะที่ทาสถูกครอบงำโดยผู้เป็นนาย แต่ถึงกระนั้น ทาสก็ยังเป็นทั้งแรงงานและเป็นผู้สร้าง ความเป็นตัวตนของทาส จึงอยู่ที่การเป็นแรงงานของเขานั่นเอง
 
ส่วนผู้เป็นนายนั้นต้องพึ่งทาสในสองส่วนคือ พึ่งแรงงาน และภาวะที่ทาสคนนั้น “ยอมรับ” ว่าตนเป็นนาย
 
ดังนั้น แม้ว่านายจะเป็นคนบงการชีวิตของทาส แต่นายก็ทำให้ตนเองต้องพึ่งพาทาสด้วยเช่นกัน
 

ฉะนั้น ท้ายที่สุดแล้ว ทั้งผู้เป็นนายและทาส ต่างไม่มีใครมีเสรีภาพ บทสรุปเช่นนี้ได้มาจากการตั้งสมมุติฐาน แนวคิดที่ตรงกันข้ามกับสมมุติฐาน จนนำมาซึ่งบทสรุป
 
เมื่อภาวะเช่นนี้เป็นที่ตระหนักกันแล้ว ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติก็ก้าวไปสู่ระดับทางความคิดที่สูงขึ้น
ดังนั้น ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ จึงเป็นกระบวนการที่ “จิตวิญญาณอันสูงสุด” เปิดเผยตนเองต่อสำนึกของมนุษย์ ผ่านวิธีการสังเคราะห์ความแตกต่าง ระหว่าง “สมมุติฐาน” กับ “ความคิดที่ตรงข้ามกับสมมุติฐาน” จนได้สิ่งที่ “เฮเกล” เรียกว่า “ความคิดของเสรีภาพ”

“เฮเกล” ยินดีที่จิตวิญญาณซึ่งสามารถจับต้องได้เช่นนี้ ได้ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญของรัฐสมัยใหม่ ซึ่งทำให้แต่ละรัฐ เริ่มกำหนดแนวทางทางด้านจริยธรรมและศีลธรรมขึ้นมา

แต่สำหรับ “เฮเกล” แล้ว เขาเชื่อว่า ปัจเจกชนจะมีเสรีภาพอยู่เฉพาะในกรอบของสังคมเท่านั้น มิใช่ด้านอื่น ซึ่งประเด็นนี้เป็นความคิดสำคัญของ“ เฮเกล”

หนึ่งทศวรรษหลังจาก “เฮเกล” เสียชีวิต คนเยอรมันจำนวนมาก ถือว่าตนเองเป็นคนที่อยู่ในแนวทางของ “เฮเกล” แม้ว่ากระแสเช่นนี้จะไม่ได้คงอยู่ตลอดไป แต่ในภายหลัง ความคิดของเขาก็ส่งอิทธิพลต่อ “คาร์ล มาร์กซ” และนักปรัชญาคนอื่นๆ อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการเป็นนักปรัชญา ที่วางแนวคิดไว้อย่างเป็นระบบมากกว่าผู้ใด..
 
อืม..ประเด็นของนักคิดผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งอย่าง “คาร์ล มาร์กซ” น่าสนใจยิ่งนัก จึงขอขยายความสั้นๆ ไว้ ณ ที่นี้ เพราะ “มาร์กซ” ได้สร้างทฤษฎีทางการเมืองระบอบหนึ่งขึ้นมาบนโลก นั่นคือ “ลัทธิคอมมิวนิสต์ ”อันเลื่องลือ ให้ “ชาวโลก” จำนวนไม่น้อยได้ “รับรู้-เรียนรู้” ฯลฯ รวมทั้ง “นำไปทดลองปฏิบัติ” อย่างเอาจริงเอาจัง ใน “กลุ่มผู้คน” หลายชาติบนโลกกลมๆ ใบนี้
ซึ่งนั่นเป็น “แนวคิดเบื้องต้น” เท่านั้น แต่ก็ทำให้เกิดความ “ขัดแย้งขึ้นอย่างรุนแรง” ในหลากชาติ ระหว่าง “ผู้มีอำนาจ” ที่ปกครองชาติ กับ “ประชาชน” ที่ถูกปกครอง
 
เพราะ “ทฤษฎีลัทธิคอมมิวนิสต์” ของ “คาร์ล มาร์กซ” เกิดขึ้นมาเพื่อถูกนำไปสู่การ “ต่อสู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง” นั่นเอง..!
 
คราวนี้ขอหวนกลับมาที่บาง “คำคม” ของ “เฮเกล” ทิ้งไว้เป็น “น้ำจิ้ม” ยั่วความใคร่รู้ของท่านผู้อ่าน ดังนี้..
 
“สิ่งใดที่เป็นจริงย่อมมีเหตุมีผล สิ่งใดที่มีเหตุมีผลย่อมเป็นสิ่งที่จริง” และ “โศกนาฏกรรมที่แท้จริงในโลกนี้ เกิดจากความขัดแย้งระหว่างสิ่งที่ถูกต้องกับไม่ถูกต้อง”?!

อืม..สองข้อความนี้ของนักปรัชญา “จี ดับเบิ้ลยู เอฟ เฮเกล”.. จริงแท้แน่นอนใช่ไหมล่ะ..???


กำลังโหลดความคิดเห็น