xs
xsm
sm
md
lg

เพื่อไทยยอมถอยดิจิทัลวอลเล็ต บทเรียนของประชานิยมแบบสิ้นคิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”

ดูเหมือนว่า พรรคเพื่อไทยจะยอมถอยโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หลังจากที่ฟัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลงว่า คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มีการให้คณะกรรมการตัดสินใจ 3 ทางเลือกเพื่อตัดคนรวยออก คือ

1. ให้สิทธิ์เฉพาะผู้ยากไร้ ที่มีอยู่ราว 15-16 ล้านคน โดยใช้ฐานข้อมูลจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้งบประมาณราว 1.5 แสนล้านบาท

2. ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 25,000 บาท และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากเกิน 1 แสนบาทออก เหลือผู้ได้สิทธิ์ 43 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 4.3 แสนล้านบาท

3. ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 50,000 บาท และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากเกิน 5 แสนบาทออก เหลือผู้ได้สิทธิ์ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 4.9 แสนล้านบาท


แต่ก็ยังไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้ว เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลังจะเอาด้วยไหม จะเลือกทางไหนใน 3 ทางที่เป็นข้อเสนอ แต่ทางเลือกที่ 2 และ 3 ก็ยังถือว่าใช้เงินมากอยู่ หรือว่าจะยืนกรานทำตามที่หาเสียงเอาไว้ก็ต้องดูกันต่อไป เพราะเศรษฐาเคยแถลงไว้ว่าที่ต้องแจกทุกคนตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปเพราะต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ใช่การสงเคราะห์

ก่อนหน้านี้ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ก็เคยท้วงติงไว้แล้วว่า นโยบายดังกล่าวถ้าทำเฉพาะกลุ่มก็อาจจะประหยัดงบประมาณได้มากกว่า เพราะว่าไม่ใช่ทุกคนที่จำเป็นต้องใช้เงิน 10,000 บาท อีกทั้งการทำนโยบายต่างๆ รัฐบาลต้องฉายภาพระยะกลางของมาตรการที่จะทำให้มีความชัดเจน ทั้งเรื่องของภาพรวมรายจ่าย ภาพรวมหนี้ การขาดดุลต่างๆ ตรงนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่น แสดงให้เห็นถึงวินัยทางการคลัง ที่จะบริหารให้อยู่ในกรอบได้

ถึงตอนนี้รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยคงจะรู้แล้วว่า ถ้ายังเดินหน้าตามที่หาเสียงเอาไว้เงินที่จะใช้ในโครงการนี้จำนวน 560,000 ล้านบาทนั้นจะเอามาจากไหน จากเดิมที่แย้มพรายออกมาและคาดการณ์กันว่าจะไปล้วงเงินเด็กคือ กู้เงินจากธนาคารออมสิน ก็มีคนบอกว่า จะขัดกับพ.ร.บ.ธนาคารออมสินที่ไม่สามารถทำได้ ดังนั้นถ้ายังเดินหน้าต่อไปรัฐบาลก็ยังไม่รู้ว่าจะเอาเงินจากไหน การนัดประชุมรอบที่แล้วจึงล่มและต้องเลื่อนออกไป

ความจริงแล้วพรรคเพื่อไทยจะต้องมีความชัดเจนในเรื่องนี้ตั้งแต่ประกาศเป็นนโยบายหาเสียงแล้วว่าจะเอาเงินจากไหน เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 ให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างน้อยในด้านต่าง ๆ ให้เกิดผล ดังต่อไปนี้ ก. ด้านการเมือง (3) มีกลไกที่กำหนดความรับผิดชอบของพรรคการเมืองในการประกาศโฆษณานโยบายที่มิได้วิเคราะห์ผลกระทบ ความคุ้มค่า และความเสี่ยงอย่างรอบด้าน

และพรป.พรรคการเมือง มาตรา 57 กำหนดให้การโฆษณานโยบายของพรรคการเมืองที่ต้องใช้จ่ายเงิน อย่างน้อยต้องมีการแสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้ 1) วงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ 2) ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย 3) ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย

ดังนั้นการทำนโยบายต่างๆของพรรคการเมืองต้องปฏิบัติตามมาตราดังกล่าว คือ เปิดเผยวงเงินที่ใช้ ที่มาของเงินที่ใช้ ความคุ้มค่าและประโยชน์ รวมไปถึง ผลกระทบและความเสี่ยงเสนอต่อกกต. คุณรสนา โตสิตระกูล จึงได้ทำหนังสือถึง กกต.ให้เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยได้ชี้แจงถึงนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต 560,000 ล้านบาท ต่อกกต.ว่า มาจาก 4 ส่วน ดังรายละเอียดคือ 1.มาจากประมาณการรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้นในปี 2567 จำนวน 260,000 ล้านบาท 2.ภาษีที่ได้จากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย จำนวน 100,000 ล้านบาท 3.การบริหารจัดการงบประมาณ จำนวน110,000 ล้านบาท 4.การบริหารจัดการงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน จำนวน 90,000 ล้านบาท

สิ่งที่พรรคเพื่อไทยอ้างที่มาของเงิน 560,000 ล้านบาทไว้นั่นคือการใช้งบประมาณปกติและการบริหารระบบภาษี แต่ถึงตอนนี้ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นไปตามที่ชี้แจงไว้ต่อกกต. ดังนั้นเรื่องนี้กกต.จะอยู่เฉยๆไม่สนใจใยดีคงจะไม่ได้ เพราะไม่เช่นนั้นพรรคการเมืองทุกพรรคก็จะทำแบบเดียวกันคือ ชี้แจงที่มาของเงินที่ใช้ในการทำนโยบายเพียงเพื่อให้ผ่านไป แต่เมื่อถึงเวลาก็พลิกแพลงไปเป็นอย่างอื่น

เรื่องที่เขียนที่มาของเงินที่แจ้งกกต.ไปนั้นสรุปแล้วเขียนขึ้นมาหลอกๆ เท่านั้นเอง เพราะถ้ายังเดินหน้าตามที่หาเสียงไว้คือแจกทุกคนตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป เงิน 560,000 ล้านบาทนั้น จะต้องกู้มาส่วนจะกู้มาจากไหนยังไม่ชัดเจน เงินกู้ก็เป็นภาระร่วมกันของคนไทยทั้งประเทศที่จะต้องช่วยกันแบบรับหนี้ก้อนนี้ต่อไปในอนาคต

*ผมคิดว่าเมื่อพรรคเพื่อไทยยืนยันจะถอยเพื่อตัดคนรวย คนที่เคยคัดค้านอย่างอดีตผู้ว่าและรองผู้ว่า รวมถึงนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์นับร้อยคนก็คงพอจะรับได้ พรรคเพื่อไทยก็อาจจะเสียหน้าไปบ้าง เพราะเป็นนโยบายที่ให้ไว้กับประชาชน แต่ถ้าเดินหน้าประเทศชาติจะเสียหายมากกว่าตามที่นักวิชาการออกมาเตือนว่า ได้ไม่คุ้มเสีย ซึ่งแสดงว่าส่วนที่ได้ประโยชน์อาจจะมี แต่ไม่คุ้มกับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากผลพวงดังกล่าว

ไม่รู้เหมือนกันว่า ก่อนที่จะคิดโครงการนี้ออกมาทางพรรคเพื่อไทยได้มีการทำงานวิจัยหรือไม่ หรือเกิดมาจากมันสมองอันฉลาดเฉลียวของใคร แต่สิ่งที่ได้ยินสมาชิกพรรคเพื่อไทยออกมาตอบโต้นักวิชาการก็บอกเพียงว่า ไปที่ไหนชาวบ้านก็ถามว่า จะได้เงินเมื่อไหร่ เขารอคอยเงินก้อนนี้ ซึ่งแน่นอนล่ะว่า อยู่ดีๆรั ฐบาลรับปากว่าจะแจกเงินให้คนละ 10,000 บาท เสียงส่วนใหญ่ก็คงจะเห็นด้วยอยู่แล้ว แต่โดยหลักการจะไปบอกว่า นักวิชาการ 100 กว่าคนเป็นเสียงข้างน้อย คงจะบอกอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเขาพูดจากความรู้ที่เรียนมา ไม่ใช่จากอารมณ์ความรู้สึกแบบชาวบ้าน

สิ่งที่เราได้ยินพรรคเพื่อไทยบอกว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทเป็นการกระตุกเศรษฐกิจให้คนไข้ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาฟื้น ลุกขึ้นมายืนได้ และจะช่วยให้สามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น และจะทำให้เศรษฐกิจโตถึง 5 % ก็มีคนตั้งคำถามเหมือนกันว่า ถ้ามันคุ้มค่าและส่งผลดีขนาดนี้ก็แจกมันทุกปีไปเลย หรือไม่ก็แจกคนละ 20,000 บาทไปเลย เศรษฐกิจจะได้โตกว่า 5 % แต่เหตุผลที่พรรคเพื่อไทยยกมาอ้างนั้นมีหลักการทางวิชาการหรือทฤษฎีไหนรองรับความเป็นไปได้หรือไม่ยังไม่ปรากฎ

ถ้าการกู้เงินมาแจกเพื่อให้ประชาชนใช้จ่ายในวงจำกัดจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศโตขึ้นมาได้จริงๆ ทำไมไม่มีใครในโลกเขาทำเรื่องนี้มาก่อน และพรรคเพื่อไทยเอาความมั่นใจนี้มาจากไหน ถ้าศึกษากันมาอย่างดีแล้วก็ช่วยออกมาตอบโต้นักวิชาการที่คัดค้านอย่างมีหลักวิชาการหน่อย

เมื่อรัฐบาลถอยมาครึ่งทางแล้วก็คงพอจะรับกันได้ แต่ที่คนเขายังสงสัยกันคือ ทำไมไม่ใช้แอบเป๋าตัง ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่มีความคุ้นเคยอยู่แล้ว แค่พัฒนาต่อยอดไปให้เข้ากับจุดประสงค์ที่รัฐบาลต้องการก็ไม่น่ายากอะไร จะอ้างว่า แอบเป๋าตัง เจ้าของเป็นธนาคารกรุงไทย ไม่ใช่ของรัฐก็ฟังยาก เพราะแม้ว่าธนาคารกรุงไทยจะเป็นบริษัทมหาชนก็รัฐบาลนั่นแหละเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จะต้องพัฒนาแอปใหม่ให้สิ้นเปลืองเงินทำไม และต้องใช้เงินอีกเท่าไหร่ในการพัฒนาแอป ใช้เงินอีกเท่าไหร่ในการบริหารแอป เพราะสุดท้ายแล้วก็ใช้ทีมงานของธนาคารกรุงไทยในการพัฒนาแอปที่รัฐบาลอยากสร้างขึ้นมาใหม่นั่นแหละ

สิ่งที่เขาพูดกันมีอยู่อย่างเดียวก็คือ แอปเป๋าตังนั้นมันเกิดขึ้นในยุคลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช่หรือไม่

เอาเถอะไม่ว่ารัฐบาลจะถอยและตัดคนรวยออกจากการแจกแบบเหวี่ยงแหตามข้อเสนอ 3 ทางเลือก ไม่ว่าเลือกทางไหนก็จะลดวงเงินที่ต้องจัดหาลงไปจำนวนมาก และไม่ว่าเหตุผลจะมาจากรัฐบาลเริ่มฟังเสียงท้วงติง หรือเพราะรู้ว่า โครงการที่หาเสียงเอาไว้นั้นเดินหน้าต่อไปไม่ได้เพราะยังไม่รู้เลยว่าจะเอาวงเงินมาจากไหนก็ดูจะเป็นทางออกที่ดี

แต่น่าจะเป็นบทเรียนสำหรับพรรคการเมืองว่าจะทำนโยบายประชานิยมอะไรออกมานั้น ควรจะศึกษาผลได้และผลเสียเสียก่อนไม่ใช่ว่าอยากจะทำอะไรทำโดยไม่สนว่าจะเกิดความเสียหายอย่างไรตามมา

ติดตามผู้เขียนได้ที่

https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น