ธรรมที่ทำให้ผู้ที่เรียนรู้แล้วปฏิบัติตามเป็นคนดี ตามนัยแห่งคำสอนของพุทธศาสนาเรียกว่า สัปปุริสธรรมมี 7 ประการ
1. ธัมมัญญุตา ได้แก่ความเป็นผู้รู้จักเหตุอันเป็นที่มาของสรรพสิ่ง
2. อัตถัญญุตา ได้แก่ความเป็นผู้รู้จักผลอันเกิดจากเหตุนั้นๆ
3. อัตตัญญุตา ได้แก่ความเป็นผู้รู้จักตนเองว่าเป็นใคร และมีสถานะทางสังคมเป็นอย่างไร
4. มัตตัญญุตา ได้แก่ความเป็นผู้รู้จักประมาณคือ ความพอเหมาะ พอดีในการดำเนินชีวิต
5. กาลัญญุตา ได้แก่ความเป็นผู้รู้จักกาลเทศะว่าเวลาใดควรทำ และไม่ควรทำอะไรหรือพูดง่ายๆ ก็คือรู้ว่าอะไรควรทำเวลาใด และไม่ควรทำเวลาใด โดยยึดหลักประเพณีวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ เป็นหลักนั่นเอง
6. ปริสัญญุตา ได้แก่ความเป็นผู้รู้จักคนรอบข้างของตนเองว่าใครเป็นอย่างไร ดีหรือไม่ดี รวมไปถึงรู้จักสิ่งแวดล้อมทางสังคมด้วย
7. ปุคคลัญญุตา ได้แก่ความเป็นผู้รู้จักคนว่าแตกต่างหรือเหมือนกันอย่างไร ทั้งโดยความรู้ ความสามารถ อุปนิสัย และคุณธรรม จริยธรรม เพื่อจะได้วางตนให้เหมาะสมเมื่อต้องคบค้าสมาคมด้วย
ธรรม 7 ประการข้างต้น ถ้าใครเรียนรู้และทำตามได้ ก็จะทำให้คนนั้นเป็นคนดี ควรค่าแก่การเคารพนับถือ และเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม ถ้าเป็นผู้นำก็เป็นผู้นำที่ดีควรแก่การได้รับการยกย่องนับถือ
ดังนั้น ถ้าท่านผู้อ่านต้องการจะรู้จักตนเอง หรือคนที่ตนเองเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม้ พี่น้อง เพื่อน หรือแม้กระทั่งผู้นำองค์กรที่ตนเองเกี่ยวข้องด้วย เป็นคนดีหรือไม่ดีเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ก็ให้นำธรรม 7 ประการนี้มาเป็นตัวชี้วัด ก็จะรู้ทันทีว่าเป็นคนดีหรือไม่ดี เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม
ความหมายของผู้นำในโลกตะวันออก โดยเฉพาะของพุทธศาสนาจะมุ่งเน้นทางคุณธรรม และจริยธรรม และความรู้ ความสามารถควบคู่กันไป จะได้จากคำสอนว่าด้วยทศพิธราชธรรม 10 ประการ ซึ่งเป็นธรรมที่พระราชาผู้ครองแคว้นยึดถือปฏิบัติคือ
1. ทานคือ การสละทรัพย์สิ่งของช่วยเหลือประชาราษฎร์ และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์
2. ศีลคือ การควบคุมกาย วาจา ให้อยู่ในกรอบแห่งธรรม โดยการงดเว้นจากกายและวาจาทุจริต
3. ปริจจาคะคือ การเสียสละความสุขส่วนตน เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม
4. อาชชวะคือ ความซื่อตรง
5. มัททวะคือ ความอ่อนโยน ไม่แข็งกระด้าง และสง่างาม
6. ตปะคือ ความมุ่งมั่นบำเพ็ญเพียร เผาผลาญกิเลสที่เข้ามาครอบงำย่ำยีจิต
7. อักโกธะคือ ความไม่โกรธจนปล่อยให้ความโกรธครอบงำทำความผิดพลาดจนขาดคุณธรรม
8. อวิหิงสาคือ ความไม่เบียดเบียนทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ด้วยเหลิงอำนาจจนขาดกรุณา
9. ขันติคือ ความอดทนต่องานที่ตรากตรำทนทำทุกอย่างโดยไม่ท้อถอย
10. อวิโรธนะคือ มีความหนักแน่นในธรรม ไม่หวั่นไหว เอนเอียงด้วยอำนาจแห่งอิฏฐารมณ์
ถ้านำคุณสมบัติของผู้นำในทัศนะของโลกตะวันตกมาเปรียบเทียบกับตะวันออกแล้ว จะเห็นว่าผู้นำในทัศนะของโลกตะวันออกเหนือกว่าของโลกตะวันตกในด้านคุณธรรม และเกื้อหนุนต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ภายใต้การปกครองของตนมากกว่า
ด้วยเหตุนี้ ถ้าท่านอยากเห็นผู้นำของประเทศไทยเป็นแบบโลกตะวันออก ก็อย่าเลือกคนดีเป็นทาสทางวัฒนธรรมของตะวันตก จะได้ไม่เสียใจเมื่อเห็นผู้นำตนเองทำบางอย่างที่ขัดหู ขัดตาของคนที่เป็นไทยทั้งร่างกาย และจิตใจอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้