xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้าลุยไฟแจกเงินดิจิทัล หรือหาทางลงล้มนโยบายตัวเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ

วันก่อนนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน แถลงเพื่อยืนยันว่า รัฐบาลทำตามสัญญาที่หาเสียงจะแจกเงินดิจิทัลคนละ 1 หมื่นบาทตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป แต่ปรับแก้เล็กน้อยให้คนที่มีเงินเดือน 70,000 บาท หรือมีเงินฝาก 500,000 บาทรวมกันทุกบัญชี หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง โดยผู้ได้รับมีประมาณ 50 ล้านคนต้องใช้เงิน 5 แสนล้านบาท ลดลงจากเป้าหมายตอนแรกที่จะแจกทุกคนตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปประมาณ 56 ล้านคน ต้องใช้เงิน 5.6 แสนล้านบาท


เศรษฐาคลายข้อสงสัยว่าจะเอาเงินมาจากไหนด้วยการประกาศว่าจะออกพรบ.กู้เงิน ส่งร่างให้กฤษฎีกาตรวจสอบ แล้วส่งเรื่องเข้าสภาเพื่อขออนุมัติ ซึ่งรัฐบาลเป็นเสียงข้างมากอยู่แล้ว จะผ่านได้ไม่ยาก แต่ไม่น่าจะผ่านด่าน สว. ซึ่งก็ไม่น่ามีปัญหาถ้า สว.ไม่ผ่านสภาล่างก็ยืนยันกฎหมายของตัวเองได้ เพราะเป็นกฎหมายการเงิน ดังนั้นสรุปว่า พ.ร.บ.กู้เงินผ่านออกมาได้แน่

วิธีนี้เป็นวิธีที่ฉลาด เพราะถ้าเกิดเหตุเสียหายตามที่นักเศรษฐศาสตร์เคยเตือน รัฐบาลก็โยนให้สภารับผิดชอบไป และรัฐบาลคงรู้อยู่แล้วว่า อย่างไรเสียรัฐบาลเป็นเสียงข้างมาก พรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องยกมือให้ผ่านอยู่แล้ว เพราะถ้าไม่ผ่านรัฐบาลก็ต้องลาออก เพราะเป็นกฎหมายการเงิน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเศรษฐาแถลงหลังจากคลุมเครือมานานว่า รัฐบาลจะเอาอย่างไร เพราะคนของรัฐบาลแต่ละคนออกมาพูดไม่ตรงกันเลย ตั้งแต่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังไปจนถึงที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ก็เกิดคำถามว่า แนวทางที่เศรษฐาแถลงออกมานั้นจะทำได้จริงๆ หรือ หรือว่ารัฐบาลรู้ว่าถ้าไม่สามารถทำตามนโยบายที่ประกาศไว้ได้ ก็ไม่ใช่เพราะรัฐบาลทำผิดสัญญา

เพราะดูแล้วคิดว่าถ้ากฤษฎีกาตรงไปตรงมาไม่น่าจะผ่าน ถ้าดู พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 เขียนไว้ชัดว่าจะกู้ได้เมื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉินเท่านั้น แต่กฤษฎีกาจะกล้ามั้ย เพราะคนจะด่ากฤษฎีกาแทน หรือถ้าผ่านกฤษฎีกาก็คงมีคนไปร้ององค์กรอิสระหรือศาล เพราะถึงตอนนี้ก็มีบรรดานักร้องหลายคนออกมาทำหน้าที่ของตัวเองกันแล้ว

มาตรา 53 การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้ สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้ ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหา วิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน

ต้องย้ำและขีดเส้นใต้ว่า “เฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหา วิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน” ซึ่งตอนนี้ไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนหรือเกิดเหตุฉุกเฉินเช่น สถานการณ์โควิด ดังนั้นไม่น่าจะกู้ได้ แล้วถ้าเกิดเหตุเร่งด่วนจำเป็นตามมาตรา 53 รัฐบาลก็ออกเป็นพรก.สิจะออกเป็นพรบ.ให้เสียเวลาทำไม หรือิไม่ก็ใส่ไว้ในร่างงบประมาณ เพราะงบประมาณปี 2567 ยังไม่ได้เข้าสภาเลย

แม้มีคนไปถาม วิษณุ เครืองาม ซึ่งวันนี้เปลี่ยนหัวโขนจากเนติบริกรไปเป็นกรรมการกฤษฎีกา จะบอกว่า รัฐบาลเขาคงถือว่าเขาดูดีแล้วว่าไม่ขัด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังมาตรา 6 และ มาตรา 9 แต่อีกฝ่ายก็บอกว่าขัด เพราะมันมีประโยคที่ต้องแปลกัน ที่ระบุว่าต้องไม่ไปใช้ประโยชน์ในการหาเสียง หาคะแนนนิยม

แต่วันนั้นวิษณุไม่ได้พูดถึงมาตรา 53 ซึ่งบอกว่า รัฐบาลจะกู้เงินโดยไม่ตั้งงบประมาณรายจ่ายได้ ในเรื่องจำเป็นเร่งด่วนเพื่อแก้วิกฤตของประเทศเท่านั้น แต่การออกพรบ.กู้เงินเพื่อแก้มาแจก ถ้ากฤษฎีกาจะให้ผ่านก็ต้องอธิบายว่ามีเห็นจำเป็นเร่งด่วนอย่างไร หรือว่ารัฐบาลอ้างเหตุในการกู้ว่าอย่างไรเชื่อถือและรับฟังได้ไหม

ถ้าใครฟังการแถลงข่าววันนั้นจะเห็นว่า เศรษฐาแถลงฝ่ายเดียวแล้วปิดไมค์ลงจากเวทีโดยไม่เปิดให้สื่อมวลชนตั้งคำถาม เช่นว่า ทำไมต้องกู้มาแจก ที่เศรษฐาเคยพูดมาตลอดว่าจะไม่ใช้เงินกู้ แถมยังขัดกับที่พรรคเพื่อไทยเคยเสนอต่อกกต.ถึงที่มาของเงินไว้ว่า 1.มาจากประมาณการรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้นในปี 2567 จำนวน 260,000 ล้านบาท 2.ภาษีที่ได้จากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย จำนวน 100,000 ล้านบาท 3.การบริหารจัดการงบประมาณ จำนวน110,000 ล้านบาท 4.การบริหารจัดการงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน จำนวน 90,000 ล้านบาท

ซึ่งก็ต้องดูว่ากกต.มีอำนาจแค่ไหน เพราะมีคนไปร้องกกต.ไว้แล้วว่านโยบายของพรรคเพื่อไทยที่เคยแถลงที่มาของเงินที่ใช้ไว้นั้นเอาเข้าจริงๆ แล้วไม่ตรงปก แต่ถ้าไปดูมาตรา 57 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ดูเหมือนว่า กฎหมายเพียงแต่เสนอให้พรรคการเมืองต้องชี้แจงที่มาของเงิน แต่ไม่ได้มีบทลงโทษว่า หากที่มาของเงินไม่เป็นไปตามที่ชี้แจงต่อกกต.ไว้จะมีบทลงโทษอย่างไร ผมคิดว่า ทางเดียวที่จะต้องเดินไปเพื่อชี้ขาดว่าจะทำได้หรือไม่ถ้าที่มาของเงินเปลี่ยนไปจากที่เคยชี้แจงไว้ต่อกกต.ก็คือ การพึ่งศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย

น่าคิดว่าเรื่องกู้มาแจกเป็นเรื่องที่รัฐบาลจนตรอก เพราะหาเงินมาใช้ในโยบายตั้ง 5 แสนล้านบาทไม่ได้จริงๆ หรือเพราะรัฐบาลเห็นว่า อาจจะไม่ผ่านกฤษฎีกา หรือไม่ก็อาจจะไม่ผ่านศาลรัฐธรรมนูญก็จะเป็นทางออกว่า รัฐบาลได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ในการหาเสียงแล้ว แต่ถูกสกัดกั้นทำให้ไม่สามารถทำให้นโยบายเป็นจริงได้ ดังนั้นรัฐบาลไม่ได้ผิดสัญญาที่หาเสียงไว้ แต่เกิดจากปัจจัยภายนอก

ตอนนี้คนที่อยากได้เงินก็ลุ้นให้ผ่าน คนที่ไม่อยากได้เงินเพราะเชื่อว่า ได้ไม่คุ้มเสียจากเสียงเตือนของนักเศรษฐศาสตร์นับร้อยคนก็อยากให้นโยบายนี้ตกไป จนมีคนจำนวนมากบอกว่าจะไม่รับเงินก้อนนี้เพราะไม่อยากมีส่วนทำให้ประเทศเสียหาย และน่าสนใจว่า นโยบายนี้จะกลายเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจทำให้จีดีพีของประเทศโตขึ้นได้ไหม เพราะนักเศรษฐศาสตร์บอกว่า ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงแล้วจะหมุนไปเพียง 0.4 รอบเท่านั้นไม่ถึง 1 รอบด้วยซ้ำไป

ที่สำคัญถ้าดูตามการแถลงของเศรษฐา จะพบว่าเงินดังกล่าวจะใช้ได้เพียงซื้อสินค้า อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภคได้เท่านั้น ไม่สามารถใช้กับบริการได้ ไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าออนไลน์ได้ ไม่สามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม และผลิตภัณฑ์จากกัญชาและพืชกระท่อม ไม่สามารถนำไปซื้อบัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณีได้ ไม่สามารถนำไปชำระหนี้ได้ ไม่สามารถจ่ายค่าเรียน ค่าเทอม ได้ ไม่สามารถนำไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หรือซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติได้ แลกเป็นเงินสดไม่ได้ แลกเปลี่ยนในตลาดต่างๆ ไม่ได้

ที่น่าสนใจก็คือ หากนโยบายนี้สามารถเกิดขึ้นได้จริง ประเภทร้านค้า เศรษฐาแถลงว่า ใช้ซื้อสินค้าได้ทุกร้านค้า ไม่ได้จำกัดแต่ร้านที่อยู่ในระบบภาษี ไม่จำเป็นต้องจด VAT ร้านค้ารถเข็น ร้านโชห่วย ร้านค้าที่อยู่บนแอปเป๋าตัง ใช้ได้หมด แต่ต้องมีการลงทะเบียนรับสิทธิ์ และร้านค้าที่จะขึ้นเงินได้ต้องอยู่ในระบบภาษีเท่านั้น

คำถามว่า ร้านค้าส่วนใหญ่ของชาวบ้านนั้นไม่ได้อยู่ในระบบภาษี แม้เศรษฐาจะบอกว่า สามารถรับเงินดิจิทัลได้ แต่ไม่สามารถขึ้นเงินสดได้ ถามว่า ร้านค้าเหล่านั้นจะรับไหม เพราะถ้ารับมามีทางเดียวคือต้องใช้ออกไปทั้งหมดภายในเวลาที่กำหนดไม่สามารถหักส่วนแบ่งที่เป็นกำไรไว้ได้เลย คือต้องเอาไปลงทุนต่อเท่านั้น พวกเขาก็ไม่มีเงินเก็บไว้ใช้ทำอย่างอื่นตามที่แถลงว่า ไม่สามารถใช้เงินดิจิทัลได้ เช่น ใช้หนี้ ค่าเรียนค่าเทอมลูก หรือจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของประชาชน

 ด้วยนโยบายดังกล่าวดูเหมือนสุดท้ายแล้ว ร้านที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือร้านสะดวกซื้อของบรรดาเจ้าสัวต่างๆ เพราะร้านเหล่านั้นอยู่ในระบบภาษีสามารถเอาไปขึ้นเป็นเงินสดได้ 

สรุปพรบ.กู้เงิน 5 แสนล้านมาแจก ถ้าทำสำเร็จก็เหมือนเอาเงินอนาคตมาใช้ แล้วหลังจากนั้นก็ร่วมกันใช้หนีั แต่จากที่ว่ามาคงจะไม่ผ่านด่านเพราะขัดมาตรา 53 ต้องมีคนไปร้องเรียน หรือไม่ก็ไม่ผ่านศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าตกไปเศรษฐาก็ได้บอกว่าทำแล้ว คนที่รอเงินแจกก็ด่าคนร้องเรียนไม่ด่าว่ารัฐบาลผิดสัญญา

ก็ต้องมาลุ้นกันว่า สุดท้ายแล้วคนไทย 50 ล้านคนจะได้ใช้เงินก้อนนี้กันไหม แล้วผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร หรือว่า แท้จริงแล้วเป็นทางออกของรัฐบาลที่จะล้มเลิกโครงการนี้ไปโดยไม่เจ็บตัวแล้วโยนความผิดให้ฝ่ายที่ล้มนโยบายนี้ไป

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น