xs
xsm
sm
md
lg

ซอฟท์พาวเวอร์ไทย จะไปทางไหนกัน? (ตอนที่ 1) : ประเทศไทยในเวทีโลกณ / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เศรษฐา ทวีสิน และแพทองธาร ชินวัตร ขณะเข้าร่วมงานยี่เป็งที่จังหวัดเชียงใหม่ โดย “นายกรัฐมนตรี” ประกาศว่า “ผมได้ยินชื่อเสียงมานานว่ายี่เป็งเป็นประเพณีที่ควรจะต้องมาสักครั้ง เพราะเป็นต้นทุนใหญ่สำหรับ Soft Power ของประเทศไทย และเป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาจากทั่วโลก
บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ในทางการเมือง ซอฟท์พาวเวอร์ มีความหมายถึง อำนาจที่มาจากการเลือกมากกว่าการบีบบังคับ เป็นอำนาจที่กำหนดลักษณะของความพึงพอใจที่มากกว่าในมิติที่ปรากฏทางกายภาพและการดึงดูดโดยใช้วัฒนธรรม คุณค่าทางการเมือง และนโยบายต่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย


ซอฟท์พาวเวอร์ ยังมีความหมายถึง อำนาจของความเป็นชาติ รัฐ ความสัมพันธ์ ที่ได้รับมาจากอิทธิพลทาง “เศรษฐกิจ” และ “วัฒนธรรม” มากกว่าการบีบบังคับหรือแสนยานุภาพทางทหาร

ซอฟท์พาวเวอร์ ยังเป็นความสามารถที่ก่อนให้เกิดอิทธิพลต่อพฤติกรรมต่างๆ เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการ ทำให้เกิดความร่วมมือของประชาชนโดยไม่ต้องบีบบังคับ

ซอฟท์พาวเวอร์ ยังกำหนดรูปลักษณ์ของสิ่งแวดล้อมและนโยบาย ในบางครั้งต้องงใช้เวลาหลายๆ ปีกว่าจะออกดอกผลในการตัดสินใจหรือการเปลี่ยนแปลงมิติต่างๆได้

การกำหนดซอฟท์พาวเวอร์นี้ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ วัฒนธรรม คุณค่าทางการเมือง และนโยบาย

ความสำเร็จของซอฟท์พาวเวอร์ ยังขึ้นอยู่กับชื่อเสียงที่เกิดขึ้นต่อทัศนคติต่อคนทั่วโลกด้วย เช่น ชื่อเสียงและความนิยมดารานักแสดง ความนิยมต่อวัฒนธรรม โดยอาศัยการเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชน ที่เผยแพร่ต่อภาพลักษณ์ไปในสากล

 เวทีศึกษายุทธศาสตร์อินเดีย หรือ Indian Strategic Studies Forum (ISSF) ได้จัดดัชนีชี้วัดซอฟท์พาวเวอร์ของโลกประจำปี 2566 เรียกว่า World Soft Power Index 2023 ซึ่งเป็นการพิจารณาจากมิติต่างๆ พบอันดับซอฟท์พาวเวอร์ของโลกดังต่อไปนี้

อันดับที่ 1 สหรัฐอเมริกา, อันดับที่ 2 ฝรั่งเศส, อันดับที่ 3 สหราชอาณาจักร, อันดับที่ 4 ญี่ปุ่น

อันดับที่ 5 เยอรมนี, อันดับที่ 6 สวิสเซอร์แลนด์, อันดับที่ 7 เกาหลีใต้, อันดับที่ 8 สเปน

อันดับที่ 9 แคนนาดา, อันดับที่ 10 จีน, อันดับที่ 11 อินเดีย, อันดับที่ 12 สิงคโปร์, อันดับที่ 13 อิตาลี, อันดับที่ 14 ออสเตรเลีย, อันดับที่ 15 สวีเดน, อันดับที่ 16 เดนมาร์ก, อันดับที่ 17 นอร์เวย์, อันดับที่ 18 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, อันดับที่ 19 เนเธอร์แลนด์, อันดับที่ 20 ตุรกี,

อันดับที่ 21 เบลเยี่ยม, อันดับที่ 22 ออสเตรีย, อันดับที่ 23 ซาอุดิอารเบีย, อันดับที่ 24 ฟินแลนด์, อันดับที่ 25 การ์ตา[1] 

การจัดดัชนีชี้วัดของการจัดอันดับข้างต้นนี้ ได้แก่หมวดอันดับที่จัดจากอำนาจที่เกิดจากดัชนีเศรษฐกิจและดัชนีทางการเมือง เช่น อันดับความมั่นคงทางการเมือง อันดับพาสปอร์ตที่มีความเข้มแข็งและมีอำนาจที่สุด อันดับการมีอิทธิพลต่อสถาบันทางพหุภาคีกับนานาชาติ อันดับเสถียรภาพทางด้านเศรษฐกิจและค่าเงิน อันดับการใช้งบประมาณช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งไม่มีประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ในเรื่องเหล่านี้เลย

ความน่าสนใจอีกหมวดหนึ่งที่น่าสนใจคือ หมวดสังคมและวัฒนธรรม สำหรับในหมวดนี้ได้พิจารณาในหลายมิติ ได้แก่ อันดับการเจาะเข้าไปผ่านสื่อและความบันเทิงระดับโลก อันดับเกี่ยวกับความเข้าใจต่อประเทศนั้นๆ อันดับในเรื่องชื่อเสียงของตราสินค้าและบริการต่างๆ อันดับการตอบสนองเรื่องการช่วยเหลือช่วงการระบาดของโควิด-19 อันดับชื่อเสียงในสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว

แม้ในมิติทางสังคมและวัฒนธรรมโดยภาพรวมแล้ว ประเทศไทยก็ไม่ได้ติดอันดับ 1 ใน 10 เช่นกัน แต่มีเรื่องที่น่าสนใจในเรื่องภูมิภาคเอเชียในบางหัวข้อ ได้แก่ หัวข้อเรื่องอันดับการเจาะเข้าไปผ่านสื่อและความบันเทิงระดับโลก ปรากฏว่ามีชาติเอเชียสามารถเข้าแทรกไปได้ 3 ประเทศจาก 10 ประเทศ กล่าวคือ อันดับที่ 1 สหรัฐอเมริกา, อันดับที่ 2 เกาหลีใต้, อันดับที่ 3 ญี่ปุ่น, อันดับที่ 4 อินเดีย, อันดับที่ 5 สหราชอาณาจักร, อันดับที่ 6 ฝรั่งเศส, อันดับที่ 7 สเปน, อันดับที่ 8 เม็กซิโก, อันดับที่ 9 ตุรกี และอันดับที่ 10 อิตาลี

ในขณะที่ อันดับตราสัญลักษณ์ของสินค้าและบริการคนเอเชียมี 3 อันดับเช่นกัน ได้แก่ อันดับที่ 1 สหรัฐอเมริกา, อันดับที่ 2 เยอรมนี, อันดับที่ 3 ญี่ปุ่น, อันดับที่ 4 ฝรั่งเศส, อันดับที่ 5 อิตาลี, อันดับที่ 6 เกาหลีใต้, อันดับที่ 7 จีน, อันดับที่ 8 สหราชอาณาจักร, อันดับที่ 9 สวิสเซอร์แลนด์ และอันดับที่ 10 สวีเดน

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าเฉพาะมิติ “การท่องเที่ยว” ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาจาก อันดับฟุตบอล อันดับสาธารณูปโภคพื้นฐาน อันดับการชำระทางการเงินจากนักท่องเที่ยว และอันดับความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว ปรากฏว่าเป็นดัชนีเดียวที่ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 โดยมีประเทศเอเชียติดอันดับเพียง 2 ประเทศ กล่าวคือ อันดับที่ 1 สเปน, อันดับที่ 2 ฝรั่งเศส, อันดับที่ 3 สหรัฐอเมริกา, อันดับที่ 4 อิตาลี, อันดับที่ 5 ประเทศไทย, อันดับที่ 6 สวิสเซอร์แลนด์, อันดับที่ 7 ตุรกี, อันดับที่ 8 จีน, อันดับที่ 9 เยอรมนี, อันดับที่ 10 ออสเตรเลีย

แสดงให้เห็นว่าตำแหน่งทางการตลาดของประเทศไทยคือ “ที่ตั้ง” ที่มีพหุวัฒนธรรมที่อยู่กันอย่างกลมกลืน ผสมผสานในภูมิปัญญาที่มีความหลากหลาย จึงก่อให้เกิด เทศกาลจำนวนมาก, อาหาร, มวยไทย, นวดไทย, ศูนย์สุขภาพ, อุปนิสัยใจคอของคนไทย, รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความหลากหลาย

ประเทศไทยอาจจะไม่ใช่ผู้นำทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ แต่เรายังมีโอกาสทางด้านหมวดสังคมและวัฒนธรรม ที่ต่อยอดจาก  “ท่องเที่ยว” ซึ่งฐานสำคัญที่เป็นจุดแข็ง เสริมสร้างสิ่งที่เป็นจุดอ่อน ที่จะขยายซอฟท์พาวเวอร์ของไทยให้กลายเป็นมหาอำนาจต่อไป

ส่วนเราจะต้องทำการบ้านอะไรจากข้อมูลเหล่านี้ ติดตามได้ในตอนต่อไป

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก
มหาวิทยาลัยรังสิต


อ้างอิง
[1] Indian Strategic Studies Forum (ISSF), World Soft Power Index 2023, Retrieved 31 October 2023
https://img1.wsimg.com/blobby/go/905bb114-a609-4bd0-a33b-dabe335781b0/downloads/ISSF-WSPI-2023-FINAL.pdf?ver=1692105020621


กำลังโหลดความคิดเห็น