หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
จำได้ไหมว่า ตอนที่นักวิชาการและหน่วยงานต่างๆ ออกมาเตือนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ของพรรคเพื่อไทยว่า นโยบายจำนำข้าวทุกเม็ดนั้นจะเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ให้รัฐบาลทบทวนแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ไม่ฟังเสียงเหล่านั้น และยืนยันที่จะเดินหน้านโยบายต่อไป ทราบไหมว่าถึงวันนี้ก็ยังใช้หนี้จากนโยบายจำนำข้าวไม่หมด
ตอนนี้อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์กว่า 100 คนออกมาเตือนว่านโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 5.6 แสนล้านบาทนั้น จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างใหญ่หลวง แต่ถูกนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลังตอบโต้ว่า นักวิชาการก็มี 1 เสียงเท่ากับชาวบ้าน
“นักวิชาการออกมาวิพากษ์วิจารณ์เยอะ ผมน้อมรับ แต่ท่านก็เป็นแค่หนึ่งเสียง พี่น้องประชาชนมีอีกหลายสิบล้านเสียงที่ต้องการเงินดิจิทัล เราน้อมรับฟังและนำไปปรับปรุงเพื่อให้ประโยชน์สูงสุดตกอยู่กับทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่เสียภาษี ฝ่ายประชาชนที่มีความเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจอย่างมากที่หมักหมมมานาน ผมขอให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลนี้จะไม่ลุด้วยอำนาจ และจะฟังความคิดเห็น แต่เหนือสิ่งอื่นใดความลำบากของประชาชน การที่ประชาชนขาดเงินทุนที่จะไปดำรงชีพเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญที่สุด ยืนยันจะไม่มียกเลิกเงินดิจิทัล” นายเศรษฐากล่าว
นายกรัฐมนตรียืนยันว่ายังไงก็ต้องทำเพราะประชาชนมีรายจ่ายเยอะ มีภาระเยอะ จะไม่มีขวัญกำลังใจทำมาหากิน การลดค่าใช้จ่ายของเราก็เพื่อให้ประชาชนมีขวัญกำลังใจทำมาหากิน แต่ก็มีปัญหาอีกเมื่อมีขวัญกำลังใจแล้วเอาเงินทุนจากที่ไหน คนต่างจังหวัดไม่ได้มีเงินเยอะเหมือนคนที่อยู่บนฐานบนของสังคม
แต่ถ้าเราไปฟังนักวิชาการหรือแบงก์ชาติเขาไม่ได้ค้านแบบหัวชนฝา เขาค้านว่า ไม่ควรทำแบบเหวี่ยงแห แต่ควรทำเฉพาะกลุ่ม ต้องมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งสะท้อนว่า เขาก็เข้าใจนั่นแหละว่า เงินจำนวนดังกล่าวอาจจะจำเป็นสำหรับบางคน แต่เขาไม่เห็นด้วยกับการใช้นโยบายแบบเหวี่ยงแหเพื่อให้ตั้งแต่อายุ 16 ปีทุกคนยังไงเล่า
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวถ้าทำเฉพาะกลุ่มก็อาจจะประหยัดงบประมาณได้มากกว่า เพราะว่าไม่ใช่ทุกคนที่จำเป็นต้องใช้เงิน 10,000 บาท อีกทั้งการทำนโยบายต่างๆ รัฐบาลต้องฉายภาพระยะกลางของมาตรการที่จะทำให้มีความชัดเจน ทั้งเรื่องของภาพรวมรายจ่าย ภาพรวมหนี้ การขาดดุลต่างๆ ตรงนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่น แสดงให้เห็นถึงวินัยทางการคลัง ที่จะบริหารให้อยู่ในกรอบได้
ขณะที่กูรูด้านเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการจำนวนมากลงชื่อคัดค้านนั้น เขาเตือนว่าจะเป็นการได้ไม่คุ้มเสีย และเตือนว่า นโยบายดังกล่าวจะทำให้เกิดเงินเฟ้อหรือสภาวะที่ข้าวของราคาแพงทั่วไปอันจะเกิดจากนโยบายนี้ จะทำให้เงินรายได้และเงินในกระเป๋าของประชาชนทุกคนมีค่าลดลง หากรวมมูลค่าที่ลดลงของประชาชนทุกคนอาจจะมีมูลค่าสูงกว่า 5.6 แสยล้านบาทก็ได้ ทั้งการแจกเงินคนละ 10,000 บาท ให้ทุกคนที่อายุเกิน 16 ปี เป็นนโยบายที่สร้างความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างยิ่ง เศรษฐีและมหาเศรษฐีที่อายุเกิน 16 ปี ล้วนได้รับเงินช่วยเหลือ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความจำเป็น
ดร.สมชัย จิตสุชน แห่งทีดีอาร์ไอบอกว่า หนึ่งใน 'ข้อดี' ของโครงการแจกเงินดิจิทัลที่รัฐบาลพยายามพร่ำบอกและโน้มน้าวให้คนเชื่อและสนับสนุนนโยบายนี้คือ 'เงินจะหมุนได้หลายรอบ ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นหลายเท่าของเงินที่แจกไป' โดยบางกระแสบอกว่าจะสูงถึง 4-6 เท่า ลองมาดูผลการวิจัยของ ธปท. ข้างล่างที่ทำไว้หลายปีแล้ว (จึงไม่ควรโยงว่าเพื่อดิสเครดิตโครงการนี้) ว่าเงินโอนจะมีค่าตัวคูณทางการคลังเพียง 0.4 ไม่ใช่ 4-6 เท่าแต่อย่างใด แจกเงิน 100 บาทเศรษฐกิจโตแค่ 40 บาท คือหมุนไม่ถึงครึ่งรอบด้วยซ้ำ
พูดง่าย ๆ คือ 'ได้ไม่เท่าเสีย' แบบตรงไปตรงมา ยังไม่ต้องพูดถึง 'ค่าเสียโอกาส' ที่โครงการดี ๆ จะถูกเบียดบังออกไปจากโครงการนี้
ซี่งสอดคล้องกับแถลงการณ์ของนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่เตือนว่า เงินงบประมาณของรัฐที่มีจำกัดย่อมมีค่าเสียโอกาสเสมอ เงินจำนวนมากถึงประมาณนี้ 5.6 แสนล้านบาทนี้ ทำให้รัฐเสียโอกาสที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในการสร้าง digital infrastructure หรือในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น
ขณะที่ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ซึ่งทราบกันว่าเป็นคนในของพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้เห็นด้วยกับนโยบายนี้ ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า นโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต ที่รัฐบาลบอกว่าต้องการกระตุ้นให้เศรษฐกิจพลิกฟื้นขึ้นมา โดยทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ “เคนเซียนอีโคโนมิกส์” บอกว่ากระตุ้นได้ เมื่อเศรษฐกิจเกิดการขาดความมั่นใจทั้งนักลงทุนและทั้งผู้บริโภค ทำให้ไม่บริโภคและไม่ลงทุน แต่ก็ต้องพิจารณาด้วยว่าสถานการณ์ของเศรษฐกิจมหภาคเอื้ออำนวยหรือเปล่า
“เพราะถ้าไม่เอื้ออำนวย คุณจะมีปัญหาว่าที่คาดหวังว่าจะกระตุ้นแรงๆ แต่ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนก็จะเกิดปัญหาได้”
แต่เมื่อนายเศรษฐายืนกระต่ายขาเดียวว่านักวิชาการก็มี 1 เสียงเสียแล้วก็คงไม่ฟังใคร แต่สิ่งที่คนถามกันมากก็คือจะเอาเงินมาจากไหน ถ้าต้องกู้เงินถึง 560,000 ล้านบาท จะต้องใช้เวลากี่ปีถึงจะคืนหนี้หมด แล้วภาระนั้นจะตกกับประชาชน เหมือนกับกรณีจำนำข้าวหรือไม่
คนเขาก็ร่ำลือว่ารัฐบาลเศรษฐาจะไปล้วงกระปุกเด็กคือเอาเงินจากธนาคารออมสิน ขณะที่ นายธีรชัย ภูวนาทนรานุบาล อดีตรมว.คลัง เตือนว่า ถ้าทำอย่างนั้นจริงระวังจะขัดรัฐธรรมนูญ
เอาเถอะเชื่อว่า พรรคเพื่อไทยจะไม่ถอยและนโยบายแจกเงินดิจิทัลนี้ครั้งแรกก็ออกมาจากปากของนายเศรษฐาเองในตอนเปิดตัวหาเสียงมาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แต่ก็มีคนถามว่าถ้าจะต้องทำจริงๆ ทำไมไม่จ่ายผ่านแอปเป๋าตังที่คนไทยคุ้นเคยอยู่แล้ว ทำไมต้องไปจ่ายผ่านบล็อกเชนหรือสร้างระบบขึ้นมาใหม่ให้มันยุ่งยาก
อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า ตอนพรรคเพื่อไทยออกนโยบายจำนำข้าวก็มีเสียงเตือนแล้วว่าจะสร้างความเสียหายจะต้องยุติโครงการดังกล่าว แต่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็ไม่ฟัง ตอนจำนำข้าวคนของพรรคเพื่อไทยอย่าง ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ก็คัดค้านเหมือนกับดร.ศุภวุฒิที่คัดค้านแจกเงินดิจิทัลตอนนี้
ในตอนนั้น ดร. อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณของสถาบัน TDRI และผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าวคนหนึ่งของไทยกล่าวว่า ผู้ที่จะได้ประโยชน์อย่างสำคัญจากนโยบายนี้คือผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ แต่ผู้ประกอบธุรกิจข้าวและผู้ส่งออกข้าวของไทยจะได้รับผลกระทบเนื่องจากราคาข้าวไทยใต้นโยบายจำนำข้าวนี้จะสูงกว่าราคาตลาดถึง 50 % และนโยบายเรื่องนี้ยังเสี่ยงต่อปัญหาคอรัปชั่นและการขาดงบประมาณสนับสนุนอย่างเพียงพอด้วย
ตอนนั้นไม่เพียงแต่นักวิชาการเท่านั้นที่ส่งเสียงเตือนไปยังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ของพรรคเพื่อไทย แต่หน่วยงานในภาครัฐอย่างป.ป.ช.และสตง.ก็ส่งเสียงเตือนด้วย และปรากฎว่าถึงตอนนี้รัฐบาลยังต้องชำระหนี้ที่เกิดจากความผิดพลาดในนโยบายจำนำข้าวของพรรคเพื่อไทยไม่หมด
จากรายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำหรับปีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 พบว่า ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้ามาแก้ปัญหาหนี้ที่เกิดขึ้นจากโครงการจำนำข้าวจำนวน 9.85 แสนล้านบาท ด้วยการนำเงินจากการระบายข้าวมาจ่ายคืนหนี้ให้ธ.ก.ส. จำนวน 371,280.05 ล้านบาท และตั้งงบประมาณใช้หนี้อีก 289,304.73 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 660,584.78 ล้านบาท
ส่วนภาระหนี้ที่ค้างชำระที่รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณจ่ายคืนหนี้ให้กับ ธ.ก.ส. ทั้งสิ้น 246,675.61 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินที่ธ.ก.ส. สำรองจ่าย 66,403.55 ล้านบาท และเงินที่ธ.ก.ส.ไปกู้ยืมมาจากสถาบันการเงินอื่นอีก 184,474.62 ล้านบาท นั่นหมายความว่ายังมีหนี้จากจำนำข้าวที่รัฐบาลนี้ต้องชดใช้อีกทั้งสิ้น 246,675.61 ล้านบาท
เห็นได้ชัดว่า ความเสียหายจากนโยบายจำนำข้าวทุกเม็ดของพรรคเพื่อไทยนั้นต้องใช้เวลาเป็น 10 ปีกว่าจะชำระหมด แล้วนโยบายดิจิทัลวอลเลตแจกทุกคนแบบเหวี่ยงแหตั้งแต่อายุ 16 ปี ที่จะกู้เงินมา 5.6 แสนล้านบาทและนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์เตือนว่าได้ไม่คุ้มเสียนั้นจะต้องใช้เวลาอีกกี่ปีกว่าจะชำระหนี้หมด แล้วผลกระทบที่ตามมาจะตกกับประชาชนใครจะรับผิดชอบ
แล้วถามว่าหนี้ที่เกิดขึ้น 5.6 แสนล้านนั้นนายเศรษฐาเป็นผู้แบกรับหรือว่าประชาชน
นายเศรษฐาอาจจะไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง เพราะใครก็รู้ว่ามีคนกำกับอยู่เบื้องหลังเป็นเพียงหุ่นเชิด และไม่รู้ว่านโยบายนี้ออกจากความคิดของใคร แต่ถ้าไม่ถอยแม้จะมีเสียงเตือนหนักแน่นเพราะเป็นนโยบายที่หาเสียงไว้ก็คงจะซ้ำรอยนโยบายจำนำข้าวที่สร้างความเสียหายใหญ่หลวงให้กับประเทศอีกครั้ง
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan