xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยป่วยมากเพราะกินน้ำตาลปีละเกือบ 40 กิโลกรัมต่อคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ความก้าวหน้าในด้านการสาธารณสุขของไทย ได้ทำให้คนไทยมีอายุยืนมากขึ้นมาเป็นลำดับ เหมือนกับหลายๆ ประเทศที่มีการพัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการคลอดบุตรและกุมารเวชศาสตร์ที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตต่ำของคนไทยและคนทั่วโลกลดลงไปอย่างมาก ในขณะเดียวกันสุขอนามัยที่เข้มแข็งขึ้น การเอาชนะโรคอันตรายด้วยวัคซีน ความสำเร็จในการรณรงค์และมาตรการที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากบุหรี่ลดลง ตลอดจนความสามารถในการรักษาโรคของการแพทย์ในประเทศไทย ฯลฯ ได้มีส่วนสำคัญทำให้คนไทยอายุยืนมากขึ้น

 ปัจจุบันคนไทยมีอายุขัยประมาณ 79 ปี คนทั่วโลกอายุขัยยืนยาวขึ้นเป็น 72.8 ปีและคนอเมริกันอายุขัยอยู่ที่ 76.7 ปี[1]

 โดยสรุปในรอบ 64 ปี ระหว่าง ค.ศ. 1955-2019 (พ.ศ.2498-2562) คนไทยอายุยืนขึ้น 31.9 ปี คนทั่วโลกอายุยืนขึ้น 22.7 ปี ในขณะที่คนอเมริกันอายุยืนขึ้น 16.4 ปี

สำหรับประเทศไทย นอกเหนือจากระบบการสาธารณสุขที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วในหลายมิติ พร้อมกับความสามารถของแพทย์ในประเทศไทยและการรักษาโรคในประเทศไทยที่มีพัฒนาการไม่แพ้นานาชาติแล้ว ยังมาจากหลายมาตรการทางกฎหมายและการรณรงค์เพื่อ “ลดการสูบบุหรี่ในประเทศไทย” ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องด้วย[2]

โดยในปี ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) ซึ่ง พบว่ามีอัตราการเสียชีวิตของคนทั่วโลกอันเนื่องมาจากการสูบบุหรี่คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.0 โดยคนอเมริกันมีอัตราการเสียชีวิตเนื่องจากบุหรี่คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.5 ในขณะที่คนไทยมีอัตราส่วนที่เสียชีวิตเนื่องจากบุหรี่ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง จนปี พ.ศ. 2562 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ11.8[2]

 แต่ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้คนไทยป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อ คือวิวัฒนาการของการบริโภคที่ใส่น้ำตาลมากขึ้นกว่าคนในยุคคก่อน ได้ทำให้คนไทยป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคที่เกี่ยวกับการบริโภคน้ำตาลมากขึ้น ในทางตรงกันข้ามกลับมีพฤติกรรมที่มีการเคลื่อนไหวทางร่างกายน้อยลง ซึ่งรวมถึงทำให้คนไทยอ้วนมากขึ้น ป่วยเป็นโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ฯลฯ

องค์การอนามัยโลกระบุว่าให้คนทั่วโลกบริโภคน้ำตาลคนละไม่เกิน 25 กรัมต่อวันหรือประมาณ 5.9 ช้อนชาเท่านั้น แต่คนไทยบริโภคน้ำตาลมากขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง

พ.ศ. 2501 คนไทยบริโภคน้ำตาลต่อคนเฉลี่ย 4.3 กิโลกรัม/ปี (2.8 ช้อนชา/วัน)
พ.ศ. 2518 คนไทยบริโภคน้ำตาลต่อคนเฉลี่ย 11 กิโลกรัม/ปี (7.2 ช้อนชา/วัน)
พ.ศ. 2540 คนไทยบริโภคน้ำตาลต่อคนเฉลี่ย 28.1 กิโลกรัม/ปี (18.3 ช้อนชา/วัน)
พ.ศ. 2548 คนไทยบริโภคน้ำตาลต่อคนเฉลี่ย 32.3 กิโลกรัม/ปี (21.1 ช้อนชา/วัน)
พ.ศ. 2553 คนไทยบริโภคน้ำตาลต่อคนเฉลี่ย 33.8 กิโลกรัม/ปี (22.1 ช้อนชา/วัน)
พ.ศ. 2563 คนไทยบริโภคน้ำตาลต่อคนเฉลี่ย 38.7 กิโลกรัม/ปี (25 ช้อนชา/วัน)




 หมายความว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดประมาณ 4.2 เท่าตัว ไม่ต้องพูดถึงว่าการออกกำลังกายของคนไทยโดยส่วนใหญ่ลดลง นั่งอยู่หน้าโทรศัพท์เป็นเวลานานมากขึ้น

ด้วยเหตุผลนี้คนไทยเริ่มมีสัดส่วนคนอ้วนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ อย่างน้อยก็มากกว่าสัดส่วนในสมัยก่อนมาก

ในขณะเดียวกันวิทยาการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจดีขึ้นมาก (โดยเฉพาะการทำบอลลูนและวิวัฒนาการของยาละลายลิ่มเลือด)ได้ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตในโรคหลอดเลือดหัวใจลดลงและเริ่มทรงตัว

อย่างไรก็ตามดูเหมือนเราจะยังไม่สามารถควบคุมโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองได้

 หลายคนอาจจะคิดว่าไม่มีทางที่คนไทยจะบริโภคน้ำตาลถึง 25 ช้อนชาต่อวัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนไทยบริโภคน้ำตาลโดยตรงประมาณร้อยละ 57.79 (14.45 ช้อนชา) และยังมีการบริโภคทางอ้อมอีกประมาณร้อยละ 42.21 (10.55 ช้อนชา) ซึ่งในส่วนหลังนั้น น้ำตาลอยู่ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

ปัญหาที่คนไทยบริโภคน้ำตาลมากเกินไปนั้น ได้ถูกนำมาเสนอผ่านนโยบายการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตตามอัตราความหวานของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มทั้งหลายสูงสุดคือ 5 บาทต่อลิตร โดยเริ่มมาตรการนี้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 - 31 มีนาคม2568 ในอัตราก้าวหน้ากล่าวคือ

ปริมาณน้ำตาล 0-6 กรัม คิดอัตราภาษีตามปริมาณความหวาน 0 บาท/ลิตร
ปริมาณน้ำตาล 6-8 กรัม คิดอัตราภาษีตามปริมาณความหวาน 0.3 บาท/ลิตร
ปริมาณน้ำตาล 8-10 กรัม คิดอัตราภาษีตามปริมาณความหวาน 1 บาท/ลิตร
ปริมาณน้ำตาล 10-14 กรัม คิดอัตราภาษีตามปริมาณความหวาน 3 บาท/ลิตร
ปริมาณน้ำตาล 14-18 กรัม คิดอัตราภาษีตามปริมาณความหวาน 5 บาท/ลิตร
ปริมาณน้ำตาลตั้งแต่ 18 กรัมขึ้นไป คิดอัตราภาษีตามปริมาณความหวาน 5 บาท/ลิตร
ซึ่งในความเป็นจริงแล้วผู้ประกอบการก็ได้ใช้วิธีเพิ่มราคาสินค้าเข้าไปเป็นภาระให้กับผู้บริโภคอยู่ดี

ละถึงแม้ว่าจะมีการจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้ากับเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลแล้ว แต่ปรากฏว่ายอดปริมาณจำหน่ายไม่ได้ลดลง และยังเพิ่มขึ้นต่อไป ซึ่งแปลว่ามาตรการทางภาษีที่มีอยู่ยังอาจจะไม่สามารถลดการบริโภคปริมาณน้ำตาลเกินภายในประเทศได้ และความเป็นจริงคือผู้บริโภคเครื่องดื่มส่วนใหญ่ไม่มีใครดูฉลากว่ามีปริมาณน้ำตาลมากเพียงใดด้วยซ้ำ

ไม่ต้องพูดถึงน้ำตาลที่ใช้กันในร้านอาหาร ไม่ว่าจะเป็นอาหารคาวและหวานรวมถึงเครื่องดื่มในร้านอาหาร ก็มีเครื่องดื่มรสหวานและใส่น้ำตาลมากเช่นกัน

คงจะต้องหามาตรการและการรณรงค์ให้คนไทยได้ลดปริมารการบริโภคน้ำตาลให้น้อยกว่านี้อีกมาก

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต

อ้างอิง
[1] Max Roser, Esteban Ortiz-Ospina and Hannah Ritchie, Life Expectancy, Our World in Data, First published in 2013; last revised in October 2019.
https://ourworldindata.org/life-expectancy
[2] Hannah Ritchie and Max Roser, The global distribution of smoking deaths, Our World in Data,first published in May 2013; it was revised substantially in November 2019. The last update was done in August 2023.
https://ourworldindata.org/smoking
[3] สำนักบริหารอ้อยและน้ำตาล กระทรวงอุตสาหกรรม, ปริมาณการจำหน่ายน้ำตาลเพื่อการบริโภคภายในประเทศ ไตรมาสที่ 4 ปี 2565
http://www.sugarzone.in.th/sale/TIMAT465.pdf
[4] เดลินิวส์, สอน. เผยตัวเลขการบริโภคน้ำตาลทรายในประเทศ ฤดูการผลิตปี65/66, 16 มิถุนายน 2566
https://www.dailynews.co.th/news/2442811/


กำลังโหลดความคิดเห็น