xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องของ “ปรัชญาตะวันตก” (ตอนสิบเจ็ด) “จอห์น ล็อค” นักปรัชญาเมืองผู้ดี?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จอห์น ล็อค
“สอดแนมการเมือง”
“ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”

“ไม่มีความคิดใดที่เกิดมาโดยธรรมชาติ เสรีภาพคือภาวะที่เราสามารถ “เลือก” ได้ สิทธิที่พระเจ้ามอบให้แก่เรา..ชีวิต-เสรีภาพ-ทรัพย์สิน”

นั่นคือคำพูดของ “จอห์น ล็อค” นักปรัชญาชาวอังกฤษ ที่ยึดมั่นในความเชื่อ ซึ่งน่าสนใจอย่างยิ่ง!

“ล็อค” คือ “ฮ็อบส์” ที่ดำรงชีวิตอยู่ในสภาพง่ายๆ ไม่เคร่งเครียด ไม่จริงจัง จนมีผู้คนในอดีตยืนยันว่า “ล็อคเป็นคนอารมณ์ดี”!

อิทธิพลของ “ล็อค” ที่มีต่อปรัชญาและรัฐบาลนั้น มากจนไม่อาจวัดได้ เราจะพบความคิดของ “ล็อค” ใน “คำประกาศอิสรภาพ” และใน “รัฐธรรมนูญ” ของสหรัฐอเมริกา มากเกินกว่าจะนับได้!

“จอห์น ล็อค” เป็นบุตรของทนายความจากเมืองบริสตอล ประเทศอังกฤษ บิดา “ล็อค” พยายามเคี่ยวเข็ญให้ลูกชายเป็นนักบวช แต่เขาปฏิเสธ แล้วหันไปศึกษาปรัชญาและแพทย์แทน ท้ายสุด.. “ล็อค” ได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด เหมือนกับหนุ่มสาวชาวอังกฤษที่ปราดเปรื่องในยุคนั้น

ในช่วงที่ “ล็อค” เรียนอยู่ที่นั่น เขาได้รับอิทธิพลอย่างมากเกี่ยวกับความอดกลั้นทางศาสนา ทำให้ “ล็อค” ต้องหาจุดร่วมของศาสนานิกายต่างๆ ที่กำลังขัดแย้งกันอยู่ในช่วงนั้น

ในปี ค.ศ.1682 “ระบอบประชาธิปไตย” เป็นความคิดที่กำลังท้าทายระบอบกษัตริย์อังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอำนาจของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 จน “ล็อค” ต้องหนีไปฮอลแลนด์

หลังสงครามการเมือง ซึ่งตามมาด้วยพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ถูกเนรเทศ “ล็อค” จึงกลับอังกฤษในปี ค.ศ.1689 ก่อนจะเสียชีวิตในอีกสิบห้าปีต่อมา

นั่นเป็นเวลาที่ “จอห์น ล็อค” ได้กลายเป็นนักคิดทางการเมือง และนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงโด่งดัง อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิรูปด้วย!

ความคิดสำคัญของ “จอห์น ล็อค” 1: แผ่นดินที่ว่างเปล่า!

“ล็อค” เชื่อว่า คนเราทุกคนเกิดมาในสภาพที่ภาษาละตินเรียกว่า “ทาบูลา ราชา” ซึ่งหมายถึง “แผ่นดินที่ว่างเปล่า”

เราทุกคนเริ่มต้นเหมือนกันหมด คือเป็นแผ่นดินที่ว่างเปล่า ไม่มีจริยธรรม หรือหลักการของศีลธรรมใดติดตัวมาแต่เกิด

อืม..“ล็อค” กับ “นักปรัชญา”หลายคนจึงตั้งคำถามว่า “เพลโตคิดเรื่องนี้อย่างไร?”

นั่นแปลตรงๆ ได้เลยว่า “จอห์น ล็อค” เชื่อว่า ความรู้ทั้งมวลนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่มาจากประสบการณ์เท่านั้น!

อีกนัยหนึ่งก็คือ หากศีลธรรมเป็นสิ่งที่มิได้มีมาแต่ธรรมชาติ นั่นย่อมแปลว่า ความคิดด้านศีลธรรมของเรา ต้องเป็นสิ่งที่อยู่บนพื้นฐานของประสบการณ์ การรักษาตัวให้อยู่รอด และการแสวงหาความสุข ความรู้สึกของเราที่เป็นตัวผลักดันให้เกิดความคิด และความรู้ของมนุษย์ ย่อมต้องจำกัดอยู่กับสรรพสิ่งที่เชื่อมโยงอยู่กับความรู้สึก หรือประสบการณ์เท่านั้น

การเรียนรู้ของมนุษย์ตามแนวคิดเช่นนี้ จึงขัดแย้งกับความคิดของ “เดคาร์ด” และ “สปิโนชา” ซึ่งเชื่อว่ามนุษย์มีหลักการและความคิด ที่ติดตัวมาโดยธรรมชาติ และมันเป็นสิ่งที่สามารถแสดงออกมาให้เห็นได้ โดยไม่ต้องมีข้อกังขาแต่อย่างใด

แต่สำหรับ “ล็อค” แล้ว เราไม่อาจมีความรู้ที่บริสุทธิ์ เช่น สาระหรือรูปแบบที่ “แท้จริง” ของสสารในโลกนี้..

อย่างไรก็ตาม ความคิดของเราเกี่ยวกับโลกภายนอก ในส่วนของรูปร่างและการเคลื่อนที่ของมัน ก็ดูใกล้เคียงกับลักษณะภายนอกของมันอยู่แล้ว

เป็นที่น่าสังเกตว่า “ล็อค ”มอง “ความเป็นจริง”ของโลกภายนอกอย่างที่มันเป็น โดยกล่าวว่า ความคิดบางอย่างของเรา ใกล้เคียงมากกับปรากฏการณ์อันเป็นนิรันดร์อยู่แล้ว

ดังนั้น เราจึงพอเข้าใจได้ถึงภาวะที่เป็นไปของธรรมชาติ

ในขณะที่เราไม่มีโอกาสที่จะเข้าใจธรรมชาติของสสารต่างๆได้โดยตรง แต่“ล็อค”ยืนยันว่า จะต้องมีบางสิ่งที่อยู่ลึกลงไปอีก ที่ก่อให้เกิดความคิดต่างๆ ขึ้นมา ซึ่งเขายอมรับว่า เขาไม่รู้จักมัน ตรงนี้มีการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับ “วัว” หรือที่กลายเป็น “ยูนิคอร์นชื่อเบสซี”!..

จากแม่วัวธรรมดาที่ชื่อ “เบสซี” หากมันมี “เขา” ของ “ยูนิคอร์น” อยู่บนหัว มันก็กลายเป็นสัตว์ตัวใหม่ ซึ่งเกิดมาจากประสบการณ์ แต่เพราะเราไม่เคยเห็นวัวที่มีเขายูนิคอร์นมาก่อน นั่นจึงแปลว่า ภาพของสัตว์ในจินตนาการตัวนี้ ย่อมเป็นผลมาจากการที่สมองของเรา เอาความคิดจากประสบการณ์ (คือเขายูนิคอร์น) ไปผนวกกับความคิดที่เกิดจากประสบการณ์อีกเรื่องหนึ่ง (คือวัว)!

เฮ้อ.. “ล็อค” ยกเรื่องชวนคิดแบบนี้..ทำเอา “ปวดเฮด” เลยว่ะ!..

ในขณะที่เราไม่อาจเข้าถึงความรู้อันสมบูรณ์ เกี่ยวกับธรรมชาติพื้นฐานของความเป็นจริง เช่น เรื่องของ “สสาร” หรือ “รูปแบบ” หรือ “แก่นสาร” แต่อย่างน้อยในท้ายที่สุด เราก็รู้ดีว่า เรากังวลหรือสนใจในสิ่งใด กล่าวคือ

เรารู้ดีพอว่า การจะมีชีวิตอยู่ที่ดีกว่าเดิมนั้น จะต้องทำเช่นใด และเราจะต้องประพฤติตัวเช่นใด และความจริงแล้ว สิ่งที่ “เดคาร์ด” เรียกว่า “ความแน่นอน” และวิธีการซักถามหาความรู้ที่ “สปิโนชา” ใช้นั้น ต่างล้วนอยู่บนหลักการของ “สสาร-แก่นสาร” ฯลฯ ทั้งสิ้น และสิ่งเช่นว่านี้ ก็เข้ามาอยู่ในความคิดของ “ล็อค” ด้วยเช่นกัน

ความคิดสำคัญของ “จอห์น ล็อค” 2 : สิทธิตามธรรมชาติ!

เช่นเดียวกับ “ฮ็อบส์”.. “ล็อค” เชื่อว่า ในภาวะธรรมชาติ (ภาวะก่อนการมีรัฐบาล) มนุษย์ได้เข้าสู่สัญญาประชาคมกับผู้ปกครองที่มีอำนาจบางคน เพื่อให้ตนได้รับการคุ้มครอง

อย่างไรก็ตาม “ล็อค” ยืนยันว่า ภาวะธรรมชาติไม่ใช่ภาวะที่มีแต่ความรุนแรง และความกลัวอันเนื่องมาจากความเห็นแก่ตัว หรือสัญชาตญาณที่ป่าเถื่อนของมนุษย์

ตรงกันข้าม “ล็อค” มองว่า ในภาวะธรรมชาตินั้น มนุษย์ค่อนข้างมีความกรุณา และให้ความร่วมมือกัน สาเหตุที่มนุษย์เข้าสู่สัญญาประชาคม ก็เพื่อการคุ้มครองและเสถียรภาพที่ดียิ่งขึ้น ไม่ใช่เพราะชีวิตนั้นเลวร้ายรุนแรง

มุมมองของ “ล็อค” ต่อภาวะธรรมชาติ และสัญชาตญาณตามธรรมชาติ ทำให้เขามีความคิดว่า มนุษย์นั้นย่อมต้องมี “สิทธิตามธรรมชาติ” บางอย่างอยู่แล้ว และสิทธิตามธรรมชาตินี้ คือสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้มอบให้ ซึ่งได้แก่ ชีวิต เสรีภาพ และทรัพย์สิน (นี่คือสิ่งที่ปรากฎอยู่ในคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐ)

ความคิดของ “ล็อค” ที่ว่า ทรัพย์สินเป็น “สิทธิตามธรรมชาติ” เป็นแนวคิดที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขามาก ตามความคิดของ “จอห์น ล็อค” ใน “ภาวะธรรมชาติ” มนุษย์มีความเข้าใจในเรื่องทรัพย์สิน อย่างไรก็ตาม เพื่อปกป้องในสิทธิที่พระผู้เป็นเจ้ามอบมา มนุษย์จึงสร้างสิ่งที่เรียกว่า “รัฐบาล” ขึ้นมาไงล่ะ!..

แหม.. นักปรัชญาเมืองผู้ดี“จอห์น ล็อค”เขียนมาเสียยืดยาว ผมดึงออกมาคร่าวๆแค่ 2 ข้อก่อน แต่ดูเหมือน“ข้อ 3”ก็เป็น“แก่นแท้”ในแนวคิดที่สำคัญยิ่งเช่นกัน นั่นคือเรื่อง“มนุษย์ควรปกครองตนเอง” และนั่นเป็นที่มาแห่งโครงสร้างรูปแบบของ“รัฐ” และตามด้วยรูปร่าง อันเป็นที่มาของ“รัฐบาล”

อืม..แต่.. ในอดีต “ไม่เห็น” และ “ไม่มี” สักนิดเลยว่า “ล็อค” หรือ “นักปรัชญา” เรืองนามท่านใด จะสื่อสาร “แนวคิด” ด้วยการ “พูด-เขียน” ให้ “รัฐบาล” หรือ“ผู้นำชาติ” ต้องคอร์รัปชั่นโกงชาติแม้แต่น้อย

โอ๊ย!.. ถ้า “นักปรัชญาทั้งหลาย” รู้ว่า “คนในรัฐบาล” มีพฤติกรรม “โกงชาติบ้านเมือง” ไม่ว่ามากหรือน้อย “นักปรัชญา” กับผู้คนในยุคนั้น ต้องไม่นิ่งเฉยเป็น“ทองไม่รู้ร้อน” แน่นอน..จริงไหม?
ผมจำได้ว่า “นักปรัชญานามระบือ” ในอดีตกาลบางคน เคยพูด เคยประณาม เคยต่อต้านการโกงชาติในยุคของเขามาแล้วนะเฟ้ย!
ในยุค “ดิจิทัล” อันเลิศล้ำทันสมัย ถึงขั้นส่ง “จรวด” พุ่งปรู๊ดขึ้นไปสู่จักรวาล ลงจอดที่ “ดวงจันทร์” ทั้งใน “ด้านสว่าง” กับ “ด้านมืด” ได้เรียบร้อยแล้ว แถมยังส่ง“จรวดติดกล้อง” ไปถ่ายภาพพื้นผิว “ดาวอังคาร” ได้ด้วย ว้าว!..เหมือน“ มนุษย์” สร้าง “ปาฏิหาริย์”! แต่มันคือ“ ความจริง” ว่ะ!..

เฮ้อ!..แต่ที่ “มนุษย์” ทุกชาติในโลก “โคตรเบื่อ” และ “โคตรรังเกียจ” อย่างยิ่ง ก็คือ “พฤติกรรมมนุษย์ชั่ว” ที่ “ มนุษย์ดี” อยาก “หยุดมนุษย์ชั่ว” ที่ได้เป็น “ผู้นำรัฐบาล” ที่ใช้ “อำนาจรัฐโกงชาติ” สารพัดโครงการ แบบ “โกงไม่รู้จักพอ”!!!
อืม.. ไฉน “นักการเมือง” ชั่วช้าสามานย์เยี่ยงนี้.. จึงเกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเลยฟระ?.. เฮ้อ!..



กำลังโหลดความคิดเห็น