ดร.ปรเมศวร์ กุมารบุญ
นักอาชญาวิทยา
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้ป่วยจิตเภทก่อเหตุอาชญากรรมในประเทศไทย แต่อาจจะเป็นครั้งแรกที่ก่อเหตุอาชญากรรมรุนแรงในห้างดังกลางกรุงเทพ และมีผู้เสียชีวิตหลายคน
การศึกษาไปที่ตัวอาชญากรให้เข้าใจลึกซึ้งเพื่อรัฐออก นโยบาย มาตรการหรือกฎหมายต่อไปในอนาคตนั้น ควรพิจารณาตัวบุคคลเป็น วัตถุ (Matter) กับจิตใจ (Mind)
อาชญากรที่เป็นเหตุจากจิตใจ (Mind) นั้น จิตใจเป็นเรื่องจับต้องไม่ได้ (Subjective) เกิดจากความชั่วในจิตใจที่ถูกหล่อหลอมจากสังคมแวดล้อมที่เติบโตมาหรือแรงจูงใจให้กระทำผิดเพราะตนเองพึงพอใจ เป็นคนจิตปกติแต่เจตนาร้าย กระบวนการยุติธรรมอาญามองหาความชั่วในจิตใจคน และเอาคนจิตใจชั่วออกจากสังคม โดยค้นหาเจตนาจากคดีที่เกิดขึ้น
การจะลงโทษอาญาผู้ใดได้นั้น ต้องครบองค์ประกอบความผิด 2 ประการ คือ มีการกระทำผิดกฎหมาย และมีเจตนาชั่วร้าย หากมีแค่การกระทำความผิดกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่ขาดเจตนาชั่วร้าย กระบวนการยุติธรรมอาญาไม่เอาผิดผู้นั้น เช่น ทำให้ผู้อื่นตายโดยไม่เจตนาหรือประมาท
ส่วนอาชญากรที่เป็นเหตุจากวัตถุ (Matter) นั้น วัตถุหมายถึงสิ่งที่จับต้องได้ (Objective) มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ เป็นสาเหตุจากพันธุกรรม การทำงานของสมองผิดปกติ สารเคมีในสมองผิดปกติ เป็นต้น จิตใจไม่สามารถบังคับควบคุมร่างกายได้ จึงเป็น “โรค” การเป็นโรคเหมือนการที่ร่างกายติดเชื้อโรคแล้วเจ็บป่วย เช่น หากเราติดไวรัส เกิดน้ำมูกไหล ตัวร้อน เราไม่สามารถบังคับหยุดน้ำมูกได้ ต้องกินยา
การเป็นโรคจิตเภทหรือเป็นผู้ป่วยไม่ได้มีจิตใจชั่วร้าย เจตนาขาดหายไป ถูกเสียงแว่วสั่งให้ทำหรือเกิดภาพหลอนทำให้หลงผิดลงมือฆ่าคน กระบวนการยุติธรรมอาญาไม่เอาผิด ส่งผลให้ยกฟ้อง เป็นหลักกฎหมายที่ทั่วโลกวางไว้เหมือนกัน เรียกว่า Not guilty by reason of insanity (NGRI)
ส่วนประเทศไทยก็ได้มีบัญญัติไว้มาตั้งแต่กฎหมายตราสามดวง และปัจจุบันประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 บัญญัติไว้ว่า
ผู้ใดกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น
แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น เพียงใดก็ได้
โลกสมัยปัจจุบันกระบวนการยุติธรรมอาญาไม่ได้ต้องการแก้แค้นทดแทนให้เหยื่อ แต่ต้องการนำคนกระทำความผิดมาฟื้นฟูเยียวยา แล้วส่งคนนั้นกลับคืนเป็นคนดีสู่สังคม
กระบวนการยุติธรรมอาญา ยุติแค่ตรงนั้น แต่ปัญหาเกิดขึ้นกับสังคมคือ มีเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายเกิดขึ้น และผู้ป่วยจิตเภทที่อาจจะมีแนวโน้มก่ออาชญากรรมก็มีบันทึกการเจ็บป่วยรักษา แต่รัฐในหลายประเทศทั่วโลกยังไม่ได้มีมาตรการใดที่จะป้องกันประชาชนผู้บริสุทธิ์จากเหตุไม่คาดฝัน
โรคจิตเภท (Schizophrenia) เป็นโรคที่มักเกิดกับวัยรุ่นอายุ 14-15 ปี เกิดความผิดปกติด้าน อารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม ลักษณะอาการที่สำคัญคือ หลงผิด (Delusion) และประสาทหลอน (Hallucination) โดยส่วนใหญ่มักมีอาการ “หูแว่ว” (Auditory Hallucination) ซึ่งเสียงที่ได้ยินของคนหูแว่วนั้น ดังไม่น้อยกว่าเสียงคนปกติคุยกัน ส่วนภาพหลอนนั้นมีน้อยคนที่จะเกิดภาพที่เสมือนอยู่ในเหตุการณ์จริง (Virtual Hallucination) และมีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 1% ของประชากรทั่วโลก นั่นหมายความว่าในประเทศไทยอาจจะมีถึง 700,000 คนโดยประมาณ
แต่ไม่ได้แปลว่าผู้ป่วยจิตเภททุกคนจะลุกมาก่ออาชญากรรมทั้งหมด แท้จริงแล้วพวกเขาเป็นผู้ป่วยน่าสงสาร ใช้ชีวิตกิจวัตรปกติไม่ได้ ยิ่งถ้าเป็นวัยรุ่นที่พ่อแม่ไม่เข้าใจกลับ ด่าทอ เคี่ยวเข็ญ จู้จี้ หรือลงโทษ จะยิ่งกลายเป็นสิ่งเร้าให้โรคกำเริบเกิดพฤติกรรมรุนแรง และจากการเริ่มป่วยจะเป็นขั้นบันไดกว่าจะไปถึงการก่ออาชญากรรมรุนแรงนั้น ครอบครัว คนใกล้ชิด โรงเรียนและโรงพยาบาลย่อมรับรู้มาก่อน มีข้อมูลพอสมควร ข้อมูลเหล่านี้จึงเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐควรมีนโยบายหรือมาตรการอย่างไรเพื่อรักษาหรือควบคุมผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่ก่ออาชญากรรมให้ผู้บริสุทธิ์อื่นในสังคมเดือดร้อน
ผู้ป่วยจิตเภทอาจเริ่มต้นมีอาการค่อยเป็นค่อยไปหรือเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน อาการหลงผิด หรือประสาทหลอน บอกว่าเห็นผีหรือหูแว่ว สับสนเหมือนอยู่อีกโลก เริ่มแยกตัว ไม่เข้าสังคม พูดไม่รู้เรื่อง เรียนหนังสือไม่ได้ ไม่มีสมาธิ นอนไม่หลับ และมีบุคลิกภาพผิดปกติ ครอบครัวคนใกล้ชิดจะสังเกตได้ และไม่ควรตำหนิ แต่ควรพาไปพบจิตแพทย์
อาการหลงผิด มีหลายลักษณะอาการ ยกตัวอย่าง เช่น
- หลงผิดว่าตนวิเศษกว่าคนอื่นหรือเก่งกว่าคนอื่น (Grandiose Delusional Disorder) มีอาการสื่อสารกับเทพ เป็นร่างทรง สั่งสอนผู้อื่น
- หลงผิดคิดว่าดาราคนดังหรือคนหน้าตาดีมักหลงรักตนเอง (Erotomaniac Delusional disorder) มีอาชญากรหลายคนในโลกที่จู่โจมดาราหรือคนสวยที่มีพฤติกรรมสะกดรอยจากโลกโซเชียล (Cyber stalker) แล้วบุกทำร้ายถึงร่างกายเมื่อถูกปฏิเสธความรัก อาทิ เทเลอร์ สวิฟต์ มายุ โทมิตะ
- หลงผิดคิดว่าตนเองป่วยหรือมีอวัยวะน่าเกลียด (Somatic Delusional disorder) ผู้ป่วยคิดว่าตนกำลังทุกข์ทรมานจากโรคร้าย
- หลงผิดว่าคู่รักของตนนอกใจ (Jealous Delusional Disorder) เป็นคดีฆาตกรรมคู่รักมามากมาย โดยผู้ป่วยคิดไปเองระแวงว่าคนรักของตนกำลังนอกใจ
- และอาการหลงผิดหวาดระแวง (Persecutory Delusional disorder) จะมีอาการ กลัวคนมาทำร้ายหรือถูกคนคิดร้ายสำกดรอยตามหรือจะวางยาพิษ
อาการหลงผิดหวาดระแวงพบมากที่สุด และเสี่ยงต่อพฤติกรรมรุนแรงไปจนก่ออาชญากรรมร้ายแรงมากที่สุด ผู้ป่วยคิดว่าเพื่อนหรือคนรอบข้างจะกลั่นแกล้งหรือมีคนสะกดรอยตามจะปองร้าย ผู้ป่วยจะพยายามหาทางต่อสู้ปกป้องตนเอง เมื่อผู้ป่วยมีอาการประสาทหลอนหนักจนมีหูแว่วได้ยินเสียงสั่งให้ลงมือก่ออาชญากรรม (Auditory Command Hallucination) ฆาตกรรมผู้อื่นหรือบางคนถูกสั่งให้ตัดอวัยวะของตนหรือฆ่าตัวตาย
ผู้ป่วยที่มีอาการประสาทหลอนหนักจนมีหูแว่วได้ยินเสียงสั่ง เริ่มแรกจะต่อต้านเสียงสั่งนั้น ไม่ยอมทำตาม พวกเขาทุกข์ทรมาน เสียใจจากเสียงนั้นที่คอยต่อว่ากล่าวโทษตัวผู้ป่วยแย่อย่างไร ผิดบาปอย่างไร จึงต้องชดเชยความผิดที่ตนเองทำไว้ด้วยการทำตามคำสั่งเสียงที่ดังในหัว ผู้ป่วยจะสับสน ตื่นตระหนัก วิตกกังวล ผู้ป่วยบางรายพยายามจะเปิดเพลงดังฟังเพื่อกลบเสียงนั้น บางคนกรีดร้องเพื่อกลบเสียงนั้น แต่ไม่สามารถหยุดเสียงนั้นได้ เป็นความทุกข์ทรมานที่สาหัสของมนุษย์จริงๆ
อาการหลงผิดหวาดระแวง (Persecutory Delusional disorder) มี 3 ลักษณะ ที่สำคัญคือ
1. Poor-me Paranoia เป็น อาการระแวงว่าตนเองกำลังจะเป็นเหยื่อผู้บริสุทธิ์ ถูกตามทำร้ายอย่างไม่เป็นธรรม และจะมีอารมณ์ก้าวร้าว
2. Bad-me Paranoia เป็น อาการระแวงว่าตนด้อยคุณค่า สมควรจะได้รับโทษ ที่ทำสิ่งเลวร้ายต่อผู้อื่นไว้มากมาย เกลียดตนเอง อยากทำร้ายตนเอง จะมีอารมณ์ซึมเศร้า
3. Superior-me Paranoia เป็น อาการที่คิดว่า ตนกำลังถูกคุ่งแข่งจับผิดเพื่อจะเอาชนะ เป็นปรปักษ์กับคนรอบข้าง คิดว่าที่คนรอบข้างติติงเพราะเกลียดชังตน จึงหลบหนีจากผู้คน และอาจมีพฤติกรรมก้าวร้าวบ้าง
อาชญากรที่ก่อเหตุฆาตกรรมหมู่หรือ Mass murder นั้น หากเป็นอาชญากรที่ชั่วจากจิตใจ (Mind) สามารถอธิบายได้จากทฤษฎี พันธะสังคม (Social bond theory) ของ Travis Hirschi ที่ถูกปัจจัยสังคมแวดล้อมหล่อหลอมและบีบคั้นจนลุกขึ้นมาทำลายสังคม ใช้นักอาชญาวิทยาช่วยแก้ไขได้
ส่วนอาชญากรที่ก่อเหตุฆาตกรรมหมู่ ที่เป็นอาชญากรที่เป็นโรค เกิดจากวัตถุในร่างกาย (Matter) ทั้ง พันธุกรรม สารเคมีในสมอง หรือการทำงานของสมองผิดปกติ ใช้จิตแพทย์รักษาด้วยยา
จากที่อธิบายมาโรคจิตเภทกำเริบเป็นขั้นเป็นตอน สามารถรักษาแก้ไขไม่ให้ลุกลามได้ พวกเขาเป็นผู้ป่วยที่น่าสงสารทุกข์ทรมานอย่างสาหัส เขาอยู่โลกคนละใบกับพวกเรา และจิตเภทที่มีอาการหลงผิดแบบหวาดระแวง มีแนวโน้มที่จะก่ออาชญากรรมรุนแรง โดยแพทย์และครอบครัวได้รับทราบอาการมาตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภัยสังคม เป็นเรื่องที่รัฐต้องคิดต่อว่าควรจะทำอย่างไร และที่เลวร้ายที่สุดคือ “เกม” หากขังลูกที่ป่วยเป็นจิตจิตเภทที่มีอาการหลงผิดแบบหวาดระแวงไว้ในห้อง และให้อยู่กับเกมที่มีการยิงกันจะเกิดอะไรขึ้น
ทุกครั้งที่ได้ยินรัฐจะสนับสนุน E-sport แล้วอดกังวลไม่ได้ว่า E-sport นั้นเกี่ยวข้องกับเกมการยิงกัน ฆ่ากันหรือไม่ การเสพติดเกมไม่ต่างกับการเสพติดเหล้าหรือบุหรี่ สมองจะหลั่งสารความสุขออกมาให้ได้รับรางวัล การยิงคนแรกในเกม จิตใจอาจจะยังไม่ได้รับความสุขมาก แต่เมื่อยิ่งยิงได้เยอะ ชนะเยอะ ได้แต้มเยอะ รางวัลจะมากขึ้นเรื่อยๆ สมองจะหลั่งสารความสุขออกมามากขึ้นเรื่อยๆ จนเสพติด และบ่มเพาะให้สมองรับรู้ว่าการยิงคนเป็นความสุขที่ได้รับรางวัล มีงานวิจัยบนโลกมากมายที่บอกถึงโทษที่เด็กๆ ได้รับโดยรัฐไม่มีมาตรการสักเท่าใดในการควบคุม เกมที่บีบคั้นกดดันใช้พลังลบในการต่อสู้ เด็กๆ ถูกตัดกระบวนการคิดสร้างสรรค์ และสมองส่วนหน้าถูกทำลายจากความเครียด คงไม่ต้องบอกว่าเด็กคนนั้นจะเติบโตมาเป็นคนอย่างไร อารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม มีเรื่องราวมากมายที่ต้องพิจารณาออกแบบสังคมใหม่ด้วยความรู้ทางด้านอาชญาวิทยาที่เป็นศาสตร์สมัยใหม่มาวางนโยบายหรือปฏิรูปกฎหมาย ถึงเวลาแล้วที่รัฐจะต้องเริ่มจัดการอะไรบางอย่าง เพราะคดีต่อไปจะเกิดขึ้นอีกไม่นาน