xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อมนุษย์กำลังจะทำงานได้ถึงอายุ 80 ปี และมีอายุยืนได้ถึง 120 ปี / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ขอบคุณภาพจากมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย
ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ 

หลายทศวรรษที่ผ่านมามนุษย์ได้มีวิวัฒนาการทั้งทางด้านความรู้ ทางวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์มากขึ้น นำไปสู่การมียาปฏิชีวนะ สุขอนามัยที่ดีขึ้น และรวมไปถึงกระบวนการรักษาโรคที่ดีขึ้น (โดยเฉพาะวิวัฒนาการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหัวใจ) ได้ส่งผลทำให้มนุษย์มีอายุยืนยาวขึ้นเรื่อยๆ และการมีอายุที่ยืนยาวนั้น นอกจากจะมีเวชศาสตร์ชะลอวัยแล้ว ก็ยังเริ่มมีวิวัฒนาการเวชศาสตร์ย้อนวัยบ้างแล้วด้วยซ้ำ

โดยนิตยสาร Time ได้เคยประมวลย้อนเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ กลับไปประมาณเมื่อ 98 ปีที่แล้ว ปี ค.ศ. 1925 (พ.ศ.2468) เป็นจุดเปลี่ยนแปลงด้านสุขอนามัยของสหรัฐอเมริกา ซึ่งรวมไปถึงกระบวนการได้มาซึ่ง น้ำสะอาดการกำจัดน้ำเสีย เพื่อการลดโรคระบาดในสหรัฐอเมริกา[1]

ในเวลานั้นคนคนอเมริกันอายุขัยอยู่ที่ 59 ปี[1] ส่วนประเทศไทยมีการสำรวจทางสถิติในปี ค.ศ.1937 (พ.ศ. 2480) คนไทยมีอายุขัยประมาณ 40.3 ปีเท่านั้น ซึ่งถือว่าอายุขัยคนไทยสั้นมาก[2]

ต่อมาหลังจากนั้นอีก 30 ปี ประมาณปี ค.ศ. 1955 (พ.ศ. 2498) มนุษยชาติต้องขอบคุณยุควิวัฒนาการของ “วัคซีนหลายชนิด” ซึ่งรวมถึง วัคซีนไข้ทรพิษ (ฝีดาษ) วัคซีนโรคคอตีบ วัคซีนโปลิโอ ฯลฯ ซึ่งเป็นวัคซีนที่ผลิตมาเพื่อลดการเกิดโรคระบาดที่แพร่กระจายได้ง่าย และทำให้เกิดการเสียชีวิตจำนวนมาก รวมถึงการบริหารจัดการกับไวรัส ได้ทำให้มนุษย์มีอายุขัยยืนยาวขึ้น[1]

ในเวลานั้นคนทั่วโลกอายุขัยยืนยาวขึ้นเป็น 50.1 ปี โดยคนอเมริกันอายุขัยอยู่ที่ 60.3 ปี ส่วนคนไทยมีอายุขัยประมาณ 47.1 ปี[2]

ต่อมาอีก 30 ปี ในปี ค.ศ. 1985 (พ.ศ. 2528) ภัยคุกคามจากโรคระบาดลดลงทั่วโลก โดยการสาธารณสุขในสหรัฐอเมริกาได้มีการรณรงค์ในเรื่องโรคหัวใจ โดยเฉพาะการลดอันตรายของโรคหัวใจจากภัยบุหรี่ โดยในช่วงเวลานั้นยาและกระบวนการรักษาในเรื่องโรคหัวใจได้มีพัฒนาการมากขึ้น[1]

ในเวลานั้นคนทั่วโลกอายุขัยยืนยาวขึ้นเป็น 62.2 ปี โดยคนอเมริกันอายุขัยอยู่ที่ 69.2 ปี ส่วนคนไทยมีอายุขัยประมาณ 67.6 ปี[2]

อีก 30 ปีต่อมา ในปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) มีการพัฒนายารักษาโรคหลายชนิด รวมถึงมีการพัฒนาเครื่องมือในการวิเคราะห์เพื่อวินิจฉัยโรคหรือการคัดกรองหรือเชิงป้องกันที่ทันสมัยรวดเร็วขึ้น การผ่าตัดก้าวหน้าขึ้น รวมถึงวิวัฒนาการรักษาอื่นๆ ทำให้มีการลดอัตราการเสียชีวิตในโรคมะเร็งบางชนิดลดลง ซึ่งรวมถึงการรักษาโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆด้วย

ในเวลานั้นคนไทยมีอายุขัยประมาณ 77.7 ปี คนทั่วโลกอายุขัยยืนยาวขึ้นเป็น71.8 ปี และคนอเมริกันอายุขัยอยู่ที่ 76.3 ปี[2]
โดยในปี ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) ซึ่งเป็นปีเริ่มโรคโควิด-19 ตอนปลายปีก่อนที่จะระบาดไปทั่วโลก พบว่า คนไทยมีอายุขัยประมาณ 79 ปี คนทั่วโลกอายุขัยยืนยาวขึ้นเป็น 72.8 ปี และคนอเมริกันอายุขัยอยู่ที่ 76.7 ปี[2]

 โดยสรุปในรอบ 64 ปี ระหว่าง ค.ศ. 1955-2019 (พ.ศ.2498-2558) คนไทยอายุยืนขึ้น 31.9 ปี คนทั่วโลกอายุยืนขึ้น 22.7 ปี ในขณะที่คนอเมริกันอายุยืนขึ้น 16.4 ปี 

สำหรับประเทศไทย นอกเหนือจากระบบการสาธารณสุขที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วในหลายมิติ พร้อมกับความสามารถของแพทย์ในประเทศไทยและการรักษาโรคในประเทศไทยที่มีพัฒนาการไม่แพ้นานาชาติแล้ว ยังมาจากหลายมาตรการทางกฎหมายและการรณรงค์เพื่อ  “ลดการสูบบุหรี่ในประเทศไทย”  ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องด้วย[3]

โดยในปี ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) ซึ่ง พบว่ามีอัตราการเสียชีวิตของคนทั่วโลกอันเนื่องมาจากการสูบบุหรี่คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.0 โดยคนอเมริกันมีอัตราการเสียชีวิตเนื่องจากบุหรี่คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.5 ในขณะที่คนไทยมีอัตราส่วนที่เสียชีวิตเนื่องจากบุหรี่ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง จนปี พ.ศ. 2562 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.8[3]

โดยเมื่อปี พ.ศ. 2543 ผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่ในโลกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34.2 สหรัฐอเมริกาการสูบบุหรี่คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 33.8 ประเทศไทยสูบบุหรี่คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31.7 แต่ 20 ปีผ่านไป ในปี พ.ศ. 2563 ผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่ในโลกลดลงคิดเป็นสัดส่วนเหลือร้อยละ 23 สหรัฐอเมริกาสูบบุหรี่คิดเป็นสัดส่วนเหลือร้อยละ 23 ในขณะที่ประเทศไทยสูบบุหรี่คิดเป็นสัดส่วนเหลือร้อยละ 22.1[3]

นอกจากนั้น ถ้าย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2558 นิตยสาร Time ได้ขึ้นหน้าปกพาดหัวเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า เด็กคนนี้จะสามารถมีอายุได้ถึง 142 ปี โดยได้กล่าวถึงยาตัวหนึ่งชื่อ  แรพพามัยซิน (Rapamycin)  ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะในสัตว์ทดลอง แล้วพบว่าเกิดกลไกยับยั้งการทำงานของยีนที่ชื่อว่า mTOR  เป็นผลทำให้เกิดการยับยั้งการเจริญเติบโต

 ยาแรพพามัยซิน นั้นเป็นยาปฏิชีวนะซึ่งเตรียมผลิตออกมาเพื่อใช้รักษาการติดเชื้อรา ต่อมาก็พบว่ามันมีฤทธิ์ยับยั้งภูมิต้านทาน ก็เลยถูกเอาไปใช้รักษาผู้ป่วยที่ผ่าตัดเปลี่ยนไต มิให้ภูมิต้านทานปฏิเสธเนื้อเยื่อที่ปลูกถ่ายให้

แล้วก็ต่อมาพบว่ายานี้ยับยั้งการเติบโตของมะเร็ง ก็เลยใช้รักษามะเร็ง การวิจัยต่อๆ มามีหลักฐานมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าแรพพามัยซินช่วยให้หนูทดลองมีอายุยืนยาว 

แรพพามัยซิน ออกฤทธิ์กับเป้าหมายของมัน ซึ่งก็คือโปรตีนตัวหนึ่งภายในเซลล์ที่เรียกว่า mTOR (mammalian target of rapamycin) โดยยาแรพพามัยซินเข้าไปยับยั้งการทำงานของยีนที่ชื่อว่า mTOR แล้วทำให้ลดอัตราการเกิดมะเร็ง อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสี่อม เบาหวานแบบที่ 2 โรคกระดูก ซึ่งมีผลทำให้ยับยั้งการเจริญเติบโตหรือแบ่งตัว เหมือนกับช่วงเวลาการอดอาหาร

 งานวิจัย ‘โมเลกุลมณีแดง’ หรือ RED-GEMs ซึ่งเป็นนวัตกรรมต้านเซลล์ชรา โดยความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ  ปตท.และอินโนบิก (เอเซีย)
ส่วนความคืบหน้าของยาแรพพามัยซินนั้น ได้เริ่มเข้าสู่กระบวนวิจัยกับมนุษย์เมื่อเทียบกับยาหลอกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 แล้ว และคาดว่าการวิจัยจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ประมาณเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566[4]

สำหรับนวัตกรรมของคนไทยที่ทั่วโลกกำลังจับตาคือ  โมเลกุลมณีแดง  หรือชื่อภาษาอังกฤษคือ RED-GEMs[5]-[7]

โมเลกุลมณีแดง หรือ RED-GEMs ย่อมาจาก REjuvenating DNA by GEnomic Stability Molecules เป็นผลจากการต่อยอดการพบ   “กลไกต้นน้ำของความชรา”  บริเวณรอยแยก (youth-DNA-gap) ตรงจุดที่มีดีเอ็นเอแมดทิเลชัน (DNA methylation) และเป็นที่มาของโมเลกุลมณีแดง[5]-[7]

โดยการวิจัยนี้ ทีมวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมวิจัยกับบริษัทปตท. จำกัด และบริษัท อินโนบิก (เอเชีย) จำกัด[5]

ความคืบหน้าในสัตว์ทดลองโมเลกุลมณีแดงในสัตว์ทดลองมีเรื่องที่น่าสนใจหลายประการ เช่น หนูวัยชราที่เป็นเบาหวาน: กลับเป็นหนูที่มีความแข็งแรงกระตือรือร้นขึ้น, หมูแรกเกิดที่มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัม: เนื้อสัมผัสนุ่มขึ้น แน่นขึ้น, ลิงแสม: ทดสอบ 3 เข็มเป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ ตอนนี้ลิงแสมยังปลอดภัยดี, หนูที่เป็นโรคสมองเสื่อมแบบอัลไซเมอร์ พาร์กินสัน และปอดเป็นพังพืด: ยังไม่ระบุผลวิจัย[5]-[7]

โดย  “หากเปรียบกับอายุของมนุษย์ จะเหมือนลดเซลล์ชราจากอายุ 70 ปีกลายเป็น 25 ปี” [5]

โดยลำดับต่อไปจะเป็นการเตรียมทดสอบมณีแดงทางคลินิกในมนุษย์ คาดว่าจะเริ่มศึกษาในช่วงปี พ.ศ. 2566 ที่เหลือจะขึ้นอยู่กับผลการทดลองในมนุษย์ ความปลอดภัยของการฉีดมณีแดงในคน โดยหวังว่าจะต่อยอดสู่การผลิตออกจำหน่ายเร็วสุดในปี พ.ศ. 2567[5]

นิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ ฉบับวันที่ 30 กันยายน-6 ตุลาคม 2023 ได้ขึ้นหน้าปกอีกครั้งถึงแนวโน้มที่จะมีคนอายุยืนขึ้นได้ถึง 120 ปี ในการวิวัฒนาการทั้งจากความรู้ในการบริโภคและวิวัฒนาการทางยาการย้อนวัยที่กำลังก้าวหน้าขึ้น[8]

 คำถามที่มีความสำคัญตามมาคือ จะมีคนที่ต้องมีเงินมากขนาดไหน และมีศักยภาพมากพอที่จะสามารถซื้อยาที่จะสามารถย้อนวัยได้ 

แต่ถึงแม้ว่าอาจจะไม่มียาย้อนวัยสำหรับประชาชนผู้สูงวัยทุกคน แต่ประชากรไทยซึ่งมีการเกษียณที่อายุ 60 ปี มีอายุขัยยืนยาวขึ้น ทำให้อายุเฉลี่ยของการมี “สุขภาพดี”  ขยายออกไปมากขึ้นเช่นกัน

โดยเพศชายไทยมีค่าเฉลี่ยการมีสุขภาพดีถึงประมาณ 68 ปี อายุขัยเฉลี่ยประมาณ 72.2 ปี แปลว่าช่วงเวลาผู้สูงวัยที่เป็นชายไทยเกษียณอายุ 60 ปี จะตกงานไปถึง 12 ปี โดยแบ่งเป็นการตกงานหลังเกษียณอายุอย่างมีสุขภาพดี 8 ปี ก่อนที่จะสุขภาพไม่ดีไปอีก 4 ปีแล้วจึงก่อนเสียชีวิต

ในขณะที่เพศหญิงไทยมีค่าเฉลี่ยการมีสุขภาพดีถึงประมาณ 74 ปี อายุขัยเฉลี่ยประมาณ 78.9 ปี แปลว่าช่วงเวลาผู้สูงวัยที่เป็นหญิงไทยเกษียณอายุ 60ปี จะตกงานไปถึง 18 ปี โดยแบ่งเป็นการตกงานหลังเกษียณอายุอย่างมีสุขภาพดี 14 ปี ก่อนที่จะมีสุขภาพไม่ดีไปอีก 5 ปีก่อนเสียชีวิต[9]

คำถามคือการทำให้ชายไทยที่ตกงานจากการเกษียณ 12 ปี ทั้งๆ ที่มีสุขภาพดีถึง 8 ปี หรือหญิงไทยที่ตกงานจากการเกษียณถึง 18 ปี ทั้งๆ ที่มีสุขภาพดีถึง 14 ปี นั้นเหมาะสมจริงหรือไม่?

เราอาจจะต้องเริ่มคิดการวางแผนดูแลผู้สูงวัยให้มากขึ้นกว่าการเตรียมงบประมาณก่อหนี้สินเพื่อเป็นสวัสดิการให้ผู้สูงวัยแต่เพียงอย่างเดียวหรือไม่?


โดยจากสภาพข้อเท็จจริงในปี 2564 พบว่าผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ยังคงทำงานมีประมาณ 1 ใน 3 โดยผู้สูงวัยมากกว่าร้อยละ 78.3 มีรายได้ต่ำกว่า100,000 บาทต่อปี และ 1 ใน 3 ของผู้สูงวัยเป็นผู้มีรายได้น้อยต่ำกว่าเส้นความยากจน อีกทั้งมีเงินออมต่ำกว่า 50,000 บาท และประชาชนวัยทำงานมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น [9]
ดังนั้นผู้สูงวัยไทย ควรจะไม่ตกงานและมีงานทำนานขึ้นหรือไม่?

ผู้สูงวัยไทย ควรจะมีช่วงเวลาสุขภาพดีมากและนานขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะปัญหาจากแอลกอฮอล์ บุหรี่ และ น้ำตาล การขาดการออกกำลังกาย ควรจะเป็นวาระแห่งชาติหรือไม่?

ผู้สูงวัยไทย ควรจะพึ่งพาตัวเองในครอบครัวมากขึ้นหรือไม่ ควรจะมีความรู้ในการใช้สมุนไพรบ้าน อาหารปลอดสารพิษในครอบครัว และควรจะมีดัชนีชี้วัดและแรงจูงใจที่พึ่งพาโรงพยาบาลน้อยลง พึ่งพายาต่างชาติน้อยลง หรือไม่?

ประเทศไทยควรจะต้องเริ่มคิดและออกมาตรการช่วงชิงประชากรที่มีศักยภาพ และแรงงานที่มีทักษะเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่วันนี้ หรือไม่?

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต


อ้างอิง
[1] Time, Special Health Double Issue, This Baby Could Live to be 142 Years Old, Dispatches From Frontiers of Longevity
https://time.com/3706775/in-the-latest-issue-23/

[2] Max Roser, Esteban Ortiz-Ospina and Hannah Ritchie, Life Expectancy, Our World in Data, First published in 2013; last revised in October 2019.
https://ourworldindata.org/life-expectancy

[3] Hannah Ritchie and Max Roser, The global distribution of smoking deaths, Our World in Data,first published in May 2013; it was revised substantially in November 2019. The last update was done in August 2023.
https://ourworldindata.org/smoking

[4] AgelessRx, Participatory Evaluation (of) Aging (With) Rapamycin (for) Longevity Study (PEARL), Estimated Study Completion 2023-12
https://clinicaltrials.gov/study/NCT04488601

[5] BBC News ไทย, มณีแดง : ทำความรู้จักยาอายุวัฒนะฝีมือคนไทย หวังย้อนเซลล์ชราคนอายุ 75 เยาว์วัยเหมือน 25 ปี, 13 กรกฎาคม 2565
https://www.bbc.com/thai/thailand-62145481

[6] Supawan Pipitsombut, Chula Medical Breakthrough! RED-GEM Molecules to Reverse Aging, Chulalongkorn University, 17 January 2022
https://www.chula.ac.th/en/highlight/59580/

[7] Sakawdaurm Yasom, et al., The roles of HMGB1- produced DNA gaps in DNA protection and aging biomarker reversal, FASEB BioAdvances, 28 February 2022
https://faseb.onlinelibrary.wiley.com/doi/epdf/10.1096/fba.2021-00131

[8] The Economist, Living to 120 A Special Report On How To Slow Aging, September 30th- October 6th 2023, page 9

[9] สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, แผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว (พ.ศ.2565-2580), พฤศจิกายน2565
https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=13502


กำลังโหลดความคิดเห็น