ความหดหู่และท้อถอยของประชาชนเนื่องจากกระบวนการยุติธรรมบิดเบี้ยว จนทำให้เกิดช่องว่างช่องโหว่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้กระทำผิดคดีทุจริตระดับชาติ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่ต้องนอนคุกกลายเป็นเหตุให้คนที่รักความเป็นธรรม และเคารพกฎหมายเสื่อมศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมเป็นวงกว้าง และเป็นที่มาของการออกมาแสดงความคิดเห็นในทำนองไม่เห็นด้วยในรูปแบบต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย ยังไม่ทันจางได้เกิดเรื่องใหม่สะเทือนใจผู้รักความเป็นธรรมยิ่งกว่าเดิมเป็นการซ้ำเติมความรู้สึกหดหู่ให้เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ เมื่อข่าวนายตำรวจน้ำดีถูกปืนยิงถึงแก่ชีวิตในงานเลี้ยงบ้านกำนันดังที่นครปฐม โดยมีแขกรับเชิญส่วนใหญ่เป็นตำรวจ และที่เศร้ามากกว่านี้ก็คือ หลังจากมีการยิงแล้วตำรวจส่วนหนึ่งได้พามือปืนหลบหนี และส่วนหนึ่งที่ช่วยในการทำลายหลักฐาน แทนที่จะช่วยกันจับมือปืนและป้องกันการทำลายหลักฐานตามหน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่เห็นการกระทำความผิดเฉพาะหน้า
แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความสามารถและเอาจริงเอาจังของบิ๊กโจ๊กหรือพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล คดีนี้ก็ได้รับการคลี่คลายโดยเร็ว โดยการไล่ล่ามือปืน และทำการวิสามัญคนร้าย ในขณะเดียวกัน ออกหมายจับกำนันและเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนาย ส่งผลให้กำนันเข้ามอบตัวและถูกคุมขัง
ล่าสุดหนึ่งในบรรดาตำรวจที่ไปร่วมงานและเป็นเจ้านายโดยตรงของเหยื่อที่ถูกมือปืนสังหารได้ยิงตัวตายหนีความผิดไปแล้วอีกหนึ่งนาย จึงเท่ากับว่าคดีนี้ได้ตายไปแล้ว 3 ราย และที่เหลือคงทยอยขึ้นศาลรับโทษตามความผิดของแต่ละคนต่อไป
ไม่ว่าคดีนี้จะจบอย่างไร ผู้กระทำผิดแต่ละคนจะถูกลงโทษหนักเบาแค่ไหน ผู้คนในสังคมคงจะจดจำและมีคำถามในหลายๆ ประเด็น และแต่ละประเด็นจะต้องมีคำตอบจากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา และครอบคลุมทุกประเด็น มิฉะนั้นกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยจะถึงจุดเสื่อมถึงขั้นเป็นที่พึ่งของประชาชนไม่ได้ ทำให้ทุกคนต้องพึ่งตนเอง และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของศาลเตี้ย เฉกเช่นที่เคยเป็นมาแล้วในยุคโบราณที่ผู้คนตัดสินกันด้วยกำลัง
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะตำรวจต้องยอมสยบให้กับผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น เฉกเช่นที่เกิดขึ้นในกรณีของกำนันนกที่นครปฐม และจะมีแนวทางใดแก้ไขอย่างไร?
เกี่ยวกับเรื่องนี้ จะต้องย้อนไปดูวัฒนธรรมองค์กรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งสืบทอดกันมาเนิ่นนานตั้งแต่ยุคที่เป็นกรมตำรวจ และขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทย โดยเริ่มจากรายได้ตำรวจมีน้อยแต่ไม่ใช้สอยอย่างประหยัดจึงต้องหาเงินพิเศษด้วยการรีดไถผู้ทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะจากผู้ประกอบการธุรกิจสีเทาเช่น บ่อน ซ่องโสเภณี และผู้ประกอบการรถบรรทุก เป็นต้น ครั้นทำบ่อยเข้าและกลายเป็นแหล่งทำรายได้มากขึ้นจนกลายเป็นรายได้หลัก ก็เกิดการเรียกเก็บเงินประจำและส่งต่อขึ้นข้างบนจนเป็นที่มาของส่วย และเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกรับเงินจากการแต่งตั้งตำแหน่งในพื้นที่ที่มีรายได้มากน้อยตามจำนวนรายได้ที่เรียกเก็บ
ดังนั้น การส่งส่วยกับการแต่งตั้งตำแหน่งจึงเข้ามาเป็นเรื่องเดียวกัน เมื่อผู้ประกอบการธุรกิจต้องจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ก็จะต้องมีเงื่อนไขแลกเปลี่ยน ด้วยการทำธุรกิจผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น เพื่อให้มีรายได้ส่วนหนึ่งเป็นค่าส่วยและส่วนหนึ่งเข้ากระเป๋าตนเอง ตัวอย่างเช่นรถบรรทุกเมื่อต้องจ่ายส่วยก็บรรทุกน้ำหนักเกินเพิ่มขึ้นจากที่เกินกว่ากำหนดอยู่แล้ว และผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ พื้นผิวถนนพังต้องซ่อมกันทุกปี จึงเท่ากับเปิดโอกาสให้ผู้รับเหมาก่อสร้างได้งานทำเป็นการสร้างงานให้กับผู้ประกอบการท้องถิ่น ซึ่งก็เป็นกลุ่มทุนเดียวกับรถบรรทุกนั่นเอง
โดยสรุปเหตุที่ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องไปยอมให้ผู้ประกอบการธุรกิจใช้ตนเองเป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้ก็คือ รายได้ที่ผู้ประกอบการจ่ายให้เป็นรายได้พิเศษนอกเหนือจากเงินเดือน และเบี้ยเลี้ยงที่รัฐจ่ายให้ และรายได้พิเศษนี้เองเป็นทุนในการวิ่งเต้นขอตำแหน่งจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรไปแล้ว ดังนั้น ถ้าจะแก้ไขปัญหานี้จะต้องแก้ที่องค์กรจากบนลงล่าง กล่าวคือ ในการแต่งตั้งโยกย้ายจะต้องพิจารณาจากอาวุโสและผล
งานเป็นหลัก ทั้งจะต้องไม่เปิดโอกาสให้อำนาจทางการเมืองเข้าแทรกแซงในการดำเนินการขององค์กรด้วย ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องทำใจปล่อยไปจนกว่าประชาชนจะลุกขึ้นประท้วง และผลักดันให้การเมืองที่ได้รับเลือกจากประชาชนเข้ามาปฏิรูปองค์กร
ส่วนจะทำการปฏิรูปได้เมื่อไหร่ และใครจะเป็นคนทำบอกได้คำเดียวว่า ยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขาหลายเท่า เพราะการเมืองก็คือคนมีกิเลสและทำทุกอย่างเพื่อสนองกิเลสของตนเอง จึงต้องรอให้ผู้วิเศษมาเกิดและเติบโตขึ้นมาในสังคมที่เอื้ออำนวยให้ทำเช่นนี้ได้