xs
xsm
sm
md
lg

ข้อควรรู้ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อนุรักษ์ นิยมเวช



นายอนุรักษ์ นิยมเวช
กรรมการผู้จัดการบริษัท กฎหมายธุรกิจอนุรักษ์ จำกัด
anurak@anurakbusinesslaw.com


ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา (มาตรา 350) เกิดจากการที่ลูกหนี้ได้ย้ายหรือซ่อนเร้นทรัพย์ หรือโอนทรัพย์ไปให้แก่ผู้อื่น หรือแกล้งให้ตัวเองเป็นหนี้อันไม่เป็นความจริง โดยเจตนาเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่น (ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้) ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน

ความผิดฐานนี้จะเกิดขึ้นได้ ก่อนอื่นก็จะต้องมีหนี้ระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้เสียก่อน โดยอาจเป็นหนี้เงินหรือหนี้ในการโอนหรือส่งมอบทรัพย์สินก็ได้ และต้องปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ด้วย หากเจ้าหนี้ยังไม่ถึงขั้นจะฟ้องคดีให้ชำระหนี้ ก็ยังไม่ถือว่าเป็นความผิด

ส่วนการกระทำในการย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนทรัพย์ไปให้แก่ผู้อื่นนั้น โดยหลักแล้วก็เป็นไปตามความหมายเช่นที่เข้าใจกันโดยทั่วไป

การแกล้งให้ตัวเองเป็นหนี้อันไม่เป็นความจริง เช่น การทำสัญญาสมยอมกันหลอก ๆ ว่าเป็นหนี้กับผู้ร่วมสมอ้างเพื่อวัตถุประสงค์ข้างต้นนั้น นอกจากจะเข้าข่ายเป็นความผิดฐานนี้แล้ว ในทางแพ่งยังถือเป็นว่าเป็นการแสดงเจตนาลวง คือ ผู้สมรู้ต่างฝ่ายต่างก็ไม่ได้มีเจตนาต้องการทำนิติกรรมหรือผูกพันกันจริง การแสดงเจตนานั้นย่อมเป็นโมฆะ

การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานนี้ ลูกหนี้จะต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนด้วย มิได้หมายความว่า เมื่อเจ้าหนี้ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิทางศาลให้ชำระหนี้แล้ว ลูกหนี้จะจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์ของตนไม่ได้เลย ซึ่งต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป เช่น หากลูกหนี้จำเป็นต้องขายทรัพย์ตามสัญญาที่ทำไว้กับบุคคลอื่นก่อนแล้วในราคาปกติธรรมดาโดยมิใช่การสมยอม หรือในกรณีที่ลูกหนี้ขายที่ดินที่ติดจำนองกับธนาคารในราคาตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ธนาคารหลังจากถูกธนาคารเร่งรัดหนี้ ก็ไม่ถือเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ต่อเจ้าหนี้รายอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์ซึ่งทำให้เจ้าหนี้บางรายไม่ได้รับชำระหนี้ในบางกรณีจะไม่ถึงขนาดเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้หรือถึงขนาดเป็นเจตนาลวงเสียทีเดียว แต่หากลูกหนี้และบุคคลภายนอกได้กระทำนิติกรรมนั้นๆ ไปโดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เจ้าหนี้ก็อาจใช้สิทธิทางศาลเป็นคดีแพ่งในการร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 หรือที่เรียกกันว่าการเพิกถอนการฉ้อฉลนั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น