xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องของ “ปรัชญาตะวันตก ”(ตอนสิบหก) คมคำของ“ เบเนดิค สปิโนชา”?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สอดแนมการเมือง”
“ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”

อ่านเรื่องราวคร่าวๆ ของ “เบเนดิค สปิโนชา” นักปรัชญารุ่นใหม่ ชาวโปรตุเกส เชื้อสายยิว ที่ลี้ภัยไปอยู่ในอัมสเตอร์ดัม ผู้ซึ่ง “เบอร์ทรัล รัสเซลล์” ถึงกับยกย่องว่า “สปิโนชา” เป็นนักปรัชญาน่ารักที่สุดเท่าที่เคยมีมา..

คราวนี้มาอ่านแนวคิดของเขากันนะครับ.. “สปิโนชา”เ ริ่มต้นพูดเสียยืดเยื้อยืดยาว ถึงความชั่วร้ายของมนุษย์ที่มีมาแต่อดีตดังนี้..

“สิ่งใดในธรรมชาติ ที่มนุษย์ตัดสินว่ามันเป็นสิ่งที่ชั่วร้าย หรืออาจสร้างอันตรายต่อการมีชีวิตอยู่อย่างสมเหตุสมผลและพึงพอใจ เราจะขจัดมันออกไป ด้วยวิธีการที่ดูเหมือนปลอดภัยที่สุด ในทางตรงกันข้าม สิ่งใดที่เรามองว่าเป็นสิ่งที่ดี หรือเป็นประโยชน์ต่อการมีชีวิตที่เป็นสุข เราจะรับมันเข้ามา และใช้มันในวิถีทางที่เราเห็นว่าเหมาะสม และแน่นอนที่ว่า เราทุกคนย่อมอาศัยสิทธิสูงสุดตามธรรมชาติ ทำในสิ่งที่เราเชื่อว่าจะสร้างผลกำไรให้กับตนเอง” อืม.. และเขายังพูดต่อไปอีกด้วยว่า..

“ตราบเท่าที่มนุษย์ยังถูกชักนำด้วยความอิจฉาริษยา หรือความเกลียดชังต่อผู้อื่นที่อยู่ตรงข้ามตน ตราบนั้น ผู้นั้นก็ย่อมตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว เพราะธรรมชาติยังคงมีอำนาจที่เหนือกว่ามนุษย์คนใดอยู่อีกมาก”..
อืม..ในห้วง “วิทยาศาสตร์” ยังไม่ก้าวหน้าทันสมัย พอที่จะอธิบายหลายสิ่งนั้น “มนุษย์” จึงขลาดกลัวศักยภาพของธรรมชาติมากเป็นพิเศษ..จริงไหม?

ครานี้.. มาดู “สปิโนชา” พูดถึง “จิตมนุษย์” กับ “อาวุธ” ด้วยมุมมองที่น่าสนใจว่า..

“จิตของมนุษย์ไม่อาจเอาชนะได้ด้วยอาวุธ แต่ชนะได้ด้วยความรักและการเผื่อแผ่ เหนือสิ่งอื่นใด มันเป็นประโยชน์ที่มนุษย์จะรวมตัวเข้าด้วยกันเป็นชุมชน และผนึกให้เข้าเป็นหนึ่งเดียว และแน่นอนว่า มันย่อมเป็นประโยชน์แก่ทุกคน ที่จะทำในสิ่งที่ทำให้มิตรภาพระหว่างกันเข้มแข็งยิ่งขึ้น”

จริงนะ..เพราะที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้! “ความตาย” เพราะท้องหิวด้วยไร้ความยุติธรรม “อาวุธ” เอาชนะ “มนุษย์” อย่างถาวรไม่ได้ แต่ “ความรัก” กับ“ความเอื้ออาทร”..สามารถ “ชนะมนุษย์” ได้แน่..จริงไหมล่ะ?

“โดยทั่วไป มนุษย์มีแนวโน้มที่จะทำทุกสิ่ง เพื่อความพึงพอใจของตนเอง ดังนั้น เมื่อมีความสามัคคีในกลุ่มของตน สิ่งที่เป็นประโยชน์ย่อมมีมากกว่าสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ฉะนั้น จึงย่อมเป็นการดีกว่า ที่เราจะควบคุมอารมณ์ตนเอง เมื่อเผชิญกับสิ่งที่ไม่ดีจากผู้อื่น และพยายามใช้สมองของเรา เพื่อสร้างความกลมกลืนและมิตรภาพให้เกิดขึ้นภายในกลุ่ม”

มิสเตอร์ “สปิโนชา” คิดถึงความเป็นมนุษย์ จึงชอบเน้นเรื่องของมิตรภาพ-ความสามัคคีของกลุ่มคน.. ว่าไปแล้ว..“สปิโนชา” น่าจะเป็นนักการเมืองว่ะ!..

“การรวมตัวกัน มักเกิดขึ้นโดยความกลัว และขาดซึ่งศรัทธาที่ดี แต่น่าสังเกตเช่นกันว่า ความกลัวนั้นเกิดจากการไร้ความสามารถของจิตใจ ดังนั้น การรวมตัวเพราะเหตุเช่นนี้ จึงไร้ซึ่งเหตุผลและไม่น่านับถือ แม้ว่ามันดูเหมือนเป็นสิ่งที่น่าศรัทธาอยู่ด้วยก็ตาม”

อืม.. “ศรัทธา” เป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับ “มนุษย์”! หากผู้คน “สิ้นศรัทธา” ต่อ “ผู้นำชาติ” ก็จบเห่ครับ!..

“สปิโนชา” พูดต่อว่า..

“ความรักของสาวบำเรอเมือง หรืออีกนัยหนึ่งตัณหาแห่งการสมสู่ อันเป็นสิ่งที่เกิดจากปัจจัยภายนอก อีกทั้งความรักทั้งหลายที่เกิดจากเหตุอื่น ที่มิใช่เสรีภาพแห่งจิตใจ ย่อมสามารถแปรเปลี่ยนเป็นเกลียดชังได้อย่างง่ายดาย เว้นเสียแต่มันกลายเป็นภาพลวงตา อันเป็นสิ่งที่แย่ยิ่งกว่า ดังนั้น ความแตกแยกจึงกลายเป็นสิ่งที่รุ่งเรืองได้เสียยิ่งกว่าความสามัคคี”

คำพูดของนักปรัชญา “สปิโนชา” ทำให้ “ผู้อ่าน” ต้องคิดแล้วคิดอีก.. คิด คิด คิด คิดเยอะกว่าปกติ..
“การประจบสอพลอ ก็ทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันได้เช่นกัน แต่ด้วยวิธีการของอาชญากรรมของความเป็นทาส และการทรยศหักหลังที่น่ารังเกียจ เพราะการประจบสอพลอ ย่อมพรากความภาคภูมิใจออกไปจนหมดสิ้น”
จริงว่ะ!..การรวมตัวเพราะประจบสอพลอนั้น มักมีการทรยศหักหลังไม่จิรัง ซึ่ง “สปิโนชา” บอกว่า..
“มันมีสิ่งที่เรียกว่า ความน่าเลื่อมใสที่จอมปลอม และศาสนาที่อยู่ในภาวะน่าหดหู่ และแม้ว่าความน่าหดหู่นั้น จะเป็นสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับความภาคภูมิใจ แต่ผู้ที่หดหู่ในอารมณ์ แต่ยังถ่อมตนย่อมใกล้เคียงกับความภาคภูมิใจ”

เรื่องความเลื่อมใสจอมปลอมมิใช่ความจริง..เข้าใจได้ไม่ยาก! “สปิโนชา” ยังพูดถึงการรวมกลุ่มกันว่า..

“ความละอายใจก็สามารถนำไปสู่การรวมกลุ่มได้เช่นกัน แต่ก็เฉพาะในส่วนที่ไม่อาจซ่อนเร้นได้เท่านั้น ความละอายใจก็เช่นเดียวกับความเศร้าโศก มันไม่ใช่สิ่งที่มากับเหตุผล”

คราวนี้เขาพูดต่อยืดยาวให้คิดอีกยาวยืดว่า..

“ในทางตรงกันข้าม ความงมงายดูเหมือนจะบอกให้เราคิดว่า สิ่งที่นำมาซึ่งความเศร้าโศกนั้นเป็นสิ่งที่ดี และสิ่งใดที่นำความเพลิดเพลินมาเป็นสิ่งที่เลวร้าย แต่อย่างที่ได้กล่าวมาก่อนแล้ว ไม่มีใครยกเว้นผู้ที่ริษยา ที่จะดีใจในการไร้ความสามารถของข้าฯ หรือดีใจในสิ่งที่ข้าฯ เสียเปรียบ เพราะยิ่งเรามีความสุขมากเท่าใด เราก็ยิ่งสมบูรณ์มากขึ้นเท่านั้น อันส่งผลว่า เราก็ยิ่งมีส่วนร่วมในธรรมชาติของพระเจ้ามากยิ่งขึ้น ความสุขนั้นจะไม่มีวันแปรเปลี่ยนเป็นความชั่ว เพราะมันถูกควบคุมด้วยสติที่แท้จริง เพื่อผลประโยชน์ของเราเอง ในทางตรงกันข้าม ผู้ซึ่งตกอยู่ในความหวาดกลัว และทำความดีเพื่อหนีความชั่วร้าย ย่อมไม่ใช่ผู้ที่นำทางด้วยเหตุผล”

นักปรัชญา “สปิโนชา” ได้สาธยายต่ออีกว่า “ผู้ซึ่งเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ทุกสิ่งที่สืบเนื่องมาจากความจำเป็นแห่งธรรมชาติของพระเจ้า และเข้าใจกฎอันเป็นนิรันดร์ และกฎแห่งธรรมชาติ ย่อมไม่มีวันพบว่า มีสิ่งใดที่ควรค่าแก่การเกลียดชัง หัวเราะเยาะหรือดูหมิ่น และเท่าที่ความดีของมนุษย์จะพึงเอื้อมถึง เขาผู้นั้นจะพยายามทำแต่ความดี และดำรงไว้แต่ความสุขสดชื่น”

อืม.. คำคมของนักปรัชญาหลายคน รวมทั้ง “เบเนดิค สปิโนชา” พวกเขาต่างเรียกร้องตรงกัน ให้ “ผู้คน” มุ่งทำความดีให้กับสังคมมนุษย์ กระทั่งบางคน “ยอมพลีชีพ” เพื่อรักษาปกป้อง “วิทยาศาสตร์” และ “ปรัชญา” แห่ง “ความดี” กับ “ความถูกต้อง” เลยนะโว้ย!..

แต่.. “มนุษย์” ในสังคมแต่ละ “ชาติ”นั้น มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีบันทึกทั้งการ “ทำดี” และ “ทำชั่ว” มากมาย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์บนดินแดน “ไทย” ที่บ้างก็ว่ารูปร่างคล้าย “กระบวย” บ้างบอกเหมือน “ขวาน”.. หลายคนจินตนาการบรรเจิด บอกว่าเหมือน “ขวานทองแท้”..!

“อดีตผู้นำชาติไทย” ยุคดิจิทัล ตั้งเป้าหมายชีวิตสูงส่ง ลูกๆ ต่างมีชื่อเป็นมงคลด้วย “ทองแท้” ครั้งที่หาเสียงเรียกคะแนนนิยมจากประชาชน “มหาเศรษฐีนักธุรกิจการเมืองคนนั้น” ได้ประกาศไปทั่วว่า.. “รวยแล้วกูจะไม่โกงชาติ”!
ทว่า!.. เมื่อได้อำนาจรัฐไว้ในกำมือ เขากลับ “ตระบัดสัตย์” หน้าตาเฉย “รัฐบาลเขา” กับเครือข่าย ใช้อำนาจ “โกงชาติ” จนได้ฉายาว่า “รัฐบาลรวยแล้วยังโคตรโกงชาติ”

สันดานขี้โกงเงินงบประมาณรัฐ ทำให้อดีตนายกฯ “มหาเศรษฐี” กับ “น้องสาว” ได้ทำผิดกฎหมายหลายคดี ต้องเผ่นหนีคุกไปอยู่ต่างแดน “ผู้พี่ชาย” หนี “คุก” ไปนาน “สิบกว่าปี” เพิ่งได้กลับบ้านเกิดเมืองนอน และได้รับพระเมตตา “ลดโทษ” จาก “แปดปี” เหลือ “หนึ่งปี”

แต่ “นักโทษเด็ดขาด” ยอมเข้าคุกแค่ไม่กี่ชั่วโมง ก่อนจะเผ่นไปใช้อภิสิทธิ์สองมาตรฐาน “กินหรูอยู่สบาย”ที่ โรงพยาบาลตำรวจในฐานะ “คนป่วย” แทนที่จะอยู่“คุก” รับโทษทัณฑ์ตามกฎหมายเยี่ยง “คนทำผิด” จึงทำให้คนเชื่อมั่นว่า “คุกมีไว้ขังคนจน”!..

กลับมาพูดถึง “นักปรัชญา” ที่บ้างเป็น “คนธรรมดา” และบ้างเป็น “นักบวชผู้ทรงศีล” ซึ่งยึดใน “ปรัชญา” กับ “พระเจ้า” อย่างมั่นคง ตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต..

“สปิโนชา” เป็นนักปรัชญาที่เชื่อมั่นใน “พระเจ้า” ที่ทรงกำหนดสรรพสิ่งในโลก ด้วยการเผยคำพูดจากใจว่า..
“สิ่งต่างๆ ที่มีลักษณะเฉพาะ มิใช่สิ่งนอกเหนือจากการปรับเปลี่ยนแก้ไขที่เกิดโดยพระเจ้า หากแม้นมิใช่สิ่งที่ปรับเปลี่ยนโดยพระเจ้า มันก็คือสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้นมา เพื่อให้มันคงรูปร่างเช่นนั้นโดยเฉพาะอยู่ดี”

สุดท้าย.. “เบเนดิค สปิโนชา” ได้ทิ้ง “คำพูด” ซึ่งเปิดใจของเขาที่มีต่อ “พระเจ้า” ว่า..

“พระเจ้าไม่ใช่เป็นเพียงปัจจัยที่ดีต่อการกำเนิดของสรรพสิ่ง แต่เพื่อการคงอยู่ของตนเองด้วย”!!

อืม.. ผมขอยกมือสนับสนุน “เบอร์ทรัล รัสเซลล์” ที่ยกย่องว่า “สปิโนชา” เป็นนักปรัชญาน่ารักที่สุดเท่าที่เคยมีมา..


กำลังโหลดความคิดเห็น