xs
xsm
sm
md
lg

ราชทูตสเปนที่เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระในปี พ.ศ.2261 ตอน สาเหตุการเดินทางของราชทูตสเปนมากรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2261

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระถือว่าเป็นยุคที่รุ่งเรืองยุคสุดท้ายในสมัยกรุงศรีอยุธยาเนื่องจากทำรายได้จากการส่งออกข้าวไปจีนในราชวงศ์ชิงมากทำให้เป็นที่รับรู้ในหมู่ประเทศใกล้เคียงว่าเป็นแหล่งผลิตข้าวที่ใหญ่และมีชื่อเสียงนอกจากนี้ยังได้รับเงินที่มานูเอล ซัลดัญญา (Manuel Saldanha) ผู้ว่าราชการมาเก๊าของโปรตุเกสที่ยืมเงินจากกรุงศรีอยุธยา 120,000 ตำลึงในสมัยพระนารายณ์ปี พ.ศ.2210 กลับคืนมาในปี พ.ศ.2251 แต่คนทั่วไปมักจะรับรู้ว่าอยุธยาปิดประเทศไม่ค้าขายกับชาติตะวันตกที่เป็นคาทอลิก ซึ่งในรัชสมัยนี้ได้มีการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับสเปนซึ่งส่งทูตมาจากอาณานิคมของตนในฟิลิปปินส์ซึ่งถือว่าเป็นยุคสมัยแห่งความสัมพันธ์ที่ดีที่สุดระหว่างทั้งสองประเทศเท่าที่เคยมีมาซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเป็นครั้งสุดท้ายในสมัยกรุงศรีอยุธยา

การเปลี่ยนแปลงในสเปน
หลังจากที่พระเจ้าคาร์ลอสที่ 2 แห่งราชวงศ์ฮับสบวร์กของสเปน (Carlos II de España) ได้เสด็จสวรรคตโดยไร้รัชทายาท ทำให้ราชบัลลังก์ว่างลงจนเกิด "สงครามสืบราชบัลลังก์สเปน ( La guerra de sucesión española)” โดยราชวงศ์บูร์บงแห่งฝรั่งเศสและราชวงศ์ฮับสบวร์กแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งต่างอ้างสิทธิในราชสมบัติของสเปน ในที่สุดฝ่ายฝรั่งเศสเป็นฝ่ายชนะจึงสามารถตั้งราชนิกุลของตนคือ "เจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งอังจู (Philippe, Duc d’Anjou) " ผู้เป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสเป็นกษัตริย์แห่งสเปนทรงพระนามว่า "พระเจ้าเฟลิเป้ที่ 5 (Felipe V) ” แห่งราชวงศ์บูร์บง ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่ยังคงเป็นกษัตริย์ของสเปนมาจนทุกวันนี้ แม้ว่าฝรั่งเศสจะประสบความสำเร็จในการตั้งเจ้าชายฟิลิปให้เป็นกษัตริย์แห่งสเปนได้ แต่สนธิสัญญาอูเทรคท์ (Treaty of Utrecht) ระบุว่าพระเจ้าเฟลิเป้ที่ 5 ไม่สามารถสืบทอดราชบัลลังก์แห่งฝรั่งเศสได้ และสเปนต้องยอมสละดินแดนในอิตาลีและเนเธอร์แลนด์ให้กับจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ไปด้วย จึงทำให้จักรวรรดิสเปนที่เคยเป็นชาติมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งในโลกเริ่มเสื่อมลงเพราะไม่สามารถทำสงครามขยายดินแดนทั้งในยุโรปและดินแดนโพ้นทะเลเพิ่มอีกต่อไป

หลังจากที่ราชวงศ์บูร์บงเข้าปกครองสเปนแล้วพบว่าจักรวรรดิสเปนอยู่ในสภาพล้มละลายทำให้นโยบายของอาณานิคมสเปนในฟิลิปปินส์เปลี่ยนแปลงไป ผู้ว่าราชการฟิลิปปินส์คนแรกที่ราชวงศ์บูร์บงแต่งตั้งคือ เฟร์นันโด มานูเอล บุสตามันเต้ บุสติลโย อิ รวยด้า (Fernando Manuel Bustamante Bustillo y Rueda) ได้เดินทางมารับตำแหน่งในปี พ.ศ. 2260 เล็งเห็นว่าอยุธยาไม่ใช่ศัตรูทางการเมืองอย่างที่เคยเป็นมาอีกแล้ว ในปี พ.ศ.2261 เขาจึงส่งนายอเลฆันโดร บุสตามันเต้ (Alexandro Bustamante) ที่เป็นหลานชายเป็นราชทูตผู้มีอำนาจเต็มมาที่กรุงศรีอยุธยาเพื่อเจรจาขอซื้อข้าวโดยด่วนและฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้า

สาเหตุที่ราชทูตสเปนต้องเดินทางมากรุงศรีอยุธยา
ผู้ว่าราชการแห่งมะนิลาตัดสินใจส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งในปี พ.ศ.2261 เนื่องจากขาดแคลนข้าวอย่างหนักในมะนิลาและเขตแดนรอบๆ เนื่องจากเกิดตั๊กแตนที่เป็นศัตรูข้าวระบาด (Una plaga de langosta) ทำให้ไร่นาในฟิลิปปินส์เสียหายระหว่างปีพ.ศ.2260-2261 การขาดแคลนข้าวครั้งนี้ถือว่าร้ายแรงจนราคาข้าวต่อเกวียน (fanega หรือ cavan) สูงขึ้น 600 เปอร์เซ็นต์ กรุงมะนิลาได้รับผลกระทบมากเนื่องจากเจ้าเมืองต่างๆ (Los alcaldes mayores) ในท้องถิ่นส่งฎีกาขอร้องผู้ว่าราชการฟิลิปปินส์ให้ยกเว้นการส่งส่วยข้าวมาที่มะนิลาที่เป็นศูนย์กลางการปกครองฟิลิปปินส์ที่ต้องอาศัยข้าวและเสบียงจากเมืองต่างๆ ผู้ว่าบุสตามันเตตัดสินใจทันทีที่จะให้คนมีข้าวกินโดยการเปิดคลังข้าวเพื่อนำข้าวจากที่ต่างๆมาไว้ในคลังหลวงและขายข้าวให้ประชาชนในราคาที่เหมาะสม โดยกว้านซื้อข้าวเข้าคลังหลวงถึง 1 แสนกวียนเพื่อทำให้ราคาลดลง เมื่อข้าวหมดคลังก็เสาะหาข้าวจากเมืองอื่นๆที่มีการเก็บเกี่ยวเหลือเฟือ อย่างไรก็ตามบรรดาเจ้าเมืองต่างๆไม่ยอมส่งข้าวให้และพวกศาสนจักรโรมันคาทอลิกก็กักตุนข้าวในคอนแวนต์ของตน แต่ผู้ว่าไม่ยอมจึงส่งคนไปตรวจสอบจำนวนข้าวทั้งหมดเพื่อแบ่งข้าวส่วนเกินมาที่มะนิลา เจ้าเมืองที่ขัดขืนถูกปลดและแต่งตั้งคนที่เชื่อฟังขึ้นแทน

ในไตรมาสแรกของพ.ศ.2261 ผู้ว่าได้ประชุมผู้นำประชาชนต่างๆ ในมะนิลาเพื่อพูดถึงสถานการณ์เลวร้ายที่ไม่มีข้าวกินในเวลาอันใกล้ ผู้นำเหล่านี้แนะนำผู้ว่าให้หาซื้อข้าวจากต่างประเทศให้เพียงพอจนกว่าผลผลิตข้าวในปีถัดมาจะเพียงพอ ข้าราชการในมะนิลามองไปที่กรุงศรีอยุธยาเพื่อหาซื้อข้าว และคิดว่าคณะทูตที่จะส่งไปจะได้ฟื้นความสัมพันธ์ที่ตัดขาดไป 60 ปีหลังจากที่เรือของสเปนติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยาครั้งสุดท้ายในสมัยสมเด็จพระนารายณ์เมื่อปี พ.ศ.2199 จากการติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาในอดีตทำให้ข้าราชการเหล่านี้รู้ว่ามีข้าวเหลือเฟือที่กรุงศรีอยุธยา แต่คณะทูตของอเลฆันโดรนั้นต้องการที่จะติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาเป็นทางการอย่างถาวรเพื่อการค้าและเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ จึงต้องการสนธิสัญญาทางการค้าถาวรที่ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ซึ่งทำให้แก้สถานการณ์ขาดแคลนข้าวฉุกเฉินและได้ซื้อไม้สักและเหล็กมาสร้างเรือกำปั่น อาวุธและผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อประโยชน์ของฟิลิปปินส์

นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสในการเผยแพร่คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาธอลิค ดังนั้นคณะทูตนี้มีภารกิจหลักเพื่อแก้วิกฤติการณ์ข้าวและดำเนินนโยบายต่างประเทศตามแนวทางของราชวงศ์บูร์บง ซึ่งผู้ว่าบุสตามันเตรับมาปฏิบัติในการฟื้นความสัมพันธ์ทางการค้าอย่างกว้างขวางในระยะยาว คณะทูตนี้ได้เดินทางมากับคณะบาทหลวงโดมินิกันและนายพลเรือ (General del mar) ชื่อว่าเบนิโต คาร์ราสโก ปาเนียกัว (Benito Carrasco Paniagua) เป็นผู้นำพาคณะราชทูตมากรุงศรีอยุธยา คณะทูตชุดนี้มีข้อมูลของคณะทูตโปรตุเกสที่เคยติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาเนื่องจากสเปนกับโปรตุเกสเคยรวมกันในระหว่างปีพ.ศ.2123-2183 และของคณะทูตของฝรั่งเศสสองคณะที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ส่งมาเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ได้แก่คณะทูตนำโดยเชอวาเลียร์ เดอ โชมองต์ (Chevalier de Chaumant) ในปีพ.ศ. 2228-2229 และคณะทูตนำโดย ซิมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de la Loubère) ในปีพ.ศ.2230-2231 เนื่องจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสเป็นพระอัยกาของพระเจ้าเฟลิเป้ที่ 5 แห่งสเปน จดหมายเหตุของบริษัท VOC (Verenigde Oostindische Compagnie) ของเนเธอร์แลนด์บันทึกว่าคณะทูตชุดนี้มีจำนวนคนประมาณ 220 คน ซึ่งถือว่าเป็นคณะใหญ่ไม่แพ้คณะทูตจากฝรั่งเศสที่มาเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์เลยทีเดียว

เอกสารอ้างอิง
จันทร์ฉาย ภัคอธิคม (พ.ศ. 2532). กรุงศรีอยุธยาในเอกสารหลักฐานสเปน. กรุงเทพฯ: สมาคมประวัติศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์.

Bhawan Ruangsilp (2007). Dutch East India Company merchants at the court of Ayutthaya: Dutch perception of the Thai Kingdom 1604-1765. Leiden: EJ Brill

García, Florentino Radao (1997). Españoles en Siam 1540-1939: Una Aportacíon al studio de la presencia. (ชาวสเปนในสยาม พ.ศ.2083-2482 การรวบรวมจากการศึกษาและเอกสารที่มีอยู่) Madrid: CSIC Press

Llanes, Ferdinand C (1999). The trade mission to Siam in 1718 in the context of Filipina-Siam relations and Southeast Asian history. Asian Studies: Journal of Critical Perspectives on Asia, 35: 1-11

Llanes, Ferdinand C (2008). Food crisis of 1718; Siam, rice, diplomacy and reform. Philippines Daily Enquirer

Llanes, Ferdinand C (2009). Dropping artillery, loading rice and elephants: A Spanish ambassador in the court of Ayudhya in 1718. New Zealand Journal of Asian Studies, 11 (1): 60-74

Sarasin Viraphol (2014). Tribute and profit : Sino-Siamese trade, 1652-1853. Chiang Mai: Silkworm

Smith, Stefan Halikowski (2011a). Portuguese and Luso-Asia Legacy in Southeast Asia: The making of Luso Asian World. Leiden: EJ Brill

Smith, Stefan Halikowski (2011b). Creolisation and diaspora in the Portuguese Indies: The social world of Ayutthaya Leiden: EJ Brill



กำลังโหลดความคิดเห็น