ถ้าท่านผู้อ่านได้ฟังนโยบายที่พรรคการเมืองได้ปราศรัยหาเสียงไว้ก่อนการเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมของพรรคที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามามากเป็นอันดับ 1 และ 2 คือ พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ก็จะพบว่าส่วนหนึ่งของนโยบายดังกล่าวเป็นนามธรรมยากแก่การนำมาปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมครบถ้วนตามที่ได้พูดไว้ จึงเข้าขายฝันให้ประชาชนเกิดความหวัง และลงคะแนนให้
อะไรคือเหตุปัจจัยทำให้คาดการณ์ได้ว่าทำได้ยาก?
เกี่ยวกับประเด็นนี้ อนุมานได้โดยอาศัยเหตุปัจจัยในทางตรรกะดังนี้
1. ในการปราศรัยหาเสียงได้พูดถึงนโยบายอย่างกว้างๆ ไม่ลงลึกถึงวิธีการและมาตรการต่างๆ ที่จะมารองรับการดำเนินงาน รวมถึงมิได้คำนึงถึงปัญหา และอุปสรรคต่างๆ ในทางปฏิบัติเช่น รายได้ของประเทศที่มีอยู่ค่อนข้างจำกัด และหนี้สาธารณะที่มีอยู่แล้วจำนวนมาก เมื่อเทียบกับรายได้ของประเทศซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการก่อหนี้เพิ่ม แต่การดำเนินการตามนโยบายที่ว่านี้ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก จึงเกิดปัญหาว่าจะหาเงินจำนวนมากเช่นนี้มาได้อย่างไร
2. ในการปราศรัยหาเสียงแต่ละพรรคคิดเอง และพูดเองตามลำพัง แต่เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลโดยเฉพาะเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค จึงต้องหารือร่วมกันในการกำหนดนโยบายรัฐบาล ประกอบกับพรรคร่วมโดยเฉพาะพรรคอันดับสองเช่น พรรคภูมิใจไทย ก็ต้องการที่จะนำนโยบายที่ตนเองหาเสียงไว้เข้ามาเป็นนโยบายของรัฐบาลให้มากเท่าที่จะมากได้เช่นกัน และพรรคเพื่อไทยก็ต้องยอมเพื่อการจัดตั้งรัฐบาลเกิดขึ้นได้ และนี่คือเหตุผลที่ทำให้พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำไม่สามารถนำนโยบายที่ตนเองหาเสียงไว้เข้ามาเป็นนโยบายของรัฐบาลได้ครบถ้วน
3. ในการนำนโยบายลงสู่ภาคปฏิบัติ ก็ใช่ว่าพรรคการเมืองจะดำเนินการได้เองในทุกขั้นตอน แต่ต้องอาศัยข้าราชการประจำ และเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในโครงสร้างของระบบราชการ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับดังต่อไปนี้
3.1 ระดับสูง ซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดนโยบาย โดยมีข้าราชการการเมืองในรูปของ ครม.รับผิดชอบ และกำกับดูแลการดำเนินงานตามนโยบาย
3.2 ระดับกลาง ซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการนำนโยบายมาจัดทำแผนปฏิบัติการ โดยมีข้าราชการการเมืองเจ้ากระทรวงต่างๆ และข้าราชการประจำระดับปลัดกระทรวง และอธิบดีกรมต่างๆ ในกระทรวงนั้นๆ รับผิดชอบ
3.3 ระดับปฏิบัติการ ซึ่งมีหน้าที่ในการนำแผนมาปฏิบัติดำเนินการเพื่อให้เกิดผลตามที่วางไว้แล้วรายงานหน่วยเหนือทราบ โดยมีข้าราชการประจำระดับกองลงมาเป็นผู้รับผิดชอบ
ดังนั้น ถ้าการดำเนินการในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งล้มเหลว นโยบายก็ล้มเหลว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในขั้นตอนกำหนดนโยบายและกำกับดูแลเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด กล่าวคือ ถ้านโยบายคลุมเครือและไม่สอดคล้องกับศักยภาพของประเทศ ไม่ว่าในด้านการเงินหรือด้านทรัพยากรบุคคล โอกาสที่จะดำเนินการให้บรรลุผลได้ 100% เป็นไปได้ยาก
ด้วยเหตุนี้ นโยบายของพรรคเพื่อไทยเช่น แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ลดค่าไฟฟ้า และลดราคาพลังงาน เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล และเมื่อมาเทียบกับรายได้ของประเทศ และหนี้สินของประเทศที่มีอยู่แล้ว ก็มองไม่เห็นว่าดำเนินการตามนโยบายให้ครบถ้วน และทั่วถึงได้อย่างไร
นอกจากนี้ ต้องใช้เงินแล้วการดำเนินตามนโยบายบางข้ออาจต้องมีการแก้กฎหมายซึ่งต้องใช้เวลา และอาจแก้ไม่ได้ด้วย จึงทำให้มองเห็นอนาคตของรัฐบาลชุดนี้ว่าจะดำเนินไปได้อย่างราบรื่นได้อย่างไร
ยิ่งถ้าฟังถ้อยแถลงของนโยบายหลังประชุม ครม.นัดแรก เรื่องยกเลิกประกาศ คสช.ด้วยแล้วยิ่งเป็นห่วงว่าจะสะดุดขาตนเองล้มหรือปลาตายน้ำตื้นได้ง่ายๆ