หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
เราเพิ่งจะฉลอง 50 ปี 14 ตุลาคม 2516 ที่นิสิตนักศึกษาประชาชนออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยจากรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร 50 ปีถ้าเป็นคนๆหนึ่งก็น่าจะเป็นคนที่กำลังเคี่ยวกรำประสบการณ์ชีวิตผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน ประชาธิปไตยอันเป็นผลผลิตของเหตุการณ์ครั้งนั้นก็เช่นเดียวกันมีทั้งช่วงที่จรัสเจิดจ้าและขมุกขมัวมาตลอด 50 ปี
เป้าหมายเมื่อฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดินของการลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งนั้น ถ้าหมายถึงการเลือกตั้งที่ประชาชนเป็นผู้เลือกผู้นำเข้ามามีอำนาจก็สามารถเกิดขึ้นสลับฟันปลากับการรัฐประหารของทหาร แต่ต้องยอมรับว่า เชื้อไฟของการรัฐประหารนั้นก็คือ การแสวงหาผลประโยชน์จากอำนาจและการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลของรัฐบาลที่มาจากประชาชนนั่นเอง
แต่ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลทหาร หรือรัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งใบ เราต้องยอมรับว่า เราไม่ได้ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพจนเกินขอบเขต แต่เราสัมผัสได้ว่าความมั่นคงของรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งใบในช่วงการครองอำนาจอย่างยาวนานของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์นั่นแหละ ที่เสถียรภาพทางการเมืองสามารถนำมาสู่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและโชติช่วงชัชวาลย์ขึ้นได้
แม้เราจะเชื่อว่า ประชาธิปไตยคือ การปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่จะดีที่สุด แต่ก็พิสูจน์มาแล้วว่า หลายรัฐบาลหลากที่มาที่เราได้สัมผัสนั้นไม่สามารถบอกได้หรอกว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะเป็นรัฐบาลที่ดีที่สุด เพียงแต่ข้อดีของระบอบประชาธิปไตยก็คือ ใช้เสียงส่วนใหญ่เป็นผู้เลือกผู้นำเข้ามาปกครองประเทศเท่านั้นเอง แต่ก็ไม่สามารถการันตีได้ว่า ผู้นำที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนจะเป็นผู้นำที่ดีที่สุด
เครื่องมือของระบอบประชาธิปไตยคือ การเลือกตั้งไม่ใช่เครื่องมือในการเลือกคนดีคนมีความสามารถ แต่เป็นเพียงคนที่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือและยอมรับจากผู้เลือกตั้งได้มากกว่ากัน จะมีสักกี่คนเทียวที่เลือกผู้แทนของตัวเองมาจากความรู้ความสามารถ การเลือกตั้งครั้งล่าสุดก็เช่นเดียวกันกลายเป็นอุปทานหมู่ที่คนพากันไปเลือกพรรคอันดับ 1 โดยไม่รู้จักตัวตนของผู้สมัครด้วยซ้ำไป เราจึงเห็นพฤติกรรมแปลกๆ ของส.ส.พรรคนี้ปรากฏออกมาในภายหลัง
การได้ลิ้มลองการปกครองภายใต้รัฐบาลที่ทั้งมาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลที่ทั้งมาจากการรัฐประหาร ทำให้คนจำนวนหนึ่งมองเห็นว่า การได้ผู้นำที่ดีต่างหากที่สำคัญกว่าที่มา หลายคนจึงหมดศรัทธากับการเลือกตั้ง และกลายเป็นฝ่ายที่สร้างความชอบธรรมจากรัฐบาลที่มาจากปลายกระบอกปืน เมื่อทหารล้มรัฐบาลที่ฉ้อฉลลงไปได้ประชาชนจึงออกมาเฉลิมฉลองแสดงความยินดีบนท้องถนน จนถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกต่อต้านประชาธิปไตย แล้วอีกฝ่ายก็ชิงสถาปนาตัวเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย
ถ้าเรามองการรัฐประหารย้อนหลังไป 3 ครั้ง รัฐประหารของพล.อ.สุจินดา คราประยูร ก็ล้มรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่เราเรียกว่า รัฐบาลบุปเฟ่ต์คาบิเนต เพราะแม้จะมาจากประชาธิปไตยเต็มใบก็ทุจริตคอรัปชั่นกันอย่างมูมมาม มาจนถึงพล.อ.สนธิ บุณยรัตตกลิน ล้มรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ก็มาจากการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล และพิสูจน์จากการที่รัฐมนตรีหลายคนเดินเข้าคุกเช่นเดียวกับทักษิณที่เพิ่งเดินกลับมารับโทษทัณฑ์แต่กลายเป็นนักโทษอภิสิทธิ์ชนที่ยังไม่นอนในคุกแม้แต่วันเดียว
ยุคสมัยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็เช่นเดียวกัน เธอถูกรัฐประหารเพราะประชาชนออกมาต่อต้าน ด้วยมูลเหตุของการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลจนทำความเสียหายให้เกิดกับประเทศอย่างใหญ่หลวง จนกระทั่งถึงวันนี้ผ่านมาหลายปีแล้วความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นตัวเงินมหาศาลก็ยังชำระกันไม่หมด มีแต่รัฐมนตรีในรัฐบาลและข้าราชการที่เป็นมือไม้ที่ถูกจองจำในคุก แต่เธอหลบหนีไปและมีชีวิตเป็นอยู่ที่สุขสบาย
นายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหารที่เราน่าจะนึกได้ก็คือ นายอานันท์ ปันยารชุน คนหนึ่ง ลองดูสิครับว่าดีหรือเลวเมื่อเทียบกับนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง เด็กรุ่นใหม่ที่เพิ่งเติบใหญ่แล้วออกมาฟังอานันท์ที่วันนี้แสดงตัวเกลียดชังเผด็จการเทิดทูนประชาธิปไตยก็อาจจะไม่รู้ว่าอานันท์นั้นเป็นคนที่เคยรับใช้เผด็จการมาก่อน อานันท์นั้นเป็นคนแก่ที่แปลกคือ เป็นลิเบอรัลตอนแก่ แต่คนส่วนใหญ่เขาจะเป็นลิเบอรัลหรือเสรีนิยมกันตอนเป็นหนุ่มสาว และเป็นคอนเซอเวทีฟหรืออนุรักษ์นิยมตอนแก่
หรืออานันท์อาจกลัวว่าคนที่มาจากอำนาจเผด็จการอาจจะไม่มีใครดีไปกว่าตัวเอง วันนี้จึงออกมาสนับสนุนและให้ท้ายคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนน ต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ อานันท์ก็อาจจะเลือกข้างถูกถ้าคิดในแง่ของวันเวลาของตัวเองที่กำลังหมดไป ก็ต้องฝากความหวังไว้กับคนรุ่นใหม่นั่นแหละ เพียงแต่อานันท์ไม่แยกแยะระหว่างคนรุ่นใหม่ที่เป็นอนาคตของชาติกับคนรุ่นใหม่ที่ชังชาติเพราะเกลียดความเป็นไทยและต่อต้านการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้นเอง
บางทีอานันท์อาจจะสำนึกผิดที่รับใช้เผด็จการในวันที่จะใกล้ลาโลกไปแล้วก็ได้
50 ปีแล้วที่คนรุ่น 14 ตุลาคม 2516 ไม่ได้สูญหายไปจากวงจรของอำนาจ รัฐบาลปัจจุบันนี้ก็มีอดีตผู้นำนักศึกษาที่มีอำนาจเป็นใหญ่ในแผ่นดินอยู่ในรัฐบาลหลายคน หลายคนเป็นเครือข่ายเครื่องมือของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หลายคนแอบอยู่ข้างหลังผลักดันคนรุ่นใหม่ให้ออกมาขับเคลื่อนทางการเมือง
ชัยชนะของพรรคก้าวไกลที่มาจากการก่อตั้งของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจนั้น กำลังเป็นสัญญาณว่า ความเปลี่ยนแปลงกำลังจะใกล้เข้ามา เมื่อพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่สามารถใช้ภูมิทัศน์ใหม่ของเทคโนโลยีและสื่อสารมวลชนยึดครองความเชื่อของคนส่วนใหญ่ได้ และยังสร้างคนรุ่นใหม่พูดเก่งหน้าตาดีอย่างพิธา ลิ้มเจริญรัตน์เข้ามาในยุคที่สังคมคลั่งไคล้โอปป้า จนกลายเป็นความหวังทางการเมืองของคนไทยขึ้นมาจนเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคก้าวไกลจะชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย เพราะการเมืองเก่าภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยนั้นเป็นฟางเส้นสุดท้ายแล้ว
แต่ในขณะที่เรากำลังเฉลิมฉลอง 50 ปี 14 ตุลา พูดถึงประชาธิปไตยและเสรีภาพนั้น เป้าหมายของพรรคก้าวไกลภายใต้ผู้นำทางความคิดและเจ้าสัวนายทุนพรรคอย่างธนาธร หาได้มุ่งหมายที่จะพาชาติก้าวไปข้างหน้าไม่ หากเราได้ติดตามความคิดของเขาที่ยังคงฝังใจหมกมุ่นและงมงายกับ 2475 และมุ่งที่จะพาสังคมไทยกลับไปเริ่มต้นใหม่ในวันนั้น
ย้อนไปในการอภิปรายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2561 ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ธนาธร กล่าวถึงคุณูปการของปรีดี พนมยงค์ บนเวทีหัวข้อ “อภิวัฒน์สยาม 2562 ความหวังและอนาคตประเทศไทย” ว่า เป็นหนึ่งในผู้นำการอภิวัฒน์ 2475 เป็นผู้นำเสรีไทย และเป็นผู้ตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย และมีอีกหลายเรื่องที่ปรีดีได้ทำ รวมทั้งเป็นผู้วางรากฐานการปรองครองสมัยใหม่ในประเทศไทยไว้
“การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไปแล้ว และมีความสำคัญอย่างมากคือ ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐ ผมอ้างตามคำพูดของอาจารย์ ณัฐพล ใจจริงนะครับว่า 2475 คือสัญญาประชาคมใหม่ ระหว่างกษัตริย์กับประชาชน กษัตริย์มีอำนาจสูงสุด ถ่ายโอนอำนาจสูงสุดนั้นไปสู่พลเมืองโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการรองรับสิทธิและเสรีภาพที่ว่าของประชาชน สัญญาที่ว่านี้หลักใหญ่ใจความคือ กษัตริย์คืนอำนาจให้กับประชาชน แต่ผ่านมา 86 ปี เรารู้กันว่าจนถึงปัจจุบันประชาชนก็ยังไม่ได้รับ ผมคิดว่านี้คือเรื่องสำคัญที่เราต้องพูดให้ชัดว่าหลักการ ความเป็นพลเมืองในประเทศไทยยังไม่ได้ถูกสถาปนา หลักการที่เป็นเสาค้ำยันการอภิวัฒน์ 2475 อำนาจสูงสุดนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลายยังไม่ได้ถูกสถาปนาให้หยั่งรากลึกลงในสังคมไทย”
ธนาธรบอกว่า จำเป็นจะต้องนำภาระกิจของการปฏิวัติ 2475 ที่ทำไม่เสร็จมาทำให้เสร็จ ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้พูดด้วยโอหัง หรือทนงตน แต่พูดด้วยความเข้าใจถึงสภาพการในปัจจุบันที่ไร้สิทธิ ไร้เสรี และไร้เสรีภาพ พูดด้วยความเข้าใจดีว่าสังคมไทยไม่มีความหวัง และต้องการการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
หลังรัฐประหาร 2475 สิ่งที่เกิดขึ้นคือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่สิ่งที่ธนาธรคาดหวังเล่าคืออะไร คือความคิดที่เรียกร้องให้ปฏิรูปกษัตริย์และลดทอนบทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาให้มากกว่าที่เป็นอยู่ใช่หรือไม่ และใช้คำพูดเชิงขู่เข็ญว่า ถ้าไม่เอา“ปฏิรูป”ก็ต้อง“ปฏิวัติ”
เมื่อ 50 ปี 14 ตุลาผ่านไป สิ่งที่พรรคการเมืองซึ่งกลายเป็นความหวังใหม่ของยุคสมัยจะนำพาเราไปคือกลับไป 2475 เพื่อทวงอำนาจที่ประชาชนยังไม่ได้รับในความเชื่อที่หมกมุ่นงมงายของพวกเขานั่นเอง